ดร.ณัฐชีรา กิตติธเนศวร
ดร.ณัฐชีรา กิตติธเนศวร
โรงเรียนกวดวิชา DOCTOR TUTOR
“ครอบครัวปลูกฝังว่า ความรู้ คือสิ่งเดียว ที่ไม่มีใครเอาไปจากเราได้ เมื่อมีช่วงเวลา มีโอกาสกอบโกย ไม่ว่าจะเรียนอะไร ต้องทำให้เต็มที่ค่ะ”
ครูหวาน (ดร.ณัฐชีรา กิตติธเนศวร) ติวเตอร์วิชาเคมี ขวัญใจเด็กๆ ที่กำลังเตรียมปูทางในกับอนาคตทางการศึกษา เอ่ยถึงที่มาของชีวิตการเป็นผู้หญิงเก่งแบบครบทุกมิติ
“วิชาการต้องดี ดนตรีต้องได้ กีฬาต้องเก่ง เพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะมาเป็นอาชีพให้เราได้” นี่คือคำขวัญประจำครอบครัว แล้วเธอก็ทำได้… “ครบค่ะ”
เพราะครูหวาน มีทั้งผลการเรียนระดับสูงสุด, เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ระดับตัวแทนเยาวชนประเทศไทย ส่วนดนตรี ก็เล่นเปียโน เพื่อช่วยฝึกสมองซ้ายขวาให้ทำงานเต็มที่ โดยทุกปิดเทอม ครูหวานจะต้องหาค่าขนม จากการสอนเปียโน และ สอนว่ายน้ำ ให้กับเด็กเล็ก ตั้งแต่เมื่อยังเรียนที่ บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) “ได้รับการศึกษาที่ดีมากๆ จากโรงเรียน คุณครูทุกคนทำให้รู้สึกประทับใจในอาชีพการเป็นครู” นี่คือความผูกพันของเธอกับสถานศึกษา
ครูหวานฝึกว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 5 ขวบ พอ 7 ขวบ เรียน ป.4 ก็ลงแข่งชิงถ้วยฯ สมเด็จพระเทพฯ ในสมัยนั้น แล้วคว้า 7 เหรียญทอง ทุกประเภทที่ลงแข่ง จากเด็กใหม่ที่ไม่มีใครเห็นแววมาก่อนว่าจะทำได้ กลายเป็นคนที่รู้จักกันทั้งโรงเรียน ได้ลงหนังสือพิมพ์ คุณครูประกาศหน้าเสาธงว่า นักกีฬาของโรงเรียน ได้รับรางวัลมา และเด็กคนนี้มีผลการเรียน 4.00 เพียงคนเดียวอีกด้วย ทำให้รู้จักกันทั้งโรงเรียนว่า “หวาน นักกีฬา 4.00”
เมื่อต้องขึ้นเวทีไปบอกคนอื่นว่า เธอได้เหรียญทองด้วย และเรียน 4.00 ด้วย ทำให้ตื่นเต้นด้วยความภาคภูมิใจ แล้วก็รู้สึกอายมาก แต่… จะอายมากกว่า ถ้าไม่ใช่ “หวาน นักกีฬาว่ายน้ำ 4.00” อีกแล้ว เป็นการบังคับกันไปเลยว่า ผลการเรียนต้อง 4.00 เท่านั้น
หลังจากชิงถ้วยในครั้งนั้น ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติว่าต้องแข่งขันต่อ ถึงแม้การซ้อมจะหนักแค่ไหนเธอก็สู้ ยิ่งการลงสระช่วงหน้าหนาวตอนเช้า สุดแสนจะทรมาน…
“กระหายความสำเร็จค่ะ” ครูหวานบอกพร้อมหัวเราะ “รู้ว่านี่คือหน้าที่ ถ้าเลือกจะรับชัยชนะในการแข่งขัน ยังไงก็ต้องสู้ หากลงสนามแล้วพลาด ไม่ชนะ นั่นคือแรงฮึด กลับไปทำมาใหม่ ทำให้ดีกว่าเดิม ไม่ต้องมีใครมาบังคับ”
ครูหวาน ว่ายได้ทั้ง ผีเสื้อ กรรเชียง กบ ฟรีสไตล์ แต่ที่ถนัดสุดๆ เป็นซิกเนเจอร์ประจำตัว คือ กรรเชียง คู่แข่งจะรู้กันว่า ถ้าแข่งประเภทนี้เมื่อไหร่ เหรียญทองจะต้องอยู่ในมือเธอตั้งแต่ก่อนแข่ง
“พอชนะก็เลิกไม่ได้แล้ว” เหมือนขึ้นหลังเสือ ต้องแข่งต่อเนื่องมาอีก 7 ปี จนถึง ม.3 แข่งขัน ฝึกฝน จนไปถึงขั้นเป็นตัวแทนเยาวชน จะต้องไปแข่งต่างประเทศ แต่เธอเลือกที่จะสละสิทธิ์ แล้วมุ่งหน้าเรื่องการเรียน เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตามที่ใจต้องการ
