Interview

ธงชัย ศิริธร

ธงชัย ศิริธร
ผู้อำนวยการ กิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร
บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
“คิดให้ใหญ่ ทำให้ได้”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ผมมีความตั้งใจมากๆ ที่จะเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร รู้แต่ว่า ตัวเองชอบมากๆ ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้เลือกสถาบันอื่นเลย พื้นเพคุณปู่เป็นนักกฎหมาย คุณลุงก็เป็นนักกฎหมาย คุณพ่อเองก็อยากให้เรียนทางด้านกฎหมาย แต่ด้วยความที่ผมเองมีความเชื่อว่า ทุกคนอาจจะต้องถูกกำหนดมาแล้ว ว่าใครจะต้องเป็นอะไร หรือต้องทำอะไร

ชอบศิลปะ : สมัยก่อน ผมสามารถเขียนรูป เขียนภาพเหมือนได้เอง ทั้งที่อยู่ต่างจังหวัด ด้วยความชอบและสนใจ ตอนเด็กๆ โรงเรียนจะอยู่ใกล้กับโรงหนัง จะมีคนมาเขียนคัทเอ้าท์อยู่ใกล้ๆ ช่วงพักกลางวันก็จะไปยืนดูเขาเขียนรูป เหมือนครูพักลักจำ แล้วฝึกฝนจนตัวเองก็คิดว่าทำได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นคือความชื่นชอบ พอถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าต้องเรียนอะไร สมัยก่อนยังไม่กว้างเหมือนปัจจุบัน คุณพ่อก็ถามว่าอยากจะเรียนอะไร ก็ตอบไปว่าอยากเรียนทางด้านศิลปะ ท่านก็ถามกลับมาว่า แล้วโตขึ้นจะไปทำอะไร จะมาเขียนรูปคัทเอ้าท์โรงหนังหรือ นั่นทำผมให้ฉุกคิดว่า อาชีพนี้คงจะแคบไปหน่อย

เข้ามหาวิทยาลัย : สุดท้ายก็เลือกสอบทางด้านกฎหมายเป็นหลัก แล้วก็เลือกโฆษณาประชาสัมพันธ์ พ่วงเข้าไปด้วย เพราะคิดว่า นี่ก็คือศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่บังเอิญผมสอบเข้าเรียนในคณะวารสารศาสตร์ได้พอดี นับว่าถูกใจผมมาก ทางคุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร ถือว่าเราสอบเข้าได้ในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจก็ให้เรียนด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ นับว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเช่นกัน ถึงจะเป็นโมเดิร์นอาร์ท ไม่ใช่ไฟน์อาร์ท เป็นเรื่องของครีเอทีฟ ความคิดสร้างสรรค์ และด้านการสื่อสาร

ทำงานครั้งแรก : พอเรียนจบเริ่มทำงานเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสยามกลการมิวสิคฟาวน์เดชั่น จนเริ่มรู้สึกว่า เราไม่ได้ชอบเรื่องการประชาสัมพันธ์ อยากจะไปทางด้านโฆษณามากกว่า ช่วงนั้นงานสาขานี้กำลังเริ่มบูม แต่ข้อจำกัดคือ บริษัทโฆษณาในสมัยก่อน ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติทั้งนั้น และยากที่จะรับเด็กจบใหม่ๆ เข้ามา แต่ผมก็มีความตั้งใจ มุ่งเข็มว่าจะเลือกเดินทางนี้ ก็สมัครงานในบริษัทโฆษณาของคนไทย จากกลุ่มคนที่เคยอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ของต่างชาติ ได้มารวมตัวกัน โดยมีคุณพิชัย วาสนาส่ง เป็นประธานฯ ชื่อบริษัท ไทยอิมเมจ แอดเวอร์ไทซิง จำกัด ขึ้นมา ผมก็ไปสมัครที่นั่น

