ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
มหาวิทยาลัยบูรพา
“ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เริ่มได้จากความสำเร็จเล็กๆ”
การศึกษา : ผมจบ ปริญญาตรี มศว. รุ่น 8 สมัยยังอยู่ในสนามกีฬาแห่งชาติ, ปริญญาโท มหาวิทยาลัย นอร์ธอีส หลุยเซียน่า ปัจจุบันคือ University of Louisiana Monroe ผมเรียนด้านพลศึกษา ส่วนปริญญาเอก ที่ Oregon State University เรียนจิตวิทยาการออกกำลังกาย และการกีฬา สมัยผมไปเรียนจิตวิทยาการกีฬา ยังนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับเรา แต่ที่อเมริกามีได้มาพักใหญ่แล้ว
อยากเรียนจิตวิทยา : ผมเป็นนักเทนนิส สอนเทนนิสที่สนามกีฬาแห่งชาติ เคยเล่นเทนนิสแล้วหงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ถ้าแพ้เล่นไม่ดี อารมณ์เสีย แสดงอาการก้าวร้าวออกมาเลย จนผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่ ต้องมีเหตุหรือที่มาที่ไป แล้วน่าจะจัดการอารมณ์ให้เหมาะสมกว่า ทำให้ดีกว่านี้ได้ ตอนเรียนปริญญาโท ได้เรียนวิชา Motivation in Sports ซึ่งเป็นวิชาเดียวในปริญญาโท ที่ เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา พอกลับมาทำงานที่ ม.บูรพา ได้ประมาณ 2 ปีกว่าๆ ก็ลากลับไปเรียน และตั้งเป้าไปเรียน จิตวิทยาการออกกำลังกายและกีฬา
จุดเริ่มไม่เลือกสายกีฬา : ปีแรกผมตั้งใจสอบเข้าสถาปัตย์ เลือกอย่างเดียวเลย พอสอบไม่ได้ก็ไปเรียนวิศวะ เป็นรุ่นแรกของ ศรีปทุม ถึงจะเรียนได้ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ จนเมื่อไปเจอเพื่อนที่เรียนรักษาดินแดนด้วยกัน เขาเรียน มศว.พลศึกษา เจอกันจนสนิทกัน ผมเลยเลือกสอบพลศึกษาอย่างเดียว ผมเป็นนักกีฬาตระกร้อ พี่น้องทุกคนเป็นนักกีฬาเซปักตระกร้อ ของมหาวิทยาลัยหมดทุกคน แต่ผมเป็นคนสายตาสั้น ทำให้มีความลำบากในการเล่นพอสมควร สุดท้ายเพื่อนมาชวนให้ไปเล่นเทนนิส ซึ่งเข้าทางผมมากกว่า และยังทำให้มีรายได้จากการสอน สมัยเรียนผมขอเงินทางบ้านน้อยมาก มีคนให้ความสนใจมาเรียนเยอะ ผมสอนตั้งแต่อยู่ปี 2 เล่นไปด้วย สอนไปด้วย
พ่อแม่ผมเป็นครู : ครอบครัวเราอยู่ที่ อ.บางบาน อยุธยา แต่ลูกๆ ไม่มีใครเป็นครูเลย มีผมคนเดียวที่ตามรอยท่าน พี่น้องเรียนอันดับต้นๆ ของห้องมาตลอดการเรียนพลศึกษาของผม ถือว่าเป็น หัวหมา ไม่ใช่ หางราชสีห์ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก เป็นหัวหมา สามารถผลักดันอะไรให้ไปต่อ พอเป็นหัวหมาแล้วอยู่ที่เรา ถ้ามุ่งมั่นทุ่มเท จะเป็นอะไรก็ได้ เรากล้า เรานำ เราตัดสินใจ ถึงแม้จะอยู่ในวงในขอบเขตที่ไม่ใหญ่มาก แต่เราก็พัฒนาได้
ปริญญาโท : พอเรียนจบเพื่อนๆ ไปเรียนต่อปริญญาโท แต่ผมคิดว่าต้องไปต่างประเทศ เพราะเป็นความใฝ่ฝัน สมัยนั้นยากมาก พอดีมีรุ่นพี่แนะนำให้ ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดีนัก ไปทุนพ่อแม่ อาศัยเรียนวิชาปริญญาโทช่วงเช้า สิ่งที่ยากที่สุดคือภาษา เพราะการเรียนพัฒนากันได้ พอช่วงบ่ายจึงต้องเข้าซาวน์แล็บภาษาอังกฤษ ไปทบทวน ไปฟัง ไปพูด ไปคุย ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสอบภาษาอังกฤษผ่าน ได้เรียนเต็มตัว
