Interview

บัณฑิตา สุภาคำ

Divisional Director – Thailand
Willis Towers Watson Brokers (Singapore) Pte. Ltd.

“อยากทำงานองค์การ NASA มากเลยค่ะ…!” คุณอุ้ม (บัณฑิตา สุภาคำ) ผู้หญิงเก่งคนรักงาน เริ่มเล่าความฝันวัยเยาว์พร้อมเสียงหัวเราะร่วน

ตอนเด็กๆ คุณอุ้มเคยดูหนังเกี่ยวกับอวกาศ ใส่ชุดนักบินอวกาศ จนเกิดความประทับใจ “แต่ไม่ได้อยากเป็นนักบินอวกาศนะ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากแค่ทำงานใน NASA”

คุณอุ้มเป็นสาวเหนือ คุณพ่อเป็นข้าราชการ คุณแม่เป็นแม่บ้าน แต่มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อนุบาล คุณอุ้ม เป็นเด็กเรียบร้อย อยู่ในสายเด็กเรียน หน้าที่หลักคือ เรียนอย่างเดียว

“คิดว่าตัวเองหัวไม่ดี น้องไม่อ่านหนังสือเลย แต่สอบได้ที่หนึ่ง อุ้มมาตั้งใจเรียนจริงๆ ตอนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงเด็กๆ น้องเรียนเก่ง ขณะที่เราอยู่กลางๆ เราจึงต้องขยัน เพื่อให้ได้เท่าเขา ทำให้ต้องอ่านหนังสือเยอะ” เธอบอกถึงที่มาของการเป็นหนอนหนังสือ

“ชอบอ่านตามพ่อ ท่านชอบฟังเพลง อ่านหนังสือ ในบ้านมีสะสมไว้เยอะมาก เหมือนเป็นห้องสมุดย่อมๆ นิยายก็ชอบ อ่านตั้งแต่การ์ตูนสำหรับเด็กสาว จนถึงแนวฆาตกรรมของ อาคาธา คริสตี้ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็อ่านพวก How To โดยรวมก็คือ ชอบอ่านทุกแนว”
ความจริงจังของการจะไป NASA ทำให้เธอเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล เลือกเอกคณิตศาสตร์ “มาคิดได้ว่าตัวเองไม่เก่งพอ ตอนนั้นก็รู้แล้วว่า คงไม่ได้ไป NASA แน่ๆ และวิทยาศาสตร์ก็มีหลายแขนง”

ปีหนึ่ง ยังไม่เลือกวิชาเอก ยังเรียนทั่วๆ ไป พอปีสอง เธอมีโอกาสได้ฟังการบรรยายจาก MD ของเมืองไทยประกันภัย ท่านเป็นนักคณิตศาสตร์ มาพูดถึงการเลือกเรียน การจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่า ต้องมีความรู้ตลอดเวลา ต้องทันสมัยอยู่เสมอ มีความเข้าใจ มีความตั้งมั่น มีความรับผิดชอบ เพราะทุกอย่างที่เราเซ็นลงไป มันคือความรับผิดชอบ แต่ถ้าทำได้..”

“คุณจะได้เงินเดือนเยอะ… มาก!!!”…
คำพูดนี้ทำให้คุณอุ้มตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ทันที!

เมื่อเลือกเอกคณิตศาสตร์แล้ว ยังต้องไปเลือกสาขาย่อยต่ออีกว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ หรือ คณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการสอน แต่เธอเลือกที่จะไปเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่ง “ชอบเป็นพิเศษ” มีการเชิญอาจารย์พิเศษจากสถาบันต่างๆ มาสอน แล้วยังได้ทุนจากเมืองไทยประกันชีวิต เพื่อไปเรียนเป็นนักคณิตศาสตร์ เมื่อตอนเรียนปีสาม

“อุ้มชอบคณิตศาสตร์มาก และทำได้จนมั่นใจถึงขนาดว่า ผลสอบออกมาได้เกรด 3 ก็เดินไปบอกอาจารย์ว่า หนูคิดว่าต้องได้เกรด 4 แล้วอาจารย์ก็ตรวจทานอีกรอบ และบอกว่าเราได้เกรด 4 จริงๆ”

