อมยิ้มริมกรีน

ชีวิตโปรเม จะเป็นภาพยนตร์..แบบไหนล่ะ?

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าว บริษัทผลิตภาพยนตร์รายหนึ่ง สร้างหนัง true life อิงชีวิตจริง โปรเม เอรียา จุฑานุกาล โดยมีนักแสดงอาชีพมารับบทบาทตัวละครต่างๆ พ่อ แม่ ตัวโปรเม โปรโม ฯลฯ โดยจะนำฉายในโรงภาพยนต์ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

การทำหนังชีวิตจริงของ “คนดัง” ย่อมทำสคริตป์ ปรุงแต่ง ให้มีสีสัน ให้มีดรามา เป็นเรื่องปรกติ

ชีวิตของโปรเม กว่าจะมาถึง จุดแห่งความสำเร็จในชีวิต เป็นโปรกอล์ฟญิงอังดับหนึ่งของโลก ผลสร้างประวัติศาสตร์โด่งดัง ก็มี “ดรามา”มากมาย ครบสูตร

ครอบครัวที่ทุ่มเทเพื่ออนาคตของลูก นักกอล์ฟเยาวชนคนอื่น พ่อแม่มีสตางค์ กินข้าวบนคลับเฮาส์ โปรเมกับพี่สาว โมรียา ออกรอบเสร็จ เดินตามพี่แค๊ดดี้ ไปกินข้าวที่โรงอาหารพนักงาน เพราะราคาถูก พ่อแม่มัธยัสม์ทุกบาททุกสตางค์เพื่อทุ่มเทให้กับงวิถีอนาคตของลูกสาว

โลกแห่งกอล์ฟของเธอ มิใช่สวยหรู ฉากอย่างนี้ กินใจ เด็ดเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม การทำภาพยนตร์ ย่อมต้องเขียนสคริปต์ ปรุงแต่งสีสัน เพิ่มดรามาเข้าไป ให้เป็นความเร้า มีจุดขายกับผู้ชม หนังฮอลลีวู้ด ก็ทำเช่นนั้น เห็นๆอยู่

ภาพยนตร์กีฬา สมัยก่อน ญี่ปุ่นทำได้เร้าใจ ตอนผมเป็นเด็กนี้ ติด “เนายา ยอดยูโด” “จุง ซูชิโกะ สาวน้อยยอดนักวอลเลย์” เว่อ แต่เร้าใจ สร้างแรงบันดาลใจจริงๆ แต่กับวงการภาพยนตร์ไทย ไม่เคยเห็นว่า เรื่องใดจะประสบความสำเร็จ

การทำภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง จะทำหนังไทยผีๆ กระเทยนำทัพ ตลกชาวบ้าน หัวร่อน้ำหมากกระจาย ใช้เงินทุนเป็น สิบล้านบาทอัพ ไม่ได้ต่าง ไม่ใช่น้อย มีวลีหนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยกล่าวว่า อาชีพทำภาพยนตร์ไทย เหมือนแทงหวย คือ รวย เจ๊า เจ๊ง ยังไม่รู้ จนกว่าหนังเข้าโรง ชาวบ้านสนใจเป็นกระแส ก็”ขายได้”

การทำภาพยนตร์กีฬาบ้านเราเสี่ยงนะครับ เพราะ บีบแคบกว่าตลาดหนังผี หนังตลก หนังรักโรแมนติก ชาวบ้านไม่”อิน”

ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งแท้ๆ ยังไม่มีใครกล้าทำเป็นภาพยนตร์เลย ( เคยมี “หมากเตะ” อะไรนั่น ก็เป็นหนังตลก) ยุคนี้ “เจ้าตังค์”สารัช อยู่เย็น สุดหล่อเมืองทองฯที่สาวกรีดสลบ เต็มที่ก็ได้แค่ตัวประกอบ แสดงเป็นนักฟุตบอล ไม่ใช่ชีวิตจริงของเขา

แวดวงกีฬาก็ว่าแคบแล้ว ยิ่งทำหนัง กีฬากอล์ฟโดยตรง มิยิ่งแคบหนักเข้าไปหรือ?..นี่ว่ากันถึงหลักการตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์นะครับ

บริษัทภาพยนตร์ที่ ทำหนังชีวิตจริงของ โปรเม เอรียา จุฑานุกาล นับกว่ากล้ามาก

ก่อนหน้านี้ มีข่าว กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Thai Media Fund (เป็นองค์กรรัฐ ชื่อภาษาอังกฤษ ก็บ่งแล้วว่า เป็นกองทุนสำหรับสื่อ สร้างงานที่ดีงาม ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่สาธารณะ มีเดียหรือการสื่อสาร ตีความได้ทั้ง วิทยุโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย จนถึงภาพยนตร์) ประกาศ งบประมาณกองทุน ปี พ.ศ.2562 มี 160 ล้านบาท (งบจากกระทรวงใดฯหรือสำนักนายกฯก็ไม่ทราบ) มีบริษัทต่างๆ ส่งโปรเจกต์เพื่อขอทุนในการผลิตสื่อ 324 รายการ

คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกได้ตัดเหลือ 40 โปรเจกต์ ได้งบไปผลิตสู่สื่อ เพื่อให้ได้ประโยชน์สู่สาธารณชนตามเป้าหมาย

กองทุนพัฒนาสื่อฯ มีคุณวสันต์ ลี้หลีกภัย เป็นผู้จัดการกองทุน และเป็นประธาน คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือก ก็คงทำหน้าที่เฟ้นโปรเจกต์ที่ดี ให้งบอย่างเหมาะสม

ดังเช่น บริษัทภาพยนตร์เอกชนรายหนึ่ง ทำรายการโทรทัศน์ ซีรีส์ละครโทรทัศน์ ป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 เสนอโปรเจกต์ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เลือดสุพรรณ” เน้น รักแผ่นดิน รักชาติ รักพระมหากษัติย์ จนถึงความรักที่เสียสละได้ของข้าแผ่นดิน ซีรีส์ 22 ตอน เสนองบประมาณ 30 ล้านบาท

คณะกรรมการพิจารณา เคาะที่ 5.5 ล้านบาท แนะให้ทำ5ตอนพอ

ยามนี้ ยุคนี้ ใครๆ ก็รู้อยู่เต็มอกว่า อาชีพผลิตสื่อ พบกับความสาหัสสากรรจ์ งานไม่มี ขาดทุน นับเวลาถอยหลัง เพื่อลงสวยๆด้วยกันทั้งนั้น จึงเข้าใจว่า อะไรที่ สามารถ ช่วยได้ ก็ช่วยเท่าที่อยู่ในเส้นกรอบที่พึงทำได้ ตามประสาคนเลือดสื่อสารมวลชน

แต่มีบริษัทเอกชนผลิตภาพยนตร์รายหนึ่ง ยื่นสร้างภาพยนตร์ประวัติของ โปรเม เอรียา จุฑานุกาล งบที่ขอไป 20 ล้านบาท ได้รับการพิจารณาอนุมัติ 16.5 ล้านบาท เป็นโปรเจกต์ที่ได้งบประมาณมากที่สุดในปีของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ปีนี้

เลยกลายเป็น “เป้า”ในกระแสโซเชียลว่า…เหมาะสมไหม คณะกรรมการฯเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์พิจารณา?

มีข้อวิจารณ์ว่า ไม่น่าเป็นเป้าประสงค์ แม้ว่า ชีวิตวิถีกอล์ฟของโปรเม มีทั้งสีสัน ดรามา มีวิถีต่อสู้ของชีวิตทั้งนอกและในสนามอย่างเข้มข้น ความมุมานะ ความทุ่มเท การเรียนรู้ จนในที่สุด ก็ไปจึงจุดสูงสุดแห่งความฝันได้

เป็น “ความฝัน” “ความหวัง” “แรงบันดาลใจ” ของนักกอล์ฟเยาวชนคนไทยคนอื่นๆ

แต่ “ของจริง” ทุกวันนี้ เธอเป็นบุคลสาธารณะแห่งโลกกีฬากอล์ฟระดับโลก เรื่องราวความสำเร็จของโปรเม ได้เผยแพร่ทางสื่อทุกสื่อกีฬามากมาย ทั้งสื่อไทยสื่อเทศ นาทีนี้ หากสนใจอยากรู้ กดคีย์อินเทอเน็ตตามได้แบบ up to date ด้วยซ้ำ

บริษัทที่จะทำ ภาพยนต์สารคดีชีวิตของเอรียา จะทำอะไรที่ “ขยายสโคป” ได้ดีไปกว่า สิ่งที่มีอยู่ในสื่อโลกอินเทอร์เน็ต ที่เป็นสากลลัดนิ้วมือเดียวยุคนี้