ไม่จบ ไม่กลับ : ตลอดช่วงเรียน ผมไม่เคยกลับบ้าน คิดว่ายังไงเดี๋ยวก็ต้องกลับ ถ้าจะเที่ยว ก็เที่ยวที่โน่น ทำให้ได้ไปเกินครึ่งของอเมริกา ทำงานเก็บเงินเที่ยวยุโรป ทำทุกอย่าง ร้านอาหารไทย ห้างสรรพสินค้า ผมถูกสร้างมาให้ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะพ่อแม่ฝึกหัดให้ต้องทำทุกอย่างเองเป็น บ้านผมเป็นโรงเรียนเอกชนเล็กๆ เพราะหนีภัยสงครามโลกออกมา ผมทำงานทุกอย่าง ถูบ้าน ถูโรงเรียน ทำอาหาร ขายของ งานให้ประสบการณ์เรา ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบ
ตั้งใจต่อปริญญาเอก : พอได้งานที่ มศว.บางแสน หัวหน้างานได้สัมภาษณ์ผมไว้เลยว่า ถ้าได้ทุนเรียนปริญญาเอกจะไปหรือไม่ ผมตอบว่า ถ้ามีโอกาสผมไป เพราะหน่วยงานอยากให้ไปอยู่แล้ว ทำงานได้สองปี ก็ไปเรียนต่อ จบปริญญาเอกเมื่ออายุ 33 ทำงานที่ มศว.บางแสน ตั้งแต่เริ่ม ปัจจุบันก็ 33 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2529
ผลงานวิจัย : ระดับปริญญาเอก ผมทำเรื่อง Fault Positive and Negative Feedback on High and Low Self-Esteem of Weightlifter ศึกษาในเรื่อง ผลกระทบต่อข้อมูล ทั้งบวกและลบ กับ นักกีฬายกน้ำหนัก ที่มีระดับ ความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง ทั้งสูงและต่ำ โดยที่ผ่านมานั้น มีสมมติฐานกันว่า ถ้าเราให้ข้อมูลในเชิงบวก ผลจะออกมาดี แต่ถ้าให้ข้อมูลเชิงลบ ผลงานก็จะออกมาไม่ดีด้วย ซึ่งผมแย้งว่า โดยรวมๆ มันใช่ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น โดยทำการวิจัยกับกลุ่มที่มี ความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองสูง และ ต่ำ โดยมีการใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทั้งเชิงบวก และเชิงลบ เช่น เมื่อเขายกได้น้ำหนักเท่าไหร่ เราอาจจะบอกว่า น้ำหนักครั้งนี้ สูง หรือ ต่ำ กว่าที่ยกจริงๆ แล้วคอยดูว่า จะส่งผลอย่างไรกับการยกครั้งต่อไป ซึ่งผลลัพธ์ ที่ได้จากการวิจัยนั้น สรุปได้ว่า กลุ่มที่มี ความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองสูง ไม่ว่าจะให้ข้อมูลบวกหรือลบ ก็ยังทำผลงานได้ดี ส่วนกลุ่มที่มี ความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองต่ำอยู่ มีแนวโน้มผลกับข้อมูลเชิงลบ
ถ้าใจมันใช่ อะไรก็ไม่มีปัญหา : สรุปก็คือ อยู่ที่ใจ และต้องเป็นใจที่ดีด้วย เราจึงควรมีชีวิตที่ใจมีความเชื่อมั่นว่า เราทำได้ เราเก่ง เรามีความสามารถ ควรคิดดี คิดบวก กับตัวเอง ชีวิตอย่าไปคิดให้เป็นลบ จิตใจมีผลเหนือกาย ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ไม่ใช่แค่เฉพาะกีฬาเท่านั้น นักจิตวิทยาการกีฬาที่มีความเชี่ยวชาญมากๆ นั้น เขายังใช้ประสบการณ์ที่ฝึกกับนักกีฬา ไปใช้กับนักธุรกิจ ซึ่งต่างก็ต้องใช้ ความอดทน ความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ตัดสินใจ มีระเบียบวินัย ต้องลงทุน แค่ใช้สิ่งเหล่านี้คนละแห่งเท่านั้นเอง
ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน : อาจจะทำให้ขาดการโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่หากจะทำให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความทุ่มเท ผมจึงต้องทำงานเยอะมาก ไปทำงานแต่เช้า กลับบ้านมืดทุกวัน บางครั้งกลับบ้านแล้วก็ยังทำงานอยู่ ผมคุ้นเคยกับการทำงานพร้อมกันหลายๆ อย่าง เช่น ให้บริการทางวิชาการ โค้ชเทนนิส ผู้จัดการทีม สอนเทนนิสให้ฟรีในมหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหาร เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฯลฯ
ทุน คปก. : การเรียนสาขานี้ในต่างประเทศ ทำให้ผมมีผลงานวิจัยภาษาอังกฤษตีพิมพ์เยอะ ขณะที่ท่านอื่นๆ อาจจะไม่ค่อยทำกัน ทำให้ผมได้ทุน คปก. โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก จากรัฐบาล เพราะคุณสมบัติต่างๆ จากงานวิจัยที่ผมเคยทำไว้ผ่านเกณฑ์ ซึ่งผมได้ส่งมอบทุนนี้ต่อให้กับนิสิตปริญญาเอก ทำให้สถาบันของเราสามารถมีปริญญาเอกได้เร็ว นับว่าเราเป็น ใหญ่ในเล็ก เราเปิดปริญญาเอก วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2541
หลากหลายหน้าที่ : นอกจากการทำหน้าที่ เป็น คณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ม.บูรพา แล้ว ผมยังเป็น นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย, อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย, อุปนายกสมาคมสุขศึกษาพลศึกษาและสันทนาการแห่งประเทศไทย อุปนายกสมาคม Asian and South Pacific of Sport Phychology Association, เป็นผู้เชี่ยวชาญของการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการเตรียมนักกีฬาทีมชาติ ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ให้คำปรึกษาทางด้าน จิตวิทยาการกีฬากับนักกีฬา ผู้ปกครอง โค้ช ฯลฯ
ทำงานให้คุ้นเคย : ผมมองว่าการทำงานเยอะไม่ใช่ภาระเลย อยากจะทำมากกว่านี้ด้วยซ้ำ สิ่งเดียวที่กังวลคือ กลัวว่าจะทำงานไม่ทัน คนเราถ้าทำงาน จนเป็นเรื่องคุ้นเคย มันจะไม่ใช่เรื่องหนักหนา แต่ถ้าไม่ทำมาก่อน พอทำแต่ละครั้งจะรู้สึกว่ายากลำบาก แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการทำงานบ้าน สำหรับผมคือการพักผ่อน เพราะทำไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิด ยิ่งถ้าทำอยู่เป็นประจำ เราจะมองว่าเป็นเรื่องง่ายมาก และยังได้ประโยชน์อีกด้วย
