ดร.สุภาพ เกิดแสง
ดร.สุภาพ เกิดแสง
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาองค์กร
มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ทำไมเราจะทำไม่ได้… อย่างน้อยก็ต้องลองสักตั้งก่อน”
ชอบคอมพิวเตอร์ : ผมชอบเล่นเกมส์เหมือนเด็กทั่วไป ความใฝ่ฝันคือ อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ อยากเขียนเกมส์ได้ แต่คนรู้คอมพิวเตอร์สมัยนั้นยังค่อนข้างน้อย เป็นยุคที่ซีพียูยังไม่เร็วมาก ยังทำอะไรได้ไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน พอดีมีคุณอาให้คำแนะนำว่า ถ้าอยากจะเก่งคอมฯ ต้องเขียนโปรแกรมได้ และผมยังพยายามสืบค้น จนรู้มาว่าในการแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ใช้ภาษาปาสคาล ทำให้เป็นความท้าทายที่ทำให้ผมต้องเรียนรู้และฝึกเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง
นักเรียนทุน : เมื่ออยู่ ม.3 ไปสอบทุน พสวท. (ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เป็นจุดที่ต้องคิดว่า ชีวิตเราจะไปทางไหนดี ถ้ารับทุน สิ่งที่ฝันไว้ว่าอยากจะเป็น วิศวกรคอมพิวเตอร์ ก็คงทำไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเป็นนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ในที่สุดก็ตัดสินใจ ทำเพื่อประเทศ เพราะมีการให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเรายังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ จึงเลือกที่จะรับทุน และเรียนต่อสายคณิตศาสตร์
ม.ปลาย เรียนที่ศรีบุญญานนท์ นนทบุรี พอจบ ม.6 ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ สาขาคณิตศาสตร์ จนจบปริญญาเอก
คณิตศาสตร์ : พอเปลี่ยนมารับทุน เรื่องคอมพิวเตอร์ก็ยังทำด้วยความชอบอยู่ แล้วพอเรียน วิทย์ – คณิต ผมก็รู้สึกสบายใจกับคณิตศาสตร์มากที่สุด เพราะทุกอย่างมันตอบได้ด้วยตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิดอย่างชัดเจน ขณะที่หลายๆ สาขา ยังมีคำตอบได้หลายทางเลือก
อเมริกา : ผมไปเรียนต่อในช่วง พ.ศ. 2540 ตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ยังลุ้นอยู่เลยว่า ทุนของเราจะเป็นยังไง จะส่งกลับหรือเปล่า ช่วงแรกมีเรียนปรับพื้นฐานให้ก่อน ซึ่งจะทำปรับตัวได้มากกว่าเด็กที่ไปถึงแล้วเข้าไปลุยเรียนในมหาวิทยาลัยเลยทันที เมื่อมีเวลา 1 ปี เตรียมตัวในไฮสกูล ทำให้ได้เห็นชีวิตนักเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้ว่าระดับไฮสกูลเขาเรียนอะไรกันบ้าง ทำให้ได้เรียนวิชาที่อาจจะไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย เช่นวิชาประวัติศาสตร์เขาเรียนอะไรกัน เขาทำไมให้ความสำคัญกับเรื่องศิลปะด้วย ซึ่งถ้าเราไปลุยเรียนคณิตศาสตร์เลย จะไม่ได้เห็นจุดนี้ แต่ก็ไม่รู้สึกเครียดมาก ไม่กดดันว่าจะต้องทำคะแนนดีๆ แล้วก็รู้สนุก เพราะต้องไปเรียนภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ แข่งกับเด็กฝรั่ง ซึ่งเขาเรียนมาทั้งชีวิต วิชาพวกนี้จะมีการบ้านให้ไปอ่านประมาณสัปดาห์ละ 30 – 80 หน้า สำหรับผมตอนนั้นมันยากมาก
การเรียนการสอน : มีความแตกต่างกันมากพอสมควร แต่ก็มีความมั่นใจว่า ในฐานะคนเอเชียเราเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ ฝรั่งสู้เราไม่ได้ ซึ่งในระดับหนึ่งจริง แต่ก็จะมีฝรั่งที่เก่งด้วยเช่นกัน และเวลาที่เขารู้ เขาไม่ได้แค่รู้เหมือนเด็กเราที่อาจจะคำนวณหาคำตอบได้ แต่เขารู้ในเชิงความเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศอเมริกาพยายามบ่มเพาะให้กับคนของเขา ถ้ารู้ในสิ่งที่คิดเข้าใจได้ จะเกิดการสังเคราะห์สิ่งใหม่ได้ ซึ่งทั้งสองแบบไม่มีอะไรถูกหรือผิด เพราะขณะที่บ้านเราจะโฟกัสไปที่การแก้โจทย์ หาคำตอบ แต่ในเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดข้อจำกัดอยู่พอสมควร
