What Ever

รู้เท่าทัน โรคหลอดเลือดหัวใจ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตนั้น ถ้าเอ่ยถึงโรค หรืออาการที่เกี่ยวกับ หัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็มักจะเป็นอันเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องวิกฤติ ชี้เป็นชี้ตายได้เสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พัฒนาการทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ก็ช่วยให้มีความเข้าใจถึงกลไกต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค และคิดค้นวิธีการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ นั่นคือ เวลา ที่ทั้งผู้ป่วยและผู้รักษา ต้องมีอย่างพอเพียงและเหมาะสม

โรคหลอดเลือดหัวใจ หนึ่งในโรคยอดฮิต ที่มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า CAD : Coronary Artery Disease) หรือ CHD : Coronary Heart Disease เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน ที่เรียกว่า พลาค (Plaque) เป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือด แข็ง หนา จนช่องในหลอดเลือดตีบแคบลง

เมื่อ พลาค ก่อให้เกิดการอักเสบหรือทำให้ผนังหลอดเลือดบาดเจ็บ ร่างกายจะซ่อมแซมผนังส่วนที่เสียหาย โดยการจับตัวของเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวเป็นก้อน ส่งผลให้ช่องในหลอดเลือดยิ่งตีบแคบลงไปอีก ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย สาเหตุจากการขาดเลือด ซึ่งอาจเกิดได้อย่างเฉียบพลัน และเมื่อรุนแรงจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหัวใจวาย เสียชีวิตได้ทันที นอกจากนั้น หลอดเลือดหัวใจ ยังสามารถบีบหดตัวได้ ดังนั้นเมื่อมีการหดตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้รูท่อหลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้ จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เมื่อเกิดความเครียดสูง หรือ ระหว่างออกกำลังกายอย่างหนัก

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการปวดเค้น คล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก มักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวา บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ อาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย

อาการมักกำเริบเป็นบางครั้งเมื่อออกแรงมากๆ กว่าปกติ มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ จิตใจเคร่งเครียด มีเพศสัมพันธ์ หลังกินข้าวอิ่มจัด สูบบุหรี่ หรือ สัมผัสอากาศเย็นๆ อาการเจ็บหน้าอก มักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาที แต่มักจะไม่เกิน 10-15 นาที ซึ่งอาจบรรเทาลงได้เมื่อพัก หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน) โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นกว่าระดับปกติจากสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว และต้องรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกมาก อาจเจ็บร้าวขึ้น ขากรรไกร ไปยังหัวไหล่ แขน ซ้าย เหนื่อย หายใจขัด นอนราบไม่ได้ ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว เหงื่อออกมาก วิงเวียนจะเป็นลม หรือแม้กระทั่งหยุดหายใจ

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติดี ความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปล๊บๆ เมื่อหายใจเข้าลึกๆ, ไอ หรือ จาม, เจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว, กดถูกแล้วเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อยๆ พอทำกิจกรรมอะไรเพลินแล้วหายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด

การวินิจฉัยโรคนี้ขึ้นอยู่กับการแสดงอาการของผู้ป่วย และความเห็นของแพทย์ ซึ่งมีวิธีต่างๆ มากมาย เช่น การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับเอนไซม์ในหัวใจ ในการตรวจสอบความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ, การเอกซเรย์ทรวงอก ตรวจหาสาเหตุและอาการต่างๆ ที่เกิดบริเวณหัวใจ ปอด และผนังทรวงอก, การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) โดยการฉีดสารทึบแสงเข้าสู่ร่างกาย เพื่อสร้างภาพอวัยวะ และวัดปริมาณแคลเซียมสะสมที่ผนังหลอดเลือด, การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยในการสร้างภาพหัวใจ โดยผู้ป่วยจะนอนหงายบนเครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์และติดตั้งแม่เหล็กโดยรอบ จากนั้นเครื่องสแกนจะสร้างภาพอวัยวะโดยคลื่นแม่เหล็ก

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/Elektrokardiogram: EKG) สามารถวัดระดับ อัตราและความคงที่ของการเต้นหัวใจ ทั้งยังแสดงถึงภาวะหัวใจวายที่เคยเกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น โดยการติดแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode Patch) บนแขน ขา และทรวงอกของผู้ป่วยเพื่อตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ, การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพของหัวใจ เพื่อแสดงความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ โครงสร้างและการสูบฉีดเลือด ซึ่งคล้ายคลึงกับการอัลตราซาวด์ที่ใช้ในการตรวจครรภ์

การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram หรือ Angiography/Cardiac Catheterization) คือการตรวจดูภายในหลอดเลือดหัวใจ โดยการฉีดสีเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจ (Angiogram) ผ่านการสอดท่อยาวขนาดเล็ก (Catheter) บริเวณขาหนีบ แขน หรือคอไปยังหลอดเลือดหัวใจ การฉีดสีจะช่วยสร้างภาพของหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน รวมถึงบ่งบอกถึงความดันโลหิตภายในหัวใจและสมรรถภาพในการสูบฉีดเลือด กระบวนการสวนหลอดเลือดหัวใจมีความปลอดภัย และมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เลือดออกเล็กน้อยหรือมีแผลฟกช้ำบริเวณที่สอดท่อเข้าสู่ร่างกาย แต่ในบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมากหรือไม่เกิน 1% เช่น ภาวะเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายอุดตันจากการหลุดลอยของคราบตะกรันไปอุดตามหลอดเลือดบริเวณต่างๆ

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test: EST) ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อทราบถึงความแข็งแรงของหัวใจขณะสูบฉีดเลือด ทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุการเจ็บหน้าอก ซึ่งมักเป็นผลจากโรคหลอดเลือดหัวใจ บางกรณีแพทย์อาจใช้การอัลตร้าซาวด์ก่อนหรือหลังการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน (Exercise Stress Echocardiogram) หรืออาจใช้ยาเพื่อกระตุ้นหัวใจระหว่างการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring) ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อบันทึกความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย, การทดสอบโดยการกัมมันตรังสี (Radionuclide Tests) คือการฉีดสารกัมมันตรังสีไอโซโทป (Radioactive Isotope) เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อทราบถึงประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดและการไหลเวียนของเลือดไปยังผนังกล้ามเนื้อหัวใจ

ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่ออาการที่ดีขึ้น เช่น การทำบอลลูนหัวใจ โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กที่ขยายตัวได้ สอดผ่านเส้นเลือดใหญ่บริเวณแขนหรือขา ซึ่งมีเครื่องเอ็กซ์เรย์พิเศษช่วยนำทาง เมื่อเข้าไปถึงจุดที่กำหนดแล้ว จะทำการสูบลมให้บอลลูนพองตัวขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ตีบแคบขยายตัวกว้างขึ้นทันที และแพทย์จะสอดขดลวด (Stent) วางไว้ในตำแหน่งที่เกิดการอุดตัน เมื่อขดลวดกางออกจะทำให้เกิดการขยายตัว แล้วยังหน้าที่เป็นโครงให้เส้นเลือดยึดเกาะ และขดลวดนี้อาบด้วยน้ำยาที่มีคุณสมบัติลดอัตราการตีบตัวของเส้นเลือดอีกด้วย

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้กับภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ หรือการทำบอลลูนไม่สามารถช่วยรักษาได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนเพื่อทราบถึงความจำเป็นในการรักษา การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้ปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass: OPCAB) มีจุดประสงค์เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดเอง โดยไม่ต้องใช้ปอดหรือหัวใจเทียม ศัลยแพทย์จะต่อเส้นเลือดใหม่ข้ามผ่านจุดที่มีการอุดตันเดิม จึงทำให้กระแสเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ กระบวนการนี้เป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery) ส่วนใหญ่จึงใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนหลอดเลือดอุดตันมากเท่านั้น

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใช้สำหรับกรณีที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์หลังการผ่าตัดเพื่อตรวจสอบการทำงานของหัวใจและผลข้างเคียง

โรคหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่างๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในเรื่องกิน ออกกำลังกาย และสุขภาพจิต, ดูแลรักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง, กินยาขยายหลอดเลือดหัวใจ, กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด, กินยาลดไขมันในเลือด, อาจขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ และผ่าตัดซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ท่านต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด กินยาต่างๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง จำกัดอาหารไขมันทุกชนิด โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ งดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักส่วนเกิน หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำหรือน้ำตาลน้อย เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน รักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลดความเครียด และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีครับ

ผู้สนใจเข้ารับการตรวจในโปรแกรมป้องกันโรคหลอดเลือดตีบ สามารถสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE โทรศัพท์ 02 123 5000 หรือที่เว็บไซต์ www.ktc.co.th สมัครบัตรเครดิตได้ที่ศูนย์บริการสมาชิก “เคทีซี ทัช” ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือคลิกลิงค์ได้ที่ http://bit.ly/2uPcS19 #สุขไม่จำกัด กับบัตรเคทีซี