เลือกอนาคต : ระหว่างที่ทำงานโฆษณาอยู่ในบริษัทเล็กๆ คุณพ่อซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารที่พัทลุง ได้แนะนำว่า ไปทำงานธนาคารมั้ย ไปอยู่ด้านพัฒนาธุรกิจ เพราะเราจบโฆษณาประชาสัมพันธ์ น่าจะไปได้ดี แล้วผมก็ไปสัมภาษณ์งานธนาคารด้วย ช่วงเดียวกับสัมภาษณ์งานบริษัทโฆษณา สุดท้ายผลปรากฏว่า งานที่สมัครทั้งสองแห่งนั้น ได้ทั้งคู่ ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรดี ในที่สุดก็เลือกอยู่ที่บริษัทโฆษณา

ทำงานโฆษณาเต็มตัว : งานแรกที่รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าคือ โค้ก เมื่อประธานบริษัทโคคา-โคล่า มาเยือนเมืองไทย บริษัทไทยอิมเมจฯ ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ ก็เริ่มเข้าไปช่วยงานตั้งแต่จุดนั้น

ร่วมงานกับ โคคา-โคลา : ทำงานอยู่ได้ราว 5 ปี ผู้บริหารของ บริษัทโคคา-โคล่า เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น ในสมัยนั้น ได้ชวนให้มาทำงานด้วย ผมจึงลาออกจากเอเจนซี่แล้วมาร่วมงานกับโค้กตั้งแต่บัดนั้น ทำอยู่ได้ ราว 3 ปี ดูแลเกี่ยวกับ ตลาดบ้านดื่ม (Home Market) สร้างพฤติกรรมในเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มในครอบครัวให้เกิดขึ้น ดูแลซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอนเวนเนี่ยนสโตร์ ปั้มน้ำมัน ซึ่งยังไม่เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เราไปเริ่มสร้างตลาดตรงนั้นกันขึ้นมา แล้วต่อมาคุณพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการบริษัทไทยน้ำทิพย์ ก็ชวนมาทำงานด้วย เส้นทางการทำงานจึงผูกพันกับโค้กมาตลอด ช่วงที่ทำงานบริษัทเอเจนซี่ ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับโค้ก ไทยน้ำทิพย์ ทำงานใกล้ชิดกัน จนบางครั้งคนก็คิดกันเองว่าเราคงอยู่บริษัทโค้ก หรือไทยน้ำทิพย์ ไม่มีใครคิดว่าอยู่เอเจนซี่ เพราะกลมกลืนมาตั้งแต่เริ่ม แล้วพอวันที่ได้เข้ามาอยู่ไทยน้ำทิพย์จริงๆ ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเราเพิ่งเข้ามาทำงาน เพราะเห็นหน้าคุ้นเคยกันมานานแล้ว โดย โคคา-โคล่าเอ็กซ์ปอร์ต เป็นตัวแทนของโคคา-โคล่าคอมพานี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่เข้ามาตั้งในประเทศไทยเพื่อดูแลทั้งหมด ส่วนไทยน้ำทิพย์คือผู้ผลิต บรรจุขวด จัดจำหน่าย ผมโชคดีที่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมด จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ร่วม 30 ปีแล้ว

Think Gobal Act Local : โคคา โคล่า มีเรื่องโนว์ฮาว มีความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลายจากทั่วโลก ขณะที่เราเป็นบริษัทคนไทย มีความใกล้ชิด ผูกพันกับผู้บริโภคที่เป็นคนไทย สามารถเข้าใจบริบทของความเป็นไทย เราจะทำอย่างไรเพื่อประสาน ทั้งสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน โดยใช้หลักการ Think Gobal Act Local เพื่อทำให้เกิดความกลมกลืนของแบรนด์กับคนไทย ไทยน้ำทิพย์มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า ต้องการเป็นผู้นำ ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่ได้รับการยกย่องในสังคมไทย ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างที่ทำ จะมองนอกเหนือจากการทำธุรกิจ มองในเรื่องของสังคมที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะเราเชื่อว่า ถ้าสังคมอยู่ได้ ธุรกิจเราก็อยู่ได้ เราจึงทำกิจกรรมเพื่อสังคมค่อนข้างเยอะ ทำมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนได้รับการยอมรับ เป้าประสงค์ของเราก็คือ บริษัทของคนไทยที่ได้รับการยกย่องในสังคมจริงๆ