คณิตศาสตร์ประกันภัย คือคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง คนที่คอยคิดว่า บริษัทควรเก็บเงินเท่าไหร่ จะไปลงทุนอะไร คำนวณเบี้ยประกัน ถึงจะได้เงินเดือนเยอะ ก็ต้องเรียนรู้เยอะ ต้องแอคทีฟตลอดเวลา เป็นความท้าทายความสามารถตัวเอง

“ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน จนเพื่อนเคยทักว่า อุ้มโตมาก็แก่เลย ไม่มีช่วงสนุกสนานเฮฮาเหมือนวัยรุ่นคนอื่น”

พอได้ทุน เพื่อจะไปเรียนต่อที่อเมริกาแล้ว แต่ก็มีความผกผัน เพราะในปีที่เรียนจบ มาเริ่มงานที่เมืองไทยประกันชีวิต ปีนั้น คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ได้ออกระเบียบว่า ใบอนุญาตของ ประกันภัย กับ ประกันชีวิต ต้องแยกบริษัทกัน แล้วพอแยกเป็นประกันภัย เขาก็อยากได้นักคณิตศาสตร์หนึ่งคน ไปอยู่ประกันภัย “ถามนักคณิตศาสตร์เก่าที่อยู่มาก่อนก็ไม่มีใครไป ส่วนเราเป็นเด็กใหม่ เลือกไม่ได้ ก็ต้องไปทั้งน้ำตา” คุณอุ้มบอกถึงความเศร้าในช่วงนั้นด้วยเสียหัวเราะ

“เราเรียนมาว่า เมื่อลงเงินไปวันนี้ หรือทุกปี จ่ายเบี้ยเท่าไหร่ จะได้เงินคืนเท่าไหร่ ทุกอย่างเป็นสูตรสำเร็จ แต่พอมาทำประกันภัย เราต้องไปปีนตึก ดูห้องใต้ดิน ขึ้นดาดฟ้า ปีนเรือ แล้วเราไม่เข้าใจว่า ประกันภัยมีคู่มือที่บอกมาพร้อมว่า รถรุ่นนี้ ปีนี้ บ้านก่อสร้างแบบนี้ ปีนี้ ต้องคิดเบี้ยประกันเท่าไหร่ ก็เกิดความสงสัย เพราะก่อนหน้าเรามีสูตร ใส่ค่าแล้วคำนวณเรารู้ได้ แต่พออันนี้ไม่รู้ที่มาเลย ใครคิด ใครกำหนดมา แล้วทำไมเราต้องเชื่อ เกิดความขัดแย้งในตัวเอง”

“สุดท้ายเนื่องจากเรามาอยู่ประกันภัยแล้ว ทางบริษัทบอกว่า ไม่ต้องไปเรียนนักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตแล้ว ให้ไปเรียนที่มาเลเซีย เรียนทางด้านประกันภัยทุกประเภท ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเลยเป็นเวลาสองปี”

“ทำงานได้เจ็ดปีก็ลาออกไปอยู่บริษัทประกันภัยอีกแห่ง ได้ทุนเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ ศศินทร์ จากเดิมเคยอยู่สายเทคนิคัล คิดเบี้ย ว่าจะรับประกันหรือไม่รับ กลับมาก็บอกนายว่า อยากทำการตลาด ซึ่งเป็นการตลาดที่เป็นหน่วยธุรกิจ ต้องทำงานเบื้องหลังด้วย เพราะถนัดเรื่องนี้มาก่อน และดีตรงที่เมื่อไปพบลูกค้า ก็บอกได้เลยว่า ให้ได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน โดยไม่ต้องสอบถามคนอื่น”

“อุ้ม ทำงานไปทางแนวขวางของบริษัท ได้ทำงานเรียนรู้ไปเกือบทุกแผนกหลัก ขอทำสิ่งที่ไม่เคยทำ จากเดิมที่เคยดูแลลูกค้าพวกอาคารต่างๆ ก็ไปทำโครงการกับบริษัทข้ามชาติ ที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ”

