สุริยะ จิตรพิไลเลิศ
สุริยะ จิตรพิไลเลิศ
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยสารพัดช่าง ฉะเชิงเทรา
“ผู้นำต้องเสียสละ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ได้ ทำตัวเองให้เป็นตัวอย่าง”
คนฉะเชิงเทรา : โดยกำเนิดเลยครับ คุณพ่อทำงานรถไฟ คุณแม่ค้าขาย ถึงฐานะไม่ค่อยดี แต่ มีความมุมานะ สร้างครอบครัวขึ้นมาได้อย่างมั่นคง มีพี่น้อง 5 คน ผมเป็นคนที่ 2, ในอดีต ผมเดินจากบ้านไปโรงเรียนวัดนิโคธาราม ระยะทางประมาณ 5 กม. ผ่านท้องนา ช่วงหน้าน้ำ ต้องเดินไปตามทางรถไฟ ไม่ใส่รองเท้า บางวัน เดินเตะหิน สะดุดหัวน็อต กลับมาเล็บหลุด ถึงหน้าแล้ง ก็เดินลัดทุ่งนา โตขึ้นมาอีกก็เข้าโรงเรียนพุทธโสธร
เส้นทางสายอาชีวะ : ตอนจบ มัธยม 3 มีความตั้งใจจะเรียนด้าน ช่างอุตสาหกรรม เป้าหมายคือ อยากทำงานด้านอุตสาหกรรมโดยตรง เริ่มจากเรียน ปวช. สาขาช่างกลโรงงาน จาก เทคนิคฉะเชิงเทรา, ปวส. แผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ เทคนิค ตะโกราย (ราชมงคลวิทยาเขตนครราชสีมา), ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทเวศร์ เรียนทั้ง วิชาชีพครู และ วิศวกรรม ผสมผสานกัน เพื่อมาจัดการเรียนการสอน จนจบปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหการเครื่องมือกล
เอาตัวรอดได้ : ผมอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ไม่ได้ก่อเรื่องร้ายแรงเหมือนในปัจจุบัน ปัญหาถึงจะมีบ้าง ก็เกี่ยวกับเรื่องการเรียน แย่งกันเรียน แย่งกันใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ กลัวทำงานไม่ทัน เต็มที่ก็เป็นเรื่องชกต่อยตัวต่อตัว ไม่มีการยกพวกตีกัน หรือใช้อาวุธจนบาดเจ็บจนต้องสูญเสีย ซึ่งในอดีตไม่มี เราต้องรู้จักยับยั้งซึ่งกันและกัน คุยเหตุผลรู้เรื่อง แล้วพอเข้าใจ ก็แบ่ง ๆ กันไป ไม่มีปัญหา จบคือจบ
ทักษะความเป็นครู : ตอนเรียนที่ โคราช ที่นั่นต้องดูแลซึ่งกันและกัน เราเรียนอยู่แนวหน้า ก็เป็นติวเตอร์ให้กับรุ่นพี่รุ่นน้อง ต่อมาภายหลังหลายคนก็มาเป็นครู แรก ๆ ผมอยากทำงานด้าน โรงงานอุตสาหกรรม แต่มาเปลี่ยนแปลงเมื่อจบ ปวส.
