คอลัมน์ในอดีต

พระองค์เจ้าหญิงสุนันทา

พระองค์เจ้าหญิงสุนันทา

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ประสูติภายใต้ร่มมหาเศวตฉัตร ในปราสาทราชมนเฑียร แห่งพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1222 ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2403 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ทรงมีเจ้าจอมหลายองค์ แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม นับว่าเป็นที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่ง เป็นที่รู้ดีในหมู่เชื้อพระวงศ์และข้าหลวงชาววังทั้งหลาย

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้เป็น “เจ้าขรัวยาย” ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนพระอิสริยศักดิ์ เป็น “พระอัยยิกา” และยังเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8 ) รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9 ) จึงนับว่าเป็นสตรีที่มีบุญญาธิการยิ่งนัก เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเคยฟ้อนรำเป็นตัวเอกอยู่ในละครหลวงก่อนถวายตัวเป็นเจ้าจอม ท่านบิดาคือ หลวงอาสาสำแดง (แตง) ท่านมารดา คือ ท้าวสุจริตธำรง (นาค) ต้นสกุล “สุจริตกุล” เจ้าจอมมารดาเปี่ยมมิได้มีรูปโฉมสะดุดตานัก แต่มีรูปร่างงดงาม มีไหวพริบปฏิภาณ นอบน้อมถ่อมตนสมเป็นกุลสตรี

เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ได้รับสถาปนาพระอัฐิพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 )หลังจากสิ้นพระชนม์แล้วว่า “สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา”
ประสูติ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2382 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2447 รวมพระชนมายุ 65 ปี

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชกุมารีพระองค์แรก และเป็นพระองค์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ทรงรักใคร่เอ็นดูสนิทเสน่หายิ่งนัก เมื่อถึงกำหนดสมโภชเดือนตามขันติประเพณี พระองค์จึงได้ทรงพระราชทานนาม โดยทรงมีพระราชหัตถเลขาด้วยพระองค์เอง ในอักษรอริยกะและภาษาไทย พระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระนาม และพระราชทานพระพรดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ขอแต่งตั้งนามบุตรีหญิงอันเกิดแต่เปี่ยมในวัน
๗ ฯ๑๒    ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศกนั้นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ วรรคศรี  อาทิอักษร วรรคบริวารและเดชเป็นอันตอักษร จงเจริญด้วยอายุ สุข พละ ปฏิภาณ โภคสมบัติบริบูรณ์ทั้งปวงทุกประการเทอญ

ตั้งพระนามไว้ ณ วัน ๑๔ฯ ๒ ค่ำ ปีวอก โทศก เป็นวันที่ ๓๕๐๔ ในรัชกาลปัจจุบัน อายุบิดานับได้ ๒๐๕๑๓ วันมาแล้ว”

คาถาพระราชทานนาม
    “สุนนฺทา  กุมารี  รตฺนาติ        เอวญฺจ  อยํ  สุตา
    อโรคา  สุขินี  โหตุ        นิทฺทุกขา  นิรุปทฺทวา
    วฑฺฒน  มหฺทธนา  สา จ        มหาโภควตี  สทา
    ยสฺสสินี  อาวกลฺลา        บริวาร  วตี  ตถา
    พุทฺโธ  ธมฺโม จ  สงฺโฆ จ        อโถ  อารกฺขา  เทวตา
    นิจฺจํ  นํ  อภิรกฺขาโน        อนฺตรายวิมุตติยา
                สิทธิ  อสฺตุ”

“ พระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ ทรงมีพระนามสุนันทากุมารีรัตน์ อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากทุกข์ และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มียศและบริวาร ไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า กับทั้งอารักขเทพยดา จงช่วยอภิบาลรักษาพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ ให้พ้นจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแด่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

“สุนันทา” เป็นนามอันเป็นมงคล เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) นำมาจากพระนามของพระมเหสีองค์หนึ่งของพระอินทร์ ชื่อ พระอมรบดี แห่งเทวภูมิ ซึ่งมี 4 องค์ คือ สุชาดา สุจิตรา สุนันทา สุธรรมา

