Interview

ผศ.จอมภัค คลังระหัด

ผศ.จอมภัค คลังระหัด
รองอธิการบดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

“จิตวิทยา เรียนเพื่อรู้จักตัวตน เมื่อเรามีปัญหา ต้องหันมาดูตัวเองด้วย ยิ่งเรียน ยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้อยากรู้จักตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าเราเป็นยังไงบ้าง”… อ.โจ (ผศ.จอมภัค คลังระหัด) เริ่มบอกกล่าว เมื่อถามถึงใจความของ จิตวิทยา แบบรวบยอด…

แต่กว่าจะกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้นั้น เธอเคยเลือกอีกเส้นทาง ที่ห่างกันคนละขั้วมาแล้ว…

“ตอนเด็ก เคยดูหนังแล้วเห็นภาพของฟาร์มในต่างประเทศ เกิดความประทับใจ ประกอบกับครอบครัวอยู่จังหวัดชัยภูมิ ได้เห็นการทำนา ทำไร่ จนคุ้นเคย แล้วยังมีคุณอาซึ่งเรียนจบทางการเกษตรจากประเทศออสเตรเลีย สอนที่ ม.ขอนแก่น มาเป็นไอดอลอีกคน ทำให้รู้สึกอยากเลือกเดินตามเส้นทางนี้บ้างค่ะ”

“ชีวิตหลักของเราคือเรียน พ่อจะไม่ค่อยปล่อยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เยอะมากนัก ทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ทำให้เล่นกีฬาไม่เป็น ศิลปะก็ไม่เป็น”

คนต่างจังหวัดมักจะมองว่า ลูกครูจะต้องได้ดี เราก็มีแรงกดดันตรงนั้นนิดนึง ตั้งแต่เด็ก ๆ จึงสามารถนำตัวเองได้ ตัดสินใจเองได้ตลอด เวลาที่พ่อพูด จะฟัง แต่เวลาทำ เป็นเรื่องของเรา (หัวเราะ) พ่อเลี้ยงมาแบบให้เราเป็นผู้ใหญ่ ขอคำแนะนำเรื่องต่าง ๆ หรือถ้ามีปัญหาก็จะปรึกษาเรา ทั้งที่เป็นลูกคนเล็ก จะเห็นเงินทั้งหมดของบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ช่วงไหนมีปัญหาก็จะรู้ และให้คำปรึกษา พี่ ๆ จะไม่รู้เรื่องเลย”

และความใฝฝันของ อ.โจ นั้น คือการได้เรียนคณะเกษตร… “ตอนจบ ม.6 มีโควต้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัครเพียงคณะเกษตรที่เดียวเลย แล้วก็สอบได้ ไปรายงานตัว เตรียมตัวเรียบร้อยพร้อมไปเรียน

ขณะเดียวกันก็ไปสอบ คณะศึกษาศาสตร์ ที่ประสานมิตร อีกแห่ง ก็สอบโควต้าได้อีกเช่นกัน แต่เธอไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะคิดว่า “ยังไงก็จะเรียนเกษตรที่ขอนแก่น” เตรียมตัวเต็มที่ ทำทุกอย่างครบแล้ว ทั้งรับน้อง ดูที่พัก รอแค่วันเปิดเทอม

จนคืนสุดท้าย ก่อนจะหมดโอกาสเข้าเรียนที่ มศว. คุณพ่อมาพูดเลยว่า “ขอ” ให้ไปเรียนที่ ประสานมิตร เพราะท่านเรียนเกษตรมา ทำงานทางสายอาชีวะ… “พ่อบอกว่า ผู้หญิง ไม่ควรจะไปขุดดิน” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว เกษตรไม่ใช่แค่การขุดดิน แต่ชีวิตต่างจังหวัด สิ่งที่พ่อแม่เข้าใจคือ การเป็นครูคือชีวิตที่เรียบง่ายสำหรับเด็กผู้หญิง ไม่งั้นก็พยาบาล…

