อมยิ้มริมกรีน

โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง

จำได้ไหมครับ ที่ผมเขียนถึง บริษัทผลิตภาพยนตร์หนึ่ง ได้นำเรื่องราวอิงชีวิตของ ”โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล มาทำเป็นภาพยนตร์ ครั้งนั้นเป็นข่าวเพราะ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ของบจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์,กระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในวงเงิน16 ล้านบาท ผ่านการพิจารณารอบแรก แต่ตกไปในรอบสอง ด้วยไม่เข้าหลักการในหลายประเด็น

ไม่ได้เงินก้อนนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะ ยังไงเขาก็สร้างอยู่แล้ว เป็นของบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิลม์ ปิดกล้องเมื่อสามเดือนก่อน ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ มาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมแล้ว ในชื่อเรื่อง “โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง”

ผมไปดูมาครับ เพราะรับปากกับ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้

เขาบอกกับผมว่า ..พี่ยอดต้องไปดูนะ จะได้เข้าใจว่า ทำไมผมถึงกล้าไปของงบสื่อสร้างสรรค์..เพราะสร้างสรรค์จริง ในเรื่องของกำลังใจครอบครัว ไม่ใช่เชิดชูควาสำเร็จของเด็กไทย ที่เป็นที่หนึ่งในโลก

จริงครับ.. ไม่ใช่ภาพยนตร์ อัตตชีวิตของโปรเม เอรียา จุฑานุกาล ไม่ใช่ภาพยนตร์กีฬากอล์ฟ
หากเป็น ภาพยนตร์ชีวิต ดรามาติกล้วนๆ

ที่เล่าถึงหนทางชีวิตของครอบครัวหนึ่ง ที่มีการเดินทาง แต่ละก้าวของชีวิตสุดเข้มข้น บีบคั้น ขมขื่น เข้มแข็ง ที่สามารถสะกดคนดู ให้ไหล “อิน”ไปตามอารมณ์หนัง ตั้งแต่ซีนแรก prologueจนถึง epilogue บทส่งท้าย

ผมดูภาพยนตร์กอล์ฟของฮอลลีวู้ดมาหลายเรื่อง ทั้งคลาสสิก อย่าง Bagger Vance (แมท ดามอน, วิล สมิธ แสดง หนังโรเบิร์ต เรดฟอร์ดกำกับ ต้องมีดีแน่นอน) หนังอัตตชีวิต Bobby Jones ยอดนักกอล์ฟสมัครเล่นผู้มีพรสวรรค์ แต่กลับโด่งดังด้วยเป็นผู้สร้างสนาม Augusta บ้านของ US Opens ที่งดงดงามอมตะ, หนังดรามา คอมเมดีพระเอกโคตรเก่ง Tin Cup แสดงโดย เควิน คอสเนอร์ ตอนรุ่งๆ หรือ Happy Gilmore หนังตลกสไตล์ อดัม แชนด์เลอร์

ไม่มีเรื่องใดที่จะเค้น “จิตวิญญาณแห่งกอล์ฟ” อันกว่าจะถึง”จุดนั้น”ได้ มันต้องทุ่มไปสุดๆ เท่าไหร่ เช่นไร
ไม่เคยมีภาพยนตร์กอล์ฟเรื่องใด ทำได้เข้มข้น เท่ากับ ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้เลย

ทั้ง พ่อมด สตีเวนส์ สปีลเบิร์ก ,โรเบิร์ต เรดฟอร์ด หรือ แม้แต่ เบ็น แอฟเฟล็ค อัจฉริยะคลื่นลูกใหม่ในวงการสร้างภาพยนต์ บอกคล้ายๆกันว่า..เขาชอบทำภาพยนตร์ on true story เรื่องในชีวิตจริง เพราะเป็น “ของจริง” ที่ให้อะไรกับโปรดิวเซอร์ อยากจะทำด้วยใจ และผู้ชมมากมาย รู้คุณค่าของชีวิต ว่า.. ชีวิตจริงเป็นได้ถึงปานนั้น

