เส้นทาง LPGA 2016 ของเด็กสาวไทย
เส้นทาง LPGA 2016 ของเด็กสาวไทย
วิถีของโปรกอล์ฟหญิงไทย ไปได้ไกลจริงๆ กับการส่งท้ายปลายปีพ.ศ. 2558 ได้อย่างยอดเยี่ยม
ทั้งข่าวการเดินพาเหรดสู่ การแข่งขันกอล์ฟ LPGA 2016 ปีหน้า ได้ถึง9คน ที่มีอยู่เดิมแล้ว5คน คือ พรอนงค์ เพชรล้ำ,เอรียา- โมรียา จุฑานุกาล,พัชรจุฑา คงกระพันธ์,ธิดาภา สุวรรณปุระ แล้วได้ “รูกกี้”ที่ได้ตั๋วผ่านจากการคัดเลือกสเตจสุดท้ายเมื่อต้นเดือนธ.ค.อีก4คนคือ บุษบากร สุขพันธ์,นนทยา ศรีสว่าง,ปัณณรัตน์ ธนพลบุญรัศมิ์ และ เบญญาภา นิภัทรโสภณ
ทั้งการทำผลงานทิ้งทวนส่งท้ายปีเก่าของ “น้องจูเนียร์” ธิดาภา สุวรรณปุระ และ “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ ที่ได้ที่2และ3 ในการแข่งขันกอล์ฟยูโรเปียนทัวร์ รายการใหญ่ส่งท้ายปี โอเมกา ดูไบ เลดีส์ มาสเตอร์ 2015 ที่ เอมิเรตส์ กอล์ฟคลับ ถึงไม่ได้แชมป์เพราะไม่มีลุ้นกับการเล่นอย่างเหลือเชื่อของแชมป์เก่า เฟง ชานชาน โปรสาวหุ่นหมีแพนดาของจีน แต่ทั้งน้องจูเนียร์และโปรแหวนก็รับทรัพย์เงินรางวัลมาอื้อ พร้อมแต้มสะสมอันดับโลก ที่มีผลต่อการได้สิทธิ์แข่งกอล์ฟกีฬาโอลิมปิก ริโอเกมส์2016 หน้าที่สำคัญในปีหน้า
เส้นทางของโปรกอล์ฟหญิงไทยสู่LPGA ที่จริงก็มีมานานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยุคนั้นไม่สำเร็จ โดยไปเล่นในเซอร์กิตต่ำ เพื่อเอาสิทธ์เข้าLPGA อย่าง รัศมี กัลยาณมิตตา ก็ไม่ผ่าน)
คนแรกที่ทำได้สำเร็จก็คือ “โปรอุ๋ย” วิรดา นิราพาธพงศ์ธร ช่วงนั้นโปรอุ๋ยเป็นข่าวดังเยอะหน่อย เพราะใช้เส้นทางอเมเจอร์ นักเรียนทุนกีฬาของมหาวิทยาลัยดุ๊กส์ที่มีชื่อเสียง ได้แชมป์ระดับอเมเจอร์ ได้สิทธิ์เทิร์นโปรแข่ง LPGA แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายอาชีพ อาจเพราะใช้เวลานานในการไต่เต้าเป็นนักกอล์ฟอเมเจอร์ ต้องการสำเร็จทางการศึกษาด้วย ผิดกับ นักกอล์ฟหญิงยุคหลัง ที่พ่อแม่ลงทุนมุ่งมั่นเอาดีทางการเป็นนักกอล์ฟอาชีพเลย ไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับหัวกะทิ ติดทีมชาติ อายุ17-18 ก็เทิร์นโปร เดินสายแข่งกอล์ฟแต่เด็กไปเรื่อยทั้งปี ในเซอร์กิตต่างๆของเอเชีย จนกว่ากระดูกแข็งพอที่จะ ตีตั๋วได้สิทธิ์เล่นในระดับยูโรเปี้ยนทัวร์หรือเป้าหมายสูงสุด LPGA
เส้นทางสายนี้มิใช่ง่าย ไม่มีใครได้มาโดยไม่ทุ่มเทด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา
ที่ “คนนอก” เห็นความสำเร็จนั้น ก็เพียงยอดไอซ์เบิร์กภูขาน้ำแข็งที่ปริ่มพ้นระดับน้ำทะเล แต่อีกมากมายเท่าไหร่ที่เป็นส่วนที่อยู่ใต้ระดับผิวน้ำ ไม่ประสบความสำเร็จ
ผมรู้จักพ่อแม่และนักกอล์ฟเยาวชนหลายต่อหลายคน ที่ทุ่มเทมุ่งหวังที่จะส่งให้ลูกสาวเป็นโปรกอล์ฟไปถึงLPGA ใช้เงินส่วนตัวนับหลายล้านบาทปูทางไป ถ้าเกินสามปี ความหวังยังไปไม่ถึงเส้นทางนั้น ไม่พ่อแม่หมดแรงเสียก่อน ก็เป็นตัวลูกที่ท้อแท้ ไม่ต้องใคร ดูอย่าง อารี – นารี ซง นักกอล์ฟลูกครึ่งไทย เกาหลี ที่ตอนเด็กๆ เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงเหลือเกิน ความทุ่มเทของผู้เป็นพ่อก็มหาศาลสไตล์เกาหลี 120% ก็ยังเลือนรางหายไปจากถนนสายนี้