“ตอนไปสอบคณะเกษตร ไม่ได้บอกพ่อว่าเลือกไว้ สอบได้แล้วถึงบอก ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ท่านมีแผนในใจอยู่แล้ว จนสุดท้ายถึงมาขอ แล้วในชีวิตคุณพ่อไม่เคยขออะไรเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก็ยินดีทำตาม ถึงจะเสียใจมาก แต่ไม่มีน้ำตาให้เห็นในตอนนั้น พอมาเรียน ค่อยเริ่มมีน้ำตาออกมา เพราะนี่มันไม่ใช่ทางของเรา”

“เปลี่ยนชีวิตไปเลยค่ะ จากจะเรียนเกษตร กลายเป็นไปเรียน ศึกษาศาสตร์ ปีแรกแย่มาก ไม่เคยคิดว่าจะมาทางนี้ เรียนอย่างไม่มีความสุข เคยเรียนสายวิทย์มา แล้วต้องมาเรียนวิชาสายศิลป์ มีความรู้สึกว่า ชอบอยู่ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ อยากจะไปเอ็นทรานซ์ใหม่ แต่ไม่ได้ทุ่มเต็มที่ ไม่ได้อ่านเตรียมสอบ”

อ.โจ กลับมาตั้งหลักใหม่ “คิดว่าคงไม่ไปไหนอีกแล้ว” เริ่มตั้งใจเรียน ทุ่มเทมากขึ้น ชีวิตเริ่มมีเป้าหมายชัดเจน “ตอนเรียนปีหนึ่งยังไม่เข้าใจว่าเกียรตินิยมคืออะไร เรียนไปตามสภาพ พอขึ้นปีสอง เกรดดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเพื่อนทักว่า เรียนแบบนี้จะเข้าเกณฑ์ ได้เกียรตินิยม”

พอขึ้นปีสอง ต้องเลือกวิชาเอก ตอนแรกคิดจะเลือกปฐมศึกษา… “โชคดีที่ชีวิตเวลาจะตัดสินใจอะไร จะมีผู้ใหญ่เข้ามาคอยชี้แนะไปในทางที่เราไม่เคยคิดเลย เปิดทางให้เราได้เดินไปอีก” อาจารย์ที่ปรึกษา แนะนำว่า “เปลี่ยนมาเรียนด้านจิตวิทยาดูบ้างมั้ย มันดีนะ” สมัยนั้น พี่ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ ได้เป็นนางงามจักรวาล เรียนจบจิตวิทยา ด้วยพอดี ทำให้สาขานี้เริ่มเป็นที่รู้จัก จนเรียนจบ กศ.บ. (การแนะแนว) เกียรตินิยมอันดับ 2 จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แล้วก็ต่อปริญญาโท ทางด้านจิตวิทยา ศศ.ม. (จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว) ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์…

ตอนเรียนปริญญาตรี อ.โจ บอกว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องที่เรียนเท่าไรนัก แต่พอมาเรียนปริญญาโท เริ่มเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จากสิ่งที่เคยรู้สึกว่าเรียนยาก กลายเป็นว่า สามารถทำความเข้าใจได้มากขึ้น สาขาวิชาอื่น จะเรียนในสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่สาขาจิตวิทยา เรียนเหมือนเปิดตัวเอง ให้กว้าง ให้ยอมรับ พออาจารย์พูดถึงทฤษฎีอะไร ให้นึกถึงตัวเองว่าเป็นยังไง ลองเปรียบเทียบไปเรื่อย ๆ “ยิ่งเรียนยิ่งคุ้ม ทำให้ให้รู้จักตัวเองเยอะมาก”

“ทำไมพ่อแม่ที่ไม่เคยเรียนจิตวิทยาถึงเลี้ยงลูกได้ นั่นเพราะ จิตวิทยาเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อก่อนเคยเรียนตามหลักตะวันตก แต่พอไปเรียนที่ ม.เกษตรศาสตร์ ได้เรียน พุทธจิตวิทยา คือเอาหลักแนวพุทธ มาใช้ในการดำเนินชีวิต แก้ปัญหาทางจิตวิทยา จะเห็นว่าปัจจุบัน คนตะวันตก หันมาสนใจ เพราะหลักการของพุทธ ตรงกับหลักทางวิทยาศาสตร์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

