Interview

กฤษดา ตัณฑ์วิไล

กฤษดา ตัณฑ์วิไล
นายก สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี
“คำพูดสำคัญที่สุด พูดอะไรไป ต้องทำสิ่งนั้น”

เป็นเด็กกลาง ๆ : ผมไม่ค่อยดื้อ เรื่อยๆ การเรียนก็ระดับกลาง ๆ คุณพ่อเป็นผู้รับเหมา 2 – 3 เดือนถึงจะได้เจอครั้ง ส่วนใหญ่ท่านจะอยู่หน้างาน กลับมาทีก็ซื้ออะไหล่เครื่องจักร แล้วกลับไปทำงานต่อ ส่วนคุณแม่ทำบัญชีอยู่ที่ออฟฟิศ, เลิกเรียนตอนเย็นน้าชายไปรับบ้าง แทบจะไม่ได้หลุดออกไปตรงไหนให้เกเรได้ กลับมาก็ทำการบ้านเอง ช่วยงานน้าสาว พี่สาวบ้าง ไม่รู้จะไปดื้อซนตอนไหน กีฬาที่เล่นมากที่สุดก็ฟุตบอล เพราะเด็กเซนต์คาเบรียล จะรู้กันดีว่า ทันทีที่เลิกเรียน เสียงกริ่งคือเสียงสวรรค์ ทุกคนจะพุ่งไปจองที่เตะฟุตบอลพลาสติกใต้ตึก โตขึ้นมากันแบบนี้ บางวันเล่นเพลินเสื้อผ้ามอมแมมไปหมด จนน้าชายต้องมาลากออกจากสนามกลับบ้าน

สอบเทียบ : เรียนที่ เซนต์คาเบรียล พอ ม.5 สอบเทียบได้ ก็ไปสอบเข้า เอแบค เรียนอยู่สองปีครึ่งก็โอนย้ายหน่วยกิตไปอเมริกา เพราะดูแล้วว่า ถ้าเรียนจบที่นี่ ผมคงไม่ได้ไปไหนเลย แล้วพี่สาวก็อยู่ที่นั่นแล้วด้วย ผมไปเรียนที่ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดนเวอร์ จนจบปริญญาตรี สาขา เรียลเอสเตรท แอนด์ คอนทรัคชั่น แมนเนจเมนต์

เรียนนอกเพราะอยากเที่ยว : พี่สาวชวนไปเที่ยว ผมก็อยากไปดูประเทศอเมริกาบ้าง ไปกับคุณพ่อคุณแม่ ช่วงแรกก็พากันไปเที่ยวเพลิน ๆ พอกลับมาถึงเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด อีกที ก็ถามว่า จนใจจะเรียนที่อเมริกามั้ย ตอนนั้นก็รู้สึกดี อยากเรียน ก็ให้ดรอปที่เอแบค เทียบโอนหน่วยกิต แล้วให้ไปเรียนภาษาก่อน

เรียนรู้เร็ว : ผมถูกทิ้งไว้ที่เมืองโบเดอร์ ไปอยู่หอของมหาวิทยาลัย บ้านเมืองสวย แต่ก็อยู่เพราะความเหงา ต้องปรับตัว ถ้าไม่งั้นอดตาย เริ่มไปนั่งดูบาสฯ สักพักก็ค่อย ๆ เริ่มได้คุยกัน มีเพื่อน ได้ใช้ภาษา พอจบคอร์สเรียนภาษา พี่สาวก็มารับ เข้าไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย เอาผลการเรียนไปยื่นเพื่อเทียบโอนหน่วยกิต อยู่เมืองไทยเรียนภาษาอังกฤษ แต่กลับบ้านพูดภาษาไทย ทำให้มีปัญหาเรื่องการฟังกับครูที่สอน ซึ่งแต่ละคน มาจากแต่ละประเทศ สำเนียงก็ไม่เหมือนกัน แต่ที่อเมริกาทุกเรื่องใช้ภาษาสำเนียงเดียวกันหมด ฝันยังเป็นภาษาอังกฤษ เคยมีคำพูดเล่น ๆ กันว่า ถ้าฝันเป็นภาษาอังกฤษได้เมื่อไหร่ คุณรอดแล้ว

