วรางคณา สุเมธ
วรางคณา สุเมธ
วันนักประพันธ์
ประธาน ช.ส.ล. (ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว)
“ชีวิตสนุกสนานมากค่ะ เราเป็นครอบครัวนายทหาร คุณพ่อเป็นสัสดี ต้องย้ายไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ทุกสองปี เราสนุกกับการได้ย้ายไปโน่นไปนี่ ได้มีประสบการณ์มากมาย เก็บเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของเรา”
ป้าแอ๊ว (วรางคณา สุเมธวัน) เริ่มเล่าถึงเนื้อหาชีวิตตั้งแต่อดีต ที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็น นักเขียนระดับบรมครู โดยเริ่มมีผลงานคุณภาพตั้งแต่อายุเพียง 12-13 ปี
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ป้าแอ๊วเป็นคนชอบอ่าน และตั้งต้นเขียนหนังสือ เพราะที่บ้าน คุณพ่อเป็นหัวหน้านายทหารสัสดี อยู่ต่างจังหวัด พอตกเย็น มีเพื่อนแวะเวียนมาหาท่านมากมาย มาเฮฮา สังสรรค์ “หน้าบ้านเป็นคอร์ทแบดมินตัน คนก็จะเยอะ เราอยู่ข้างบน อ่านหนังสือไป เขียนหนังสือไป”
ตอนเรียนหนังสือชั้น ม.1 ถึง ม.3 ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เด็กหญิงวรางคณา อ่านหนังสือในห้องสมุดทุกรูปแบบ “พอคุณพ่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นนายทหารการสัสดี ที่กระทรวงกลาโหม ท่านศึกษาเรื่องกฎหมาย จนเรียนจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมัยตั้งแต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิด พอคุณพ่ออ่านหนังสือเพื่อสอบ เราก็อ่านตำราของคุณพ่อเพราะความอยากรู้ จำได้ว่า อาชญาวิทยา เล่มนี้ชอบมากที่สุด”
คุณพ่อชอบเขียน ชอบแต่งบทกวี ถนัดโคลงสี่สุภาพ กลอนแปด กลอนตลาด จนแนะนำให้กับลูกๆ ได้ “เราชอบอ่านในเรื่องฉันทลักษณ์ เรื่องวิชาการที่เกี่ยวกับภาษาไทยทั้งหมด จนกระทั่งสามารถเรียนการแต่งฉันทลักษณ์ ได้จากการอ่านเอง ศึกษาเอง”
ถึงแม้เป็นเด็กอายุแค่ 12-13 ปี ป้าแอ๊วก็เริ่มมีผลงานลงในนิตยสารยุทธโกษ ของกองทัพบกแล้ว “สมัยนั้นเจ้ากรมพลังงานเป็นบรรณาธิการ คุณพ่อก็เขียนอยู่ด้วย เราก็ไปเขียนฉันทลักษณ์ลงในหนังสือ”
เมื่ออายุ 13 ชื่อ วรางคณา เริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะส่งเรื่องไปประกวด แล้วได้รับเลือกให้ลงในนิตยสาร “เราเขียนนวนิยายขนาดสั้น ความยาว 5 หน้า กระดาษฟุลสแก๊ป ตรงไหนที่มีเรื่องสั้นก็ส่งไปประกวด จนได้ลงครั้งแรกใน แม่บ้านการเรือน เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่น ความรัก เราแต่งขึ้นมาเอง เพราะชีวิตเรียนในโรงเรียนสตรี อยู่ในครอบครัวนายทหาร เช้ามีรถ มารับ เย็นมาส่ง ชีวิตค่อนข้างเหมือนคุณหนู ไม่เคยพบปะผู้ชาย เรื่องราวในนิยายจึงเกิดขึ้นจากจินตนาการ และจากการอ่าน สมัยนั้นสื่อต่างๆ ยังไม่ทันสมัยเลย”