“แนวคิดของจิตวิทยาคือ เรียนเพื่อรู้และเข้าใจตัวเอง เพื่อจะนำไปสู่การรู้และเข้าใจผู้อื่น ถ้าเรามีความสุข คนอื่นก็มีความสุข ถ้าเราทุกข์ เราเศร้า คนอื่นก็จะเป็นแบบเราไปด้วย เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จึงมีความรู้สึกว่า การเรียนทางด้านนี้ ช่วยเราได้ และทำให้สิ่งที่เคยเป็นทุกข์เมื่อตอนเรียนปริญญาตรี ปี 1 กลายเป็นว่าถึงตอนนี้ เรามาถูกทางแล้ว” อ.โจ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

หลังเรียนจบ ก็เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนจิตวิทยา และอยู่ในศูนย์ให้คำปรึกษาไปด้วย ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิต “ได้ฝึกวิทยายุทธจากที่นี่เยอะเลยค่ะ” ได้เรียนรู้จากเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ได้ฝึกความแกร่ง

“เราได้ช่วยเหลือเด็ก เวลาเจอทางออก หรือเจอคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีปัญหา แล้วเราช่วยให้เขาแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเขาเอง เวลาผู้ปกครองโทรมาชมก็จะปลาบปลื้ม ความรู้สึกนี้ เหมือนกันกับเวลาคุณพ่อของเราที่เป็นครู แล้วลูกศิษย์มาไหว้ท่าน เราได้พบความสุขแบบเดียวกันกับที่พ่อเจอเช่นกัน”

“ส่วนใหญ่เด็กจะมาด้วยปัญหานำ นั่นคือเรื่องการเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่เยอะที่สุด แล้วปัญหาครอบครัวก็จะค่อย ๆ ซ้อนเข้ามาเรื่อย ๆ เวลาเจอกับเด็ก ต้องเป็นทั้งอาจารย์และเป็นแม่ พอพูดคุยกัน จนเขาไว้ใจ เราก็ช่วยเหลือเขาได้ แล้วจะเปิดประตูไปสู่เรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริง ปัญหาเรื่องการเรียนเป็นเพียงเรื่องรอง ผลการเรียนไม่ดี คือเรื่องปลายเหตุ การที่เด็กเรียนไม่ดี ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาชีวิต การปรับตัวกับสังคม ปัญหาครอบครัว”…

ทำงานอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนได้พักใหญ่ พอมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เพชรบุรีเริ่มต้นเปิดรับสมัครบุคลากร ซึ่งการไปเปิดวิทยาเขตใหม่ การดูแลเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริหารเห็นว่าการใช้ผู้มีประสบการณ์ น่าจะช่วยในการดูแลเด็กที่ไปอยู่ต่างจังหวัดได้

“ไปเป็นอาจารย์ 7 คนแรกของวิทยาเขต เมื่อปี 2545 เด็กรุ่นแรก 240 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกรุงเทพฯ พ่อแม่ไว้ใจอาจารย์ให้ช่วยดูแล ทำให้เริ่มเป็นเหมือนแม่เต็มตัว จนเด็ก ๆ เรียกเราว่าแม่เลย ปัญหาก็คล้าย ๆ เดิม การเรียนคือปัญหานำ แต่เราจะอยู่กับเด็กหอ 24 ชั่วโมง 7 วัน อยู่ใกล้กัน ภาพจะเปลี่ยนไป ได้เห็นเด็กตลอดเวลา โซเชี่ยลยังไม่มีเยอะขนาดนี้ ยังต้องใช้เน็ตจากห้องคอมฯ ทำให้ตามตัวกันง่าย”

คณะวิทยาการการจัดการ เป็นคณะแรกที่เปิดแล้วไปอยู่ที่เพชรบุรีเลย เมื่อปี 2545 หลังจากนั้นก็มีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตร ย้ายไปจากทับแก้ว และมีคณะ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเปิดใหม่ ต่อมาก็มีวิทยาลัยนานาชาติ ไปอยู่ที่นั่นด้วย รวมเป็น 4 คณะด้วยกัน

“เริ่มทำงานหนักตั้งแต่เริ่มเลยค่ะ ท่านคณบดีให้ช่วยขึ้นมาทำงานด้านบริหาร เป็นผู้ช่วยทางด้านกิจการนักศึกษา แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมาก็ขยับไปเป็นรองคณบดี”