คิดอะไรก็ได้ทำ : โชคดีที่ผู้ใหญ่ให้ความสนับสนุน ให้โอกาส คิดอะไร อยากทำอะไร ก็ได้ทำ เรื่องเงิน เรื่องงบประมาณ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะมาตีกรอบความคิดได้เลย ทำให้ได้ทำอะไรหลายอย่างมากมาย บางอย่างทำแล้วเหมือนเป็นการเริ่มต้นให้กับธุรกิจในประเทศไทย

THIPS : เมื่อผู้ใหญ่เห็นว่าเรามีประสบการณ์ มีสามารถทางด้านโฆษณา ก็ถูกดึงเข้ามาดูแลด้าน กิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร ของบริษัท เพื่อนำการสื่อสาร มาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนในองค์กร โจทย์ของเราคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของพนักงาน และเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน ให้พัฒนาศักยภาพทันกับเทคโนโลยี ในขณะที่พนักงานทำงานกันมายาวนาน จะต้องปรับตัวกันยังไงตัวเพื่อให้อยู่รอด ของบริษัทและของตัวพนักงานเอง บริษัทได้นำกระบวนการการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวทั่วโลกคือ Coke One นำมาปฏิบัติภายใต้ SAP เป็นเครื่องมือในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โจทย์ของเราคือ เมื่อเอ่ยถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทุกคนรู้สึกติดลบ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนความคิดและทัศนคติเสียใหม่ เราจึงสร้างโปรดักส์ตัวใหม่ขึ้นมา เรียกว่า THIPS (ThaiNamthip Highly Integrated Process System) ซึ่งคำนี้ พ้องเสียงกับคำในภาษาไทยว่า ทิพย์ ซึ่งมีความหมายดีมากๆ อีกด้วย เป็นการนำกระบวนการทั้งหมดมารวมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นำสิ่งนี้มาช่วยพวกเรา THIPS ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เราได้รับความร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายไอที ฝ่ายบุคคล ฝ่ายขาย ฝ่ายการผลิต พนักงานทั้งหมดมีส่วนช่วยให้ THIPS ประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้

ฟุตบอล : ผมถนัดเล่นกีฬาที่ใช้เท้ามากกว่าใช้มือ ฟุตบอลจึงเป็นกีฬาหลัก ส่วนใหญ่เล่นตำแหน่งปีกให้กับทีมโรงเรียนตั้งแต่อยู่พัทลุง จนถึงโรงเรียนวัดสุทธิ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ห่างไป เพราะมีความคิดว่า การเรียนต้องมาก่อน เพราะสมัยนั้นเห็นว่าพวกที่เล่นกีฬาเยอะๆ มักจะมีปัญหาเรื่องการเรียน จนเมื่อได้ทำงานแล้วมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับกีฬา ทำให้ได้กลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้ง ได้มีโอกาสเล่นกับอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ ที่เคยเป็นไอดอลของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนในชีวิต ทำให้รู้สึกดี และการเล่นฟุตบอล ยังทำให้เราได้รู้จักกับเพื่อนๆ ได้มีสังคม ผมจึงเล่นฟุตบอลต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

เลิกบุหรี่เพราะกีฬา : สมัยก่อนเคยสูบบุหรี่ พอกลับมาเล่นกีฬา มีวันนึงที่เล่นฟุตบอลเสร็จก็มานั่งคุยกัน เริ่มจุดบุหรี่สูบ จู่ๆ ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เรามาออกกำลังกาย เล่นเสร็จแล้วทำไม่ต้องมานั่งสูบบุหรี่แบบนี้ด้วย และหลังจากนั้นก็ไม่สูบบุหรี่อีกเลย

กอล์ฟ : ผมเคยมีอคติกับกีฬานี้ คิดไม่ออกว่าจะสนุกได้ยังไง จนวันนึงเพื่อนชักชวนกันให้ไปลองหัด ลองซ้อม ความคิดก็เริ่มเปลี่ยน รู้สึกได้ทันทีเลยว่ากอล์ฟไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ มันมีเรื่องให้น่าสนใจเยอะมาก ทั้งท้าทาย และแฝงไปด้วยแง่คิดดีๆ ทำให้เริ่มสนใจกอล์ฟมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เล่นบ่อยเหมือนกับฟุตบอลซึ่งเล่นได้สะดวกกว่า ได้เล่นกอล์ฟแค่ตามโอกาสไม่ค่อยแน่นอน บางช่วงก็บ่อย แค่บางทีก็เว้นยาวเลย

