อมยิ้มริมกรีน

คนเกษียณ อายุมุ่งเจ็ดสิบ..อ่านหน่อย

ขออนุญาตเขียนให้ แฟนคอลัมน์วัยหกสิบอัพ เกษียณแล้วอ่านนะครับ แต่หนุ่มสาวที่มีบุพการีอายุมากแล้ว อ่านด้วยก็ได้สารประโยชน์เช่นกัน
เป็นเรื่อง มรณังนุสติ การเตรียมตัวเพื่อวันจากไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะของตัวเองหรือ ขอพ่อแม่บุพการี
คือ ผมได้อ่าน หนังสือแจกฟรี a-day เขารวบรวม แนวคิดของบุคคลหลายคน ต่างอาชีพ ต่างวาระ ที่ “เข้าใจความตาย” มากที่สุด ถ้าเข้าใจ เตรียมตัวกับมันไว้ ก็จะส่งชีวิตวันสุดท้ายอย่างราบรื่นที่สุด
โอเคเลยครับ เลยเก็บมาขมวดเล่าอีกที

เรื่องความตายนั้น เรามักจะไม่พูดกันอย่างเปิดอกและเข้าใจ กลายเป็นการปล่อยไปตามยถากรรม ทั้งที่ถ้า พูดกันในวาระเหมาะสมกับเวลา ก็จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นกับทุกคนในครอบครัว
การใช้ชีวิตใน ปรัชญาของผม เป็นพวกสุขนิยม ต้อง enjoy life เกิดมาต้องเสพสุข สนุกสนาน ใช้ชีวิตที่เราพึงใจ
เป้าหมายไม่ใช่ ดูแลสุขภาพเคร่งครัด ตั้งแต่หนุ่มๆ เพื่อจะได้ไร้โรคา อายุยืน ด้วยเราก็ไม่รู้อนาคตไกลลิบทั้งชีวิต
เอาแค่ แบ่งพีเรียดอายุชีวิต ตั้งแต่อายุสี่สิบปีเป็นต้นมา เป็นช่วงๆ ช่วงละสิบปี ห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ..เจ็ดสิบอัพ แล้วดูแลแต่ละช่วงนั้นให้ดี โดยไม่ละทิ้งความสนุก ตามวัยชีวิต
พออายุหกสิบอัพ มุ่งไปเจ็ดสิบ ก็ให้รู้ว่า เวลาอยู่น้อยกว่าเวลาที่ผ่านมาแล้ว ทำความเข้าใจกับตัวเองและสมาชิกครอบครัวเสียแต่เนิ่นว่า ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ยิ่งเตรียมตัวไว้ ก็ยิ่งสบาย

การเตรียมตัวสู่ปัจฉิมวัยนั้น ตรงตามหลักพุทธศาสนาเลย คือ ปลง หรือ ทอน สิ่งที่อีนุงตุงนังที่สะสมพอกตัวมา ด้วยที่สุด ร่างแท้ๆยังเอาไปไม่ได้
ไม่ต้องเข้าวัด ปรึกษาพระ ตัวเองนี่แหละครับ ค่อยๆ “ทอน”ไป
ใกล้เจ็ดสิบ มองรอบตัวเลยว่า ตัวเองมีสมบัติอะไรหนักหนา อะไรที่ควรทิ้ง บริจาค อะไรที่จะให้ลูกหลาน (เขาต้องอยากได้ด้วยนะ ไม่ใช่ยัดเยียดเป็นภาระ) และอะไรที่เป็น”ของรัก”อยากเก็บไว้ดูก่อน
อย่าโลภ ..กูชอบกูรักหมด..รุงรังอย่างไร ก็ให้เป็นอย่างนั้น เพราะ กูยังไม่ตาย..อันนี้ไม่เกลากิเลสครับ
เมื่อคุณ “ทอน” ค่อยๆเลาะสิ่งรุงรังเป็นแล้ว คุณจะทำเรื่อยๆ ด้วยรู้สึกโล่ง อะไรที่แบกในชีวิตก็เบาลง