“ถ้ายังไม่หยุดว่ายน้ำ ก็ได้ไปต่อในโครงการช้างเผือก จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่การเรียนอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แบบนี้” นี่คือเหตุผลที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ทำให้ช่วง ม.3 ขึ้น ม.4 เลิกแข่งแบบหักดิบ แล้วออกจากวงการว่ายน้ำไปเลย เพราะ “เราติดตัวแทนเยาวชน แล้วไม่ไป ยังไงก็ถูกตัดสิทธิ์อยู่แล้ว”
“ตัวเองตัดสินใจไม่นานค่ะ” แต่กับครอบครัว ที่ลงทุนกันมายาวนาน ต้องคุยกันนานหน่อย เพราะเปรียบเทียบแล้วว่า วันใดวันหนึ่ง หากได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง เมื่อประสบความสำเร็จ จะมีอาชีพเพียงอย่างเดียว คือ โค้ชว่ายน้ำ แต่ถ้าเป็นสายการศึกษา ที่เธออยากเรียน ก็อาจจะเจอโอกาสอื่นๆ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เปิดไว้กว้างกว่า…
นอกจากเรียนเก่งแล้ว ครูหวาน ยังฉายแววการเป็น ติวเตอร์ ตั้งแต่ยังเรียนระดับประถม “เป็นคนชอบสอน พอใกล้สอบจะตามเพื่อนๆ มาติว จนบางคนรำคาญก็มี” (หัวเราะ) “ไม่เคย หวงความรู้ค่ะ ที่บ้านสอนมาว่า ยิ่งสอนยิ่งเก่ง ยิ่งให้ยิ่งได้ ซึ่งมันจริง บางครั้งช่วยทำให้เราดีกว่าเดิมอีก” และการสอนจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวมาตลอด
“โชคดีมาก ที่ได้เจอกับคุณครูที่ดีมากๆ มาสอนพิเศษ ท่านถ่ายทอดดีมาก ถ่ายทอดเรื่องยากๆ ให้ดูง่าย น่าติดตาม จนอยากรู้เนื้อหาของอาทิตย์หน้า ไม่อยากรอ อยากเรียนตอนนี้เลย เพราะครูสร้างแรงบันดาลใจให้ ขณะที่เรียนก็มองภาพตัวเองว่า อยากไปเป็นแบบนั้นบ้าง ยิ่งครูเป็นถึงดอกเตอร์ แต่ยังมาสอนเด็ก ม.ปลาย ซึ่งงานอื่นที่ให้ผลตอบแทนเยอะกว่า เขาเลือกไปทำก็ได้ แต่กลับมาสอนเรา เลยทำให้ยิ่งปลื้ม”
“ครูที่สอนเรียนวิศวะ เคมี เราก็อยากเดินตาม ตั้งเป้าตั้งแต่ ม.4 ว่าต้องเรียนวิศวะ เคมี เก็บเล็คเชอร์ไว้ทุกชิ้น ฝันว่าวันหนึ่งจะต้องใช้สอน จนวันนี้ได้เขียนออกมาเป็นหนังสือของตัวเอง ชอบสาขานี้ เพราะ เคมี มีเสน่ห์มากๆ เป็นการพบกันตรงกลางระหว่าง ฟิสิกส์ กับ ชีวะ” ครูหวาน พูดถึงผลงานที่เคยเป็นความฝัน ที่สานต่อจนกลายเป็นความจริง
ครูหวาน อยากเรียนที่ธรรมศาสตร์มาก โชคดีที่สอบได้ตรงกับต้องการ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเคมี) เพราะที่นี่ ทุกอย่างสมใจ ทั้งสิ่งแวดล้อม เพื่อน อาจารย์ ได้อยู่หอ แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัย ก็กลับเข้าสู่วงการว่ายน้ำอีกรอบ หลังจากหายไปหลายปี ก็ได้มาเล่นในระดับมหาวิทยาลัย “ไปสมัครเองเลย เพราะมีทุนเดิมอยู่แล้ว อะไรที่ตอบแทนได้ ก็อยากทำค่ะ” แล้วเธอก็ได้เหรียญทอง จากการว่ายในท่ากรรเชียงอีกครั้ง…