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม : เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เกิดความคิดริเริ่มว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จึงน่าจะมีสมาคม เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์รวม ของการรวมตัว ขับเคลื่อนให้ธุรกิจของเครื่องดื่มเติบโตไปข้างหน้า จึงได้เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2551 และเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนวันนี้ เรามีทั้งสมาชิกสามัญ ที่เป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มต่างๆ โดยตรง และสมาชิกวิสามัญ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่ม

งานเพื่อส่วนรวม : หลังจากที่ผมมารับผิดชอบในเรื่องกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กรแล้ว ก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลในงานของสมาคมฯ ด้วย ปัจจุบันเป็นประธานสายงานพัฒนาศักยภาพของสมาคมฯ หน้าที่หลักคือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกร่วมกัน ให้มีความเข้มแข็ง มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา การไปศึกษาดูงาน หรือกิจกรรมด้านกีฬา ก็มี โบว์ลิ่ง, กอล์ฟ ซึ่งเมื่อสมาคมฯ ครบรอบ 10 ก็มีความคิดที่จะจัดกอล์ฟเพื่อให้ผู้บริหารได้มาเจอกัน และหลังเสร็จงานเสียงตอบรับก็กลับมาดี อยากให้จัดอีก จึงที่มาของ TBA Friendship Golf 2019

คิดให้ใหญ่ : ผมสอนน้องๆ เสมอว่า เวลาเราทำงาน ต้องคิดให้ใหญ่ แล้วทำให้ได้ ความหมายคือ ทำอย่างไรให้บริษัทเติบโต ไม่ได้คิดให้ตัวเองใหญ่โต ในหน้าที่การงาน เราคิดเพื่อบริษัท ทำเพื่อส่วนรวม

ทำงานเป็นทีม : ในทุกๆ เรื่อง คน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ เราจะทำอย่างไรให้สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อทุกคนจะได้ทำงานด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ทำงานเพียงแค่ตามหน้าที่ ผมจึงมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม แต่ละคน แต่ละหน้าที่ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทดแทนกันได้

ตัวตนที่แท้จริง : ผมมองโลกในแง่ดีเสมอ เป็นมิตร สามารถเข้ากับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่สิ่งสำคัญ เราต้องสร้างความ Trust ให้เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เรามีความรู้ความสามารถที่ทุกคนยอมรับได้ สามารถให้คำแนะนำปรึกษากับเพื่อนๆ ผู้ร่วมงาน น้องๆ ทุกๆ คนได้ ที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนกับทุกๆ คน เหมือนเป็นการสร้างบารมีให้กับตัวเอง ไปที่ไหนทุกๆ คนก็ใกล้ชิดกับเราได้ อย่างผมเอง ทุกคนจะเรียกว่า พี่ตุ้ม ซึ่งมีความรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าที่จะให้เรียกโดยตำแหน่ง และยังชอบคลุกคลีกับพนักงานโดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ รู้สึกว่าทุกคนมีความจริงใจ ถ้าเราซื้อใจเขาได้ เราก็ได้ทุกอย่าง ไปไหนมาไหน ทุกคนทักทายกันด้วยความเป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนเป็นญาติ

ทำงานให้มีความสุข : ตลอดทั้งสัปดาห์ เราอยู่ที่ทำงาน 5 วัน ถ้าเราไม่มีความสุขเลย แล้วชีวิตเราจะมีความสุขได้อย่างไร เราต้องอยู่ด้วยกัน ทำงานเป็นทีม ที่สำคัญคือ ทุกคนต้องมีความสุข แล้วไม่ว่าจะต้องทำงานหนักแค่ไหน ทุกคนก็จะเต็มใจให้ความช่วยเหลือกัน เมื่อทุกคนมีความสุข แล้วเราก็ย่อมมีความสุขไปด้วยครับ