เบนเข็มมาเป็นครู : ด้วยวิถีชีวิตและการเรียน ทำให้ผมเบนเข็มชีวิต เปลี่ยนไปเป็นครู อาชีวศึกษา เพราะมีความรู้สึกว่า ทำอย่างไรถึงจะดูแลเยาวชน ดูแลน้อง ๆ ของเราให้ประสบความสำเร็จ ต้องพิสูจน์ ทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อตอบคำถามตัวเอง ความรู้ที่เราทุ่มเทให้กับการเรียนเต็มที่ น่าจะนำไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาได้ จึงเลือกไปเรียนที่ เทคนิค เทเวศร์ (มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์) เป็นวิทยาลัยครูของอาชีวะ ได้ทุนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พอจบก็เริ่มอาชีพชีวิตครู
เส้นทางอาชีพครู : เริ่มงานครั้งแรกเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิค ชลบุรี สอนช่างกลโรงงาน อยู่ที่นั่น 8 ปี จนไป 2532 ก็ย้ายกลับไปที่ เทคนิค ฉะเชิงเทรา ถึงปี 2542 ไปเป็นรองผู้อำนวยการ ช่างกลปทุมวัน แห่งที่ 2, กลับมา เทคนิค ฉะเชิงเทรา อีก 6 ปี, ไปเป็นผู้อำนวยการ วิทยาลัยการอาชีพ พนมสารคาม ฯลฯ และกำลังจะเกษียณในปีนี้ที่ วิทยาลัยสารพัดช่าง ฉะเชิงเทรา
เคล็ดลับดูแลเด็กอาชีวะ : จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ รักพ่อแม่ รักครอบครัว แล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีปัญหาหลาย ๆ เรื่อง, ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการขาดความรักในครอบครัว หากเราทำให้เขาเข้าใจชีวิต เข้าใจครอบครัว เข้าใจสังคม จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เช่น เมื่อเรียนหนังสือ หากเรียนไม่จบ พ่อแม่จะเสียใจ, บางครั้ง รักเพื่อนมาก จนลืมรักพ่อแม่ ลืมพื้นฐานชีวิตที่พ่อแม่ดูแลเลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด จนเติบโตขึ้นมา ถ้าไม่ต้องการให้ท่านเสียใจ ต้องมุ่งมั่นเต็มที่ ตั้งใจเรียน ตั้งใจประพฤติตน ไม่ทำชีวิตใครให้เสื่อมเสีย แล้วจะคุ้มครองชีวิตตนเองให้สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้
ต้องรักก่อน : เด็กวัยนี้ ต้องการคนที่เข้าใจเขา ครูต้องรักเด็ก แล้วเด็กจะรักเรา เป็นสัจธรรม ความรักของเราที่มีต่อเขา ที่ให้ไว้ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ เขาก็ยังรักเราอยู่ เพราะ ณ ปัจจุบัน เวลาที่ศิษย์เก่าเมื่อรวมตัวกัน ไม่ว่าจากสถาบันไหน ไม่ว่าจะที่ไหน ก็จะได้รับเชิญให้ไปร่วมงานกับเขาด้วยตลอด
ทำเต็มที่ แล้วจะไม่เสียใจ : เมื่อคุณสอนเด็ก คุณต้องสอนให้เต็มกำลังความสามารถ ถ้าหากวันนี้คุณไม่สอนแบบเต็มสติปัญญา เต็มความสามารถ คุณจะไม่มีโอกาสแก้ตัว, วันหนึ่งที่เขาจบไป แล้วเราจะมาสำนึกได้ว่า สอนไม่ได้ทุ่มเท รู้สึกเสียดาย จะเรียกเขามาสอนใหม่มันไม่ได้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ต้องทำเต็มความสามารถ ทำให้เต็มที่ แล้วจะไม่เสียใจ เมื่อก้าวออกจากที่นั่น จะจากไปอย่างมีความสุข ผมบอกทุกคนแบบนี้เสมอ รวมถึงบอกตัวผมเองด้วย