ปริญญาตรีที่ Cornell : ผมมั่นใจในเรื่องการเรียนคณิตศาสตร์ ในความเป็นคนไทย เป็นคนเอเชีย ก็จะรู้สึกว่าในเรื่องคำนวณเราทำได้ดีกว่าฝรั่ง แต่พอไป Cornell หรือที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา เขาจะไม่บังคับเด็กว่าจะต้องเรียนสาขาอะไร ทุกคนมีสิทธิ์เลือกเรียน ดังนั้น เด็กที่เลือกเรียนคณิตศาสตร์ คือเด็กที่อยากเรียน เกือบทุกคนจะเก่งๆ ทั้งนั้น เราก็จะเจอกับหัวกะทิ ระดับโลกจริงๆ ถึงเราจะไม่ด้อยกว่า แต่ก็มีคนที่สูงกว่า นี่คือความท้าทาย คนที่เรียนรู้มาแบบอเมริกา หรือสอนเน้นแบบคิดวิเคราะห์ เขารู้ลึกจริงๆ รู้แบบนำไปสร้างอะไรต่อได้ ขณะที่เรารู้จากฝึกคำนวณ เราทำได้ตามรูปแบบ แต่พอเป็นสิ่งใหม่ก็รู้สึกว่าเริ่มยาก
โท – เอก : ช่วงปริญญาโท ผมย้ายไปเรียนที่ USC (University of Southern Calilfornia) ทีแรกยังไม่มั่นใจว่าจะเรียนสายไหน พอดีว่าที่นั่นมีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทางด้าน Differential Geometry ผมก็ไปเรียนกับท่าน แล้วก็ต่อเนื่องไปถึงระดับปริญญาเอก
ความท้อแท้ : ผมเชื่อว่า คนที่เรียน Pure Math ทุกคนจะเจอ คือจะมีคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องมาเรียน เรื่องนี้มันยากมากๆ แล้วเรียนจบจะเอาไปทำอะไร แต่ในที่สุดแล้ว คำตอบมันก็ย้อนกลับมาคำตอบที่ว่า เราอย่าไปคิดว่าจะเรียนเพื่อเอาตัวคณิตศาสตร์ไปตอบทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ถ้าเรียนเพื่อเป็นตัวฝึกทักษะในการคิด ซึ่งปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคตมันจะมีอะไรมาก็ได้ ถ้าเราฝึกการคิดแก้ปัญหาแบบนอกกรอบได้ เราก็จะทำได้เกือบทุกอย่าง นี่คือพื้นฐานของของ คณิตศาสตร์ ที่เป็นเชิง Abstract ที่จะไปตั้งค่าอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา คนที่ฝึกมาแบบนี้ก็จะเป็นคนที่แก้ปัญหาอะไรก็ได้ในอนาคต
เป้าหมายที่แท้จริง : ผมพยายามปลูกฝังเด็กๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ ว่าคือการฝึกให้คิดเองเป็น ทำสิ่งใหม่ๆ เป็น ไม่ได้ให้เรียนเพื่อบูชาคณิตศาสตร์ เพราะคณิตศาสตร์ชั้นสูง ในเชิงลึก ในความเป็นจริงแล้วแทบไม่มีที่ให้เอาไปใช้ได้เลย แต่สิ่งที่เราได้จากการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดสิ่งใหม่ๆ มันสามารถนำไปตอบปัญหาได้เกือบทุกเรื่อง เป็นทักษะที่สำคัญกับคนในอนาคตมาก สิ่งที่เราเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สมัยก่อน ก็นำมาใช้กับตอนนี้ไม่ได้เลย ดังนั้น การเรียนการสอนที่เราบอกว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณในการทำงาน อาจจะใช้ไม่ได้กับอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า การเรียนคณิตศาสตร์ จึงเป็นการฝึกทักษะที่แท้จริง หากฝึกฝนอย่างถูกต้อง
สสวท. : ผมโชคดีได้ เริ่มงานที่ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งมีหน้าที่ ดูแลการจัดการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรวมคณิตศาสตร์ด้วย ทำให้เห็นภาพว่า ประเทศเราต้องการอะไร ถ้าผมอยู่มหาวิทยาลัยเลย ก็คงอยากจะสอนในสิ่งที่เรียนมาโดยตรง ในขณะที่สภาพจริง ประเทศเรา สิ่งที่ต้องการมากกว่า คือคนที่จะไปช่วยพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กโดยรวมส่วนใหญ่ ให้มีศักยภาพพอจะไปได้ไกลๆ คิด วิเคราะห์ได้ แล้วมาต่อยอดที่ระดับมหาวิทยาลัย ณ จุดนี้ ถ้าอุดมศึกษา กับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าไม่ได้ไปด้วยกัน ระดับอุดมศึกษาถ้าก้าวหน้าไปมากๆ เด็กที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่พร้อมรับ จะไปต่อลำบาก ทำให้ผมทุ่มเวลาไปช่วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะทุน พสวท. ออกแบบมาเพื่อผลิตบุคลากรมาพัฒนาการศึกษาโดยรวม
มหาวิทยาลัยศิลปากร : ผมเข้ามาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ก่อน แล้วมารับงานบริหารเมื่อสี่ปีที่แล้ว เริ่มจากเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ในสมัยที่แล้วเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา ปัจจุบันเป็นฝ่ายพัฒนาองค์กร หลักๆ คือทำเรื่องอันดับคุณภาพการศึกษา หรือ Ranking และยังมีงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่นหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ทักษะภาษาอังกฤษ ฯลฯ
การจัดอันดับมหาวิทยาลัย : มีทั้งของ QS University Ranking และ Times Higher Education ก่อนหน้านี้เรายังไม่เคยติดอันดับเลย จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราเริ่มติดอันดับในภูมิภาคเอเชีย และยังติดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ เพราะ Ranking เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้นักศึกษาตัดสินใจว่าควรจะไปเรียนที่ไหน แต่สิ่งนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน และอีกสิ่งที่มีความสำคัญคือเรื่องการลงทุนข้ามชาติ บริษัทต่างๆ นักลงทุนอาจจะอยากรู้ว่าการศึกษาเราดีแค่ไหน เหตุนี้จึงทำให้หน่วยงาน หรือกระทรวงที่กำกับดูแล รวมทั้งมหาวิทยาลัย จึงให้ความสำคัญกับการทำอันดับ เพราะมีผลลัพธ์ที่ตามมามากมาย
ก้าวสู่ยุค 4.0 : ทุกวันนี้ผมก็ยังสนุกกับคอมพิวเตอร์อยู่ และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับระบบการทำงาน ซึ่งระบบออโตเมชั่นสมัยใหม่ต่างๆ ก็ช่วยทำให้เรื่องที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ยากให้เกิดขึ้นได้ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปในเชิงที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เรากำลังจะทำเรื่อง Digital Transformation เพราะหลายๆ เรื่องไม่ควรจะต้องทำงานโดยผ่านคน เทคโนโลยีสามารถทำแทนได้หมดแล้ว เราก็จะขยับไปที่จุดนั้น เช่นในการตรวจคุณสมบัติต่างๆ ในมหาวิทยาลัย อย่างบุคลากร ก่อนหน้านี้ทำได้ยากมาก มักจะมีการผิดเกณฑ์เกิดขึ้น เพราะตรวจสอบได้ยาก แต่เมื่อใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การตรวจสอบก็ทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยแจ้งเตือนได้อีกด้วย หากสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะมีการทำผิดเกณฑ์ หรือการประกาศผลคะแนน ก็สามารถแจ้งให้ผู้สอบเป็นรายบุคคลได้โดยตรง สร้างความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น และยังสามารถสร้างเว็บไซต์ ที่แสดงผลให้เห็นเฉพาะตัว ถ้าเราจ้างทำโปรแกรม ก็ต้องจ่ายเงิน เสียงบประมาณ แต่ถ้าเราทำเอง ก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย และยังเป็นความภาคภูมิใจ ที่เราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และผมยังตั้งเป้าไว้ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังสอดรับกับ 4.0 ของเมืองไทย สามารถถ่ายทอดความรู้นี้ไปให้กับองค์กรต่างๆ ได้ด้วย
