บุหรี่เผาปอด
แม้ว่าจะรณรงค์กันมานานแล้ว แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังพบว่า คนไทยยังคง ป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากควันบุหรี่ ปีละกว่าแสนราย และการรณรงค์ “บุหรี่ เผาปอด” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. ของปีนี้ จะมุ่งเน้นให้เห็นถึง ผลของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพปอดผู้สูบและคนรอบข้าง โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองและมือสาม เร่งกระตุ้นสร้างสิ่งแวดล้อม บ้าน ชุมชน ปลอดควันบุหรี่
เราจุดบุหรี่ข้างนอก แล้วบุหรี่จะเผาปอดเราได้อย่างไร.. ควันจากบุหรี่แบบดั้งเดิมจะมีความร้อนถึง 600 องศาเซลเซียส ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ามีความร้อนถึง 300 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนระดับที่เกินกว่า 100 องศาเซลเซียส สามารถทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ทั้งเซลล์เยื่อบุหลอดลม และเซลล์เยื่อบุผนังถุงลม ทำให้เกิดการฉีกขาดได้ ปอดแต่ละข้างของคนเราจะมีถุงลมอยู่ราวๆ 2-4 ล้านอันเกาะติดกัน โดยมีผนังของถุงลมที่ยึดโยงเป็นตาข่ายหรือใช้ผนังร่วมกัน เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังถุงลม และเซลล์เยื่อบุหลอดลม ถูกทำลายไปเรื่อยๆ จึงเกิดโรคถุงลมโป่งพอง ยิ่งสูบก็ยิ่งไหม้ ถุงลมยิ่งถูกทำลาย ยิ่งเด็กที่มีขนาดปอดที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสถูกทำลายมากกว่า จึงเป็นที่มาของคำว่า “บุหรี่เผาปอด”
นอกจากความร้อนแล้ว บุหรี่มวนยังมีสารพิษต่อร่างกายมนุษย์ถึง 7,000 ชนิดแตกต่างกัน โดย 60 ชนิดพิสูจน์แล้วว่า ก่อมะเร็งในมนุษย์ได้จริง สารเคมีจะเข้าไปทำปฏิกิริยา ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทั้งในโพรงจมูก หลอดลม เนื้อปอด ถุงลม ทำให้หายใจระคายเคือง ไอ หายใจไม่สะดวก ติดเชื้อหรือมีอาการแทรกซ้อน โดย 4 โรคร้ายที่เกิดจากบุหรี่ทำลายปอด ได้แก่ มะเร็งปอดถุงลมโป่งพอง วัณโรค และโรคภูมิแพ้ ซึ่ง 5 อันดับแรกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ และวัณโรค
“..ลองนึกภาพว่าถุงลมเล็กๆ หลายล้านถุงในปอดทำงานไม่ได้ หายใจเข้าไม่เต็มปอดไม่พอง หายใจออกก็ไม่ได้ อาการที่เป็นจะเหมือนคนที่จมน้ำอยู่ตลอดเวลา เป็นความทรมานที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง..”
ปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุด ทำให้ได้รับอันตรายมากที่สุดและเกิดโรคมากที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของคนที่ป่วยและตายจากการสูบบุหรี่ มีสาเหตุมาจากโรคทางเดินหายใจและปอด ซึ่งจากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 วิเคราะห์โดยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน
ในแง่ของเศรษฐกิจ การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2562 ว่า ในปีนี้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญถึงประเด็นผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพปอด โดยร่วมกันจัดกิจกรรมภายใต้คำขวัญ “บุหรี่ เผาปอด” (Tobacco and lung health) ให้ผู้เสพ ผู้ติด เลิกบุหรี่และยาสูบ รวมทั้งกระตุ้นชุมชนร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ป้องกันดูแลสุขภาพให้ตนเองและคนรอบข้างปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสองและมือสาม โดยในประเทศไทย พบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ในปี 2560 พบมากกว่า 100,000 ราย
รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ล่าสุดได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้สถานที่สาธารณะ ยานพาหนะ และที่ทำงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ รวมแล้วมากกว่า 100 สถานที่ อาทิ โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ วัด ตลาด ป้ายรถเมล์ เพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงออกมาตราการอีกหลายอย่างเพื่อช่วยลดแรงจูงใจในการสูบบุหรี่ของสิงห์อมควัน รวมถึงไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ด้วย
การจุดบุหรี่สูบแต่ละครั้ง นอกจากจะสร้างอันตรายต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบไปถึง คนรอบข้าง สังคม และเศรษฐกิจได้ ดังนั้นใครที่ไม่สูบอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งเบื่อการรณรงค์ที่จะได้เจอทุกปี ส่วนใครที่ยังสูบบุหรี่อยู่ เห็นแก่คนรอบข้างที่เรารักและรักเรา หยุดเผาปอดด้วยบุหรี่กันเถิดครับ