For Golf Trust

กีฬากอล์ฟ คือ ธรรมะ

มีการส่งมาผ่านสื่อโซเชียลมาในเรื่องของ”กีฬากอล์ฟ คือ ธรรมมะ” ผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่งจึงได้อ่านและปรับแต่งพร้อมทั้งค้นคว้าเพิ่มเติม ให้ละเอียดยิ่งขึ้น

“กีฬากอล์ฟเป็นบทจำลองของชีวิต”และเป็น “เวทีแห่งการทดสอบวิปัสสนา” โดยต้องเล่นด้วย สมาธิและปัญญา จึงจะประสพความสำเร็จ

การเล่นด้วยปัญญาคือ

1.ต้องรู้ตนเองในเบื้องต้นก่อนว่ามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะลงเล่นในวันนั้นหรือไม่ หรือรับรู้ความผิดปกติของร่างกายว่ากำลังจะป่วย หรือเพิ่งจะฟื้นจากการป่วย

2.ต้องมีการฝึกซ้อมอย่างถูกวิธีในแต่ละช็อต อย่าลืมว่าการฝึกซ้อมบ่อยๆ เป็นสิ่งดี จะเป็นสิ่งที่ติดยึดคงทน ดังนั้นต้องเป็นการฝึกซ้อมในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งที่ผิด

3.ต้องวางแผนการเล่นในทุกสนาม ทุกหลุม ทุกช็อตอย่างมีเหตุผล และแก้ไขปัญหาการเล่นตามความเป็นจริง อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล

4.ต้องตระหนักและระลึกอยู่เสมอว่ากอล์ฟคือเกมส์แห่งไตรลักษณ์ (ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ … เราไม่สามาถคาดเดาผลได้ร้อยเปอร์เซ็น ) อะไรที่ผิดพลาดและได้เกิดขึ้นแล้วถือว่าเป็นอดีตและเป็นบทเรียนอย่าเอามาใส่ใจ แต่ให้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ช็อตต่อไป หลุมต่อไป และการแข่งครั้งต่อไปยังคงมีความหวัง

การเล่นด้วยสมาธิคือ

1.การเล่นทุกช็อตอย่าให้สิ่งแวดล้อมที่สัมผัสทางอายตนะทั้ง 6 มามีอิทธิพลต่ออารมณ์เหนือการเล่นที่ควรจะเป็น กล่าวคือต้องหวังผลการเล่นทุกช็อตได้เหมือนกับการฝึกซ้อมให้ได้มากที่สุด

2.ต้องเล่นและฝึกจิตให้เป็นพรหมวิหารธรรม กล่าวคือ

มีเมตตา เอาใจช่วยคู่แข่งขันให้เล่นได้ดี มีกรุณา เอาใจช่วยให้คู่แข่งขันสามารถแก้ไขปัญหาในการเล่นผ่านไปได้ด้วยดี

มีมุทิตา เมื่อคู่แข่งขันเล่นได้ดีก็แสดงความยินดีด้วย และ

มีอุเบกขา เล่นตามกติกาและมีจิตใจเป็นนักกีฬา

3.ต้องเล่นด้วยอานาปานสติ กล่าวคือมีสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกตลอดและรู้จักควบคุมลมหายใจตามจังหวะของการเดินเพื่อนำมาซึ่งจิตที่สงบ ละจากนิวรณ์ 5 เกิดสมาธิตั้งมั่นในเกมส์ และไม่ให้เกิดเวทนาความเหนื่อยทางกาย

4.ต้องมีสมาธิตั้งมั่นและใช้โยนิโสมนสิการ ในการประมาณตนอยู่บนความพอเพียงของสถานภาพและการบริหารเวลาอย่างเหมาะสมบนกุศลกรรม

นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้น หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป

นิวรณ์มี 5 อย่าง คือ

กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่
พยาบาท ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ
วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ

“กอล์ฟ จึงเป็น สติปัฏฐาน (สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง ฐาน หรือที่ตั้งอันเป็นที่รองรับของการกำหนดสติอย่างประเสริฐ เพราะเป็นการตามระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ (รูป-นาม) ที่เกิดขึ้นตามฐาน ซึ่งมี ๔ ฐานด้วยกันคือ กาย เวทนา จิต และธรรม ผู้ใดที่มีการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาปัญญา อันเป็นปัญญาที่เข้าถึงสภาวธรรมของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ในที่สุด)ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ไม่ยึดติดกับเชื้อชาติและศาสนา แต่ขึ้นอยู่กับบุญบารมีของแต่ละบุคคล”

ท่านผู้ที่มีวาสนาได้เล่นกอล์ฟ ได้เล่นกอล์ฟด้วยสมาธิและปัญญาดังกล่าวแล้วหรือยัง? หากทำได้ก็ถือว่าท่านเป็นผู้มีบุญบารมีครับ

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์