ปัญหาสุขภาพ : ผมเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ อาจจะเป็นมะเร็งที่รุนแรงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่น แต่ก็ทำให้ถึงชีวิตได้ ผมตัดต่อไทรอยด์หมดแล้ว เพราะผมทำงานเยอะเกินไป โดยต่อมไทรอยด์โตขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมันไม่เจ็บ ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ จนถูกทักว่าโตขึ้นมาก สุดท้ายเมื่อไปตรวจ หมอก็วินิจฉัยให้ผ่าตัดด่วน ทำให้ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้เหนื่อยง่าย ไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ถึงผมจะไม่ได้ใส่รองเท้ากีฬาแล้วออกไปวิ่ง แต่ก็ใช้วิธีทำตัวเองให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ตามหลักการของ สสส. แค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย ขณะสอนก็ไม่เคยนั่ง เดินไปเดินมา ระหว่างชั้นก็เดินขึ้นลงแทนการใช้ลิฟท์
ป้องกันที่ต้นเหตุ : การให้การศึกษาในเรื่องสุขภาพ ในเรื่องการออกกำลังกาย เป็นเรื่องสำคัญมาก การให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพ จะช่วยให้ผู้คนสุขภาพดี ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมาก เพื่อป้องกัน เมื่อเทียบกับการใช้งบไปในการรักษา เล่นกีฬา ไม่ใช่ได้เฉพาะแค่กายเท่านั้น ยังได้เรื่องใจด้วย กายแข็งแรง ใจก็แข็งแรง พอใจดี กายก็จะดี ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อาจจะใช้เวลานาน แต่จะได้ผลดีในระยะยาว เราจึงควรใช้ชีวิตอยู่กับการเตรียมการ การป้องกัน ง่ายที่สุด ดีกว่าต้องไปอยู่กับการรักษา อยู่กับหมอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก
สะสมความแข็งแรง : ผมเล่นกีฬาเยอะมากในช่วงเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนมาเยอะมาก เชื่อว่ามีการสะสมความแข็งแรง เซลส์ของเราเมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่แข็งแรงอยู่ภายนอกเท่านั้น ภายในร่างกายก็ต้องแข็งแรงไปด้วย ผมสะสมตั้งแต่เยาว์วัย เด็กๆ ตัวสูงมาก เป็นนักกีฬา ผมจึงบอกเด็กๆ เสมอว่า ให้รีบสะสมความแข็งแรงไว้ อย่าไปรอว่าอายุเยอะๆ แล้วค่อยไปเริ่มออกกำลังกาย ส่วนเรื่องอาหาร ก็ต้องรู้จักวิธีเลือก กินให้ครบ 5 หมู่ ผักผลไม้เยอะๆ
กอล์ฟ : ผมเล่นกอล์ฟกับพี่ชายปีละครั้งช่วงสงกรานต์ แต่ก็คุ้นเคยกับกอล์ฟ เพราะนักกีฬาที่มาหาผมเยอะมากที่สุดคือ นักกีฬากอล์ฟ เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม จากการมีไอดอลที่ประสบความสำเร็จ ทำให้นักกีฬามีความหวังว่าจะทำได้ด้วยเช่นกัน และการเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา ต้องรู้จัก ต้องเข้าใจในกีฬาชนิดนั้นๆ ในระดับหนึ่ง อย่างในเรื่องกอล์ฟ ผมจะคุยกับเด็กแค่นิดเดียว แต่จะคุยกับพ่อแม่เยอะมาก เพราะมุมมองแตกต่างกันมาก เด็กอยากเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่พ่อแม่อยากให้เป็นแชมป์ เราก็ต้องคุยให้เขาเข้าใจ
อย่าสนใจผล : ผมบอกนักกีฬาเสมอว่า ถ้าเราโฟกัสไปที่ผลการแข่งขัน เป็นเรื่องยากมาก เพราะเราควบคุมอะไรไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ก็คือ ตัวเรา กระบวนการ วิธีการ ถ้าเราทำถูกต้อง ผลมันก็ย่อมดีตามไปด้วย หลักการ โอลิมปิก บอกว่า ไม่ได้สนใจเรื่องการแพ้ชนะ แต่สนใจในเรื่องการเข้าร่วมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ต้องสู้ให้เต็มที่ก่อน