อันนี้ เขาแนะนำดีครับ เช่น เรามักเก็บภาพในอดีตเป็นอัลบั้มๆในช่วงต่างๆของชีวิต เกษียณแล้ว เอามาพลิกดูก็มีความสุข ถอนใจ..วันเวลาช่างผ่านไปเร็วจริง
จัดหมวดหมู่ให้ดี แล้ว”เซฟ”เป็นระบบดิจิทัล ใส่แท่งทัมป์ไดรฟ์ ไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องยกลังอัลบั้มเขลอะฝุ่นไปรกบ้านลูกหรอกครับ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว
เมื่อรู้จักทอนสิ่งรกรุงรังของชีวิตแล้ว บทเรียนต่อไป ก็คือ การ”มองข้ามช๊อต” แก่ชรามากไปกว่านี้ ไม่พ้นวันที่ต้องล้มป่วย ตามวัฏวงสาร
อยู่ๆหัวใจวายไปเลย ก็ถือว่าเป็นปลายทางที่มีบุญ แต่หากเป็นโรคเจ้าเวรนายกรรม เจ็บปวดทรมาน ตายไม่เร็ว อันต้องเข้าโรงพยาบาล รักษาตัว ใช้เงินเป็นแสนเป็นล้านบาท ก็ต้องมีโจทย์ถามตัวเอง

มีเงินตระเตรียมด้วยตัวเอง หรือเป็นภาระลูกหลานแค่ไหน?
มีเงินเท่าไหร่ ก็จ่ายกันไปเป็นแสนเป็นล้าน จ่ายไปเพียงฉากหนึ่งของชีวิต ที่ไม่เหลืออะไรเลย
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรถามตัวเองให้ถ่องแท้ว่า “จุดอันสมควรแห่งชีวิต “ของตนนั้น อยู่ที่จุดใด
คำตอบที่ดีที่สุดคือ คนเราต้องตาย ขอเพียงให้ ไปสบาย ราบรื่น ไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน..อันสามารถที่เรากำหนดได้

อย่ารู้คนเดียว ตั้งใจคนเดียว ต้องเป็นการรับรู้ของสมาชิกในครอบครัวด้วย
ในทางกฎหมาย สามารถทำพินัยกรรมไว้ได้ เพื่อความสบายใจของผู้ที่ยังอยู่ เช่น หากหมดสติไป ไม่ฟื้น อย่ายื้อชีวิต อย่าสอดท่อสายประวิงชีวิตใดๆ โรคที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดทวีมากขึ้น ก็อย่าให้เจ็บปวด ด้วยต้องการ..ไปสงบและสบาย
คนที่อยู่ข้างหลัง ก็ไม่ต้องพะวักพะวง ลูกไม่ติดค้างว่า ต้องยื้อชีวิตพ่อแม่สุดสุดชีวิต ให้เป็นภาระรับผิดชอบของแพทย์และโรงพยาบาลไป
แพทย์เองก็ไม่ต้องเจอคำตำหนิกล่าวโทษจากลูกหลานว่า แพทย์ไร้ความสามารถ ไม่รักษาเต็มที่ เพื่อคงชีวิตคนไข้

ถ้ามีพินัยกรรมชัดเจนที่เป็นเจตนาของผู้ป่วย จะทำให้ทุกอย่างเปิดใจง่ายขึ้น แพทย์รักษาและวิสัญญีแพทย์ จะให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดกับลูกหลานเจ้าของไข้ได้
คนเรายุคนี้ เป็นมะเร็งกันมาก เป็นระยะแรก สามารถรักษาบำบัดให้ดีขึ้น หายได้ ก็ถือว่าดีต่อชีวิต
แต่ที่เป็นระยะสุดท้าย ความตายอยู่เบื้องหน้า นอนโรงพยาบาล พบพานทั้งการรักษา “อัดยาแรง”ราคาแพงมหาศาล ต่อสายระโยงยาง ยื้อชีวิต ทั้งเจ็บปวดทรมานในช่วงสุดท้ายที่ร่างกายแตกสลาย
ลูกหลานไม่ยอมปล่อยบุพการี ด้วยแรงกตัญญู โดยไม่เคยถาม คนป่วยเลยว่า..ต้องการอย่างไร?

แพทย์ท่านหนึ่งที่รักษาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายมาตลอด เล่าว่า..ยามที่ยังมีสติดี คนไข้ทุกคน บอก อยากกลับบ้าน หากจะตายก็ขอตายที่บ้าน บนเตียงตัวเอง ไม่อยากตายในโรงพยาบาล สภาพมีสายระโยงระยางอะไรติดตัว
บางคนบอก..อยากไปเที่ยว อยากเห็นหน้าลูกหลานพร้อมหน้าพร้อมตากัน
อากงรายหนึ่ง ทุรนทุรายทุกคืนในโรงพยาบาล หมดสติบอกไม่ได้ แต่กราฟมันบอก
หมอแนะนำให้ ลูกหลานพากลับบ้าน
ลูกหลาน พาอากงไปนอนที่ห้อง เปิดเทปเพลงสวดจีนที่อากงชอบ
ลูกหลานทุกคน ห้อมล้อมรอบๆอากง อาม่าเอนตัวบนเตียงใกล้ๆ ลูกๆติดชิดเตียง จับมือจับตัวอากง หลานรุ่นเล็กสุดนั่งเล่นด้วยกันที่พื้นห้อง..อากงจากไปโดยสงบ
ทุกคนในห้องเสียใจก็จริง แต่มีความสุขอุ่นๆในหัวใจ เพราะอากงไปด้วยรอยยิ้ม
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดี ทั้งสำหรับคนไข้และลูกหลาน