ส่วนทางวิชาการก็ขยับไปด้วยเช่นกัน “เปลี่ยนแนวไปเรียนทางด้านบริหารธุรกิจบ้างค่ะ ผันตัวเอง จากจิตวิทยา ไปเป็นเชิงประยุกต์ นำความรู้ไปใช้ในการบริหารจัดการ เชิงบริหารธุรกิจมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าไปทำงานในคณะวิทยาการการจัดการ ได้ใช้ความรู้ทางจิตวิทยาไปสอนในเชิงบริหาร พอทำตำแหน่งทางวิชาการ ก็ทำทางด้านบริหาร เป็นการเปลี่ยนเส้นทางการทำงาน โดยใช้จิตวิทยาเป็นฐานในการพัฒนาต่อไป และเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน”

“สนุกกับการเรียนรู้ ไปอบรม ประชุม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของเราให้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งความรู้เดิม แล้วนำไปประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากรมนุษย์ พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เป็นทางการตลาด เป็นพื้นฐานทางด้านจิตวิทยาหมดเลย คือการรู้ เพื่อรู้จักความต้องการของคน ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของบุคคลในองค์กร หรือ OB (Organization Behaviour) ว่าในเวลาที่คนทำงาน มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลกับการทำงาน ความเครียด แรงจูงใจ รางวัล สิ่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้คนพัฒนาขึ้น และ ในเวลาที่คนตัดสินใจซื้อ หรือจะใช้จ่าย มีปัจจัยอะไร หรือใครบ้าง เข้ามาเกี่ยวข้อง”

แม้ว่างานด้านจิตวิทยาที่ทำ ดูไปแล้วมีความเครียดอยู่ไม่น้อย แต่เธอกลับบอกว่า…

“สิ่งที่รับฟัง ไม่ได้ก่อให้เกิดความเครียดกับตัวเองค่ะ เพราะเราจะรับรู้ว่า นั่นคือทุกข์ หรือปัญหาของคนอื่น เราเป็นคนหาข้อมูล ให้ข้อมูล ว่ามีอะไรบ้าง ที่สามารถจะเป็นแนวทาง เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาของเขาได้ เราจะไม่เอาปัญหามาใส่ตัวเอง นี่คือสิ่งที่ฝึกฝนมาตอนเรียนว่าเวลาที่เราให้คำปรึกษา ต้องเอาทุกอย่าง มาอยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่ต้องไม่เอามาใส่ตัวเรา ปัญหาของเขา เราจะช่วยเต็มที่ ไม่ละทิ้ง”

“การให้คำปรึกษา คือการให้ข้อมูล ให้ทางเลือก การสะท้อน ถึงอารมณ์ความรู้สึกว่า ถ้าเขาทุกข์ คือเราเข้าใจความทุกข์ของเขา เขาก็จะเห็นว่าเราเข้าใจ แต่ไม่ได้บอกว่า เราทุกข์ไปด้วย เราเพียงให้เข้ามูล แล้วเป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจเอง เราจะไม่บอกให้เขาทำแบบนั้นแบบนี้ แต่จะพยายามชี้แนะให้เห็นผลต่าง ๆ ในแต่ละวิธี สุดท้ายแล้วเขาต้องเป็นคนเลือก จะถูกหรือผิด เขาต้องรับผิดชอบ เราจะไม่รู้สึกผิด แต่ถ้าเขาทำตามที่เราบอกแล้วเกิดข้อผิดพลาด เราจะรู้สึกผิด เพราะนั่นคือสิ่งที่เราบอกให้เขาทำ”

เมื่อทำงานเยอะ ก็ต้องรู้วิธีดูแลตัวเองด้วย…

“ไม่ข้องเกี่ยวกับอะไรที่ทำลายสุขภาพ จนคนชอบทักว่าลดน้ำหนักหรือเปล่า ไม่เคยคุมอาหาร ทานทุกอย่างที่ชอบ บางครั้งอาจจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้าอยากทาน ต้องได้ทาน แค่ต้องรู้ว่า เราจะทานได้เท่าไหร่ ส่วนตัวมีการเผาผลาญที่ดี เวลาทำงานคือการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง เป็นคนเดินเร็ว ใช้บันไดตลอด เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการดูแลสุขภาพ ใช้เวลาทำงานและออกกำลังกายในเวลาเดียวกัน คลายเครียดบ้าง เวลางานเข้ามาเยอะ มีวิธีในการรักษาสภาพจิตใจของเรา เดินบ้าง เข้าฟิตเนสบ้าง”

