เคปกา ป้องกัน พีจีเอ แชมเปียนชิพ
เคปกา เอาตัวรอดช่วงท้าย
ป้องกัน พีจีเอ แชมเปียนชิพ
บรู๊คส์ เคปกา เอาตัวรอดจากการไล่กดดันของ ดัสติน จอห์นสัน เพื่อนร่วมชาติอเมริกัน ก่อนป้องกันแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิพ ไว้สำเร็จ นับเป็นการคว้าแชมป์เมเจอร์รายการที่สี่ในชีวิต ในการแข่งขันชิงเงินรางวัลรวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 348 ล้านบาท ณ สนาม เบธเพจ แบล็ค ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
บรู๊คส์ เคปกา ที่นำการแข่งขันมาตั้งแต่วันแรก และมีอยู่ช่วงที่เขานำการแข่งขันถึง 7 สโตรก แต่เกือบทำแชมป์หลุดมือเมื่อเหลือแต้มห่างเพียงสโตรกเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเก้าหลุมสุดท้ายที่เขาเสียไปถึง 4 โบกี้ติดต่อกัน แถมไปเสียโบกี้ที่หลุม 17 อีก แต่ยังมีพอที่จะชนะได้หวุดหวิด
“ถ้าเปรียบเทียบกับทุกชัยชนะในรายการระดับเมเจอร์ ผมคิดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นรายการที่ผมพอใจมากที่สุด” เคปกา กล่าว “นี่น่าจะเป็นหนึ่งในรายการที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และที่สำคัญคือสภาพจิตใจถูกนำมาใช้มากที่สุด”
การเล่นท่ามกลางกระแสลมที่เบธเพจ แบล๊ค ในรอบสุดท้ายนั้น เคปกา ตีเกินไป 4 โอเวอร์พาร์ 74 รวม 72 หลุมทำสกอร์ 8 อันเดอร์พาร์ 272 เฉือนชนะ จอห์นสัน 2 สโตรก คว้าแชมป์พร้อมตำแหน่งนักกอล์ฟหมายเลขหนึ่งของโลก
“ผมดีใจมากที่ไม่เหลือหลุมให้ต้องเล่นอีกต่อไปแล้ว” เคปกา กล่าว “มันเป็นช่วงท้ายของการเล่นซึ่งกดดันเอามากๆ”
โบกี้ที่หลุม 16 และ 17 ของ จอห์นสัน ทำให้ เคปกา หายใจได้คล่องคอมากขึ้น ทว่าเขาดันไปพลาดออกโบกี้ที่หลุม 17 พาร์ 3 อย่างไรก็ตามที่หลุมสุดท้ายไม่มีอะไรผิดพลาด ทีช็อตไปอยู่แฟร์เวย์และขึ้นไปออนก่อนเข้าไปพัตต์ระยะ 6 ฟุตเพื่อคว้าแชมป์
“ดีเจ เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เขาคัมแบ็กมาได้อย่างเหลือเชื่อ” เคปกา กล่าว “เขาทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างยอดเยี่ยมพร้อมกับส่งแรงกดดันต่างๆมาที่ผม แน่นอนว่าในช่วงท้ายผมจึงต้องเล่นด้วยความแน่นอนอย่างที่สุด”
เคปกา ซึ่งปกติเป็นนักกอล์ฟหน้าตายยอมรับว่าเขาแทบระเบิดทุกสิ่งออกมาตอนที่พัตต์สุดท้ายลงไปผมกับชูกำปั้นขึ้นฟ้า ซึ่งเขาเล่าว่า “บนกรีนหลุม 18 ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตผมเลยก็ว่าได้”
เคปกา ที่ชนะยูเอส.โอเพ่น มาแล้วสองสมัยในปี 2017 และ 2018 กำลังจะลุ้นที่จะชนะ ยูเอส.โอเพ่น 3 สมัยติดต่อกันในการแข่งขันที่เพ็พเพิ้ลบีช ในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตามการป้องกันแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิพ ได้ก็ทำให้เขากลายเป็นนักกอล์ฟคนแรกที่สามารถป้องกันแชมป์เมเจอร์ได้ถึง 2 รายการ โดยแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิพ ครั้งนี้เขารับเงินรางวัลไปครอง 1.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 63 ล้านบาท