![](https://www.golftime.co.th/wp-content/uploads/2019/11/1101-int-Working-3.jpg)
“เรื่องแรกที่ตีพิมพ์ ได้ค่าเขียนมา 80 บาท สมัยนั้นถือว่าเยอะมาก เลี้ยงคนทั้งบ้าน จนเกินเงินที่ได้” ป้าแอ๊ว เล่าถึงความดีใจ จากเงินก้อนแรกที่มาจากผลงานเขียน
“พยายามส่งงานไปหลายๆ ที่ แต่พอเขียนหนังสือทีไร ก็ถูกคุณพ่อคุณแม่เอ็ด บอกว่า เขียนหนังสือ ไส้แห้ง เอาตัวรอดไม่ได้หรอก ไม่ให้ทำ แต่เราชอบ ต้องเข้าห้อง แอบจุดเทียนเขียน”
ผลงานเขียนของ วรางคณา ควรจะได้ลงก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่ปัญหาก็คือ “เป็นคนลายมือไม่สวยเลย ตอนเรียนหนังสือคุณครูยังเคยบ่นว่าเป็น ขี้หมาปนตด” ป้าแอ๊วหัวเราะพร้อมรอยยิ้ม “ทั้งนี้ก็เพราะใจเราร้อน ใจมันไปแล้วแต่มือยังเขียนไม่ทัน ทั้งๆ ที่คนรอบๆ ข้าง ลายมือสวยกันทั้งบ้าน”
คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เป็นนักเขียน อยากให้เรียนหมอ เพราะเห็นว่าเป็นคนหัวดี สอบได้คะแนนสูงๆ… “รู้ตัวเองว่าเป็นหมอไม่ได้หรอกค่ะ เพราะไม่ถนัดวิชาคำนวณ” แต่ป้าแอ๊วไปสนใจภาษาไทย ประวัติศาสตร์ วิชาที่ชอบทำคะแนนได้เต็มหมด และสมัยก่อนเรียนแบบเอาคะแนนมารวมกัน ไม่แยกว่าถ้าตกวิชาไหนต้องไปซ่อมวิชานั้น ทำให้คะแนนในวิชาที่ดีๆ ไปชดเชยกับวิชาที่ตก พอรวมออกมาคะแนนก็ยังสูงอยู่
“ตอนจบ ม.ศ.3 ที่บ้านให้เรียนต่อ วิทย์-คณิต แต่เราไม่เรียน ต้องย้ายไปอยู่สันติราษฎร์ เพื่อจะให้เรียนศิลป์ – ภาษา ซึ่งเราไม่ชอบ เวลาเรียนขอนั่งหลังห้อง แล้วเขียนนิยายไป จนที่สุด มาเรียนจบ ปวส. ธุรกิจเลขานุการ แต่ก็ไม่เคยนำความรู้นี้มาทำอะไรเลย เพราะเราทำมาหากินได้แล้ว จากการเขียนหนังสือขาย”
งานเขียนของ วรางคณา เป็นงานที่มีเอกลักษณ์ “เราไม่ได้เขียนเปล่า เป็นคนชอบค้นคว้า ทำงานแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเจ้าๆ นายๆ ประวัติศาสตร์ เราสนุก เขียนแล้วมีความรู้ สิ่งนี้มันติดตัว สามารถไปบรรยาย ให้ความรู้กับผู้อื่นได้ แม้กระทั่งกับผู้เรียนในระดับความรู้สูงๆ จนถึงปริญญาเอก เขาก็ไม่ถามว่าเราจบอะไรมา ขอให้เรามีปัญญามีความรู้ไปสอนเขาได้ เพราะเราแต่ง เขียนงานมงคล ประเพณี งานวัฒนธรรม ศิลปะต่างๆ ไปจนถึงการวางตัว การพบปะผู้คน เราเขียนได้หมด แม้กระทั่งเมื่อลูกสาวเรียนปริญญาโท ก็ยังเอาเรื่องของแม่ไปทำวิทยานิพนธ์ ได้เป็นที่ปรึกษาในบทวิทยานิพนธ์นี้ด้วย นี่คือความภูมิใจ”…
