กำจัดเชื้อราหลังน้ำลดก็สำคัญ
ก่อนอื่นต้องขอส่งกำลังใจไปให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงทีมงานผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือทุกฝ่าย ขอให้ผ่านความเดือดร้อนครั้งนี้ไปโดยเร็ว ซึ่งความยากลำบากไม่ได้มีเพียงแค่ช่วงน้ำท่วมเท่านั้น การฟื้นฟูหลังจากน้ำลดก็งานหนักไม่แพ้กัน ซึ่งปัญหาที่พบเจอกันทุกบ้านก็คือ มีเชื้อราเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของบ้านแม้ว่าหลายๆ ส่วนไม่ได้แช่อยู่ในน้ำก็ตาม
เชื้อรา มีอยู่ทั่วไปในอากาศและสิ่งแวดล้อม เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง อากาศไม่ค่อยถ่ายเท ในภาวะน้ำลดจึงมักพบปัญหาเชื้อราเกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ หากหลังจากน้ำลดแล้ว ทำความสะอาดวัสดุเหล่านี้ไม่ดีไม่แห้งสนิท หรือแห้งเฉพาะภายนอกแต่มีความชื้นอยู่ข้างในก็ทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้ ซึ่งในบางที่อาจมองไม่เห็นเชื้อรา แต่ก็มีกลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดินให้สัมผัสได้
เชื้อราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเชื้อรามีการสร้างสปอร์ที่จะส่งผลกระทบกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน มีอาการระคายเคืองต่อตา จมูก และหลอดลม หรือรู้สึกปวดศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวประเภทโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ (Allergic reactions) หรือโรคปอดอักเสบจากอาการภูมิแพ้ (Hypersensitivity Pneumonitis) ที่อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นหลังจากน้ำลดแล้ว ควรรีบทำความสะอาดพื้นและผนัง โดยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ภายใน 24-48 ชั่วโมง ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศและเปิดพัดลม เพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว ควรล้างขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน จากนั้นขัดล้างเพื่อกำจัดเชื้อโรคด้วยน้ำยา 0.5% Sodium Hypochloride หรือ ผงฟอกขาว ถ้าเป็นการขัดผนังปูนหรือผิววัสดุที่หยาบๆ ควรขัดด้วยแปลงชนิดแข็ง ถ้าไม่ใช้น้ำยา 0.5% Sodium Hypochloride อาจผสมน้ำยาใช้เอง โดยใช้ผงฟอกขาวที่ใช้ในการซักผ้าตามบ้านปริมาณ 1 ถ้วยตวง ผสมกับน้ำ 1 แกลลอน
เมื่อขัดล้างเสร็จแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง โดยนำอุปกรณ์หรือสิ่งของที่เคลื่อนย้ายได้ไปผึ่งแดดจัดๆ หรือลมแรงๆ หรืออาจใช้สปอร์ตไลท์ส่อง เพื่อช่วยให้แห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้หากพบว่าเชื้อราฝังแน่นตามผนัง ไม่สามารถล้างขัดออกได้ ควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรทาสีทับ สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรล้างเครื่องปรับอากาศไปพร้อมกันด้วย ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนที่จะมีการทำความสะอาด หรือไม่แน่ใจว่ามีเชื้อราหรือไม่ สิ่งของเครื่องใช้บางอย่างที่ไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน ไม่สามารถชะล้าง หรือทำให้แห้ง ไม่สามารถกำจัดเชื้อราให้หมดไปได้ ควรทิ้ง เพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราต่อไป นอกจากนี้เชื้อราที่ตายแล้ว ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ ถ้าเป็นสิ่งของที่ทำด้วยผ้าให้ฆ่าเชื้อ โดยการต้มให้เดือดก่อนนำมาใช้อีก

ผู้ทำความสะอาดต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือ หน้ากากอนามัยชนิดธรรมดา 1-2 ผืน ปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันการสูดเอาเชื้อราเข้าไป ใส่ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ทยาง หรือ รองเท้าอื่นๆ เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัส โดยเฉพาะผู้ที่มีแผลที่มือและเท้า ใส่แว่นป้องกันเชื้อรากระเด็นเข้าตา ควรเป็นแว่นชนิดครอบตาที่ไม่มีรูระบายอากาศ ถ้าหาไม่ได้จริงๆ อาจใช้แว่นตา และระมัดระวังสิ่งสกปรกกระเด็นเข้าตา ซึ่งถ้าสิ่งสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาทันที ด้วยน้ำยาล้างตา หรือน้ำสะอาด ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาด
สำหรับน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราแบบอ่อน เช่น น้ำส้มสายชู สูตรกลั่นหรือหมักก็ได้ (มีความเข้มข้นอย่างร้อย 7%) ควรใช้ชุบกับกระดาษเช็ดถู ดีกว่าชุบกับผ้า เพราะจะได้ทิ้งเลยโดยไม่ต้องซัก หรืออาจใส่น้ำส้มสายชูในขวดสเปรย์ ฉีดพ่นสเปรย์ ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วจึงเช็ดออก จะสามารถกำจัดเชื้อราได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์เชื้อราได้เชื้อราได้, ทีทรีออย (Tea Tree oil) ใช้ 2 ช้อนชาผสมน้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์ฉีดเบาๆ บนบริเวณที่ต้องการทำความสะอาดแล้วเช็ด ฆ่าเชื้อราได้หลายชนิด แต่มีกลิ่นฉุน และราคาแพง, สารสกัดจากเมล็ดส้มเกรปฟรุต (Grapefruit seed extract) ใช้ 20 หยด ใส่น้ำ 2 ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์ฉีดเบาๆ บนบริเวณที่ต้องการ แล้วเช็ดออกได้เลย สามารถฆ่าเชื้อราได้หลายชนิด ไม่มีกลิ่น แต่มีราคาแพง
ส่วนน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราแบบเข้มข้น ได้แก่ แอลกอฮอล์ (Ethanol, Isopropanol) ใช้ที่ความเข้มข้น 60-90 % ควรให้ระยะสัมผัสอย่างน้อย 5-10 นาที, น้ำยาซักผ้าขาว (Clorox bleach หรือ Sodium Hypochlorite) ซึ่งเป็นสารประกอบของคลอรีน มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อราอย่างกว้างขวาง ออกฤทธิ์รวดเร็ว และราคาถูก ใช้อัตราส่วนน้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน ห้ามผสมกับสารอื่นๆ เนื่องจากสามารถเกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้, ไฮโดรเจนเพอรอกไซด์ (hydrogen peroxide) ใช้ที่ความเข้มข้น 3-6 % การใช้สารนี้ต้องใช้ระยะเวลานานในการฆ่าเชื้อรา
ซึ่งสารฆ่าเชื้อราสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์ทำความสะอาด ร้านขายยา ร้านเคมีภัณฑ์ ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเกษตรที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สารเคมีแต่ละชนิดอย่างเคร่งครัด
นอกจากความช่วยเหลือตอนน้ำท่วมแล้ว หลังจากน้ำลด หากใครประสงค์จะส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมไปอีก เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน
ที่มา : คู่มือความรู้สำหรับประชาชนและเครือข่าย
เรื่อง การป้องกันโรคและดูแลสุขภาพในภาวะน้ำท่วม
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค