รศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ
รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร
“เป็นคนชอบเลียนแบบพฤติกรรมค่ะ ถ้าเห็นว่าสิ่งไหนดีก็เก็บมาใช้ ส่วนที่ไม่ดีก็ทิ้งไป” อ.นุ้ย (รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี เริ่มเรื่องด้วยอารมณ์สดใส ตามสไตล์ตัวเอง
สมัยเรียนที่อเมริกา อ.นุ้ย เล่าว่า ในมหาวิทยาลัย มีโปรเฟสเซอร์หลายแบบ บางคนต้องการผลงาน เด็กก็เครียด ทำงานด้วยความกดดัน
“แต่อาจารย์ของเรา ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านให้อิสระในการคิด แต่ก็มีประชุมกลุ่มอยู่เรื่อยๆ นัดคุยงานในบาร์ ในร้านอาหาร คุยกันในนั้นเลย ใช้กระดาษเช็ดปากจดข้อความว่าทำงานอะไร ถึงไหนกันแล้ว บรรยากาศเลยดูไม่ซีเรียส ผลงานก็ออกมาดี ทำให้รู้สึกว่า อาจารย์ใส่ใจ ลูกศิษย์แต่ละคนก็มีผลงานมาเล่าให้ฟัง ถึงแม้ว่าบางครั้ง งานอาจจะล้มเหลว แต่ก็ยังมีความสุขที่จะเล่า ทำให้เรื่องที่น่าจะเครียด กลายเป็นเรื่องสนุกเฮฮา เพราะอยู่ในแวดวงของเพื่อนๆ รู้สึกสบายๆ ช่วยกันสร้างกำลังใจให้สู้ต่อ ทำให้จดจำความประทับใจแบบนี้ได้ดี และนำมาใช้กับชีวิตจริงค่ะ”
อ.นุ้ย เป็นเด็ก ซางตาครู้สคอนแวนท์ ตรงข้ามปากคลองตลาด เรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.5 ก็ไปสอบเทียบเล่นๆ กับเพื่อน แต่สอบได้จริงๆ พอไปเอ็นทรานส์เล่นๆ ก็ได้จริงๆ อีก ไปติดภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ในใจคิดว่าไปเรียนสักแป๊ปนึง เดี๋ยวค่อยสอบใหม่ อาจจะเข้าคณะแพทย์หรือเภสัช เพราะคิดว่าน่าจะไปถึงตรงนั้นได้อยู่แล้วค่ะ” นั่นคือความตั้งใจเบื้องต้นของเธอ
เมื่อเด็กเมืองกรุง ที่โตมาในป่าคอนกรีต พอได้เห็น ได้สัมผัสกับธรรมชาติ… “ปรากฏว่า เรียนไปสักพักเกิดติดใจค่ะ ชอบบรรยากาศของมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์มีความเป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย อยู่ที่นั่นเหมือนมีผู้ใหญ่อยู่ในบ้านหลังใหญ่ ก่อนหน้านี้ คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นเภสัช เพราะที่บ้านเป็นร้านขายยา แต่พอสอบติดที่เชียงใหม่ ท่านก็บอกว่า ไม่เป็นไร ให้เลือกเรียนตามใจชอบได้เลย และตัวเองก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าคนเราจะเก่ง หรือจะดี อยู่ตรงไหนมันก็ต้องได้ดี อยู่ที่ไหนก็ต้องทำได้ เราเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลยดีกว่า”
พอจบจากเชียงใหม่ กลับมาทำงานบริษัทเอกชน เกี่ยวกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ระดับสูง ทำหน้าที่เป็นเทคนิคคัลเซอร์วิส “เรากลับมาสอนผู้ใช้ มาแนะนำอาจารย์ของเราในมหาวิทยาลัย จนรู้สึกว่า ชอบการสอน เพราะสอนแล้วคนอื่นก็รู้เรื่องดีเหมือนกัน ใช้งานเป็น แก้ไขปัญหาได้ เริ่มสนุกกับการสอน เหมือนกับทำงานวิจัยกลายๆ จนคิดว่าความรู้ระดับปริญญาตรีคงไม่พอแล้ว”