“ในการเขียนคนอื่นอาจจะต้องวางพล็อตเรื่องมาก่อน แต่เพราะเราเดินทางมาตลอด ตั้งแต่อดีต ที่ต้องติดตามคุณพ่อ เวลาไปตรวจเลือกทหาร เมื่อท่านย้ายเข้ามา ก็ยังมีหน้าที่ดูแลการตรวจเลือกทั่วประเทศ เราก็ไปด้วย ได้เห็น ได้รับรู้อะไรมาเยอะมาก เวลาเจอกับคน ก็สามารถนำเรื่องของเขามาเขียนได้”
“เมื่อก่อนมีหนังสือมิตรภาพ เป็นเล่มเดียวที่มีผังรายการทีวี ต้องซื้อไว้ประจำบ้าน เพื่อให้รู้ว่าช่องไหนมีรายการอะไร เราได้เขียนเล่มนี้ ได้ค่าเรื่อง 500 บาท เดือนนึงได้ 3 ครั้ง สมัยก่อนถือว่าไม่น้อยแล้ว ลงเรื่องยาวในเดลิเมล์วันจันทร์ ได้ตอนละ 600 บาท พอมาตอนหลังลงหญิงไทย ได้ 800 บาท แต่มาพุ่งพรวดๆเลย เมื่อได้ลงหนังรุ่นใหม่ๆ อย่างพลอยแกมเพชร ได้ตอนละ 2,500 บาท จนสุดท้ายได้ตอนละ 4 พัน”
“เขียนเรื่องสั้นเดือนละ 5 เรื่องพร้อมๆ กัน รายได้ค่อนข้างดี มีเวลาให้กับงานเขียน เพราะสามีรับราชการต้องเดินทางตลอด ทำให้เราว่าง เช้าขึ้นมาไปส่งลูกที่โรงเรียน ซื้อกับข้าวเข้าบ้าน ดูให้แม่บ้านทำ แล้วเราก็เขียนหนังสือ เย็นก็ไปรับลูก ปลูกบ้านหลังแรกมีเงินอยู่แค่นิดเดียว ช่างบอกซื้ออะไร เราก็ไปซื้อเอง”
“มีคนถามว่า เขียนหนังสือได้ยังไงไม่มีพล็อต เขียนหนังสือกี่เรื่องไม่เคยฉีกทิ้ง เขียนแล้วเขียนเลย เวลาเขียนแล้วมันอยู่ในใจ เกิดอาการไหลไปเอง เหมือนกับมีอะไรมาเข้าสิง เราเขียนหนังสือเร็วมาก เช้าเขียนหนังสือวันละ 2 ตอนตอนนึง 4 หน้าครึ่ง ขนาด A4 ใช้เวลาเต็มที่คือ 2 ชั่วโมง จบแล้วก็คือจบ ไม่ทำอะไรแล้ว รุ่งขึ้นค่อยว่ากัน เสร็จไปส่งงาน ก็เบิกเอาเงินนั้น กลับมาซื้อของเข้าบ้านให้ช่าง ทำจนบ้านเสร็จ”…..
เมื่อว่างเว้นจากเรื่องการเขียน ป้าแอ๊ว ชอบทำกับข้าว ทำการฝีมือ.. “กับข้าวนี่คิดเอง เขียนเอง วันดีคืนดีก็บอกคนในหมู่บ้าน เวลามีงานเลี้ยงก็ทำอาหารไปวาง สูตรเราไม่เหมือนคนอื่น หรือวันไหนทำอะไรก็จะบอกกล่าว อย่างจะทำน้ำพริกมะขาม พอบอกไปในกลุ่ม ก็จะมีคนขอให้ทำเผื่อด้วย ช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายกัน ถึงขนาดจะขอให้ทำปิ่นโตส่งประจำ แต่เราไม่ทำ”