งานสร้างคน : ลูกศิษย์แต่ละคนมีความยากลำบาก ไม่เท่าเทียมกัน ผมเจอมาหลายสภาพ แต่ละคนมีความแตกต่าง บางคนตอนมาเรียนไม่มีเงินเลย พวกเราก็ต้องช่วยกันดูแล เอาไปฝากวัด ถึงไม่มีเงิน ก็ให้มีข้าวกิน เวลาไปทำงาน เมื่อเกิดปัญหาอะไร เราก็ไปรับรอง ช่วยเขาออกมา จนกระทั่งเรียนจบ ได้ไปทำงาน ผลจากการที่เราพยายามติดตามดูแล ไม่เคยทอดทิ้ง ทำให้ปัจจุบันเขามีโรงงานเล็ก ๆ มีห้องเช่า มีอาชีพมั่นคง เป็นครอบครัวเข้มแข็ง อบอุ่น เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของพวกเรา
กีฬา ทำให้เข้าใจชีวิต : เด็กสมัยก่อน ถ้าว่างก็เตะฟุตบอล ผมก็เช่นกัน พอโตขึ้นมาก็สนับสนุนให้เล่นกีฬา ผลักดันให้เด็ก ๆ ได้ไปแข่งกีฬากัน อย่างช่างกลของเรา ก็ไปแข่งกับสถาบันอื่น มีทั้งครูทั้งศิษย์เล่นด้วยกัน ทำให้เด็กมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ ทำให้เด็กเข้าใจชีวิต
แพ้อย่าท้อ ชนะอย่าเหลิง : กีฬา ถ้าไปแข่งแพ้ ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องกลับไปซ้อมอีกให้หนักกว่าเดิมก่อนไปสู้ใหม่ เพื่อให้เข้มแข็งขึ้น เก่งขึ้น แต่ถ้าชนะ แล้วเหลิง ไม่ซ้อม ไม่พัฒนามันก็แพ้ได้ เหมือนชีวิตจริง, ผมสอนเสมอว่า วันหนึ่งเมื่อจบออกไปทำงาน จะเข้าใจว่า ชีวิตบางครั้งสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง เมื่อล้มเหลวก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้น ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ก็ยิ่งต้องพัฒนาไปข้างหน้า สมหวังแล้วอย่าลิงโลด หรือดีใจจนเกินเหตุ คนเรามันมีโอกาสล้มกันได้ ถ้าออกนอกลู่นอกทาง หากใช้ชีวิตอย่างประมาท วันหนึ่งอาจจะล้มเหลวได้
วิทยาลัย สารพัดช่าง : ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญสำหรับประชาชน ส่วนใหญ่แล้วจะเปิดสอน หลักสูตรประกอบอาชีพ ระยะสั้น ๆ ใช้เวลาเรียนไม่นาน สอนให้กับประชาชนทั่วไป เป็นการสร้างอาชีพให้ เช่น ถ้าอยากเรียนเรื่องการทำข้าวมันไก่ มาเรียนเพียง 6 ชั่วโมง หรือ เรียนเบเกอรี่ 150 ชั่วโมง ใช้เวลามากกว่า แต่เรียนทำหลายอย่าง ทั้ง ขนมเค้ก ขนมปัง ขนมอบต่าง ๆ, การตัดเย็บเสื้อผ้า, จักรยานยนต์, เครื่องยนต์ดีเซล, เครื่องยนต์เล็ก ฯลฯ อยากจะเรียน อะไร ก็เลือกรายวิชานั้น จบแล้วก็ไปประกอบอาชีพได้เลย และเรายังมีหลักสูตร ปวช. ปวส. เปิดสอนอีกด้วย
สร้างอาชีพทางเลือก : หลาย ๆ บุคคลที่มาเรียน บางครั้งเรียนจบในระดับสูง ๆ มาแล้ว หรือทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่อยากจะสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ อยากทำธุรกิจส่วนตัว ก็มาเรียนกับเรา จนบางคนไปเปิดร้านกาแฟใหญ่โต ประสบความสำเร็จ สร้างคน สร้างอาชีพ ให้มีความสุขอยู่ในสังคม
ไม่เก่งจริง ไม่ผ่าน : แต่ละหลักสูตรที่จะจบ ต้องมีการสอบสมรรถนะ ว่าทำได้จริงหรือไม่ เวลาสอบ เราก็ไม่สอบเอง แต่จะเชิญเจ้าของอาชีพตัวจริงมาสอบ เหตุผลคือ ถ้าเราสอนเอง สอบเอง แล้วบอกว่าเด็กของเราดี คงไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นมาสอบ จะได้มั่นใจว่า ผู้ที่จบออกไป สามารถยืนหยัด ประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวได้ ใครสอบไม่ผ่าน ต้องเรียนซ้ำใหม่ ไม่ผ่านจุดไหนก็ต้องซ่อมให้ได้ เพื่อทำให้มั่นใจว่า ลูกศิษย์ของเรามีคุณภาพ ทำได้จริง ปฏิบัติได้จริง เราก็ถึงจะออกไปประกาศฯ รับรองให้ไปประกอบอาชีพได้ ศิษย์เก่าหลาย ๆ คนประสบความสำเร็จในชีวิต ในการประกอบอาชีพ ที่ได้ไปจากวิทยาลัยสารพัดช่าง