“มันเป็นเรื่องที่เหลื่อเชื่อจริงๆ” เคปกา กล่าว “ผมไม่รู้เลยว่าเคยฝันถึงเรื่องแบบนี้หรือเปล่า มันช่างมหัศจรรย์จริงๆ”
และการนำการแข่งขันตั้งแต่รอบแรกยันรอบสุดท้ายยังส่งให้ เคปกา โปรอเมริกันวัย 29 ปีเป็นคนที่ห้าที่คว้าแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิพ แบบนำตั้งแต่วันแรกจนวัดสุดท้ายเป็นคนที่ห้าในประวัติศาสตร์ ต่อจาก ฮัล ซัตตัน เมื่อปี 1983, เรย์ ฟลอยด์ เมื่อปี 1982, แจ๊ค นิคลอส เมื่อปี 1971 และ บ็อบบี้ นิโคลส์ เมื่อปี 1964
นอกจากนั้น เคปก้า ยังเป็นคนที่สองที่ชนะ พีจีเอ แชมเปียนชิพ ติดต่อกันสองสมัย โดยก่อนหน้านี้ ไทเกอร์ วูดส์ เคยทำได้สองครั้งในช่วงปี 2006-2007 และ 1999-2000
เคปกา นั้นจบสกอร์ 54 หลุมด้วยสกอร์ 12 อันเดอร์พาร์ 198 โดยมีสกอร์ทิ้งห่างอันดับสองถึง 7 สโตรก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีนักกอล์ฟคนใดที่นำเมเจอร์มากขนาดนี้และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ซึ่ง เคปกา เกือบพลาดเช่นกัน
จอห์นสัน ที่สุดท้ายจบด้วยสกอร์ 69 ตัดแต้มลงมาเหลือเพียง 4 สโตรกในช่วงเก้าหลุมแรกของรอบสุดท้าย และไล่มาเหลือเพียงสโตรกเดียวเท่านั้นกับการเล่น 4 หลุมสุดท้ายของการแข่งขัน
จอห์นสัน นั้นพยายามลุ้นที่จะชนะเมเจอร์รายการที่สองในอาชีพต่อจากการคว้าแชมป์ยูเอส.โอเพ่น 2016 และยังลุ้นที่ยังทำสถิติคัมแบ็คมากที่สุดของพีจีเอเทียบเท่ากับ จอห์น มาฮาฟเฟย์ ที่เคยไล่ตาม 7 สโตรกเมื่อปี 1978
แต่สุดท้ายแล้ว จอห์นสัน ทำได้ดีที่สุดคือการเป็น “รองแชมป์” เคเรีย แกรนด์สแลม หลังจากก่อนหน้านี้ได้อันดับสอง บริติช โอเพ่น 2011, รองแชมป์ยูเอส.โอเพ่น 2015, รองแชมป์มาสเตอร์ส เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา และมาได้รองแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิพ ครั้งนี้
“ผมพอใจกับการเล่นของตัวเองที่สามารถเปิดโอกาสให้กับตัวเองได้” จอห์นสัน กล่าว “สนามกอล์ฟแห่งนี้โหดมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่มีลม แต่ผมก็ยังสามารถเล่นได้ดี”
สรุปผลพีจีเอ แชมเปียนชิพ (สนามพาร์ 70)
272 บรู๊คส์ เคปกา (สหรัฐฯ) 63-65-70-74
274 ดัสติน จอห์นสัน (สหรัฐฯ) 69-67-69-69
278 จอร์แดน สปีธ (สหรัฐฯ) 69-66-72-71
278 แพทริก แคนท์เลย์ (สหรัฐฯ) 69-70-68-71
278 แมทท์ วอลเลซ (อังกฤษ) 69-67-70-72
279 ลุค ลิสท์ (สหรัฐฯ) 68-68-69-74
280 กัง ซุง (เกาหลีใต้) 68-70-70-72
281 แกรี่ วูดแลนด์ (สหรัฐฯ) 70-70-73-68
281 แมทท์ คูชาร์ (สหรัฐฯ) 70-70-72-69
281 รอรี แม็คอิลรอย (ไอร์แลนด์เหนือ) 72-71-69-69
281 เชน ลาวรี (ไอร์แลนด์) 75-69-68-69
281 อีริก แวน รูเยน (แอฟริกาใต้) 70-68-70-73
281 อดัม สกอตต์ (ออสเตรเลีย) 71-64-72-74