เนื่องจากเป็นนักเคมี และอยากมีสีสันในชีวิตมากขึ้น จึงเลือกไปเรียนปริญญาโท วิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อม ที่ จุฬาฯ “เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทำให้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน หรือห้องแล็ป ต้องออกไปศึกษาหาข้อมูล ดูผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ การไปคุยกับชาวบ้าน ชุมชน แม้กระทั่งต้องไปดำน้ำ ก็ต้องไปลงเรียนคอร์สดำน้ำ ไปเป็นบัดดี้เพื่อช่วยเพื่อนที่ลงไปดำน้ำลึก ในกรณีฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นงานวิจัยของเพื่อนเกี่ยวกับการดำน้ำ เราไปช่วยคีย์ ไปดูความหลากหลายของปะการัง จากแนวชายฝั่งลงมา สังเกตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังจากลงไปใต้น้ำแล้ว ได้ไปเรียนรู้ ทำให้เราเป็นนักเคมีที่มีความรู้เกี่ยวกับปะการังไปด้วย”
“ส่วนที่เป็นตัวเองจริงๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ของเสียจากอุตสาหกรรมการขุดเจาะแก๊สธรรมชาติจากฐานบางแห่ง เนื่องจากเวลาได้แก๊สมาแล้ว จะมีปรอทออกมาด้วย ซึ่งเป็นโลหะหนักที่เป็นของเหลว กลายเป็นของเสียมาตั้งทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม ไม่รู้ว่าจะกำจัดยังไง
เป็นโครงงานของอาจารย์ที่ปรึกษา ที่คิดว่า ในเมื่อเราต้องซื้ออะมัลกัมสำหรับอุดฟัน ซึ่ง 50% มีปรอทเป็นส่วนผสม แล้วทำไมถึงไม่นำปรอทนี้มาทำให้บริสุทธิ์ กลั่น ล้าง จนได้คุณสมบัติมาตรฐานตามข้อกำหนดที่ใช้ในการอุดฟัน เป็นการนำของเสียที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีใครอยากได้ มาทำให้เกิดประโยชน์ ทำวิจัยอยู่ที่ทันตแพทย์มหิดลจนเสร็จ คิดว่าได้คุณค่ามหาศาล สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ณ ช่วงนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ”
พอเรียนจบทางด้านสิ่งแวดล้อม มีทุนของอาจารย์ที่ปรึกษา ไปประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองนิอิกาตะ มหาวิทยาลัย นิปปอน เดนทัล เป็นการทำวิจัยวัสดุชนิดใหม่ เป็นโพลิเมอร์สำหรับอุดฟันที่ไม่ใช่อะมัลกัม พอสมัครทุนได้ อาจารย์ก็แนะนำให้สมัครเรียนต่อปริญญาโทอีกใบไปเลย ทำให้ได้ปริญญาโทที่จุฬาฯ อีกใบ “ต้องไปหัดอุดฟันวัวเพื่องานวิจัย นักเคมีทำงานได้หลากหลายได้มาก ถ้าพร้อมที่จะเรียนรู้ จะให้ไปทำอะไรก็ทำได้ค่ะ”
หลังจบปริญญาโท อ.นุ้ย ได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ณ Worcester Polytechnic Institute รัฐแมสซาซูเซส คราวนี้ไปเรียนเคมีสังเคราะห์ ทำงานวิจัยในห้องแล็บ ออกแบบตัวตรวจวัด เซ็นเซอร์อัจฉริยะ วัดไอออนต่างๆ ได้ เช่น ปริมาณไอออนในเลือด เพื่อประยุกต์ใช้กับ โรคความดันสูง หรือโรคหัวใจ
“พารามิเตอร์ที่ควรดูตัวหนึ่งก็คือ โลหะ โปตัสเซียม หรือ โซเดียม ถ้ามีมากน้อยเกินไปจะมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ หรือความดันเลือด นอกจากนี้ยังมีตัวอื่นๆ อีก เช่น แอมโมเนียม บอกว่าไตของเราดีหรือไม่ ผิดปกติหรือเปล่า เพราะเวลาขับถ่าย จะมียูเรีย กับ ครีเอตินิน ซึ่งมีเอ็นไซน์ในการย่อย แล้วเปลี่ยนไปเป็นแอมโนเนียม แล้วเราใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจเช็ค เพื่อแจ้งถึงสภาพของไต หรือ ลิเธียม เกิดจากยาที่ใช้กับอาการโรคซึมเศร้า หรือทางจิต ร่างกายคนเราจะกำจัดได้แตกต่างกัน การใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดและติดตามการตกค้างของลิเธียม อยู่นานแค่ไหน” อ.นุ้ย เล่าถึงเนื้อหาเชิงวิชาการที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่มีประโยชน์อย่างสูง
