Text Neck Syndrome
Text Neck Syndrome
ด้วยความที่ในปัจจุบันโทรศัพท์ประเภท Smart Phone ไม่ได้เป็นแค่โทรศัพท์ไร้สายไว้พูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถทำงานได้แบบสากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่พูดคุยงาน รับ-ส่งเอกสาร ประชุม ถ่ายภาพ ดูภาพ ดูวีดีโอ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหาข้อมูล พูดคุยส่วนตัว กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ได้พร้อมๆ กัน นั่นทำให้ ได้ทั้งงาน บันเทิง สื่อสาร จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายๆ คนก้มหน้าก้มตากับเจ้า Smart Phone เกือบจะตลอดเวลา
ไม่ใช่เรื่องอำกันเล่นๆ แล้ว ว่าจะเจ็บป่วย กลายเป็นโรคนั้นโรคนี้ สำหรับคนที่ก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์มือถือกันแทบจะตลอดเวลา เพราะมีการระบุกลุ่มอาการที่เกิดจากการใช้ Smart Phone เป็นระยะเวลานานออกมาแล้วว่าจะเป็น “Text Neck Syndrome” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่ และรวมไปถึงความเสื่อมกระดูก ข้อต่อกระดูก หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอด้วย โดยมีสาเหตุมาจากอิริยาบถในการใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตที่ไม่ถูกต้องและต่อเนื่องนานเกินไป
สาเหตุก็มาจาก เมื่อเราใช้งานเจ้า Smart Phone นั้น ร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม มีการก้มคอ (Bending) และยื่นศีรษะ (Leaning) ออกมาข้างหน้า บวกกับไหล่สองข้างห่อและก้มหลัง ทำให้การรับน้ำหนักของกระดูกต้นคอ รวมถึงมัดกล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวเป็นพิเศษ ยิ่งก้มคอและยื่นคอห่างจากตัวไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้คิของเราทำงานหนักขึ้น โดยปกติแล้ว กระดูกต้นคอและมัดกล้ามเนื้อต้องรับน้ำหนักของศีรษะราว 5-6 ก.ก.อยู่แล้ว มีการศึกษาว่าถ้าก้มศีรษะเป็นมุม 15 องศา น้ำหนักที่ต้องรับจะเพิ่มมาเป็น 2 เท่า คือราวๆ 13 ก.ก. และหากก้มศีรษะมากถึง 45 องศา น้ำหนักที่คอต้องรับพุ่งขึ้นถึงปรมาณ 25 ก.ก. เลยทีเดียว
อาการเจ็บป่วยที่จะตามมาก็มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ เช่น มีการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า สะบัก และหัวไหล่ ส่วนใครที่อยู่ในอิริยาบถนี้เป็นประจำ แต่ละครั้งมีสมาธิจดจ่อเป็นเวลานาน อาจจะมีอาการลุกลามจนเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มีความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลัง หรือรากประสาทบริเวณคอ ทำให้เกิดอาการชา หรืออ่อนแรงของแขนและมือได้
ด้วยความที่เป็นโรคที่เผลอเป็นกันได้ง่ายๆ ดังนั้นวิธีป้องกันก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน โดยการปรับลักษณะนิสัยในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการใช้งาน หรือระยะเวลาที่ใช้งาน โดยเราควรจะพยายามให้ท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีการพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ในขณะที่มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้เรายังสามารถออกกำลังกายแบบตรงข้ามได้ ซึ่งอิริยาบถที่ทำให้ปวดคอคือการ ก้ม ยื่นหน้า และห่อตัว ดังนั้นการยึด (Stretching) เงยหน้า แอ่นอก เหยียดมือไปข้างหลัง เป็นระยะๆ ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ต้องพยายามฝึกที่จะเปลี่ยนความเคยชิน เมื่อไม่มีอะไรทำก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูมากด พยายามแยกตัวเองออกจากโทรศัพท์มือถือบ้าง อาจจะเก็บไว้คนละห้องให้หยิบได้ยาก ในบางช่วงเวลา เช่น ช่วงค่ำระหว่างอยู่กับครอบครัว ตลอดช่วงการนอนหลับ อาจจะรู้สึกขัดๆ ในช่วงแรก แต่ รับรองว่าในระยะยาวแล้วคุ้มค่ามากต่อสุขภาพแน่นอน