ที่สำคัญ SCG เป็น เมนสปอนเซอร์ ของโปรเมและพี่สาว โมรียา จุฑานุกาล ประคบประหงมมาตลอด นับแต่เด็ก ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้ม ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนโปรเม ถึงจุดความสำเร็จ ซึ่งความสัมพันธ์นั้น มีความผูกพัน มีค่ามากกว่าคู่สัญญา ใช้โปรเม เป็นพรีเซนเตอร์ อย่างทนุถนอมในค่า เป็นตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจ มิใช่เพียง คนเก่งกอล์ฟ หลายโปรเจ็กต์ หลายสป๊อตออกสื่อโทรทัศน์ สื่อดิจิตอล งดงามและมีความหมายเพื่อสังคมทั้งสิ้น

เงินสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว..ไม่ได้พาโปรเมมาได้ขนาดนี้หรอก

หมายความว่า โปรเม เอรียา จุฑานุกาล ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโลกกีฬาหรือ เพื่อสังคม อยู่ในการกระจายสื่อ เข้าสู่สาธารณะที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

หากจะ”ขาย” ในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจต่อเยาวชน ความจริงก็คือ วิถีชีวิตนักกอล์ฟอาชีพ เป็น ปัจเฉกบุคคล ที่มีองค์ประกอบมากมาย เป็นวาสนาชะตาชีวิต ของแต่ละคน ใครจะมีวันนั้นได้ ต้องทำต้องหากันเอง มิใช่จะทำได้”เยี่ยง”ชีวิตโปรเม

บางมุมของชีวิต เป็นวิถีส่วนตัว พ่อผู้สร้างถนนสายนี้ให้ลูก..ถึงวันหนึ่ง วันที่ลูกยืนจุดสูงสุด ทำไมมีแต่แม่?

อันเป็น story ที่สำคัญ “ตีความ”ได้มากมากมาย จุดหักเห ความหนักหน่วงแห่งชีวิต เรื่องราวของมนุษย์ปุถุชน

ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ สารคดี documentary หรือเป็นภาพยนตร์ true story ถ้าเป็นบริษัทฝรั่ง ทำภาพยนต์มาตรฐานสูง จะเก็บรายละเอียดหมด เอามาปรุงแต่งดรามาด้วยซ้ำ

แต่วิถีทำหนังแบบไทยๆ จะทำหรือ? ในเมื่อหลักการ สื่อสู่สาธารณะ ก็ต้องเน้นสถาบันครอบครัวเป็นสำคัญ บางทีจะเป็นหนังครอบครัว สไตล์ วอลท์ ดิสนีย์ ด้วยซ้ำ หากพิจารณาโดยละเอียดในหลายๆมุมมอง กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะให้เงิน 16.5 ล้านบาท เพื่อทำภาพยนตร์สารคดี เรื่องราววิถีของ เอรียา จุฑานุกาล ไปทำไม?

ในเมื่อ ทุกอย่าง ทุกมุมก็มีอยู่แล้วอย่างลงตัว..ทำไปก็เหมือน “ก๊อปปี้” ของเดิมๆนั่นแหละ และอาจ ”ลงลึก”ไม่เท่าด้วยซ้ำ

แต่ประเด็นก็คือ บริษัทสร้างภาพยนตร์ ที่แถลงข่าว สร้างหนังชีวิตโปรเม เอรียา เมื่อเร็วๆนี้ กับบริษัทที่ได้ทุนผลิตสื่อจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 16.5 ล้านบาท นั้น คือบริษัทเดียวกัน เรื่องเดียวกันหรือเปล่า?

เพราะโปรเจกต์ที่เสนอต่อ คณะอนุกรรมการฯ ทำให้เข้าใจว่า เป็น documentary film คือ ภาพยนตร์สารคดี อัตตชีวประวัติเอรียา จุฑานุกาล ที่จะมี footage LPGA ในเนื้ออยู่มาก มี เอรียา โมรียา ครอบครัว ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนในวิถีทางเดินของเธอเป็น ”ตัวจริง ของจริง”

แต่ที่แถลงข่าวนั้น เป็นการสร้างภาพยนตร์ อิงชีวิต true story ที่เขียนสคริปต์ใหม่ ดารานักแสดงแสดงแทนทุกคน

ถ้า “คนละโปรเจกต์ คนละบริษัท” ก็ไม่มีปัญหา เงินลงทุนเป็นของบริษัทเอกชนนั้นๆในอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ไทยเอง

แต่ถ้าเอาเงิน 16.5 ล้านบาท จากกองทุนฯที่มาจากภาษีประชาชน ไปทำหนังภาพยนตร์ชีวิตโปรกอล์ฟมือหนึ่งโลกชาวไทย เพื่อออกฉายโรงภาพยนตร์

คนอนุมัติ ไม่คิดหรือว่า เป็นการให้เงินกองทุนไป “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ?

ยอดทอง