เล่นกีฬา ขึ้นอยู่กับวิธีการ : ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เล่น เราชนะได้ทุกคนหากคุณทำได้ถูกต้องครบถ้วน ถ้าอยากชนะก็ต้องทำกระบวนการให้ถูก อะไรคือส่วนประกอบ ร่างกายแข็งแรง ทักษะ จิตใจเข้มแข็ง แล้วจะทำอย่างไรให้มีสิ่งเหล่านี้ได้ อยากแข็งแรงก็ต้อง ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี พักผ่อนเพียงพอ อาหารครบ, อยากมีทักษะ ก็ต้องฝึกซ้อม, จิตใจ ก็ต้องฝึกฝนทั้ง ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าคุณทำกระบวนการต่างๆ นี้ได้ถูกต้องครบถ้วน คุณเอาชนะใครก็ได้
ฝึกกีฬาได้ ทำทุกอย่างได้ : หลักการพลศึกษา นำไปใช้ได้ทุกเรื่อง อย่าง โอลิมปิก เป็นตัวอย่างการฝึกฝนคนได้ดีที่สุด ต้องอดทน ต่อสู้ มุ่งมั่น ทุ่มเท ตัดสินใจ ตรงเวลา มีน้ำใจนักกีฬา ทุกอย่างมีหมด ไม่ได้ใช้แค่กับนักกีฬา ยังใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน
Thai House : คณะนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ของ กกท. ที่เตรียมทีมเพื่อช่วยนักกีฬาทีมชาติ ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ที่ มหาวิทยาลัยบูรพา ก็มีลักษณะโมเดลนี้เช่นกัน เรียกว่า BU House มีทีมงานนักศึกษาในระดับต่างๆ ของเราเข้าไปช่วย ต่อมาก็มี Chonburi House เป็นแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นด้วย เท่ากับว่า นักศึกษา ไปทำงานใน BU House, Chonburi House ส่วนอาจารย์ก็ไปช่วยงาน Thai House เราจึงได้สร้างอะไรในสิ่งที่เราถนัด คุ้นเคย และเป็นที่หนึ่งของประเทศด้วย และคำพูดที่ว่า ชลบุรี คนกีฬา ก็เหมาะสม เพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมาก มีทั้งภูเขา ทะเล สถานที่ท่องเที่ยว สนามกีฬาประเภทต่างๆ และผู้คนยังรักกีฬา ทุกอย่างผสมผสานกันลงตัว
รัตนบูรพา : เป็นรางวัลที่มีค่าที่สุดของ ม.บูรพา ดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ แต่จริงๆ แล้ว ผมดีใจมานานแล้ว ดีใจที่ได้เริ่มให้บริการทางวิชาการ เพราะผมไม่รู้เลยว่าอีกยี่สิบปีต่อว่าจะมีรางวัลนี้ ตอนทำก็ไม่สนใจว่าจะได้รางวัลอะไร เพราะมีความสุขกับการทำงานตรงนั้น และผมทำเต็มที่ เต็มความสามารถ นั่นคือหนทางของผม จะได้หรือไม่ได้รางวัลไม่ใช่เรื่องสำคัญ
หลักคิดชีวิต : คนเราไม่ต้องคิดว่าจะทำอะไรให้ดีกว่า เก่งกว่าคนอื่น ไม่ต้องไปเปรียบเทียบ ขอให้คิดแค่ เราจะทำสิ่งที่ทำอยู่นี่แหล่ะ แต่จะทำให้ดีที่สุด แล้วเราจะไม่ต้องไปทะเลาะกับใครเลย เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อทำเต็มที่แล้วไม่ได้ ก็ต้องปลง ช่างมัน ขอให้ทำดี ทำให้ถูกต้อง ทำให้เต็มความสามารถ มีความสุขกับการทำ นั่นคือแนวทางของความสำเร็จ แล้วความสำเร็จอาจจะไม่ใหญ่โต อาจจะเริ่มจากทีละน้อยๆ ไปเรื่อยๆ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เริ่มได้จากความสำเร็จเล็กๆครับ