Interview

ดร.ตวันรัตน์ มีวงศ์อุโฆษ

ดร.ตวันรัตน์ มีวงศ์อุโฆษ
ผู้รับใบอนุญาต
วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการนวัตกรรม
อาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายพิเศษ
คณะศิลปกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ตอนอายุราว 7-8 ขวบ ไปเดินห้างฯ เห็นคนเล่นเปียโนอยู่ ไปยืนดูจนรู้สึกว่าเพราะดี ตาลเลยขอคุณพ่อเรียนเปียโนค่ะ ตอนนั้นรู้สึกเขินๆ จนต้องกำชับด้วยว่า… คุณพ่ออย่าบอกคนอื่นนะ โดยเฉพาะพี่ชาย… ตาลกลัวโดนล้อ” คุณตาล (ดร.ตวันรัตน์ มีวงศ์อุโฆษ) หรือครูตาล เริ่มเล่าถึงชีวิตที่ผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็กพร้อมเสียงหัวเราะ

ช่วงแรกเปียโนยังง่ายๆ เรียนสนุก แต่พอขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงชั้น ม.ต้น เปียโนเริ่มยากขึ้น พอดีคุณพ่อถามว่า “อยากลองเรียนพวกเครื่องเป่า หรือแซ็กโซโฟน บ้างมั้ย” อีกทั้งพี่ชายไปอยู่วงดุริยางค์ ของโรงเรียน ดูแล้วก็เท่ดี มีเพื่อนเยอะด้วย และภาพประทับใจที่ได้เห็น ในหลวง ร.9 ทรงเป่าคลาริเน็ต เสียงไพเราะดี นี่คือแรงบันดาลใจ ให้คุณตาลเลือกเครื่องเป่าชิ้นโปรด

“เปียโน แค่กดเสียงก็มาค่ะ แต่คลาริเน็ต เสียงเกิดจากการเป่า ต้องมีรูปปากและการหายใจที่ถูกต้อง กว่าจะได้เสียงออกมาถึงกับเหนื่อย ตอนซ้อมที่บ้าน คุณย่าบอกว่า กลับไปเล่นเปียโนเหมือนเดิมได้มั้ย หนวกหู” คุณตาล หัวเราะอีกครั้ง เมื่อเล่าถึงการซ้อมดนตรีในบ้าน

“ยากมากค่ะ แต่ไม่เลิก รู้สึกสนุก ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ ตอนแรกเล่นคนเดียวกับอาจารย์ เหมือนการซ้อมให้ผ่านไปแต่ละอาทิตย์ แต่พออยู่วงโยฯ มีเพลงแข่ง มีเป้าหมายในการซ้อมมาเรื่อยๆ จนถึงเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย อยู่ดีๆ คลาริเน็ต ก็กลืนไปกับชีวิตของเราเฉยเลย”

ตอน ม.ต้น คุณตาล เรียนเปียโน ควบคู่กับ คลาริเน็ต ไปอีกพักใหญ่ พร้อมทั้งเริ่มเรียนกอล์ฟอีกด้วย เป็นการทำกิจกรรมหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน แต่ไม่เลือกเรียนพิเศษอะไรที่เป็นวิชาการเลย จนถึงจุดที่รู้สึกว่า ถ้าเรียนทั้งเปียโนและคลาริเน็ต เวลาซ้อมจะไม่พอ จึงตัดสินใจขอเลือกเครื่องเป่าอย่างจริงจัง

อาจเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น ทำให้ยังรู้สึกตื่นเต้นกับเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ และเมื่ออยู่ในวงดุริยางค์ ทำให้มีเพื่อนเล่นเป็นวง สนุกกว่าการเล่นคนเดียว ยิ่งช่วง ม.ต้น อยู่ที่โรงเรียนหอวัง ต้องมีแข่ง มีการแสดง ร่วมทำกิจกรรมกับวงเยอะ ตอนนั้นเธอสอบเปียโนตามหลักสูตรของทรีนิตี้ได้ถึง เกรด 5 จากทั้งหมด 8 เกรด ก่อนจะพักเปียโนไปเลย และได้กลับมาจับอีกครั้งเมื่อเข้าเรียนดนตรีจริงจังที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