ตั้งแต่เด็กๆ คุณอุ้ม มีความใฝ่ฝันในชีวิตหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องที่เล่าแล้วสนุกทุกครั้ง
“ตอนอยู่มหาวิทยาลัย นั่งรถเมล์ผ่านธนาคารทหารไทย มองเข้าไปเห็นบันไดเลื่อนอยู่ตรงกลางอาคาร ทำให้เกิดความฝันอย่างเด็กๆ ว่า ถ้าเรียนจบ จะต้องทำงานในบริษัทที่มีบันไดเลื่อนให้ได้ มันดูสวยดี มีบรรยากาศน่าทำงาน” เธอหัวเราะร่วนเมื่อนึกถึง

“ฝันอยากใส่ครุยเทวดาของจุฬาฯ ก็ได้ใส่เมื่อเรียนศศินทร์ ฝันอยากได้รถที่มีซันรูฟ ก็ได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รถหรูหราราคาแพง และอยากทำงานต่างประเทศ ก็ได้ไป ความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งก็คือ อยากไปทำงานกับบริษัทที่ประเทศอังกฤษ เพราะประกันภัยเริ่มมีครั้งแรกที่นั่น มีตลาดประกันภัยที่เรียกว่า Lloyd’s market สักวันหนึ่งต้องไปทำงานที่นั่นให้ได้” คุณอุ้มเอ่ยถึงฝันที่เป็นจริงแล้วและฝันที่กำลังใกล้เข้ามา

“อุ้มเป็นคนที่ถ้ารับปากใครแล้วต้องรักษาสัญญา ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขอะไร ถึงแม้ว่าเงินเดือนหรือตำแหน่งจะน้อยกว่าเดิม ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่า เรามาถึงวันนี้ได้เพราะเขาส่งเรามา ถ้าจะให้ถอยนิดนึงก็ไม่เป็นไร อย่างเคยรับปากว่าจะช่วยจัดตั้งบริษัทให้ถ้าเขามาตั้งสาขาในไทย เมื่อมาจริงๆ เราก็ไปช่วยตามนั้น หรือรับปากนายเก่าไว้อีกว่า ถ้าเรียกเมื่อไหร่ก็จะกลับไปช่วย แล้ววันหนึ่งท่านก็เรียกจริงๆ”

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าเรื่องใดๆ ก็คือเรื่องลูก เคยทำงานแล้วไม่สามารถดูแลลูกได้ ไม่ได้เจอลูกสามเดือน ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกัน ต้องตื่นตี 5 ไปทำงาน กลับบ้านก็ดึก ได้เห็นลูกแค่ตอนนอน เราอยากทำงานเพื่อลูก แต่ทำไมไม่ได้เจอลูก วันหนึ่งประชุมผู้บริหารอยู่ ทางบ้านส่งคลิปที่ลูกถามว่า เมื่อไหร่คุณแม่จะมารับผมบ้าง ตอนนั้นนั่งเป็นประธานการประชุมอยู่ น้ำตาไหล แล้วลุกออกไปจากห้องประชุมไป เจ้านายรู้ทันทีเลยว่าเราต้องลาออกแน่ แล้วเราก็ลาออกจริงๆ” จนเมื่อมีโอกาสได้ไปทำงานต่างประเทศ

“จริงๆ แล้วก็เพราะลูกชายอยากไปเรียน เราคือผลพลอยได้ ลำพังถ้าจะส่งลูกไปเรียนอย่างเดียวคงไม่ไหว แต่ถ้าเราได้ไปอยู่ด้วย ทำงานด้วย ศักยภาพเราไปได้ ถึงได้ไปทำงานที่สิงคโปร์ พาลูกไปเรียนด้วย ซึ่งเขาชอบมาก และปรับตัวได้ง่ายมาก ไปอยู่แค่อาทิตย์แรกลูกก็ขอปรึกษา เพื่อสมัครเป็นสภานักเรียน แล้วก็ได้รับเลือก ถ้าเขาปรับตัวไม่ได้ เราก็คงกลับมาแล้ว”

และเมื่อถามถึงเคล็ดลับการทำงานของเธอ

“อุ้มเป็นคนสนุกกับงาน ถ้าชอบก็จะอินไปกับงาน บ้าไปกับมัน เวลาโน้มน้าวใคร เรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เวลาพูดเรื่องงาน หน้าจะเปลี่ยน เสียงจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะสีหน้า แววตา น้องๆ ในทีมจะรู้ดี ถ้าเขาเห็นดีอินไปกับเราด้วย เราก็ทำงานกันอย่างสนุกสนาน”

“ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ แต่ละคนจะทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไร แล้วให้ทุกคนช่วยกันขันน็อตคนละนิด แล้วเราก็คอยผลักดัน ตรวจสอบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

“เป็นคนที่ไม่ค่อยโกรธ แต่มีกติกาของตัวเอง จะให้โอกาสแค่สามครั้งในเรื่องเดิมๆ ครั้งสองครั้งแรกยังให้อภัย แต่ถ้าผิดอีกถือว่าไม่ใส่ใจ ไม่รับผิดชอบ อันนี้รับไม่ได้ จะโกรธมาก แต่ถ้าโมโห ต้องเอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น”

“เวลาสร้างทีมขึ้นมา พยายามสร้างทีมให้รักกัน ช่วยเหลือกัน เป็นพี่เป็นน้อง ให้มีความสุขในการทำงานด้วยกัน มีบรรยากาศที่ดี เราต้องทำให้น้องๆ เขาศรัทธาเราให้ได้ เหมือนกับที่เราเคยศรัทธาเจ้านาย เราต้องทำให้เขาเชื่อ อย่างที่เราเชื่อ ตอนเช้าอยากมาทำงาน อยากมาเจอกัน ดังนั้นเราจึงไม่อยากให้เกิดสิ่งที่จะทำให้ช็อคกับบรรยากาศดีๆ”

“แต่ถ้ารู้ตัวว่าจะโกรธ จะทิ้งสถานการณ์นั้น กลับบ้านไปเลย กลับไปอ่านหนังสือ นอนพัก เพราะคิดว่าตัวเองถ้าโกรธ น่าจะแรงมาก แต่ถ้าได้ระบาย ปล่อยผ่านไปไม่นานก็หาย วันรุ่งขึ้นก็ทำงานได้ตามปกติ”

“ถ้ามีเวลาว่างจะชอบอ่านหนังสือ แต่เวลาเครียดชอบไปทะเล เลยไม่รู้ว่าเครียดกับว่าง ต้องไปด้วยกันรึเปล่า เลยไปทะเลทุกเดือน ส่วนใหญ่ก็พัทยา หัวหิน ไปนั่งริมทะเล อ่านหนังสือ ต้องมีหนังสือติดตัวตลอด คิดไว้เลยว่าเดือนนี้จะอ่านเล่มไหน ชอบไปคนเดียว ได้อยู่กับตัวเอง ได้อ่านหนังสือ”

“และอุ้มก็ชอบสอนหนังสือ สอนน้องๆ สอนพิเศษในมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะจบที่นั่น สอนพิเศษที่อุบล เพราะเพื่อนเป็นครูที่นั่น แนะแนวนักศึกษา วิธีสมัครงาน เตรียมตัวก่อนเรียนจบ และสอนที่สถาบันประกันภัย”

ก่อนจบบทสนทนา คุณอุ้มยังแถมท้ายเพื่อความเข้าใจในธุรกิจอีกด้วยว่า

“ประกัน ถูกออกแบบมาเพื่อบรรเทาความเสี่ยง การที่เราใช้ชีวิตทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเรามีเงินเก็บมากเพียงพอ ไม่ต้องทำประกันก็ได้ แต่ถ้าเรามีเงินไม่พอ หรือเก็บแล้วไม่พอ อย่างเช่น บ้านมูลค่า 3 ล้านบาท ถ้าเราคิดว่าบ้านจะไฟไหม้ เราต้องเก็บเงินอีก 3 ล้าน เพื่อซื้อหลังใหม่หากเกิดไฟไหม้ แต่หากเราไปซื้อประกัน ซึ่งเบี้ยอาจจะราคาแค่หลักพัน เพื่อปกป้อง 3 ล้าน เราก็ไม่ต้องกังวล เป็นการบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่เกิด เงินค่าเบี้ยตรงนี้ก็ต้องให้เป็นค่าบริหารจัดการกับบริษัทที่เขาดูแล”

“Be The Best คือคำที่ใช้กับตัวเองมาตลอด ในสมุดจดบันทึกจะมีเขียนคำนี้ไว้เสมอ The Best ของเราไม่ได้ไปแข่งกับคนอื่น แต่เราต้องเป็น The Best ของตัวเราเอง ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดค่ะ”