การเรียนที่ให้โอกาส : ระบบการเรียนต่างกันเยอะ จากที่ส่วนใหญ่เคยกาเลือกคำตอบ ก็ไปเจอแบบเขียนหมดทุกอย่าง เขาไม่ได้ถามคำนิยาม จะถามความเข้าใจ ถ้าจับจุดประเด็นคำถามได้ ก็ไม่ยาก เพราะเขาไม่ปิดกั้นเรื่องคำตอบ หลักการใช้ภาษาเราได้ แต่คำศัพท์บางคำเราไม่เป๊ะเท่าเจ้าของภาษา ผมเคยใช้ศัพท์บางคำที่หมายหมายไม่ตรง พอผลสอบออกมาได้คะแนนน้อย แต่ผมมั่นใจว่าตอบคำถามข้อนี้ได้ ก็ไปขอคำปรึกษา อธิบายคำตอบที่เขียนไป เขาก็ทราบว่าเราเข้าใจถูกแล้ว เพียงแต่เราเลือกคำศัพท์ผิดไปตอบ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็แก้ไขคะแนนให้

กิจกรรมยามว่าง : ผมทำเยอะมาก เดินเขา ล่องแพ สกี โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ที่อยู่ หน้าหนาวต้องขึ้นไปเล่นสกีทุกอาทิตย์ เพราะต้องไปสอนพรรคพวกคนไทยด้วยกัน ซึ่งสมัยก่อนเด็ก ๆ ไม่ค่อยมีตังค์จ้างครูสอน แค่ค่าเช่าอุปกรณ์ก็แพงแล้ว คนไทยที่เรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีไม่ค่อยมากนัก เป็นสังคมเล็ก ๆ ที่รู้จักกันหมด ใครมาที่นี่ ผมก็จะต้อนรับ

รีบเรียนให้จบ : ผมใช้เวลาเรียน สามปีครึ่ง โอนหน่วยกิตมาได้ปีนึง เรียนภาษาปีนึง แล้วเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกสองปีครึ่ง ผมลงเรียนตลอดไม่หยุดพักเลยจบเร็ว เพราะมีความรู้สึกว่าผมใช้เงินกับการเรียนมากที่สุดในบ้าน ต้องรีบเรียนให้จบ แล้วยิ่งสอบเทียบมา ประหยัดเวลาได้อีกปี ก็จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย

กลับมาทำงาน : คุณพ่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำงานมากับกรมทางหลวง พอผมกลับไป ก็ให้อยู่กรุงเทพฯ แค่ราวเจ็ดวัน ที่เหลือส่งไปอยู่หน้างาน ทิ้งผมไว้ที่ไซต์ก่อสร้าง ที่คลอง 7 เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ต้องถือว่าไกลจากกรุงเทพฯ มาก แล้วพ่อก็กลับ ผมจัดกระเป๋ามาแล้วอยู่ที่นั่นเลย ก็ยืนงง ๆ ว่าจะต้องทำอะไร ตอนเริ่มงานครั้งแรก เรากำลังทำถนนสายรังสิต นครนายก กันอยู่

ทุกคนคือครู : ผมมีลูกน้องคุณพ่อที่เป็นวิศวะ เป็นพี่เลี้ยง ผมพยายามบอกว่า อย่าเห็นว่าเราเป็นลูกเจ้าของ มีอะไรให้ช่วยได้ก็บอก ช่วยสอนงานด้วย เพราะเราไม่รู้อะไรเลย มหาวิทยาลัยที่อเมริกา ไม่ได้สอนอะไรที่เกี่ยวข้องอย่างนี้ให้เลย เครื่องจักร วัสดุ เป็นคนละสายงานกับที่เรียนมา มาเริ่มกันใหม่จากศูนย์ เราเป็นฝ่ายทำงาน ฝ่ายก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ นายช่าง จากกรมทางมาคุมงาน ผมก็รู้สึกว่า คนเหล่านี้แหล่ะ เป็นครูเราเหมือนกัน คลุกคลีกับเขา เรียกพี่ เรียกอา ไม่เข้าใจอะไรก็ถาม ลูกน้องเราเองยังไม่รู้จักเลย อาศัยว่าเกาะเขาไป อยากรู้อะไรก็ถามไปเรื่อย ตกเย็นมา เดินไปไซต์คนงาน เขาก็เรียกไปร่วมวง เราเลี้ยงเครื่องดื่มเขา เขาเอาอะไรมาให้ก็กิน พอเรากิน ๆ ไปเขาก็หัวเราะ ก็พอรู้แล้วว่ามันเป็นอะไร แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการรังเกียจ บอกด้วยว่า อร่อยดี ทำให้เกิดความสนิทสนมกัน ปรับตัวอยู่อย่างนี้ราว 3 ปี