“ชอบกีฬา แต่เล่นไม่เป็น ไม่มีทักษะในการเล่นกีฬาเลย แต่มีทักษะในการดู แค่ฟังแล้วหลับตา ก็จะนึกภาพออก รู้ว่าเขากำลังทำอะไรกัน เป็นผู้หญิงที่ชอบดูฟุตบอล มีทีมรักทีมเชียร์คือ อาร์เซนัล เมื่อก่อนงานยังไม่ยุ่งมาก จะดูพรีเมียร์ลีกตลอด เริ่มดูเมื่อตอนไปอยู่เพชรบุรี มีฟุตบอลโลกที่ญี่ปุ่นเกาหลีเป็นเจ้าภาพพอดี”

“เริ่มดูฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็ก ที่บ้านมีทีวีเครื่องเดียว พี่ ๆ จะต้องดูฟุตบอล ถ่ายทอดพร้อมกับละคร ดังนั้นต้องดูตามพี่ ไม่ได้ดูละคร ทำให้รู้จักทีม รู้จักนักเตะในยุคนั้นไปด้วย นั่งดูจนชอบตามไปด้วย อ่านหนังสือสตาร์ซอคเกอร์ของพี่ เป็นผู้หญิงคนเดียวของห้อง ที่มีหนังสือเรียน ห่อปกเป็นรูปนักฟุตบอล มีสองคนที่ติดตาม คือ ราอูล กอนซาเลส ทีม รีอัลมาดริด กับ เทียรี่ อองรี ที่ทำให้ตามไปเชียร์ทีม อาร์เซนัล คนสนิทจะรู้ว่าชอบ ถ้าไม่ได้ดู ก็ฟัง หรือติดตามผลการแข่งขัน ดู ลาลีกา ของ สเปน เคยเชียร์ รีอัล มาดริด แล้วมาเชียร์ บาร์เซโลน่า”

“ตอนไปเรียนอังกฤษ พักอยู่ใกล้ ๆ สโมสรอาร์เซนัล ก็ไม่พลาดที่จะสมัครสมาชิก ทำให้ได้เข้าไปดูก่อนตั้งแต่วันเริ่มเปิดสนาม ตั้งแต่เริ่มฝึกซ้อม ได้ไปดูนักกีฬาชื่อดังตัวเป็น ๆ การได้เชียร์ฟุตบอลที่อยู่ในสนามจริง ๆ ไม่เคยนึกมาก่อนว่าบรรยากาศมันสนุกสุดยอดจริง ๆ เวลาไปเที่ยวถ้ามีโอกาส ก็พร้อมที่จะหาจังหวะไปดูฟุตบอล ถึงคนอื่นจะไม่ไป ก็ขอไปเอง ดูแลตัวเองได้ กีฬาอย่างอื่นก็ชอบดูเช่นกัน อย่างเทนนิส เชียร์ นาดาล กับ เฟ็ดเอ็กซ์”…

และก่อนจบบทสัมภาษณ์ อ.โจ ยังได้ให้แนวคิดของเธอ กับการใช้ชีวิตไว้ว่า…

“ถ้ามีโอกาส ก็จะทำ โดยไม่มีคำถามว่า ทำได้หรือเปล่า จะคว้าโอกาสนั้นไว้ แล้วคิดว่าจะทำให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็จะพยายามหาแนวทาง เพื่อจะทำตรงนั้นให้ได้ เป็นคนไม่หยุด ทำไปเรื่อย ๆ อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง ขึ้นอยู่กับจังหวะ ถ้าผิด ก็หาทางใหม่ ถ้ามีปัญหา เดี๋ยวก็จะแก้ปัญหาของเราให้ได้ คนสมัยก่อนอาจจะว่าดันทุรังนิดนึง ถ้าทางนี้ไปไม่ได้ ก็จะมีทางอื่นทะลุของมันเอง ชีวิตนี้มีแต่เดินหน้า ไม่มีถอยหลังค่ะ”