“เป็นคนบ้ายอ ใครว่าเราทำอะไรอร่อย ทำแบบสู้ตายเลย เมนูเด็ด ก็มี ขนมจีนน้ำยา เพราะถึงเครื่อง ถึงกะทิ ถึงกระชาย ที่สำคัญใช้ปลาช่อนนาแท้ๆ ไม่มีเหม็นคาว, สตูไก่ สตูลิ้น เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้กินง่ายๆ แล้ว ได้สูตรมาจากผู้ใหญ่ แล้วเรามาปรับรสต่อให้ถูกกับลิ้น, ซี่โครงหมูอบ ไม่เหมือนกับที่ขายๆ กัน ได้สูตรมาจาก ผู้จัดการสนามกอล์ฟบางพระ ตั้งแต่สมัยยังเป็นของ ททท. ตอนนั้นเราทำรายการอาหารชวนชิม เขาชื่นชมเราอยู่แล้ว ก็ให้สูตรมาเลย, อีกอย่างที่ทำเองเลยก็คือ คากิน้ำแดง เคล็ดลับคือ ล้างด้วยน้ำส้ม จนหมดกลิ่น หมักแล้วทอด เสร็จแล้วถึงไปอบซ้ำ ในหม้อนึ่งความดัน จะออกมานุ่มมาก”
“อาหารทั้งหมดนี้คงทำขายไม่ไหว เพราะทำยาก และต้องใช้ความใส่ใจ แต่เมื่อทำบ่อยๆ ก็ใช้เวลาไม่นาน สนุกด้วย ขนาดงานแต่งลูกสาว งานตอนเช้าก็ยังทำเลี้ยงแขกเอง ทุกคนถามหมดว่า สั่งมาจากภัตตาคารไหน เวลามีประชุมสื่อมวลชนที่บ้าน เขาจะสั่งกันเลยว่าอยากกินอะไร ถ้าไม่มีจะไม่ยอมมา ผักดองเปรี้ยวหวานก็ต้องทำใส่กระปุกสวยๆ ไว้แจกตอนปีใหม่ แต่การทำอาหารเป็น ทำอร่อย ไม่ได้หมายความว่าตัวเองจะกินเยอะ เราแค่ชิม เราทำบ่อยบางครั้งก็เบื่อ แต่คนอื่นชอบ”
“ส่วนเรื่องสุขภาพ เคล็ดลับส่วนตัวคือ ตื่นขึ้นมาต้องดื่มน้ำเยอะๆ ก่อนนอนก็ต้องดื่ม ทุกครั้งที่ตื่นมาเข้าห้องน้ำก็ต้องดื่มสักสองอึก บางคนอาจจะบอกว่าทำให้ปวดฉี่ แต่ถ้าไม่ดื่มจะทำให้คอแห้ง หรือเวลาปวดหัว เริ่มมีอาการไม่ค่อยดี จะอาบน้ำ ไม่ชอบกินยา หรือไม่ก็ดื่มน้ำ น้ำหวานสักแก้ว เพราะร่างกายขาดน้ำตาล ไม่ได้เป็นเบาหวาน แล้วเป็นคนติดของหวาน ผลไม้ ทานข้าวเสร็จต้องมีของหวานล้างปาก แต่ไม่เยอะ ชิ้นสองชิ้น ให้สบายปากก็พอแล้ว”
“ก่อนหน้านี้เคยเล่นแบดฯ แล้วล้มก้นกระแทก ก็เลยหยุด ไม่เล่นอีกเลย ว่ายน้ำบ้าง อาศัยเดินแล้วแขม่ว เกร็งไปด้วย ถ้าอยู่กับบ้าน ก็ใช้วิธีเกร็งตัว ออกแรงต้าน ผลักแล้วผ่อนคลาย เวลาทำงานเขียนหนังสือเสร็จ ก็จะลุกไปกวาดบ้าน และที่บ้านบันไดจะสูง ขึ้นลงวันละหลายรอบ เท่ากับได้ออกกำลังกาย ชอบวิ่งขึ้น จนลูกๆ ต้องคอยเตือนให้ระวัง”
“นอนไม่ง่ายเลย เพราะความคิดยังวนเวียนอยู่ ต้องลุกขึ้นมาเขียน ไม่งั้นนอนไม่หลับ หรือช่วงที่มีคนให้เขียนฉันทลักษณ์ พอเขียนไปทั้งวัน ในหัวไม่มีภาษาธรรมดา คำสละสลวยมันลอยเข้ามาเอง เหมือนกับรู้ล่วงหน้า ยิ่งช่วงที่เขียนนิยายพร้อมๆ กันหลายเรื่อง พอเช้าขึ้นมาทำธุระเสร็จก็เขียนต่อได้เลย แต่ละครั้งก็ต้องมีเรื่องโจ๊กคั่น เพื่อให้ผ่อนคลายบ้าง นึกได้ต้องรีบเขียนไว้ก่อน”….
