Just Say Know

ถึงคราวเรือสำราญ ไม่สำราญ

หลังจากการระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทุกวงการ โดยเฉพาะวงการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามประเทศ การท่องเที่ยว ถูกตรวจสอบรัดกุมมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบ เรือสำราญ ที่กำลังมาแรง ได้ชื่อว่าสนุกสนานปลอดภัย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เกี่ยวพันกับการระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งที่เกิดกับ เรือสำราญไดมอนด์พรินเซส ซึ่งเรือและผู้โดยสารกว่า 3,700 คน ถูกกักกันนอกชายฝั่งโยโกฮามาใกล้กรุงโตเกียว เนื่องจากพบผู้โดยสารติดไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หรือจะเป็น กรณีเรือสำราญ เอ็มเอสเวสเตอร์ดาม ที่มีผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 2,200 คน ถูกปฏิเสธให้เทียบท่า ทั้งที่หมายระหว่างทาง จุดหมายปลายทาง รวมถึงกลับไปยังเมืองที่ออกมาก็ไม่ได้ ต้องลอยลำออกนอกเส้นทางปกติ ล่องเรือเกินระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะพบท่าเรือที่พร้อมจะเปิดรับให้เทียบ เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยง ที่ผู้โดยสารบนเรืออาจจะมีผู้ที่ติดไวรัสโควิด-19 รวมอยู่ด้วย จากสองเหตุการณ์นี้น่าจะส่งผลให้ การท่องเที่ยวบนเรือสำราญที่มีมาร่วม 100 ปี เสียรังวัดไปพอสมควร

แม้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบเรือสำราญ จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการที่มีการบันทึกไว้กว่าร้อยปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วน่าจะเกิดมานานก่อนหน้านั้นมาก

แต่เดิมการเดินเรือในยุคแรกๆ มีจุดประสงค์เพื่อการค้าเป็นหลัก จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 มีการพัฒนาเรือที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำขึ้น ทำให้สามารถเดินทางระยะไกลมากขึ้น และเปิดเส้นทางเดินเรือที่หลากหลายขึ้น จากการขนส่งเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มมีการเดินทางของผู้คนเข้ามามีส่วนมากขึ้น ลักษณะเรือโดยสารยุคแรกเป็นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ ไม่ได้มีความสะดวกสบายนัก จนกระทั่งเริ่มเป็นที่นิยมและกลายมาเป็นอุตสาหกรรมเดินเรือขนาดใหญ่ มีการแข่งขันพัฒนาเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างเดินทาง เพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างเช่นเรือโดยสาร “ไททานิค” อันโด่งดังที่ออกเดินเรือในปี ค.ศ.1912 ก็มีบริการสำหรับผู้โดยสารชั้น 1 เหมือนรูปแบบเรือสำราญเช่นกัน

การดำเนินการเรือสำราญ เริ่มอย่างจริงจัง ราวปี ค.ศ.1920 (พ.ศ. 2463) เป็นการเดินทางของกลุ่มคนร่ำรวยเป็นหลัก พอมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เรือโดยสารมีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกคนได้มากขึ้น ก็ขยายมาให้บริการนักเดินทางกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น มีการกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ชัดเจน ทั้งวันที่ออกเดินทางและกำหนดวันถึงที่หมายล่วงหน้า มีการเดินทางย้ายถิ่นฐาน ไปมาหาสู่ระหว่างคนต่างทวีป ทำให้ธุรกิจเรือสำราญเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารธุรกิจระดับสูง และกลุ่มคนที่มีฐานะดียังคงนิยมเดินทางโดยเรือกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้เรือโดยสารส่วนใหญ่จะเป็นเรือสำราญที่มีลักษณะหรูหรามากขึ้น ถือเป็นยุครุ่งเรืองของการเดินเรือทะเลเลยทีเดียว

ต่อมาเมื่อการขนส่งทางอากาศเข้ามามีบทบาท และด้วยความที่สะดวกสบายและใช้เวลาน้อยกว่าหลายเท่าตัว ทำให้ความนิยมเดินทางทางเรือค่อยๆ ลดน้อยลง จนในที่สุดการให้บริการเรือโดยสารระหว่างทวีปเพื่อการเดินทางก็ไม่มีอีกต่อไป ธุรกิจเดินเรือก็ใช่ว่าจะหยุดไปด้วย ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการขยายเส้นทางท่องเที่ยวออกไปสู่น่านน้ำสากลทั่วโลก แถมยังมีการต่อเรือสำราญเพิ่มขึ้นทุกปีอีกต่างหาก ฟังดูแล้วอาจจะดูไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่า อย่างที่ภูเก็ตบ้านเรา ล่าสุดมีเรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางเข้ามาจอดเทียบท่าเพื่อท่องเที่ยว เดือนละอย่างน้อย 17 ลำเลยทีเดียว

จนมาถึงกรณีกักเรือไดมอนด์พรินเซส และกรณีปฏิเสธให้เอ็มเอสเวสเตอร์ดามเทียบท่า น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญไปไม่มากก็น้อย หลังจากนี้ผู้ให้บริการเรือสำราญคงต้องหามาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจได้ว่าเมื่อขึ้นเรือแล้วจะได้ลงจากเรืออย่างปลอดภัยแน่ๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว นี่น่าจะเป็นพายุที่จะทำให้เรือไม่สำราญแน่ๆ