ตอนใกล้จบ ครูหวาน วางแผนไว้สองทาง คือ ทำงานใกล้บ้าน กับ ทำงานในบริษัทมีชื่อเสียง กะจะไม่เรียน แต่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า เธอยังไม่พร้อมที่จะออกไปสู่โลกของวิศวกรหรอก ให้ไปเรียนต่อดีกว่า
สมัครเรียนปริญญาโทไปหลายแห่ง แล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามตัวเป็นที่แรก มีทุนให้ด้วย… “ตื่นเต้นมาก เคยเห็นคนเก่งๆ เรียนฟรี มีเงินเดือน นี่เราได้ด้วยหรา… แม่ถามว่า มีอะไรต้องคิดอีก, พอรับทุน ก็มีแรงผลักดันว่า จะต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่เรียนๆ เล่นๆ ต้องเรียนให้ดีที่สุด” แล้วเธอก็จบเป็นที่ 1 ในรุ่น จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเคมี)
ระหว่างเรียนปริญญาโท ก็รับเป็นติวเตอร์ ให้กับเด็ก ม.ปลาย ไปด้วย… “แอบสอนใต้ต้นไม้ โรงอาหาร ตามบ้าน รับหมดค่ะ สมัยนั้นใช้วิธีแปะป้ายตามโรงอาหาร ใน ม.เกษตร น้องๆ ที่ติดต่อมาก็จะอยู่ละแวกใกล้ๆ”
“ในการติวนั้น วิชาเคมี เป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือ ทำความรู้จักผู้เรียนก่อนเป็นอันดับแรก ต้องเชื่อว่าคนที่เดินเข้ามา มีขุมทรัพย์ ต้องหาทางว่าจะเปิดขุมทรัพย์ยังไง เขาอาจจะเปิดเองไม่เป็น เราแค่ช่วยหาหนทางให้ ถ้าเปิดได้แล้ว วิชาอะไรก็ทำได้หมด การหาว่าใครถนัดอะไรเป็นเรื่องสำคัญ บางคนอยากเป็นหมอ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ต้องหาเครื่องมือมาทดสอบ เพื่อพิสูจน์ว่า คุณเหมาะกับอะไร เด็กที่เรียนกับเรามีไม่มาก เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้พร้อมกันครั้งละหลายคน เพราะต้องใกล้ชิด เอาใจใส่ แล้วค่อยติวเคมีเมื่อพร้อม และอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้วิชาการ นั่นคือ การสร้างแรงบันดาลใจ”
ครูหวาน เคยได้ไปทำงานสอนประจำอยู่ในช่วงสั้นๆ แต่… “เมื่อศักยภาพของเรา อยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดเวลา การทุ่มเทเวลาให้มากมาย แต่ไม่สามารถทำให้ใครมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็เท่ากับล้มเหลว แต่ขณะที่งานพาร์ทไทม์ การเป็นติวเตอร์ ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง กลับทำให้เด็กประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จึงคิดว่าต้องทำสิ่งนี้ให้ดีกว่าเดิม จึงคิดว่า จะขอเวลาไปเรียนอีกสักพัก แล้วจะกลับมาเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีใครเหมือน”
“การจะเป็นครูนั้น ที่จริงไม่ต้องเรียนวิศวะ ต้องไปเรียน ครุศาสตร์ เอกการสอนเคมี แบบนั้นได้สอนตั้งนานแล้ว เมื่อเรียนมาถึงขนาดนี้ เป็นความผิดพลาดที่โชคดี ไม่มีใครบังเอิญแบบนี้ได้ง่ายๆ เราเรียนในสิ่งที่ยาก แต่บังเอิญทำได้ แล้วไปต่อจนสุดทาง คนจึงมีความเชื่อมั่น ว่าเรามีอะไรที่เหนือกว่า”
