Interview

วีร์สุดา จิรา

วีร์สุดา จิรา
ผู้จัดการอาวุโส แผนกสารสนเทศทรัพยากรบุคคล
ฝ่ายการบริหารทรัพยากรบุคคลกลาง
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

“คุณพ่อคุณแม่กังวลตลอดว่าตัวเล็กกว่าเพื่อนในห้อง ดูอ่อนแอมาก แค่คนวิ่งผ่านก็แทบจะปลิวแล้ว”

คุณมีมี่ (วีร์สุดา จิรา) สาวสวยนักไตรกีฬา ท้าวความย้อนไปถึงครั้งเมื่อยังเป็นเด็กตัวจิ๋ว ปนเสียงหัวเราะ

“เป็นเด็กเงียบๆ เรียบร้อย อยู่ในระเบียบค่ะ ทำทุกอย่างตามตาราง มีทั้งดนตรีและกีฬา ทางบ้าน บอกว่า หนูจะต้องได้กีฬา 1 อย่าง และ ศิลปะ 1 อย่าง ให้เลือกเอาว่าจะเป็นชนิดไหน อยากให้แข็งแรงเลยส่งไปเรียนว่ายน้ำ เทนนิส แล้วเด็กวัยแค่ 7 ขวบ ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองจะทำอะไร พาไปทางไหนก็ไปทางนั้น พอได้เรียนเปียโนแล้วรู้สึกว่าไปด้วยกันได้ ปล่อยให้ทำเอง โดยไม่มีการบังคับ ไม่กดดัน ส่วนบัลเลต์ ก็เรียนพร้อมๆ กัน” เธอเล่าถึงสารพัดกิจกรรมที่ต้องทำ เพราะครอบครัวอยากให้เธอแข็งแรง

คุณมีมี่เคยอยากจะเรียนสถาปัตย์ เพราะเป็นสาขาที่รวมทั้งวิทย์และศิลป์เข้าด้วยกัน ตอนเรียน ม.2 ก็เคยลองไปสอบวิทย์สถาปัตย์ ที่เตรียมอุดมฯ พอไม่ได้ก็เลยเปลี่ยน เลือกเรียนศิลป์คำนวณที่ เซนต์โยเซฟคอนเวนต์… “มี่ เลือกแนวกว้างๆ ทั่วไป เพราะต้องการเรียนแบบกลางๆ จะได้ไม่เครียดมาก”

คุณพ่อคุณแม่ เรียนมาทางด้านบริหาร จบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้คุณมีมี่มีความตั้งใจจะตามรอยท่านบ้าง อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็น เด็กเรียนเก่ง พอขึ้น ม.4 ก็สอบเทียบชั้น ม.6 ได้ แล้วยังเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยคณะเดียวกันได้อีก จะเรียกว่าเป็นรุ่นน้องคณะของคุณพ่อคุณแม่ก็ยังได้

“ต้องไปอยู่หอ พ่อแม่เป็นห่วงมาก เพราะไม่เคยห่างกันเลย” แต่ตัวเธอเองนั้นกลับรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกไปผจญภัยในโลกกว้างบ้าง พอได้สัมผัสกับชีวิตเด็กหอ ได้อยู่กับเพื่อนๆ ก็รู้สึกสนุก “ยิ่งเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันรู้ว่าเราเป็นเด็กสอบเทียบ จบแค่ ม.4 แล้วเข้ามหาวิทยาลัยเลย ก็คอยดูแลกัน เป็นห่วงเรามากในฐานะน้องเล็ก คอยดูว่าเราจะเรียนได้มั้ย เพราะบางวิชายังไม่เคยเรียนมาก่อน ก็มาช่วยติว เราก็พยายามปรับตัว ใช้เวลาไม่นานนักก็ไม่เป็นปัญหา เรียนด้วยกันได้ พอเทอมแรกผ่านพ้นไปได้ ก็คิดว่าอยู่ได้สบายแล้วค่ะ”