อีกนัยหนึ่งเป็นเรื่องราวในเทพปกรนัม “สุนันทอุทยาน” บทสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นอุทยานอันรื่นรมย์ มีรุกชาติ บุปผาชาตินานาพรรณขึ้นอยู่ดาษดื่น ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วบริเวณ กลางอุทยานมีสระน้ำกว้างใหญ่ น้ำใสสะอาดเย็นระรื่น เต็มไปด้วยบัวบุศย์ เบญจพรรณอันงามวิจิตร กล่าวกันว่า เทพนารี ในสรวงสวรรค์นั้นต่างได้รับความชื่นบานในยามที่อยู่อุทยานแห่งนี้ เพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยบารมีของพระนางเจ้าสุนันทา อันเป็นพระมเหสีของพระองค์ ซึ่งพระอมรบดีผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ ให้ชื่ออุทยานนี้ว่า “สุนันทอุทยาน”เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนให้เทพนารีทั้งหลายได้ระลึกในพระบารมีขององค์มเหสี

เมื่อองค์เจ้าหญิงสุนันทาประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงห่วงใย ในพระราชธิดาองค์นี้มากอย่างยิ่ง สังเกตจากพระคาถา จะเห็นได้ว่าทรงพระราชทานพระพรในลักษณะ “ให้พ้นจากภยันตรายอยู่เป็นนิตย์” ซึ่งน่าทรงตรวจดวงพระชะตาของพระราชธิดาว่าเป็นดวงอุบัติเหตุ เพราะพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาโหราศาสตร์เป็นพิเศษ

พระบรมราชชนกทรงห่วงใยในพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ และทรงเป็นผู้แบ่งพระราชทรัพย์ไว้ให้พระราชธิดาด้วยมิประมาทในพระราชอัธยาศัย พระราชทรัพย์และพระบรมราโชวาทปรากฏดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุนทรสมมติเทพยพงษ์วงษาดิศวรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 4 ในราชวงศ์ ซึ่งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธนี้ ผู้เป็นพระธิดาของบุตรี จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า(พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์)…เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวจำนวนผูกติดกับหนังสือนี้ มีตราของพ่อติดไว้เป็นสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่อายุได้ 16 ปีแล้ว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหากินและเลี้ยงตัวต่อไป และใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งให้มากนักหนา อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้เป็นเกียรติชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ยเล่นโปเล่นหวยเลยเป็นอันขาด แลอย่าทำสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากินตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมันหลอกลวงได้ จะเสียทรัพย์ด้วยอายเขาด้วย เมื่อสืบไปภายหน้านานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเป็นข้าแผ่นดินใดๆ เท่าใด ก็จงอุตส่าห์ตั้งหน้าทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านเชือนแช และเป็นอย่างอื่นๆ บรรดาที่ไม่ควรทำเจ้าก็อย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วยว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เป็นกำลังตั้งเป็นทุน เอากำไรใช้การบุญและอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ

ถ้าทรัพย์เหล่านี้ที่พ่อให้ไว้ไปขัดขวาง ฤาร่อยหรอไปด้วยเหตุที่มีผู้ข่มเหงผิดๆอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายและท่านผู้ใหญ่ข้างใน ข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่ง ปรึกษาหารืออ้อนวอนขอความกรุณาและสติปัญญาท่านทั้งปวง ให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เป็นอย่างไรนั้นให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าทำให้ท่านที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้  จงระวังความผิดให้มาก อย่าตามใจมารดาและคนรักนัก ทรัพย์ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าและคนอื่นเข้าทุนด้วย พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงไว้ให้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแต่เจ้าก่อน ถ้าอายุ 16 ปี แล้วสั่งให้ใครพ่อจะให้ผู้นั้น ถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤาไม่ได้สั่งพ่อขอเอาคืนจะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนานทำมาหาได้ก็จะเพิ่มเติมให้อีกแล้วจะแก้หางว่าว

สั่งไว้ ณ. วัน…ค่ำ ปีมะโรง นักษัตรอัฐศกฯ

มณีจันทร์ฉาย