สารพัดอาชีพ : วิชาที่สอนมีทั้งหมดห้าสิบกว่าอาชีพ มีทั้งดำเนินการอยู่แล้ว และกำลังพัฒนาหลักสูตร ตั้งใจมุ่งมั่น จะทำเรื่องอาชีพระยะสั้นให้จริงจัง เพื่อผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ หรือไม่มีอาชีพ ได้อยู่ดีกินดี ส่วนใหญ่นิยมมาเรียนในเรื่องของอาหาร ซึ่งมีหลากหลายชนิด และมีเรื่องที่น่าเรียนอีกมาก เช่นกลุ่มอุตสาหกรรม การบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือในโรงงาน กลุ่มที่พักอาศัย ระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ ประปา เครื่องปรับอากาศ จักรยานยนต์ รถยนต์ ฯลฯ และกลุ่มอาชีพสำหรับอาคารสูงโดยเฉพาะ เป็นต้น
สอนให้ดูแลตัวเองได้ : ผมเคยพักอาศัยในหมู่บ้าน ทุกคนจะรู้จักกันหมด มีอะไรเสียก็เรียกให้ไปช่วย ผมก็ทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราเป็นครู คิดเงินไม่เป็น มีแต่ให้อย่างเดียว ซ่อมทุกบ้าน ไม่ว่าจะกลอนประตูรั้วหัก น้ำรั่ว ไฟดับ ทำทุกอย่าง จนเห็นว่า เป็นแนวคิด ว่าเราจะต้องสอนให้คนที่เป็นเจ้าของบ้าน มีความรู้เหล่านี้ เมื่อเขาทำเองหรือช่วยเหลือคนอื่นได้ แม้กระทั่งนำไปประกอบอาชีพ ชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้น
นำกอล์ฟเข้าอาชีวะ : เคยมีความคิดมานานแล้วว่า ระดับ ปวส. ควรจะเรียนเรื่องกอล์ฟ ลีลาศ และดนตรี เพราะเด็กที่จบไปแล้วจะต้องไปอยู่ในสังคม สักวันหนึ่งเขาอาจจะต้องใช้ทักษะพิเศษเหล่านี้ในการใช้ในการทำงาน หรือทำให้ชีวิตก้าวหน้าขึ้น, แต่จังหวะและโอกาสยังไม่มาถึง จนได้รู้จักกับครูพัช (สุพัตรา สัมฤทธิ์) และกลุ่มบุคลากรทางด้านกีฬากอล์ฟ ประกายความคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
กีฬาสุภาพชน : มีกฎ กติกา มารยาท ถ้าได้เรียนรู้ จะเป็นคนดี มีระเบียบ วินัย ดูแลตัวเอง เมื่อจบไปแล้ว โอกาสอันดีที่จะเข้าไปสู่สังคม แล้วประวัติส่วนตัวเวลาสอบสัมภาษณ์ หากผ่านการเรียนเรื่องกอล์ฟซึ่งอาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานก็เป็นได้ จึงเป็นความฝันว่า นี่คือกิจกรรมที่เกิดประโยชน์กับลูกศิษย์ คิดอยากทำ แต่ยังไม่มีจังหวะ ผมคนเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน พอได้ย้ายกลับที่ฉะเชิงเทรา เรามีความพร้อมมากขึ้น มีทั้ง อุปกรณ์กอล์ฟที่ได้รับการบริจาคจากนักกอล์ฟใจบุญ และ วิทยากร โปรกอล์ฟ เข้ามาช่วยกัน จึงจัดทำโครงการอบรมพื้นฐานการเล่นกีฬากอล์ฟ ระดับ 1 โดยมี อ.วิชิต บัณฑุวงศ์ พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญมาเปิดการอบรมให้ที่ วิทยาลัยสารพัดช่าง ฉะเชิงเทรา