ช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คุณมีมี่ก็เรียนเปียโนใกล้จะจบพอดี เริ่มไปเป็นครูสอนแล้วด้วย ทำให้ตารางเวลาชีวิตค่อนข้างแน่น ทั้งเรียนที่รังสิต ทั้งสอนและเรียนเปียโน และยังเรียนบัลเลต์ปีสุดท้ายด้วย

“บัลเลต์ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้งานตรงๆ แต่โชคดีมากที่เรียนมา เพราะมีประโยชน์มาก เป็นการสอนสรีระเราทั้งตัว ให้รู้จักกับข้อต่อ แขน ขา ซึ่งเป็นพื้นฐานของกีฬาอื่นๆ อีก ทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นได้ง่าย ครั้งแรกก็ไม่รู้ตัว จนเมื่อได้เทียบตัวเองกับเพื่อนๆ แล้วก็มักจะถูกทักว่า …ก็เพราะเธอเรียนบัลเลต์มาถึงทำได้… ซึ่งก็ช่วยได้จริงๆ ค่ะ”

ครูมีมี่รักการสอน “อยากสอนมากค่ะ” ตั้งแต่เด็กๆ ฝันอยากเป็นครูตลอด ชอบเล่นสอนหนังสือ ถึงขนาดต้องไปตามเด็กๆ ลูกพี่ลูกน้องมาเล่นเรียนหนังสือด้วยกัน แต่บางคนก็ไม่อยากมาเป็นนักเรียนของครูมีมี่ วิธีแก้ปัญหาก็คือ “หาตุ๊กตามาตั้งๆ เรียงกันเป็นนักเรียน แล้วเราก็ทำท่าทางเป็นครู สอนตุ๊กตาไป” เธอเล่าถึงครูมีมี่วัยเด็กด้วยความขำตัวเอง

ส่วนการสอนเปียโนนั้น เธอก็ชอบสอนมาก นักเรียนมีทุกเพศทุกวัย “เราเองก็ต้องแบ่งเวลาให้กับการเรียนของตัวเองด้วย ช่วงไหนใกล้จะสอบแล้วต้องสอนด้วย ก็ต้องแบกตำราของเราไปอ่านเมื่อมีเวลา”

“จริงๆ แอบคิดไว้เหมือนกันว่า ถ้าเรียนจบจะเป็นครูสอนดนตรี เพราะชอบ และดูก้าวหน้าดี เด็กที่สอนก็เก่งขึ้น คนละแวกนั้นก็รู้จัก อยากมาเรียนกับเรามากขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจที่เราทำได้ดี ใจคืออยากสอนเปียโนไปเลย แต่ที่บ้านอยากให้ใช้วิชาที่เรียนมา อยากให้ไปทำงานในบริษัท จึงต้องสมัครงาน ทำงานออฟฟิศ ควบคู่ไปกับการสอนเปียโน”

“ตอนจบ บัญชีบริหาร เอกคอมพิวเตอร์ งานที่ได้มีแต่โปรแกรมเมอร์ ทำอยู่ประมาณ 2 ปีกว่า เขียนระบบให้กับบริษัท งานส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง มีคุยกับผู้ใช้บ้างเพื่อสอบถามข้อมูลที่ต้องการ วันๆ ก็นั่งทำงานกับเครื่องคอมไป ไม่รู้สึกเครียด รู้สึกสนุกดี ได้เรียนรู้ตลอดเวลา”

แต่นั่นทำให้ครูมีมี่ต้องได้สอนเปียโนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ “เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลยค่ะ เราต้องสังเกตตั้งแต่เริ่มว่าบุคลิกเขาเป็นคนอย่างไร จุดมุ่งหมายของเขาคืออะไร เช่นเลือกเรียนสายดนตรีเลย เวลาเรียนจริงจังมาก มีแข่ง มีสอบ ถึงขั้นเข้ามหาวิทยาลัย ถึงจะเครียด แต่ไม่เลิกเรียนแน่นอน เรียนไปร้องไห้ไปก็มี เพราะเขากดดันตัวเอง หน้าที่ของเราคือการสอน และผลักดันให้เขาได้ไปสู่เป้าหมาย มีหลายคนที่เข้ามหาวิทยาลัยด้านเปียโนโดยตรง หรือทำงานสายดนตรี เป็นครูสอน เป็นนักดนตรี”