เจอเรื่องใหม่ทุกวัน : งานที่ทำทุกวัน คือสิ่งใหม่ที่เข้ามาในชีวิตทั้งหมด เรียนรู้ยังไงก็ไม่จบ แต่หลังจากทำงานที่ไซต์นั้นเสร็จ คุณพ่อเรียกตัวกลับ เพราะยังเหลืองานอีกหนึ่งแขนงที่ยังต้องไปเรียน คือการเข้าไปเรียนรู้กับคุณพ่อ ตามท่านไปพบกับผู้ใหญ่ เรียนรู้ระบบงานราชการ การทำงานเอกสาร ได้เรียนรู้อีกมุมหนึ่งของการทำงาน พอเชื่อมงานทั้งสองส่วน คือการทำงานก่อสร้างที่หน้างาน กับงานติดต่อ ตามคุณพ่อประมาณ 1-2 ปี ก็คิดว่า เราทำสองอย่างได้แล้ว หน้างานก็ไม่ต้องไปอยู่ด้วยตลอด เพราะเริ่มเข้าใจ เห็นภาพขั้นตอนในการทำงานชัดเจน ทำให้สามารถทำงานบริหารได้มากขึ้น

วอเตอร์มิลล์ : ก่อนคุณพ่อวางมือ ท่านบอกว่า เรามีสนามกอล์ฟ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่า คุณพ่อขับรถพาเอามาสนามกอล์ฟถึงกับบอกว่า ไกลเหลือเกิน ภาพที่เห็นตอนนั้น มีแต่ท้องนา เห็นแทรคเตอร์กำลังทำงานก่อสร้างกันอยู่ ไม่รู้ด้วยว่ามันคืออะไร หลังจากทำงานไปแล้วสักพัก คุณพ่อก็ชวนมาประชุมที่สนามกอล์ฟ ทำให้ผมได้เห็นสนามอีกครั้ง สภาพไม่เหมือนเดิมเลย คุณพ่อก็บอกให้เข้ามาที่นี่ มาช่วยผู้จัดการ (คุณวิสุทธิ์ วิวัฒนะประเสริฐ) ดูว่าอะไรเป็นอะไร มีโอกาสก็เข้าไปบ้าง

วิกฤติสนาม : ช่วงปี 2540 เกิดวิกฤติทางการเงิน ทำให้ยอดเข้าไปใช้บริการน้อยลง สนามก็เริ่มแย่ คุณพ่อพยายามเพิ่มทุนเข้าไป จนเริ่มจะสู้ไม่ไหว พอดีมีคนมาติดต่อขอเช่าออกไป ทำให้สบายใจขึ้น, ช่วงแรกก็จ่าย แต่ระยะหลังเริ่มหาย พอเข้าไปดูก็พบว่าเขาไปแล้ว ทิ้งสนาม ทิ้งลูกน้อง เงินเดือนไม่จ่าย สภาพสนามแย่กว่าเดิมอีก คุณพ่อบอกว่า แบบนี้ปล่อยไม่ได้แล้ว ไปคุยกับพนักงาน ว่าจะค่อย ๆ จ่ายให้ เริ่มรื้อฟื้นสนามขึ้นมาใหม่ จนตอนหลังประชุมผู้ถือหุ้น ขอให้ผมลงมาดูแลให้มากขึ้น

เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ : จนเมื่อบางกอกกล๊าส (BG) ได้เข้ามาถือหุ้น ด้วยความเป็นบริษัทใหญ่ จะได้ทำอะไรที่ดีขึ้น ประกอบกับช่วงนั้น BG กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องการจะเช่าสนามออกไป จัดระบบบริหารเองเลย ผมก็ขอท่านประธานฯ (คุณปวิณ ภิรมย์ภักดี) ว่าช่วยดูแลลูกน้องต่อให้ด้วย ยังเป็นห่วง บางคนอยู่ตั้งแต่เปิดสนาม ดูกันมาเป็นสิบปี พนักงานก็ลูกน้อง เป็นคนรอบ ๆ ละแวกนั้นหมดเลย ทำให้การบริหารราบรื่น ไม่มีการสะดุดในการทำงาน พนักงานก็ได้สวัสดิการซึ่งทางบางกอกกล๊าสมีอยู่แล้วในองค์กร ก็เข้าระบบไปเลย ส่วนผม ท่านประธานฯ ก็ขอไว้ว่า ให้อยู่เป็นที่ปรึกษา

งานเพื่อสังคม : ผมทำงานเป็นกรรมการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือรู้จักกันว่า สมาคมผู้รับเหมา เราอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว และอยากเรียนรู้ว่า กลไกต่าง ๆ ในสาขาธุรกิจอาชีพนี้ ทำงานกันอย่างไร เราอยากให้เกิดความยุติธรรม ความถูกต้อง ในการทำงาน ระหว่างรัฐและเอกชน หาทางสื่อสาร ประสานงานให้เกิดความเข้าใจกัน โดยมีรุ่นพี่ ๆ ชักชวนให้เข้ามาช่วยกันทำงาน ผมเริ่มทำงานทางด้านกิจกรรมสัมพันธ์ เรารู้เรื่องกอล์ฟ ก็จัดกอล์ฟให้สมาคมฯ แล้วก็ต่อยอดเรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ

อยู่เบื้องหลัง : วอเตอร์มิลล์ เป็นสนามแรก ๆ ที่ให้การสนับสนุนเยาวชน นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงจะผ่านที่นี่กันหมดทุกรุ่น แต่อาจจะไม่ค่อยเห็นผมนัก เพราะทำงานอยู่ด้านหลัง ผมก็ลงมาดูเด็ก ๆ ว่าเป็นยังไงกันบ้าง จนเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่าง สมาคมกอล์ฟของผู้หญิงและผู้ชาย ว่ามีห่างออกไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ ความสามารถของนักกอล์ฟผู้หญิงของเราไม่ได้เป็นรองใคร

สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี : จนเริ่มรู้สึกว่า มีอะไรที่ควรทำเพื่อช่วยเหลือได้ ประกอบกับเราเห็นกอล์ฟมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีพันธมิตรกับสนามกอล์ฟที่ญี่ปุ่น ไปมาหาสู่ ส่งเด็กแลกเปลี่ยนกัน เริ่มเห็นระบบการแข่งขันที่แตกต่าง ถ้านำมาใช้กับกอล์ฟหญิงเราได้คงดี อีกสิ่งที่พวกเราเห็นตรงกันก็คือ อายุการทำงานของกอล์ฟสตรีนั้นสั้นกว่า พอถึงจุดนึงมีครอบครัว ไปศึกษาต่อ หรือไม่ไหวก็เลิกไป ต่างจากของผู้ชายที่ยังมี ซีเนียร์ทัวร์ รอรับอีก ทำให้ผมก้าวเข้ามาทำงานด้านกีฬาเต็มตัวครั้งแรกใน สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี เรามีเวลาสี่ปี ตั้งใจทำให้ดีที่สุด อาจจะไม่เห็นผลทันทีทันใด อาจจะต้องใช้เวลา หรือสำเร็จได้มากขนาดไหน ก็ขอให้สำเร็จ อย่างน้อยต้องมีแนวทางที่ทำ เราให้ไปแล้วว่าจะไปทางไหนก็จะไปทางนั้น สิ่งที่เป็นเครดิต พูดไปแล้วต้องทำ