พอจบ ม.ต้น ได้ใช้ประโยชน์ของดนตรี ในการสอบเข้า ม.ปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เข้ามาอยู่ในวงฯ ถ้าจะเข้าโควต้าดนตรี ต้องสอบทักษะทางดนตรีก่อน แล้วต้องสอบวิชาการควบคู่กัน ผู้หญิงที่เล่นเครื่องเป่าค่อนข้างจะมีน้อย ด้วยสรีระ ทั้งลมและทั้งแรง ซึ่งผู้ชายมักจะมีมากกว่า แต่ดนตรี ต้องออกมาจากอารมณ์และความรู้สึก หรือการตีความของบทเพลง บางทีผู้หญิงผู้ชาย อาจตีความต่างกัน มีความเฉพาะตัวของแต่ละคน

เมื่อเล่นดนตรีจริงจัง คุณตาลอุทิศเวลาให้กับการซ้อม ทำให้กิจกรรมอื่นๆ แทบจะไม่ได้ทำเลย ซึ่งเธอบอกว่า “ควรจะออกกำลังกายอย่างอื่น ที่ไม่ใช่อยู่แต่ในห้องซ้อมบ้างค่ะ”

คุณตาลซ้อมเยอะมาก ยิ่งอยู่ในวงโยฯ แล้วมีแข่ง ต้องเข้าค่าย อยู่กับเพื่อนๆ แทบจะตลอดเวลา จนเรียนมหาวิทยาลัยถึงปริญญาเอก… “ต้องมีวินัยในตัวเอง ไม่มีคนมาคอยบังคับเหมือนเรียนมัธยม ต้องเป็นตัวเรา ที่รู้สึกอยากจะซ้อมเองค่ะ”

นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของทั้งนักดนตรีและนักกีฬา ที่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแล้วไม่มีใครมาบังคับ… “เรายังจะอยากซ้อมอยู่หรือเปล่า บางคนถอดใจไปเลย ก็จบ แต่นี่เรายังรู้สึกอยู่ว่า เจอเพลงแล้วอยากเล่น ก็ไปซ้อมจนเล่นได้” เธอบอกถึงความลุ่มหลงในดนตรี ที่ทำให้ต้องไปต่อให้สุดทาง

“การเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ต่างจากมัธยมเป็นอย่างมาก เราต้องจัดการตารางต่างๆ ด้วยตนเอง ถ้าเรื่องดนตรี เมื่อก่อนก็แค่ ซ้อม เล่น แต่เมื่อมาเรียนที่นี่ ต้องเรียนทฤษฎี ประวัติศาสตร์ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้เราเข้าใจในบทเพลง รู้ลึกมากขึ้น เข้าใจว่าทำไมนักประพันธ์ถึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา มีเรื่องราวในชีวิตของเขาให้ศึกษา รู้สึกสนุก

หลักๆ ก็เล่นเปียโนและคลาริเน็ต ส่วนเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็แค่ฝึกหัดพื้นฐาน แล้วก็มีวงเครื่องลม ไปร่วมแข่งบ้างตามรายการต่างๆ”

“พอปี 3 ก็คิดเตรียมตัวต่อไปเรียนต่อ เราเรียนเครื่องดนตรีตะวันตก ก็น่าจะไปเห็น ไปใช้ชีวิตในสถานที่จริง เตรียมตัวตั้งแต่ภาษาอังกฤษ สอบโทเฟลเก็บคะแนนไว้ พอจบก็ไป เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน เพราะมีญาติอยู่ คุณพ่อยังไม่ให้ไปอยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่อยากไปนิวยอร์คมากกว่า”