“รู้สึกว่า อยากสอนเปียโน แต่ตารางชีวิตแน่นมาก จนต้องบอกที่บ้านว่า ขอเรียนต่อปริญญาโท ด้าน MBA Finance ที่ นิด้า แต่มีอีกจุดประสงค์คือ จะได้มาเรียนครูเพื่อการสอนเปียโนโดยเฉพาะด้วย และยังได้อบรมหลักสูตรวิธีสอนดนตรีกับเด็กเล็กๆ อีกด้วย”

ด้วยความรักดนตรี และขวนขวายอยู่ตลอดเวลา ระหว่างเรียนที่นิด้า คุณมีมี่ก็ไปสมัครเรียนดนตรีไทยที่อยู่ใกล้ๆ โดยเลือกเรียน ขิม เพราะอยากรู้ว่าดนตรีไทย ต่างกับดนตรีสากลมากน้อยแค่ไหน ทำให้รู้แนวคิด การฝึกซ้อม มุมมองที่จะสอนคนอื่นได้ อย่างดนตรีไทยโน้ตไม่เหมือนกับสากลทั้งหมด มีบางตัวหายไป แล้วต้องใช้วิธีฝึกซ้อมจนจำได้ขึ้นใจ ไม่เหมือนเปียโนที่ดูโน้ตแล้วเล่นไปเลย เสียงขิมก็ไพเราะมีเอกลักษณ์ ฟังแล้วหวานจับใจ และพอจบปริญญาโท เธอก็มุ่งหน้าสอนเปียโนอย่างเดียวเลย

สอนไปสักพัก เธอก็เริ่มมีอาการป่วย คุณมีมี่ ต้องเผชิญกับ มะเร็งชนิดที่หาได้ยากมาก ว่ากันว่า ในหนึ่งปีจะเจอผู้ป่วยเพียงแค่รายเดียว ยังนับว่าโชคดี ที่ตรวจเจอในช่วงที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ต้องหยุดพักรักษาตัวอยู่ปีเต็มๆ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงาน ออกไปสอนดนตรีข้างนอกได้ ต้องสอนอยู่ที่บ้าน “จนร่างกายค่อยๆ กลับมาแข็งแรง ก็มีคนมาชวนไปทำงานประจำ แต่เราไม่อยากทำ เขาก็อยากให้ทำพาร์ทไทม์ กึ่งๆ ไอที อยู่ในทรัพยากรบุคคล ทำระบบให้กับบริษัท”

ก่อนหน้านี้ ที่จะพบว่าตัวเองป่วยเพราะเจ้ามะเร็งร้าย คุณมีมี่รู้ตัวเองแค่ว่า สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ป่วยทุกเดือน เป็นไข้หวัดตลอด รู้สึกเพลียตลอดเวลา ตอนเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ต้องลาป่วยทุกเดือน เพราะเป็นไข้หวัด แล้วเป็นทีอาการก็หนักกว่าคนอื่น “อาจเป็นเพราะทุกวันอาทิตย์ต้องไปสอนเปียโน เจอคนนั้นคนนี้ เจอเด็กๆ บางครั้งเราก็ไม่ระวังตัวเรื่องสุขอนามัย ก็ติดเชื้อกันได้ ตอนนั้นก็คิดว่าเราไม่แข็งแรงเอง ไม่คิดว่าจะเป็นมะเร็ง”

จากเดิมที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องสุขภาพเลย พอประสบกับวิกฤติสุขภาพ ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