ภาพยนต์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง” ก็เช่นกันครับ ไม่ใช่พล็อตที่คิดเอาเอง เป็นนิยายแห่งการสู้ชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่อง ชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่มีตัวตนจริง
ที่จุดเริ่มต้นไปสู่ดวงดาว มาจาก “ความบ้า”ของผู้เป็นพ่อแท้ๆ
ต้องชมเชย ผู้เขียนบทภาพยนตร์จริงๆ ที่ทำผลงานชิ้นนี้ได้ลงตัว

เอา พล็อตวิถีชีวิตของ โปรเม สัก 60 % เป็นฐานของการดำเนินเรื่อง ใส่ดรามาติก อัดความแรง ความบีบคั้น เข้าไปให้กับบทบาทตัวละครแต่ละตัว เข้าไปกระแทกอารมณ์ของผู้ชมในแต่ละฉาก 30%

โดยเฉพาะตัวพ่อ ที่แสดงโดย ธเนศ วรากุลนะเคราะห์ แสดงแบบ over action ก็จริง ก็เป็นตามศาสตร์ภาพยนตร์แหละครับ คือ ต้องแรงให้ถึง ไม่ถึง ความเข้มของหนังก็จะเป็นโทนซีด เฉื่อยไป คนดูต้องตาลุกโพลงตลอด ในใจสงสารคนเป็นลูกเมีย..ถึงจะบิลต์อารมณ์..สู้ๆนะ ซึ่งธเนศทำได้ ถือว่าเป็นผู้แสดงตัวเอกของเรื่องเลยนะครับ ไม่ใช่โปรเม

น้องคริสซี่ กฤษณ์สิริ สุขสวัสดิ์ ผู้แสดงเป็น โปรเม ก็น่ารักดี คุณหัทยา วงษ์กระจ่าง ผู้รับบทแม่ ก็แสดงเป็นแม่บ้านๆ ที่อดทนผัวได้ดี

ที่ยอดเยี่ยมก็คือ ทุกองค์ของการดำเนินเรื่อง ทิ้งคำถามให้ผู้ชมไปตัดสินเองว่า..อะไรคือถูก อะไรหรือผิด?
แม้แต่ฉากสุดท้าย ก็ยังทิ้งไว้ให้คิดต่อ เมื่อออกจากโรงภาพยนตร์ไปแล้ว..โปรเมจะเป็นอย่างไรนะ

คุณลักษณ์ของภาพยนตร์ชั้นดี คือ ออกจากโรง คนดูก็ยัง “อิน” เอาไปคิดต่อ ไม่ใช่หัวร่อก้ากๆ หรือน้ำตาไหลพรากๆ ออกจากโรงก็ลืมปั้บ
ผู้กำกับก็ผีมือดี แต่ละฉากแต่ละมุม ให้อารมณ์ ตรึงผู้ชมได้ดี แม้แต่ ฉากพัตต์สำคัญที่สุดในชีวิตโปรเม ที่ก้าวสู่ นักกอล์ฟหญิงมือหนึ่งของโลก รู้ทั้งรู้ผลแล้วนะ ยังอดลุ้น มือหงิกไม่ได้เลย

มีอันนึกที่รู้สึกคันๆหู ก็คือ เสียงประกอบของ สมเล็ก ศักดิกุล ไม่ใช่เสียงพี่เล็ก ไม่ดีนะครับ ได้ยินก็อมยิ้มแล้ว เพราะชินทั้งเสียงพากษ์เทนนิส ทั้งเล่นหนังไทยสารพัด แต่เหมือนเป็น ส่วนเกินของ ภาพยนตร์ดรามา

เป็นเหมือนวลีที่ใช้กับการฝึกนักกีฬาทั้งหลาย ..ต้องทุ่มเทแค่ไหน ถึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่..อะไรปานนั้น
ก็พอดีนึกได้ว่า มีโลโก้ การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นสปอนเซอร์ด้วย

ก็คงเป็นรายการ “สปอนเซอร์ขอมา” นั่นแหละ เติมๆ อุดมคติ กุญแจแห่งความสำเร็จของการเป็นนักกีฬา ให้หน่อย เดี๋ยวออกจากโรง ก็ไปฉายสู่ระบบสื่อสาธารณะ ในโทรทัศน์ ในอินเทอร์เน็ต ให้เด็กๆได้ดูกัน ก็จะได้เข้าหลักเกณฑ์..ส่งเสริมการกีฬา
โปรดิวเซอร์ ก็เลยทำให้ แม้จะเป็น “ติ่ง”ไปหน่อย ก็ไม่ว่ากัน