![](https://www.golftime.co.th/wp-content/uploads/2019/11/1101-int-Working-2.jpg)
“นอกจากงานส่วนตัวแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้ง ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ร่วมก่อตั้งโดยสื่อมวลชนทั้งหมด 13 คน เมื่อปี 2528 แล้วยังทำต่อเนื่องอยู่ เป็นประธานครั้งละ 2 ปีมาหลายสมัย สิ่งที่ทำแล้วภูมิใจก็คือ พาคนเดินทางตามรอยพระบาทพระบรมราชวงศ์จักรี ชมรมนี้ไม่มีค่าสมัคร ขอให้เป็นสื่อมวลชนก็เข้ามาร่วมกิจกรรมได้ แต่คุณต้องมีพื้นที่ในการนำไปเผยแผ่ประชาสัมพันธ์ได้ ระยะหลังๆ ไม่มีผู้สนับสนุน เราจึงต้องจัดทัวร์ เพื่อมีทุนสำหรับให้สื่อฯ ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ทำมาแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว ทั้งในประเทศและแถบเพื่อนบ้าน จัดปีละ 4 ครั้ง โดยทุกครั้งต้องไปสำรวจก่อน ทุกอย่างต้องดีหมด อาจจะมีการสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชนเข้ามาช่วยเราบ้าง เราทำงาน เราสนุก คู่มือที่แจก คือความรู้ล้วนๆ ไปไหน อยู่ตรงไหน คืออะไร เราสืบค้นกันเต็มที่ ทุกคนที่ร่วมเดินทางกับเราจึงมีความสุข”
เมื่อถามถึงความสุขที่แท้จริงในชีวิต คุณย่าแอ๊ว ได้บอกว่า คือการได้เลี้ยงหลานชายคนโปรด แก้วตาดวงใจ หนึ่งเดียวของบ้าน และยังมีความสุขยิ่งกว่า เมื่อได้เป็นผู้ให้…
“เวลาออกไปทำงาน ได้พบปะผู้คน ได้ทำงานในสิ่งที่เรารัก โดยเฉพาะเวลาที่เราเดินทาง ผู้คนมาขอความรู้ ขอความคิดเห็น ขอคำแนะนำ เวลาไปถึงจังหวัดไหน เขาจะมีการเลี้ยงรับรอง เราก็สามารถบอกเขาได้ว่า เขาจะต้องทำอย่างไร สิ่งที่คุณทำมาต้องแก้ไข หรือดีแล้ว แต่ถ้าทำเพิ่มจะดีไปกว่านี้อีก เรามีความสุขกับการเป็นผู้ให้ค่ะ”
ส่วนวิธีที่ทำให้จิตใจเข้มแข็งมีสมาธิก็คือ… “เมื่อก่อนเคยนั่งสวดมนต์พร้อมกันในห้องโถง แต่ทุกวันนี้เวลาไม่ค่อยจะตรงกัน เลยใช้วิธีแยกย้ายห้องใครห้องมัน เวลาสวดก็เหมือนเขียนหนังสือ มีสมาธิ ใครจะมาทำอะไรก็ไม่สนใจ สวดยาวๆ จนถึงคาถาชิณบัญชร พอจบก็ไปบอกคนอื่นว่าเอาบุญมาให้ นี่คือสิ่งที่เราตัดได้ ทำให้ชีวิตมีความสงบสุข”
สำหรับผลงาน วรางคณา มีนวนิยายมาแล้วถึง 96 เรื่อง เมื่อถามว่าเรื่องไหนเธอรักที่สุด คำตอบก็คือ “รักทั้งหมด ทุกเรื่องมีความสำคัญเท่าๆ กัน”
“ตั้งใจว่าจะเขียนอีกเป็นเรื่องสุดท้ายสำหรับตีพิมพ์ ก่อนที่เขาจะปิดสำนักพิมพ์ เพราะหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเป็นเล่มๆ ต่อไปคงไม่ค่อยมีใครทำแล้ว ถึงจะไม่ตีพิมพ์เป็นเล่ม แต่เราก็ยังไม่เลิกเขียน ไม่ใช่ว่าจะลาจากตลอดกาลนะคะ” ป้าแอ๊ว บอกกล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“เนื้อเรื่องที่จะเขียน ต้องไปค้นคว้าทั้งหมดโดยละเอียด เพราะเป็นเรื่องวิถีไทยจริงๆ วิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้คนได้อ่านเปรียบเทียบ ได้รู้ว่านี่คือความเป็นไทย
เราไม่ได้เขียนนิยายประโลมโลก เราดูแล เรารักษา มิให้มันถูกบิดเบือนไป”
“ยังอยากทำถ้ามีคนจ้าง ยังอยากทำถ้ามีที่ลง แต่รูปแบบของการนำเสนอคงเป็นลักษณะอื่นๆ ตามกระแสโลก”
ทุกวันนี้ ยังมีเรื่องของ วรางคณา เป็นละครวิทยุอยู่ในโลกโซเชี่ยล เช่น YouTube…
“ยังหวังว่าเรื่องของเรายังจะคงอยู่ต่อไป หรือใครสนใจหนังสือ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะนำกลับมาทำให้อยู่ในรูปแบบที่ทันยุคทันสมัย ต้องไม่ติดยึดกับหนังสือที่เป็นกระดาษอีกต่อไป ฝากเป็นกำลังใจให้ด้วยค่ะ”