โปรกอล์ฟสาวไทยที่มาถึงถนน LPGA ได้ แทบทุกคนคือ นักกอล์ฟเยาวชน ที่ตีกอล์ฟมาตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ จนโตเป็นสาว ( อย่างน้องจูเนียร์ นี่ผมจำได้ มาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก เพราะเรียนกอล์ฟกับ โปรนิด สิทธิศักดิ์ นันทเทอม ที่สอนลูกสาวผมด้วยเหมือนกัน) วิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน พ่อแม่ทุ่มเทสนับสนุนสุดตัว ดูแลอุ้มชูเป็นลูกสาวคนโปรด ไม่เปลี่ยน หากแต่ชีวิตโปรกอล์ฟระดับนี้ มันหนักหน่วง อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า tough เอาเรื่องนะครับ
มันคนละเรื่องกับ “ความเก่ง”ของนักกอล์ฟระดับหัวกะทิเดียวกัน ที่เห็นหน้ากันก็รู้วงรู้ใจ เพราะตีด้วยกันมาจนช่ำ บรรยากาศเดิมๆ
จะต้องเจอเรื่องหนักหน่วงมากมาย ทั้งสนามที่ยากขึ้น โปรผู้ร่วมแข่งขันที่ทั้งหินทั้งเขี้ยว กดดันสุดๆ การเดินทางตระเวนแข่งในเซอร์กิตทุกสัปดาห์ ตลอดซีซั่นไม่มีหยุดหย่อน การติดต่อสารพัดลงทะเบียนกว่าจะได้ลงแข่ง ที่สำคัญก็คือ ทุกอย่างต้องใช้เงินทุกดอลลาร์แลกมา (ไม่ใช่เงินบาทด้วย) ยังไม่ต้องพูดถึงการได้แชมป์รายการ เอาแค่เพียงเล่นถ้าไม่อยู่ในอันดับที่ดีพอ ก็ขาดทุนไปกับเงินลงทุนทุกอย่าง ทั้งค่ากิน ค่าซ้อม ค่าแค็ดดี้ ค่าเข้าสนามซ้อมจับวง ค่าโปรแบกถุง..เงินทั้งนั้น
โปรกอล์ฟต่างชาติ มีแค่ตั๋วแข่งในมือ ยังไม่ทำเงิน ทุกอย่างต้องทำเองหมด การเตรียมตัว การลงทะเบียน การเดินทาง หาที่พักซุกหัวนอน นอนในรถเคบินก็เอา กินก็แค่อิ่ม เพื่อประหยัดเงิน
ขณะที่ โปรกอล์ฟเด็กสาวอายุน้อยๆของเรา ก็ยังเป็นเด็ก ที่ต้องเห็นหน้าพ่อหรือแม่ ต้องมีคนดูแล ยิ่งทีมงานมากจำนวนสมาชิก ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น ถ้าทำเงินไม่ได้บ้าง มันคือชีวิตที่หนักหน่วงที่โปรกอล์ฟคนนั้นๆต้องแบกรับบนบ่า
โปรแหวน พรอนงค์ เพชรล้ำ ดูจะมีวิถีที่ง่ายกว่าใคร เพราะมีพี่ชาย โปรแวว พรพันธุ์ เพชรล้ำ เป็นผู้แบกถุงให้ และยังดูแลทุกอย่างให้หมด เป็นที่ปรึกษา เป็นความอบอุ่นใจ โปรแหวนจึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องภาวะจิตใจ กับการตระเวนแข่งในต่างแดน ผลงานจึงคงเส้นคงวาเสมอมา
นี่แค่ “อุปสรรคภายนอก” เท่านั้น แล้วยัง “อุปสรรคภายใน” อีกล่ะ ไหนจะภาวะจิตใจที่มีความท้อแท้ผิดหวังบ่อยๆกับเกม ไหนจะปัญหาส่วนตัวของตนของครอบครัวที่บั่นทอน
ถ้าไม่แกร่งพอ ถ้าไม่เติบโตพอ ยังคงเป็นเด็ก ลูกสาวคนโปรดของพ่อ ไม่ปรับชีวิตให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นโปรกอล์ฟอาชีพที่รับความหนักหน่วง ได้ทุกรูปแบบ ก็อาจยืนระยะบนถนน LPGA ลำบาก
ประเด็นนี้ นอกจากเชียร์บรรดาโปรกอล์ฟสาวไทยแล้ว เราก็ต้องติดตามผลงานของพวกเธอต่อไป
ยอดชาย ขันธะชวนะ