จานพิเศษ สร้างราคา : อาหาร มีจานด่วน กับจานพิเศษ, จากจานด่วนราคาธรรมดา ๆ เราเติม เรื่องราวหลาย ๆ สิ่งเข้าไป ก็ทำให้กลายเป็นจานพิเศษที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ นั่นคือแนวคิดที่เราจะเพิ่มความรู้ให้เขา ไม่ว่าใครจะเรียนวิชาหลักสาขาอะไร ก็จะให้ไปเรียนหนึ่งรายวิชาหนึ่งอาชีพเสริมเข้าไปอีก เช่นเรียนช่างยนต์ ก็จะให้เรียนช่างแอร์เพิ่มเติม หรือซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าสนใจจะเรียนมากกว่านี้ก็ได้ ใช้เวลาให้เกิดคุณประโยชน์ ต้องฝึกงาน อย่าหายใจทิ้งไปเฉย ๆ หลังเลิกเรียน มีงานพิเศษอะไรไปทำ ใครอยากได้งานอะไรให้มาบอกเรา งานที่ทำความรู้ที่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนเงินที่ได้ก็ถือว่าเป็นค่าขนม ภาษาอังกฤษก็ต้องเก่งด้วย มีเวลาต้องหาความรู้เพิ่มเติม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง และเพื่อนคือสิ่งสำคัญ การอยู่ในสังคม ต้องดูแลช่วยเหลือกันและกัน การจะได้งาน ก็อาศัยเพื่อนทั้งนั้น
กาย ใจ : การออกกำลังสำคัญมาก ร่างกายเหมือนเครื่องจักร ถ้าทำงานทุกวัน แล้วไม่ได้พักเลยก็ไม่ได้ อย่างการทานอาหาร ถ้าทานมื้อเย็นช้า กว่าร่างกายจะได้พักก็เลยเวลาที่ควรนอน ต้องทานเบา ๆ น้อย ๆ ไม่ดึกมาก, ตื่นเช้า ๆ ออกกำลังกาย วอร์มอัพอุ่นเครื่องก่อนทำงาน ทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่ได้ โดยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
ธรรมะ : คนเราคิดตลอดเวลา ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด การเข้าหาธรรมะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยทำให้จิตใจสงบ มีความสุข ผมเคยไปอบรมที่วัดไร่ขิง พอได้นั่งสมาธิแล้วจิตมันนิ่ง ใจสงบ จนสัมผัสได้ว่านี่คือความสุข ถึงแม้จะทำยาก แต่ก็ควรหมั่นปฏิบัติ เพราะทำให้รู้ว่า จิตที่สงบ คือความสุขที่แท้จริง
วิสัยทัศน์พันธกิจ : กลยุทธ์ต่าง ๆ เราต้องมีเป้าหมายก่อนว่า จะทำงานตรงนี้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ, วิสัยทัศน์ จะได้จากทุกคนในองค์กร ต้องมาคุยกันว่า จะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรา พอกำหนดวิสัยทัศน์ได้ ก็มาคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ระยะเวลาเท่าไหร่ นั่นคือพันธกิจที่เกี่ยวข้อง แล้วมาดูว่าจะใช้กลยุทธ์อย่างไร นั่นคือหลักการที่ต้องทำ มิเช่นนั้น เราจะไปไม่ถูก นี่คือเป้าหมาย ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ
การครองตน : เป็นเรื่องสำคัญ ช่วยทำให้มีชีวิตอยู่ได้และอยู่ดี, เรื่องของเหตุและผล สัจธรรมความจริง สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเดินไปในทิศทางที่ไม่ใช่ ก็อยู่มาถึงทุกวันนี้ไม่ได้ การครองตนให้สัมฤทธิ์ผลตามคำสอนของพุทธองค์ มีครูบาอาจารย์ พ่อแม่ เป็นจุดยึดเหนี่ยว เราต้องรักเขา แล้วเขารักเรา ผู้นำต้องเสียสละ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ได้ ทำตัวเองให้เป็นตัวอย่าง มาทำงานแต่เช้า กลับทีหลัง ทุกวันผมเดินลงดูทุกองค์กร ไม่ใช่ไปจับผิด แต่ไปให้กำลังใจ มีอะไรขาดเหลือก็ช่วยเหลือกัน ดูแลเต็มที่ ทำให้น้อง ๆ เข้าใจเรา และทุ่มเททำงานไปด้วยกัน
ทุกคนเท่าเทียมกัน : ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน นั่นก็คือ สัจธรรม ผมไม่ยึดถือในตำแหน่ง ไม่ยึดติดกับหน้าที่การงาน หน้าที่ใครก็ทำให้ดีที่สุด ศักดิ์ศรีทุกคนเท่าเทียมกัน เมื่อหมดหน้าที่แล้ว ทุกคนคือเพื่อนกัน พี่น้องกัน ถึงแม้จะต่างกันด้วยหน้าที่ แต่ท้ายสุด ทุกคนก็กลายเป็นเถ้าถ่านเหมือนกันหมดครับ