ผมว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ดี น่าจะพออกมาเป็นที่พอใจของโปรดิวเซอร์ ที่อยากทำผลงานหนังไทยที่แหกตลาดดูบ้าง อาจขาดทุนกับรายได้ฉายตามโรงภาพยนตร์ ( ขนาดเข้าโรงยังมีต่อรอบค่ำ รอบที่ผมไปดู นับหัวคนดูได้เลย)

แต่ถือว่า เป็น “ก้าวกระโดด” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวหนึ่ง ที่อาจสามารถ ออกขายอินเตอร์ได้ ด้วยเนื้อหาความเข้มข้น บนพื้นฐานของกอล์ฟอาชีพ โดยเฉพาะ on true story ของ โปร เม เอรียา จุฑานุกาล ที่โลกกอล์ฟย่อมรู้จัก ตลาดภาพยนตร์ เกาหลีซื้อ ญี่ปุ่นซื้อ หรือยาวไปถึง สหรัฐอเมริกาได้..ก็รวยเลย

ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน หรือ ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกตัวเองเล่นกอล์ฟตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ พาลูกหลานไปดูได้ครับ เพื่อสนุกกับภาพยนตร์ เพื่อมีแรงบันดาลใจ เข้มแข็งมากขึ้นเวลาแข่งขันกอล์ฟ

พ่อแม่เองก็ไปดูเอาเถอะว่า สามารถบ้าได้เท่ากับครอบครัวนี้หรือไม่ ในการทุ่มเทส่งลูกสาวให้ตะกายถึงดวงดาว?
มีครับ มีพ่อแม่หลายคน ที่ตะกายส่งลูกในลักษณะนี้ ทุ่มเทเงินเป็นแสนเป็นบ้าน หลายล้าน..แต่ลูกไม่ไปถึงดวงดาว

จำได้ไหม อารี นารี วงศ์ลือเกียรติ พี่น้องลูกครึ่งเกาหลี นักกอล์ฟรุ่นพี่ โปรโม โปรเม หลายปี พ่อทุ่มเทสุดๆ ฝึกลูกไม่ต่างกับครอบครัวจุฑานุกาล (บางทีพ่อโปรเม จะเอาแบบโหดสไตล์เกาหลีมาใช้ตามก็ได้) โดดเด่นมากในช่วงเป็นนักกอล์ฟเด็ก

พ่อมองการไกล ขายบ้านขายธุรกิจที่เชียงใหม่ ยกครอบครัวกลับเกาหลี เปลี่ยนสัญชาติลูกเป็นเกาหลีล้วน อารี นารี ซง เพื่อทุ่มเทกับการเป็นโปรกอล์ฟหญิงสไตล์เกาหลี…แต่ก็เงียบหาย ไปไม่ถึงดวงดาว ได้ข่าวว่า ต่างเป็นแม่บ้านธรรมดาๆ ไปแล้ว

ผมทิ้งไว้ 10% ที่ไม่มีในภาพยนตร์ หากเป็น 10% ที่เป็น ครีม “หัวใจแห่งความสำเร็จ”ในชีวิตจริงของโปรเม คือการดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่อง mentally ในช่วงเปราะบางที่สุดของชีวิตเด็กสาวของโปรเมกับครอบครัวของเธอ ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่เสมือน “ปิดทองหลังพระ”

ไม่มีตรงนี้ โปรเมไปไม่ถึงดวงดาว แน่นอน
แต่ตรงนี้ ไม่มีในสคริปส์ภาพยนตร์ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะ นี่เป็นภาพยนต์ดรามา ไม่ใช่ภาพยนตร์อัตตชีวิต

ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีพ่อแบบพ่อโปรเมเยอะแยะ..เพียงแต่ เงียบหายไปตามประสาผู้ทำงานล้มเหลว..ไม่ถึงดวงดาว
ความสำเร็จ เป็นเครื่องพิสูจน์ …แต่ก็เพียงเส้นบางๆ ที่แยกระหว่าง ความบ้าหรือ อัจฉริยะ

ยอดทอง