กอล์ฟ : ผมมีโอกาสจับไม้กอล์ฟเป็นครั้งแรก เพราะมีรุ่นน้องเล่นอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ไปหัด ได้แค่หวดหญ้าเล่นๆ ยังไม่รู้จริงๆ ว่า กอล์ฟคืออะไร ตอนนั้นเรียนที่เมือง Pomfret รัฐ Connecticut เป็นเมืองสงบเงียบ อยู่กันแบบสบายๆ เพิ่งมารู้ทีหลังว่า ที่นั่น สนามกอล์ฟน่าเล่นมาก ผมเพิ่งกลับไปอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เล่นเต็มที่ เสียดายที่ตอนเรียนไม่ได้เล่น มาเริ่มเล่นจริงๆ ตอนเรียนที่ USC เพื่อนๆ ไปเล่นกันก็ตามไป โชคดีที่เริ่มที่นั่น สนุก เหมือนกับได้ตีกอล์ฟในห้องแอร์ ช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเสร็จ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่กลับกันหมด ผมเลยตีกอล์ฟเกือบทุกวัน เช้ามืดหยิบถุงกอล์ฟแล้วไปต่อคิว ทุกครั้งที่ไปก็เจอกับเพื่อนร่วมก๊วน ได้ฝึกทักษะในการคุยกับคนใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ที่คงจะหาได้ยากจากที่อื่น ตอนนั้นพอเล่นได้ ไม่กดดันตัวเอง เรารู้ความสามารถของเรา ไม่ตั้งเป้าให้เกินตัว ทำให้มีความสุขกับกอล์ฟมาก
ฝึกด้วยตัวเอง : ตอนแรกๆ พยายามฝึกตีด้วยตัวเอง พอเริ่มตีได้ก็รู้สึกว่า ไม่ยากเหมือนที่คิด แต่พอมาถึงวันที่รู้จักกอล์ฟมากขึ้น ก็จะรู้ว่าที่เราตีตรง ตีไกล มันพัฒนาไปได้อีกตั้งเยอะ ก็อยากจะไปถึงจุดนั้น แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ตอบด้วยสกอร์ กอล์ฟจะไปได้เร็วมาก และไปได้ไกลมาก ถ้ามีคนช่วยจับ ช่วยดูให้ แต่ผมเองก็มีความเชื่อว่า หลายๆ เรื่อง ผมทำด้วยตัวเองได้ เพียงแต่ต้องทำเป็นระบบ แต่การที่เราฝึกตีซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วจะดีขึ้น คงไม่จริงเสมอไป เราอาจจะทำผิดซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ได้ด้วยเหมือนกัน ผมจึงต้องใช้วิดีโอเข้ามาช่วย แล้วก็ศึกษาจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่ออธิบาย สุดท้ายผมก็ยอมรับว่า ถ้ามีโปรจับ ยังไงก็ดีกว่า
สนุกกับงานคือการพักผ่อน : ถ้าเราสนุกกับงานจริงๆ มุมนึงคือการพักผ่อนไปในตัว แต่ถ้าจะพักผ่อนจริงๆ อาจจะทำได้ยากสักหน่อย อย่างบางช่วงที่ต้องไปวิทยาเขตตลิ่งชัน อาจจะตื่นเร็วอีกหน่อย เผื่อเวลาแวะตีกอล์ฟตอนเช้าก่อนเข้างาน
ความสุขของชีวิต : ที่สุดแล้วก็คือครอบครัว เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งตอนนี้ลูกผมยังเล็ก เวลาดูเด็กอายุน้อยๆ เขาเห็นอะไรในโลกก็มีความสุขไปหมด รู้สึกว่าได้สร้างความสุขขึ้นมาบนโลกใบนี้ ดีใจและภูมิใจที่มีเขา
ปัญญาทุกอย่างแก้ไขได้ : ก่อนหน้านี้เคยมีความอึดอัดเกิดขึ้น เมื่อคิดว่าเราไม่ได้เรียนจบมาทางนี้โดยตรง มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาตั้งเยอะแยะ แล้วจะทำได้หรือ แต่ด้วยความมั่นใจในตัวเองว่าเมื่อตั้งเป้าแล้วต้องทำได้ เพราะทุกครั้งที่กำลังคิดว่าจะทำได้หรือไม่ ผมก็จะย้อนกลับไปถึงช่วงเรียนโท เรียนเอก มันยากกว่านี้ตั้งเยอะ ก็ผ่านมาแล้ว แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องลองสักตั้งก่อน หลายคนมีข้อผิดพลาดตรงที่ ท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่ม สิ่งที่ผมพยายามเชื่อมาตลอดคือ เราทำได้ แล้วส่วนใหญ่มันทำได้เกือบทั้งหมด ส่วนเรื่องที่ทำไม่ได้จริงๆ มันก็มีคำตอบว่า เราได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่า ไม่ได้ ตั้งแต่เริ่ม เรื่องมันก็คงจบแค่นั้น แต่ความก้าวหน้าทุกอย่างในโลกคงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราคิดแบบนี้ครับ