กอล์ฟ : ผมเริ่มเล่นครั้งแรกที่อเมริกา ช่วงซัมเมอร์มีเวลาว่าง เริ่มหากิจกรรมทำกัน มีรุ่นพี่มาชวนไปตีกอล์ฟ เรียนกับโปร ไปรู้ว่ากอล์ฟคืออะไรก่อน ก่อนหน้านี้เคยเห็นแค่ข่าวในทีวี พอเล่นเองแล้วรู้สึกว่ายากมากเลย ก็ฝืน ๆ หน่อย โชคดีที่พากันไปเล่นบ่อย แล้วผมยังได้รับการปลูกฝังว่า กอล์ฟเป็นกีฬาของสุภาพชน เล่นด้วยความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ทำผิดอะไรถึงแม้ไม่มีคนจับได้ แต่คุณก็รู้ของคุณเอง จนผมเริ่มมีความประทับใจ แล้วยังเป็นกีฬาไม่การปะทะ หากเป็นกีฬาอื่นอย่างฟุตบอล บาดเจ็บทีต้องรักษากันนานกว่าจะกลับไปทำงานได้

เกือบเป็นโปรฯ : กลับมาจากอเมริกาทำงานหนัก แต่ช่วงวันหยุดก็ยังไปเดินหาซื้ออุปกรณ์ ไปซ้อม พอได้เล่นตามกอล์ฟการกุศลบ้าง ตอนหลัง ๆ เพื่อนเริ่มกลับมาจากเรียนต่อ ผมก็รู้จักคนมากขึ้น จนมีก๊วนได้เล่นกอล์ฟกันทุกอาทิตย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งเล่นดีมาก ตีเลขสามตลอด เกือบไปสอบโปรฯ แล้ว แต่เกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ต้องวางกอล์ฟเพื่อกลับไปดูงาน จากที่เคยทำได้ก็เริ่มไม่เหมือนเดิม จนรู้สึกว่า นั่นคงไม่ใช่วิถีทางของเรา แล้วจะเป็นโปรฯ ไปทำไม ในเมื่อยังมีงานหลักอยู่ เราเล่นกอล์ฟเพื่อรับแขก ไว้สนุกกับเพื่อน ๆ ดีกว่า

สุขภาพกาย : สมัยก่อนไม่ค่อยสนใจเรื่องดูแลสุขภาพ กินเยอะมาก กินอะไรก็ได้ กินยังไงก็ไม่อ้วน กีฬาก็ไม่ได้เล่นเยอะ แต่ร่างกายอาจจะยังเผาผลาญดี แต่พอระยะหลัง ๆ รู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้น จนต้องหันมาใส่ใจ เริ่มออกกำลังกาย วิ่งบ้าง ยืดเส้นยืดสาย เริ่มกินน้อยลง เคล็ดลับของผมคือ เลือกประเภทอาหาร ลดจำพวกแป้งจริงจัง ลดของมัน ของทอด ระหว่างมื้อก็ไม่มี ทำให้คุมน้ำหนักได้คงที่ ออกกำลังแค่พอดี ๆ ไม่ได้เล่นจนหนักเกิดไป

สุขภาพใจ : ต้องใช้ประสบการณ์มาช่วยสั่งสอนชีวิตตัวเอง สิ่งที่ผ่านมา มันเคยหนักหนาสากรรจ์มาแล้ว ถ้ารู้สึกอารมณ์จะขึ้น จะโมโห ทำให้ไม่พอใจ ให้นับในใจไปก่อน ถ้าทนไม่ไหว จะควบคุมไม่ได้จริง ๆ ให้ออกไปที่ใดที่หนึ่งก่อน เดินออกไปจากตรงนั้น แล้วกลับเข้ามาใหม่เมื่อพร้อม ดูตัวเองให้ดี ว่าคิดอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะโกรธยังไง เราก็ไม่มีวันไปทำร้ายใคร เพราะมีลูกเมียอยู่ข้างหลัง แค่คิดถึงหน้าลูก ความโกรธที่มี ก็หายหมดแล้ว

คำสอนคุณพ่อ : คำพูด สำคัญที่สุด พูดอะไรไป ต้องทำสิ่งนั้น, เครดิต สำคัญที่สุด เสียเงินเสียได้ แต่ถ้าเสียเครดิต ไม่มีวันกู้คืนได้ ทำยังไงก็ไม่กลับคืน ถ้าคุณสัญญาอะไรไว้ ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เหลือเครดิต ผมใช้วิธีตามที่คุณพ่อบอก เป็นหลักสำคัญในการทำงานมาตลอด ถึงแม้เราจะไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ไปหมดทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องรักษาในสิ่งที่ตั้งใจจะทำไว้ให้ได้มากที่สุด ดีที่สุด เท่าที่ทำได้ครับ