หน้ากากอนามัย สู้ไวรัส
หน้ากากอนามัย สู้ไวรัส
หลังประเทศไทยเจอปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มาก่อนหน้านี้หลายปี ภาพการเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยไปไหนมาไหนเริ่มจะคุ้นชินตา ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยิ่งทำให้เราได้เห็นภาพของผู้คนตามสถานที่ต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยกันแทบทุกคน ซึ่งเป็นภาพที่อาจจะแปลกตาไปสักหน่อย เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ การนอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว คนไทยแทบไม่ใส่หน้ากากอนามัยกันเลย แม้ว่าจะเป็นคนป่วยก็ตาม
จากงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายของอณูเล็กๆ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80 เนื่องจาก การไอหรือจามแต่ละครั้ง จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในละอองน้ำลายหรือน้ำมูก แพร่กระจายออกไปได้ไกลถึง 3 ฟุต และมีชีวิตลอยปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสได้รับเชื้อไปด้วย ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องออกไปในที่ชุมชนหรือต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ ก็ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือความชื้นที่มาจากผู้ใช้ ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น รวมถึงป้องกันการรับเชื่อที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศอีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบันหน้ากากอนามัยที่ถูกพูดถึงมากๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ก็คือ หน้ากาก N95, หน้ากากอนามัย (surgical face mask) และ หน้ากากอนามัยแบบผ้า
หน้ากากแบบ N95 นั้น ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ เพราะเป็นแบบที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ และแน่นอนว่า ก็สามารถป้องกันครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสที่อยู่กับละอองฝอยของสารคัดหลั่งต่างๆ ที่ออกมาจากมนุษย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า PM2.5 ได้อย่างแน่นอน หน้ากากอนามัยชนิดนี้มักใช้ทั้งในวงการแพทย์ที่ต้องการความปลอดภัยจากการติดเชื้อสูง ได้แก่ การป้องกันเชื้อวัณโรค หรือเชื้อแอนแทร็กซ์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งมักใช้ระหว่างการทำงาน เช่น การทำงานกับสารเคมีหรือการใช้สีที่อาจทำให้ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ด้วยเส้นใยที่แน่นมากและลักษณะการใส่ที่ครอบลงไปบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด จะทำให้ผู้สวมมักจะอึดอัด หากต้องใช้หน้ากากต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
หน้ากากอนามัย (surgical face mask) เป็นแบบที่เห็นกันคุ้นตา แต่เดิมจะเห็นบุคลากรทางการแพทย์ใส่ตามสถานพยาบาลต่างๆ หน้ากากอนามัยชนิดนี้ ผลิตขึ้นจากผ้า หรือพอลิโพรไพลีนซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยมาตรฐานจะต้องมีชั้นกรองอย่างน้อย 3 ชั้น หน้ากากชนิดนี้เรียกว่าเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ง่าย (ในภาวะปกติ) ประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นได้ดี สามารถป้องกันของเหลวซึมผ่านได้ ทั้งยังป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจามได้อีกด้วย และเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนา แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ป้องกันได้ ใส่ได้ยาวนานกว่าไม่อึดอัดแบบ N95 ข้อเสียคือ ไม่สามารถนำไปซักแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ เพราะทันทีที่ถูกซัก เส้นใยที่ถักทอขึ้นมาจะสูญเสียคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรค อีกทั้งยังเป็นขุย ซึ่งผู้ใช้อาจหายใจเข้าไปได้
หน้ากากอนามัยแบบผ้า คุณสมบัติเหมือนกับหน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน แต่ข้อดีของมันคือสามารถทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า มาทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้ จะหาซื้อหรือทำขึ้นเองก็ได้ แต่ต้องดูให้ดีว่าเป็นผ้าที่มีความแน่นของเส้นใยที่พอเหมาะ เช่น ผ้าสาลู นอกจากนี้ การตัดเย็บจะต้องให้มีขนาดพอเหมาะและกระชับกับใบหน้าเพื่อป้องกันได้ดีที่สุด นอกจากประหยัด หาง่าย แถมยังเป็นการลดการสร้างขยะอีกต่างหาก
เข้าในที่ชุมชนครั้งต่อไป อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยไปด้วย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อลดการระบาดให้น้อยลง
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพราะโอกาสติดเชื้อมาจากการสัมผัสกับเชื้อในละอองฝอยที่มือไปสัมผัสมาแล้วมาป้ายที่ตาบ้างหรือหยิบจับอาหารเข้าปากบ้าง รวมไปถึง การกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะถ้าร่างกายของเรามีภูมิต้านทานดี โอกาสเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคเหล่านี้ก็น้อยลง หรือถ้าติดเชื้อ อาการของโรคก็จะไม่รุนแรง ก็เป็นการเตรียมพร้อมและป้องกันตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย
Cr : ภาพจาก pixabay (leo2014 และ Yerson Retamal)