การเรียนปริญญาทั้งสามระดับของครูหวาน เจาะลึกในเรื่องวิศวกรรม เคมี ในเชิงลึก เริ่มจาก ปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องเกี่ยวกับการเผาไหม้ สารเคมีอินทรีย์ มีเกี่ยวข้องกับ โพลิเมอร์, ปริญญาโท เห็นหัวข้อเกี่ยวกับโพลิเมอร์น่าสนใจ ที่ลึกลงไปจากเคมีอินทรีย์ เลยทำวิจัยเกี่ยวกับโพลิเมอร์ พอจบปริญญาโทแล้ว ก็ได้ 2 ศาสตร์ เชิงลึกมา แต่ยังขาดส่วนที่เป็น ชีวะ ทำให้เลือกเรียนวิจัยเรื่อง ชีววัสดุ ในระดับปริญญาเอก จากคณะ วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเคมี) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พอจบปริญญาเอกจากจุฬาฯ เธอก็สานฝันทันที แต่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะศิษย์รุ่นแรกต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะเห็นผล แล้วค่อยไล่เรียงกันมา, วิชาเคมี ครูหวาน ดูแลเอง ส่วนวิชาอื่น ก็ให้คนที่ถนัดมาช่วย “ดอกเตอร์ที่มาสอนก็เพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง จาก ธรรมศาสตร์ เกษตร จุฬา ที่มีแนวทางจะมาสอนหนังสืออยู่แล้วค่ะ เป็นการรวมผู้ที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน โดยใช้ชื่อ DOCTOR TUTOR อยู่ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา”
“ถึงหลายคนจะสอนเรื่องเดียวกันได้ แต่ประสบการณ์บางอย่างหาซื้อในคอร์สไม่ได้ เรื่องราวของเรามันต้องมีคุณค่า ผู้ปกครองจะให้ความเชื่อมั่นมากกว่า แบบไม่ต้องบอกอะไรกันเยอะ แต่ต้องเหนื่อยกับการเพิ่มมูลค่า อาชีพนี้ทำตรงไหนก็ได้ การได้มาทำอย่างเป็นหลักเป็นแหล่ง นับว่าเกินความต้องการอยู่แล้ว เลยตัดสินใจไม่เข้าระบบอะไรอีก สามีก็ยินดีที่จะให้เราทำในสิ่งที่เรารัก ทำแล้วมีความสุข”
“สามีบอกว่า ขอให้ได้ใช้ทุกๆ วันที่ออกไปทำงาน คือกำไรชีวิต ดังนั้นตัวเลขจึงไม่มียอดในหัวว่าพอใจหรือไม่ ไม่กดดันตัวเอง เพราะทุกวันคือกำไร เราเพียงพอ นี่คือความเข้าใจกันอย่างมากของครอบครัว ถึงแม้บางครั้งต้องคิดบวกเพื่อปลอบใจตัวเองก็มี เพราะถ้าคิดถึงเรื่องธุรกิจอย่างเดียว คงทำไม่ได้นานแล้ว”
“สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต คือการได้มีอาชีพที่มีคุณค่า ได้เป็นต้นแบบให้ใครสักคน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากสิ่งที่เคยได้รับ เมื่อเราได้รับสิ่งดีๆ จากครูที่สอนมา ก็อยากส่งต่อให้ลูกศิษย์ ซึ่งบางคนอาจจะขาดโอกาสเรียนพิเศษ พอเราสอนให้เขา แล้วเขาไปสอนคนอื่น ช่วยส่งต่อๆ ไปอีกเรื่อย อยากทำให้เด็กประสบความสำเร็จมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ นี่คือความสุขของเรา”
“ต้องมองไปที่เป้าหมาย ว่าในชีวิตต้องการอะไร, ถ้าเราต้องการมากๆ แล้ว ต่อให้มีสิ่งไหนมาขวาง ก็ฉุดไว้ไม่อยู่ ทุกคนต้องปักหมุด ปักไว้ก่อนเลย ไม่ว่าจะเจออะไร เราจะกลับเข้ามาเพื่อไปที่หมุดนั้นกัน แต่ถ้าวิ่งแล้วเปลี่ยนเลนไปเรื่อยๆ ก็ไม่ถึงเส้นชัยซะที เหนื่อยก็พักได้ ท้อได้ แต่พอตั้งหลักได้ต้องไปต่อ”
“เราจะไม่ล้มเหลวจากการเลือกของเราเอง เพราะไม่มีใครบังคับ อยากเลือกเอง ต้องรับผิดชอบเอง แล้วคุณมีทางเลือกเดียวคือ ต้องสำเร็จ ค่ะ”