ผ้าลายอย่าง
ในช่วงต้นปี 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงานพระราชทานความสุขให้กับประชาชน และเผยแพร่ความงดงามของความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่องาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2561 และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ได้เริ่มฉายเป็นตอนแรก โดยรวมเนื้อเรื่องเป็นการย้อนอดีตไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมี “แม่หญิงการะเกด” ตัวเอกของเรื่อง ที่สวมใส่ชุดไทยในสมัยนั้น ออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นการปลุกกระแสผ้าไทยขึ้นมาอีกครั้ง
ในปัจจุบันมีกระแสการนำผ้าไทยมานุ่ง สวมใส่ ไปท่องเที่ยวตามเมืองโบราณ เข้าวัดทำบุญ ท่านที่เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่นั้นๆ คงจะได้พบกับ “แม่หญิง หรือ ท่านขุน” สวมใส่ผ้าไทยสวยงาม ยืนถ่ายรูป โพสต์ท่าเก๋ๆ และมีการเผยแพร่ภาพสวยๆ ให้ได้เห็นกันในโซเชียลมีเดียต่างๆ มากมาย
ว่าแต่ผ้าไทยสวยๆ เหล่านั้นมีที่มาจากไหน?
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความถึง ผ้าไทย โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีมากมายที่แสดงว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนี้เคยมีการใช้ผ้าและทอผ้าได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยได้พบเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมของกำไลทองสำริด และเครื่องดินเผาซึ่งเป็นอุปกรณ์ปั่นด้ายแบบง่ายๆ รวมทั้งลูกกลิ้งแกะลายสำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก อยู่ที่บริเวณแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี นับเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการใช้ผ้า และการทอผ้าของไทยในอดีต
ต่อมาในสมัยทวารวดี, ศรีวิชัย, สุโขทัย, อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งพบในศิลาจารึกพงศาวดาร จดหมายเหตุและบันทึกของชาวต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แสดงว่า มีการใช้ประโยชน์จากผ้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยมีทั้งผ้าที่ผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น และผ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
“ผ้าลายอย่าง” เป็นผ้าในราชสำนักในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เหตุที่เรียกว่าผ้าลายอย่าง เพราะว่าเป็นผ้าพิมพ์ที่ออกแบบโดยราชสำนักสยามแล้วส่งไปพิมพ์ที่อินเดีย (แหล่งผลิตสิ่งทอคุณภาพเยี่ยมในสมัยนั้น) จึงได้ชื่อว่าผ้าลายอย่าง คือ ทำตามอย่างที่ออกแบบไปให้
ส่วนผ้าลายนอกอย่าง เป็นลายผ้าที่เกิดจากช่างอินเดียคิดค้นขึ้นตามอย่างผ้าไทยแต่นำเอาลายของอินเดียเข้าไปผสมผสาน
ในสมัยอยุธยาจึงพบว่านอกจากผ้าที่ทอขึ้นใช้เอง ยังมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเปอร์เซีย, อินเดีย และจีน ผ้าเหล่านี้เรียกว่า “ผ้านอก” เฉพาะผ้าที่นำเข้าจากประเทศอินเดียและเปอร์เซีย มักจะเรียกชื่อเมืองนั้นเป็นชื่อผ้า เช่น ผ้าอัตลัด มาจากเมืองอัตลัดในอินเดีย หรือเป็นชื่อจากภาษาเดิมตามประโยชน์การใช้สอย เช่น ผ้าสุจหนี่ ผ้าเยียรบับ เป็นต้น
สำหรับประเทศอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่นำเข้าผ้ามาจำหน่ายในไทยนั้น ช่างไทยจะออกแบบลวดลายส่งไปว่าจ้างช่างอินเดียในประเทศอินเดียให้เขียนและพิมพ์ตามต้นแบบ (เช่นเดียวกับ การเขียนลายกระเบื้อง ลายเครื่องถ้วย ส่งไปให้ช่างจีนทำในประเทศจีน) จึงมีการผสมผสานทั้งลวดลายไทยและอินเดีย