เมื่อเรียนจบกลับมา ก็ยังทำงานต่อทางด้านวิจัยเกี่ยวกับเซ็นเซอร์ แต่เปลี่ยนไปทำวิจัยกับโลหะที่ใช้ได้จริงในประเทศไทย เช่น ปรอท ในอาหารทะเล ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ แบคทีเรียใต้ทะเลจะเปลี่ยนปรอท ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตได้ อย่างพวก แพลงตอน ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารลำดับล่างๆ แล้วปลาใหญ่ยังกินปลาเล็กอีก ไล่เรียงลำดับกันไป ปลาที่อายุยืนนานจะเสี่ยงว่ามีปรอทอยู่มากที่สุด คนกินปลาก็ได้รับไปเยอะที่สุด ในฐานะอยู่บนสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำให้ได้รับสารพิษ สะสมเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว เป็นอันตรายต่อระบบประสาท ซึ่งไม่มีทางแก้ไข อย่าง โรคมินามาตะ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น, ไซยาไนต์ ลักษณะคล้าย เกลือ อยู่ในหน่อไม้ มันฝรั่งดิบ อัลมอนด์ หากกินเข้าไปดิบๆ ก็อาจสะสมจนเกิดอันตรายได้, แคดเมียม อยู่ในจมูกข้าว ถ้าพืชปลูกอยู่ในพื้นที่มลพิษ พืชก็จะรับไป คนกินก็สะสม จนเกิด โรคอิไต อิไต
“เครื่องมือเราได้จัดทำให้มีขนาดเล็ก สะดวกในการพกพา ใช้งานง่าย ต้นทุนต่อการตรวจแต่ละครั้งต่ำ สามารถต่อเชื่อมกับมือถือ มีความไวในการตรวจจับโลหะต่างๆ ได้ในจำนวนต่ำกว่าค่ามาตรฐานในน้ำดื่มที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก และล่าสุดเราพบว่าธรรมชาติเองก็มีเซ็นเซอร์ เราสามารถนำใบรางจืดมาตำใส่น้ำสะอาดนิดหน่อย แล้วนำไปหยดตรวจสอบหาการปนเปื้อนของตะกั่วในน้ำได้ โดยจะเกิดการตกตะกอนของตะกั่วออกมา ทั้งนี้เราได้แนวความคิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และจากการสังเกตพฤติกรรมของชาวบ้านจากนักศึกษาปริญญาเอกของเราว่า ใบรางจืดเป็นสมุนไพรที่รักษาได้หลายโรค น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการตรวจจับโลหะหนักได้ แล้วก็สามารถตรวจได้จริง แต่เฉพาะกับตะกั่วเท่านั้น”
ผลงานวิจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ อ.นุ้ย ได้รับรางวัล จาก เอเชี่ยนเคมีคัลโซไซตี้ และยังได้รับรางวัลซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิต กับผลงานวิจัยดีเด่น ของมหาวิทยาลัยศิลปกร โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ
“ความภาคภูมิใจของอาจารย์นุ้ยอย่างหนึ่งก็คือ ได้สร้างคนในห้องแล็ป ได้ส่งเด็กปริญญาโท ปริญญาเอก ไปต่างประเทศกันทุกคน ไปทำวิจัยบ้าง ไปนำเสนอผลงานบ้าง ทุกคนที่จบไปก็จะมีผลงานและประสบการณ์ที่ดี”
“ทำงานในห้องแล็บ สร้างผลงาน สร้างคน นำเสนอผลงาน ขอตำแหน่งทางวิชาการ จนถึงระดับ รองศาสตราจารย์ และยื่นขอระดับศาสตราจารย์ไปแล้ว ถึงเวลาที่จะมาทำงานให้ส่วนรวม ตอนแรกเข้ามาในทีมบริหาร คิดว่าต้องนำความรู้ที่มีมา ซึ่งเรียนมาแล้วหลายแขนง นำมาใช้กับมหาวิทยาลัยดูบ้าง ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มีหน้าที่นำความรู้ของเรา เพื่อจะดึงทุกคนทีมีศักยภาพในสาขาของตนเอง มารวมกันให้ได้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เช่นงานศิลปะ งานบูรณะ ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปแทรก ใช้สังคมศาสตร์เข้าไปจับ สร้างแอพพิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าถึงง่ายขึ้น”
“มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาบันที่มีศักยภาพสูง มีความหลากหลาย จึงทำให้เกิดโครงการมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม เราไปปักหมุดการทำงานกันที่ เยาวราช เจริญกรุง เป็นแหล่งวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมเมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบันเริ่มมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปขึ้นที่นั่น เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่อยู่แล้ว ที่ต้องรับคนเพิ่มขึ้นไปอีก เศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเริ่มจะต้องเปลี่ยนแปลงไป เราจึงนำบุคลากรสายศิลปะ สถาปัตย์ โบราณคดี จิตรกรรม มัณฑนศิลป์ เข้าไปทำวิจัยกันก่อน ดูว่าเราจะฟื้นฟูและรักษา คุณค่าของวัฒนธรรมของเยาวราชได้อย่างไร จากนั้น วิทยาศาสตร์จะเข้าไป ดูสิ่งแวดล้อม มลภาวะ หาวิธีที่เหมาะสม ได้ผล ในการบริหารจัดการ ซึ่งมีการสำรวจมาล่วงหน้าหลายปีแล้ว เราเข้าไปด้วยความจริงใจ อยากเห็นเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าบนฐานของวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยเยาวราชเป็นต้นแบบ และต่อไปในอนาคตก็จะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ อีก”
“โครงการ มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น เรามองว่า มหาวิทยาลัยมีตลาดค้าพืชผักผลไม้อินทรีย์ เราร่วมกับเกษตรจังหวัดนครปฐม ผลักดันโครงการ Greenery Market @ SU ได้รับทุนจากรัฐบาล ส่งเสริมให้เกษตรกร ที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ มีช่องทางในการขาย ทุกวันพุธ กับวันศุกร์ ต่อไปจะพยายามให้คนในมหาวิทยาลัยใช้ผลผลิตปลอดสารเคมีเหล่านี้ เพื่ออนาคตจะมุ่งเข้าสู่การเป็น Green Campus ไม่ใช่เพียงแค่เรามีต้นไม้เยอะ มีรถไฟฟ้าปลอดมลพิษเท่านั้น เรายังจะทานอาหารกรีนกันอีกด้วย มีร้านอาหารที่ใช้พืชผักอินทรีย์ เกษตรกรที่อยู่ในเขตนครปฐม ก็มีแหล่งขายสินค้า มีการจัดการที่ดีขึ้น มีแอพพิเคชั่นมาช่วยเหลือ และมีการตรวจสอบคุณภาพโดยใช้ความรู้ทางด้านเคมีเข้ามาดูแล”
และก่อนจบบทสนทนา อ.นุ้ย ยังได้นิยามความสุขของชีวิตเธอว่า
“ทุกวัน ตื่นขึ้นมาแล้วยังรู้สึกว่า มีความสุข อยากมาทำงาน เพราะทำแล้วจะทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ เวลาของทุกคนเท่ากัน แต่คุณค่าที่เกิดขึ้นนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการกระทำ คนเรามีคุณค่าทุกคน แต่การที่ทำให้ตัวเรามีคุณค่ามากที่สุดคือ สามารถทำงานที่เกิดประโยชน์ส่งผลให้กับคนอื่นมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ของตนเอง เราทำงานเน้นในเรื่องงานวิจัย ทำให้คนในมหาวิทยาลัย ทำให้นักวิจัย ทำให้นักศึกษา และยังทำให้สังคมด้วย ทุกคนเข้ามาเรียนมีจุดยืนอยู่แล้วว่าต้องการเรียนจบ แต่การจบแบบไหนนั้นสำคัญยิ่งกว่า ถ้าเราทำให้เขาจบแบบสง่างาม มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคม นั่นคือความสำเร็จสูงสุดแล้วค่ะ”