“ช่วยป่วยเริ่มเล่นโยคะ คุณแม่ช่วยแนะนำให้ค่ะ แล้วก็มีรำกระบอง ซึ่งเป็นการออกกำลังกายเบาๆ เหมาะสำหรับผู้สูงวัยและคนป่วย ตอนนั้นยังออกไปไหนไม่ได้ เริ่มแอโรบิคบ้าง เพราะช่วงให้คีโมร่างกายอ่อนเพลียมาก กลับจากโรงพยาบาลก็ต้องพัก พอฟื้นตัวขึ้นมาก็ต้องทำให้สุขภาพแข็งแรง วันไหนพอมีแรงก็ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย”

“ตอนหายแล้ว เริ่มกลับมาทำงานได้เต็มที่ ที่บริษัทก็มีฟิตเนสให้ เริ่มวิ่งบนลู่ แต่ได้ทำแค่นิดเดียวก็หยุด เพราะคนเยอะ จนเริ่มเห็นเพื่อนๆ วิ่งกัน เราก็ไม่รู้ว่าเขาวิ่งไปทำไม ต้องตื่นแต่เช้า แล้วกีฬาเล่นคนเดียวมันไม่สนุก ต้องมีเพื่อนมาชักชวนกัน ทำให้มีเป้าหมาย มี่เลยไปสมัครวิ่งแข่ง พอสมัครวิ่ง 10 กิโลเมตร ทำให้เรามีการฝึกซ้อม”

“การวิ่ง ไม่ใช่แค่อยากวิ่งแล้วจะทำได้เลยทันที เพราะมันเหนื่อย ต้องมีการฝึกซ้อมกันก่อน จนกระทั่งได้ระดับนึงก่อน ถึงจะทำได้ พยายามอยู่ราว 1 เดือน ก็เริ่มทำระยะได้ ตื่นตีห้าไปซ้อมที่สวนหลวง ร.9 ที่บ้านก็งง สงสัยว่าไปทำอะไร ไปกับใคร ไปคนเดียวก็ไป ไปซ้อมตั้งแต่เช้ามืดก่อน แล้วกลับมาอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน”

“เริ่มไปใหม่ๆ ก็งงว่า ทำไมคนมาวิ่งกันเยอะ เราว่าตื่นเช้าแล้ว แต่คนอื่นตื่นเช้ากว่าเราอีก ไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกันว่า มีผู้นิยมการออกกำลังกายกันมากถึงขนาดนี้”

เมื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำได้แล้ว เธอก็อยากหาอะไรที่ถนัด นั่นคือ ว่ายน้ำ “เราน่าจะได้เปรียบกว่าคนอื่น เลยไปดูว่าจะทำอะไรดี ว่ายน้ำอย่างเดียวมันไม่มี มีแต่ไตรกีฬา ลงไตรกีฬาไปเลยละกัน ก็ไปหาซื้อจักรยานมาหัดขี่ ซ้อม และไปเข้าเรียนรู้วิธีแข่งขัน ทำเวิร์คช้อปไตรกีฬาสำหรับผู้หญิง มีการแนะนำ การเตรียมตัว คิดว่าต้องลองลงรายการดู ไม่งั้นคงไม่มีวันเข้าใจ พอสมัครก็เครียด คิดว่า นี่เราทำอะไรลงไป ใกล้จะถึงวันแข่งแล้วก็ยังขี่จักรยานไม่คล่อง ต้องตื่นแต่เช้าไปซ้อม ยิ่งช่วงหน้าฝนด้วย ยิ่งขี่ยาก แต่เราต้องขับให้ได้

“วันแข่งจริงตื่นเต้นมาก เหมือนอยู่อีกโลกนึงเลย เพราะเราไม่เคยอยู่ในวงการแบบนี้ ต้องอ่านคู่มือให้ละเอียด เป็นรายการ Tri Dash ระยะทางสั้นๆ อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ว่ายน้ำในสระ 400 เมตร ปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร วิ่ง 5 กิโลเมตร แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้ว แต่ก็ทำได้ เพราะไม่ได้เร่งตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ ไม่กดดันอะไร ขอแค่ทำให้ครบ จบได้ก็พอ”