คำว่า “กลับบ้านเก่า” ที่หมายถึง ตาย นั้น มีความหมายถึง ความต้องการแรงปรารถนาของผู้ตาย คือ..อยากกลับไปตายที่บ้าน เพียงแต่ ยามนั้นจะบอกได้หรือบอกไม่ได้เท่านั้น
จะมีก็แต่ลูกหลาน “ไม่ให้ไปตายที่บ้าน” ต่างหาก
สาเหตุหนึ่งที่เบสิกมากๆ แต่มีเหตุผลคือ
กลัวผี มีคนตายที่บ้าน
กับเป็นความยุ่งยากโดยใช่เหตุ อยู่โรงพยาบาลก็ดีแล้ว ก็เป็น one stop เบ็ดเสร็จ
ตายไปก็ฉีดยาศพ ทำเรื่อง แล้วไปวัดเลย แต่ถ้าเอากลับบ้าน ก็เป็นความทุลักทุเล เป็นความยุ่งยากโดยใช่เหตุ เพื่อนบ้านตื่นตระหนก เด็กๆกลัว ครั้นตาย ก็ยังต้องกลับไปฉีดยาทำศพที่โรงพยาบาลอยู่ดี
ตรงนี้อยู่ที่ ทัศนคติลูกหลาน ว่า อยากทำอะไรให้บุพการีเป็นครั้งสุดท้ายน่ะครับ
ถ้าทำได้ ท่านอยากตายที่บ้าน ก็ทำให้ ถือว่าเป็นการส่งพ่อแม่ไปอย่างมีความสุขเช่นนี้..ก็นับว่า ทำดีที่สุด กตัญญูที่สุดแล้ว
หากทำไม่ได้ ก็ขอให้ใกล้เคียง

ผมยังนึกไอเดีย นำเสนอโรงพยาบาลใหญ่ๆเลยว่า ควรมีบริการในส่วนนี้
แค่จัดห้องโล่งๆ ทาสีขาวทั้งหมด แอร์เย็นๆไว้สักห้องหนึ่ง จะเรียกว่าห้อง “กลับบ้านเก่า”ก็ได้
อนุญาตให้ลูกหลาน นำสิ่งของมาตกแต่งให้บรรยากาศเหมือนที่บ้าน สีเขียวของต้นไม้ เสียงเพลงเพลงที่ชอบ
ให้เป็นห้องส่งผู้ป่วย ถอดสายช่วยชีวิตทั้งปวงให้นอนพักห้องนั้นสองสามคืน แทนที่จะ “เอาเป็นเอาตาย”กับการรักษาในเฮือกสุดท้าย
มีเวลาให้ลูกหลานมาส่งพร้อมหน้าพร้อมตา แค่นี่ก็ “ดีต่อใจ”ของทุกคนแล้ว

ผมเอง อายุก็มุ่งเจ็ดสิบ ชีวิตสบายแล้ว หมดห่วง ได้ไอเดียจากที่อ่าน ในหลายประการ ทำลิสต์ของที่จะให้ แจกจ่าย มรดก จัดอัลบั้มจากกระดาษเป็นระบบดิจิทัล
วาระของผม ก็เขียนเป็นพินัยกรรมไว้เรียบร้อยแล้ว
ในกรณีที่ไม่รู้ตัว ห้ามยื้อชีวิต ห้ามเจาะห้ามสอดอะไรทั้งสิ้นในร่างกายผม ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
หากสักวัน เกิดพบว่าตัวเองเป็นโรคเจ้ากรรมนายเวร ก็วางแนวทางจะใช้ชีวิตและการรักษาอย่างไร เอาที่สบายๆ ไม่ไปสู้กับมัน ให้เสียเวลาหรอก
ทั้งบริจาคร่างกาย อะไรใช้ได้ เอาไปเลย ถ้าอวัยวะมันแก่ไป ร่างเป็น”อาจารย์ใหญ่”ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้นักศึกษาแพทย์ ก็ยังเป็นประโยชน์ ใช้ให้หมด ก่อนคืนร่างเป็นธุลี

อ่านแล้ว คงได้ไอเดียดีๆนะครับ กับ มรณังนุสติ
ของใคร ก็ดีไซน์กันเองได้ ตามแต่ใจเนาะ

ยอดทอง