What Ever

ในชานม ไข่มุกย่อยได้ แต่ความหวานสิที่น่าห่วง

นอกจากกาแฟสดแล้ว เครื่องดื่มที่มาแรงและเป็นที่นิยมมากตีคู่มาด้วยกันในห้วงเวลานี้ ก็คงหนีไม่พ้น ชานมไข่มุก ที่นอกเหนือจากจะได้ความสดชื่นหอมหวานจาก ชานม หรือเครื่องดื่มอีกหลากหลายชนิดที่มีให้เลือกตามชอบแล้ว ยังมี ไข่มุก หรือ เม็ดแป้ง ให้เคี้ยวหนุบหนับแกล้มเครื่องดื่มกันเพลินๆ อีกด้วย

และด้วยความที่ กำลังเป็นที่นิยม ทำให้อะไรที่พอจะเกี่ยวข้องกับ ชานมไข่มุก ก็มักจะได้รับความสนใจไปด้วย อย่างเช่นล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าว “..เด็กจีนปวดท้อง เอ็กซเรย์พบเม็ดชานมไข่มุกไม่ย่อยเต็มท้อง..” ส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง สร้างความกังวลให้กับผู้ที่ชื่นชอบชานมไข่มุกกันไม่น้อยทีเดียว แต่สุดท้ายทั้งแพทย์และนักวิชาการหลายคนก็ออกมายืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่น่าเป็นความจริง และภาพเอ็กซเรย์ที่หลายคนเห็นแล้วกังวลกัน ก็น่าจะเป็นเพียงแค่อุจจาระที่อัดแน่นเท่านั้น

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายเรื่องกระบวนการย่อยไข่มุกของร่างกายผ่าน เฟสบุกแฟนเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ” ไว้ว่า

“..จริงๆ แล้ว เม็ดไข่มุกนั้น ทำจากแป้งมันสำปะหลัง กวนผสมกับน้ำเชื่อมของน้ำตาลทรายแดง ปรุงแต่งกลิ่นสี แล้วปั้นเป็นเม็ด ก่อนที่จะไปต้มอีกครั้ง (นึกภาพแบบการทำเม็ดบัวลอย) จึงเป็นอาหารที่ย่อยได้ไม่ยากอะไร เพราะร่างกายของคนเราสามารถย่อยแป้งและน้ำตาลได้โดยง่าย

โดยปรกติแล้ว เมื่อเรากินเม็ดไข่มุกซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นแป้งและน้ำตาลเช่นนี้ ปากของเราจะช่วยเคี้ยวให้เม็ดแป้งกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลาย (salivary amylase) จะคลุกเคล้าผสมกับอาหาร และทำการย่อยแป้ง ไปตลอดเส้นทางที่ก้อนอาหารเคลื่อนที่ผ่านหลอดอาหารลงไปจนถึงกระเพาะ ซึ่งแม้ว่าน้ำย่อยที่เป็นกรดรุนแรงของกระเพาะเรา จะหยุดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสไปบ้าง แต่อะไมเลสที่ซึมอยู่ในก้อนอาหารนั้นแล้วก็จะทำงานย่อยแป้งต่อไป

จากนั้น เมื่ออาหารที่ย่อยที่กระเพาะส่วนนึงแล้ว เคลื่อนที่ต่อไปที่ลำไส้เล็ก กระบวนการย่อยแป้งก็จะทำงานอย่างเต็มที่ในบริเวณลำไส้เล็กนี้ โดยผนังลำไส้เล็กจะปล่อยเอนไซม์เด็กซตรินเนส (dextrinase) และกลูโคอะไมเลส (glucoamylase) มาย่อยแป้งและโพลีซัคคาไรด์ (polysaccharide) ให้กลายเป็นโอลิโกซัคคาไรด์ (oligosaccharide) จากนั้นเอนไซม์อะไมเลสจากตับอ่อน (pancreatic amylase) และเอนไซม์อื่นๆ จากตับอ่อน (pancreas) จะย่อยโอลิโกซัคคาไรด์ต่อไป จนสุดท้ายได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ก่อนที่ลำไส้เล็กจะดูดซึมไปใช้งานในร่างกาย

แต่อย่างไรเสีย เวลากินชานมไข่มุกนั้น ก็ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนครับ เคยเห็นมีเหตุในต่างประเทศมาแล้ว ที่เด็กดูดเม็ดไข่มุกเข้าไป ไม่เคี้ยวเสียก่อน แล้วดันเข้าไปติดในหลอดลม จนเป็นอันตรายมาแล้ว..”

อันตรายจากเม็ดแป้งอุดตันในลำไส้ อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่อันตรายแฝงหลายอย่างในชานมไข่มุกเป็นเรื่องจริง และน่าห่วงไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ผลกระทบด้านสุขภาพ

เนื่องจากใน ชานมไข่มุก มีทั้ง น้ำตาล น้ำเชื่อม ครีมเทียม นมข้นหวาน และแป้งจากเม็ดไข่มุก การได้รับน้ำตาลจากชานมไข่มุกทั้งทางตรงจากความหวาน และทางอ้อมจากแป้งที่เปลี่ยนเป็นน้ำตาลในการย่อย อาจทำให้ร่างกายมีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชานมไข่มุก 1 แก้วที่เพิ่มนมสดและเม็ดไข่มุกจะให้พลังงานมากถึง 335 แคลอรี่ ซึ่งหากกินวันละ 2 แก้ว ก็จะได้รับแคลอรี่ราว 1 ใน 3 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน (1,800-2,000 แคลอรี่) นอกจากนั้นในชานมไข่มุก แทบไม่มีวิตามิน แร่ธาตุ กากใย และสารอาหารใดๆ อีกทั้งอาจมีน้ำตาลมากถึง 8-11 ช้อนชาทีเดียว ซึ่งน้ำตาลในชาชมไข่มุกแก้วเดียว ก็เกินปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายของคนเราต้องการต่อวันแล้ว ( ประมาณ 6 ช้อนชาหรือราว 23-25 กรัม)

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจาก ขั้นตอนการผลิตหัวมันสำปะหลังให้เป็นเม็ดไข่มุกที่ไม่เหมาะสม เช่น ปรุงไม่สุก เก็บไว้นานเกิน หรือปนเปื้อนเปลือกของมันสำปะหลัง อาจทำให้ท้องอืด ได้รับพิษจากไซยาไนด์ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท และก่อให้เกิดโรคคอพอกได้ อีกทั้งยังเคยมีรายงานว่าชานมไข่มุกที่ผู้ผลิตบางรายนำเข้าไปยังอเมริกาได้ปนเปื้อนสารอันตรายที่ใช้ในการทำพลาสติกอย่าง DEHP ซึ่งผู้ผลิตรายดังกล่าวนำมาเป็นส่วนผสมในชานมไข่มุก เพื่อเพิ่มสีและรสสัมผัสแทนการใช้น้ำมันปาล์มที่มีราคาแพงกว่า โดยมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่พบว่า สารชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากและมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้

ชานมไข่มุก แม้จะช่วยสร้างความเพลิดเพลินสดชื่น แต่ก็ควรดื่มแต่พอควร ใครที่ชอบดื่มแต่ก็กังวลเรื่องสุขภาพ ก็อาจจะลดความหวาน ลดปริมาณไข่มุก ลดความถี่ลง จากที่เคย “ดื่มแทนน้ำ” ก็ลดชั้นลงเป็น “ของหวานนานๆ สักแก้ว” ก็จะได้ทั้ง ดีต่อใจและไม่ขัดสุขภาพด้วย