“หลังจากนั้นก็เล่นอีกเป็นสิบรายการ เคยมีโหดที่สุดก็ที่กระบี่และพัทยา เพราะเป็นรายการระยะมาตรฐาน ว่ายน้ำ 1,500 เมตร ในทะเล สนุกมาก ไม่น่ากลัวเหมือนอย่างที่คิด

“ปั่นจักรยาน 40 กิโลฯ วิ่ง 10 กิโลฯ ก่อนลงแข่งบางรายการ อาจจะเครียด คิดว่าไม่น่าจะลงเลย แต่พอถึงเวลาแข่ง ลงไปแล้วก็ต้องทำต่อให้จบ ระหว่างนั้นก็สนุก จะเหนื่อยก็ตอนวิ่งช่วงสุดท้าย จนคิดว่าน่าจะลงระยะสั้นกว่านี้หน่อย แต่พอเข้าเส้นชัยได้ก็มีความสุข รู้สึกว่าเราก็ทำได้ บางรายการระยะสั้นก็เคยได้รับรางวัลด้วย”

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพของคุณมีมี่ก็คือ

“นอนเร็วกว่าเดิมเยอะ พยายามจะพักผ่อนให้เพียงพอ ตั้งเป้าเข้านอนไม่เกินสี่ทุ่ม แล้วก็พยายามไปออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ถ้าอาทิตย์ไหนไม่ได้ทำก็จะรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไป อย่างน้อยต้องมีกิจกรรมด้านกีฬา ออกกำลังกาย 3-4 วัน พยายามไม่เครียด คิดอะไรที่ไม่ทำร้ายตัวเอง ปล่อยวางบ้าง เมื่อเจอกับปัญหา จะพยายามจัดการให้จบโดยเร็วที่สุด ดีที่สุด เผชิญหน้าให้จบไป เพราะถ้าเลี่ยง ยังไงก็ต้องเจอกับปัญหานั้นอีก”

“เราตั้งใจทำงาน พยายามจะให้ไม่เครียด แต่มันก็เป็นไปเอง เพราะตั้งแต่เด็กจะพยายามทำอะไรให้สำเร็จ เรียนให้ได้ สอบให้ได้ เวลาทำงานก็ติดนิสัยนี้ด้วย จดจ่อกับงานที่ทำ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จนบางทีก็อาจจะเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ก็ต้องคอยบอกตัวเองว่า เราอยากทำอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเครียด ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เวลาสอนเด็กนักเรียน นักจากจะสอนในเรื่องดนตรีแล้ว ยังต้องสอนในเรื่องการใช้ชีวิต อย่างเด็กคนไหนที่ดูเครียดเกินไป บางก็ต้องสอนเรื่องทัศนคติด้วย ต้องให้เขารู้จักดูแลสุขภาพจิต ออกกำลังกาย บางครั้งก็ชวนเขาไปด้วยกัน”

ก่อนจบบทสัมภาษณ์ คุณมีมี่ ยังฝากข้อคิดกับการใช้ชีวิตอีกว่า

“ที่ผ่านมาไม่เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพเลย ทำให้สุขภาพตัวเองแย่มาตลอด โดยที่เราก็ไม่หันมามองว่าจะแก้ไขยังไง จนกระทั่งเราป่วย ถึงได้มาดูแลตัวเอง เคยพูดกับหลายๆ คน แม้กระทั่งสอนเด็กว่า เราต้องดูแลตัวเองให้ดี ก่อนที่สุขภาพจะแย่ทรุดโทรมไปแล้วจะกลับมาดีได้ยาก สุขภาพดีต้องทำเอง ไม่สามารถจะไปซื้อหาที่ไหนได้ และยังต้องทำให้ตัวเองมีความสุขทุกวัน ได้ทำอะไรที่อยากทำ ได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารัก มีชีวิตที่พอดีๆ ขอแค่นี้ค่ะ”