เมื่อส่งกลับมาขายในประเทศไทย จึงเรียกผ้านี้ว่า “ผ้าลายอย่าง” และ “ผ้าลายนอกอย่าง”
ซึ่งในปัจจุบันมีการทำ “ผ้าลายอย่าง” ในรูปแบบผสมผสานอยู่ และในวันนี้ได้รับเกียรติพูดคุยกับหนึ่งในจำนวนผู้ผลิตผ้าลายอย่าง ได้แก่ คุณวงศ์สถิต ชัยเนตร หรือที่รู้จักกันในนาม มีนา ชัยเนตร (มีนา ผ้าลายอย่าง) ที่นำความรู้จากการศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำลวดลายไทยที่พบเห็นจากงานศิลปกรรม งานสถาปัตยกรรม ในยุคสมัยต่างๆ มาออกแบบเป็นลวดลายให้กับผ้าลายอย่าง
คุณมีนา ได้ร่วมให้ข้อมูลกับเราว่า “ในสมัยก่อนผ้าแต่ละผืนที่สวมใส่กัน สมัยก่อนขุนนางที่ทำความดีความชอบ จะได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลอย่างหนึ่ง คือ ผ้า นอกจากนี้ ขุนนางจะได้รับพระราชทานผ้าสมปักตามตำแหน่งสำหรับนุ่งเข้าฝ้า อีกด้วย โดยลวดลายบนผ้า ลักษณะของผ้า จะบ่งบอกถึงยศ ตำแหน่ง ของผู้สวมใส่ผ้านั้นๆ เปรียบเสมือนเครื่องแบบของข้าราชการในปัจจุบัน”
“ผ้าลายอย่างก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละผืน บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ซึ่งลายบนผ้าแต่ละลายนั้นมีอยู่จริง ปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทางด้านโบราณคดี ทั้งการจารึก โบราณสถาน จิตกรรมฝาผนัง ปูนปั้น เป็นต้น โดยนำมาผ่านการจัดองค์ประกอบศิลป์…”
“ได้เริ่มคิดที่จะทำผ้าลายอย่างขึ้น เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นยังมีคนที่ทำผ้าลายอย่างอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก มีเพียงไม่กี่คนเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเริ่มจากการค้นคว้าหาข้อมูล จากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ดูงานศิลปะโบราณ ตามวัด โบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมไปถึงข้อมูลที่ปรากฏอยู่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในการคิดนำโครงสร้างของลวดลาย มาจัดวาง ให้สีสันตามแบบโบราณ โดยต้นแบบเริ่มจากการวาดด้วยมือ หาสัดส่วนที่เหมาะสม ของลวดลาย ทิศทางของลวดลาย สีสัน ให้ลงตัวกับยุคสมัยในแต่ละยุคนั้น เช่น รัตนโกสินทร์ อยุธยา หาลวดลายของในแต่ละยุคที่มีอยู่จริง แล้วนำมาประมวลหาความเหมาะสม สมดุล จนในที่สุดออกมาเป็นผ้าลายอย่าง แบบที่ทุกท่านได้เห็น”
“ผ้าลายอย่างที่ได้ทำการออกแบบ ผสมผสานลวดลายและผลิตออกมาในแต่ละผืน จะใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งผ้าลายอย่างผืนแรกที่มีนาได้ทำขึ้นนั้นใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ถึงจะได้ผ้าลายอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ โดยในทุกกระบวนการทำด้วยความตั้งใจ ความรักในศิลปะ ลวดลายไทย และในแต่ละผืนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
เมื่อพอทราบกันแล้วว่าผ้าไทยสวยๆ หรือ “ผ้าลายอย่าง” ที่นำมาสวมใส่กันนั้นไม่ได้ผลิตขึ้นมาง่ายๆ เลย เพราะผู้ออกแบบจะใส่ใจในรายละเอียด ลวดลาย สีสัน ที่นำมาใส่ลงในผ้าผืนเดียวกัน ต้องมีความเข้ากันอย่างลงตัว หรือใครอยากจะมีผ้าลายอย่างสวยๆ ไว้สวมใส่ ก็สามารถลงเข้าไปชมได้ที่ Facebook มีนา ผ้าลายอย่าง (www.facebook.com/Meena.chintz) มารวมกันอนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒธรรม โดยการสวมใส่ผ้าไทยกันนะครับ