อาหารติดคอ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
จากกรณีที่มีชายวัย 52 ปี กินขนมเทียนแล้วเกิดอาการติดคอ ขาดอากาศหายใจ จนถึงขั้นเสียชีวิตนั้น ทำให้หลายๆ คนตื่นตัวในเรื่องของการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญในการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับต้องเจอกับผู้ประสบเหตุอาหารติดคอด้วย
ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้โดยตรง ได้ออกมาแนะนำวิธีกินอาหารให้ปลอดภัยจากการสำลักหรืออาหารติดคอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็กควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดขณะกินอาหาร
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากกินขนมเทียนแล้วเกิดอาการติดคอนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการไม่เคี้ยวให้ละเอียดก่อน จึงเกิดการติดคอและปิดกั้นหลอดลม เพราะขนมเทียนจะมีลักษณะนิ่มแต่เหนียว อาจทำให้ประสบปัญหาในการกลืนอาหาร
โดยเฉพาะผู้สูงวัย ซึ่งจะมีอาการปากแห้ง การสร้างน้ำลายน้อยลง การที่ไม่มีฟันและกำลังของการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารเพิ่มนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร รวมทั้งคอหอย ปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารมากขึ้นเช่นกัน และด้านการหายใจผู้สูงอายุต้องหยุดหายใจขณะกลืนจะเกิดขึ้นเร็วและนานขึ้น โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้าทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที ผู้สูงอายุจึงมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากกลืนอาหาร ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสำลักได้ง่าย
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้สูงอายุรวมถึงเด็กเล็กจึงต้องได้รับการเอาใจใส่เรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษเพื่อให้ปลอดภัย โดยแบ่งออกได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที
2. กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด
3. อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที
4. อาหารที่กินควรแบ่งเป็นขนาดชิ้นเล็กๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป
5. ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน
6. กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย
7. ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว
8. อย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น
หากเกิดอาหารติดคอ หายใจไม่ได้ พูดไม่ออก ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น และเปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และ อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6 – 10 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กให้ใช้วิธีตบระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง สลับกับกดหน้าอก และคอยตรวจเช็คช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมให้ใช้นิ้วเกี่ยวออกมา และหากผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัว พูดได้และหายใจได้ตามปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
การเสียชีวิตจากอาหารติดคอ โดยเฉพาะขนมเทียน เกิดขึ้นเป็นประจำ เรื่องการกินอาหาร ซึ่งแม้ว่าจะดูเป็นวิถีชีวิตประจำวันปกติทั่วๆ ไป แต่แค่กลืนผิดจังหวะนิดเดียวก็อันตรายถึงชีวิตได้ ใครที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลเด็กๆ เป็นจำนวนมากๆ ดูแลร้านอาหาร ควรศึกษาและฝึกซ้อมกรณีเกิดเหตุผู้ป่วยอาหารติดคอไว้ให้คล่องก็จะดีไม่น้อย