คุณตาลเข้าเรียนที่ School of Music, Portland State University เรียนทางด้าน การแสดงดนตรี “สนุกมากค่ะ เป็นครั้งแรกที่เดินทางคนเดียว นอกจากจะเรียนแล้ว เรายังต้องจัดการชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดด้วยตัวเอง ไม่มีคนไทยที่คณะฯ เลย เป็นคนแรกและคนเดียวที่เข้าไปเรียน แต่ก็มีคนเอเชีย เกาหลี จีน เข้าไปเรียนพอสมควร มีกิจกรรมเยอะ ได้ออกแสดงคอนเสิร์ตตามเทศกาลต่างๆ บ่อยมาก พอปริญญาเอก ย้ายไปอยู่ บอสตัน ซึ่งเป็นเมืองที่บรรยากาศเต็มไปด้วยดนตรี ตามท้องถนนคนสะพายเครื่องดนตรีกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยที่นั่น มีชื่อเสียงทางด้านดนตรี เช่นที่ Berklee College of Music จะเน้นพวกแจ๊ส, Boston University, Boston Conservatory, New England Conservertory of Music, หรือของ Harvard University เองก็มี

“เรียน Portland 2 ปี แล้วไปเรียนปริญญาเอกที่ Ohio อีก 3 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ด้วย พออยู่ปี 3 ได้พบกับอาจารย์ที่เป็นนักคลาริเน็ตชื่อดังระดับตำนานชื่อ Richard Stoltzman ก็อยากเรียนกับท่าน เลยย้ายมาเรียนที่ Boston University อีก 3 ปี เป็นปริญญาที่ยาก ทั้งเรื่องการเรียน และการจัดการชีวิตตัวเอง เพราะเราเป็นสายการแสดงดนตรี ต้องทั้งซ้อมเพื่อทักษะตัวเอง มีการเล่นคอนเสิร์ต ทั้งเดี่ยว ทั้งวงออร์เคสตรา วงเครื่องลม แต่ละเทอมมีคอนเสิร์ตนับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะจบต้องสอบทฤษฎี วิชาการ สอบความรู้ทุกอย่างที่เรียนมา กับประวัติศาสตร์ดนตรี ต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสือกับการซ้อม จบปริญญาเอกต้องได้ทุกอย่าง เล่นได้ สอนได้ ต้องรู้จริง”

“เล่นดนตรีก็มีความเครียดค่ะ เป็นนักดนตรีก็มีข้อเสียตรงที่ เวลาฟังเพลงแล้ว แทนที่จะผ่อนคลาย แต่เรากลับวิเคราะห์บทเพลง ว่าเขาเล่นยังไง จะฝึกหัดแบบไหนถึงจะเล่นให้ได้แบบนั้น อาจจะคล้ายนักกอล์ฟที่เห็นช็อตสวยๆ ในทีวีก็เก็บเอามาคิดเพื่อจะฝึกซ้อมเช่นกัน นักประพันธ์ที่ชอบ ก็คือ Claude Debussy ชาวฝรั่งเศส เป็นบทเพลงแนวล่องลอย ฝันๆ อย่าง Premiere Rhapsodie กับ Johannes Brahms ชาวเยอรมัน ที่โดดเด่นเรื่องเสียงประสาน เช่น Clarinet Sonata No. 2 ชอบทั้งความไพเราะของบทเพลง และเรื่องราวของชีวิตนักประพันธ์ ส่วนเพลงที่ยากที่สุดในชีวิตเป็นของ Jean Francaix ชาวฝรั่งเศส และ Karlheinz Stockhausen ชาวเยอรมัน เพลงของพวกเขามีโน้ตที่ยากมาก กว่าจะเล่นได้ต้องฝึกซ้อมนานมาก วิธีฝึกซ้อมก็คือ เจาะซ้อมทีละห้องๆ จนกว่าจะเล่นได้ ถึงไปเล่นห้องถัดไป ต้องหักห้ามใจไม่ข้ามไปเล่นช่วงอื่นไปหากยังเล่นไม่ผ่าน”

“เวลาที่เราขึ้นไปเล่นคอนเสิร์ต จะรู้สึกตื่นเต้น กังวล กลัวเล่นผิด กลัวโน่นกลัวนี่ไปหมด แต่เมื่อเล่นบ่อยๆ จนถึงระดับปริญญาเอก จำได้ถึงความรู้สึกครั้งนั้นเลย เพราะ “จะเป็นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายในการเป็นนักเรียนแล้วนะ” แต่อาจารย์ก็บอกว่า ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหรอก เพราะเมื่อจบไปเราจะมีอาชีพนี้จริงๆ แล้ว นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น”

“เราไม่ได้กลัว ไม่ได้กังวล ที่จะเล่นผิด แต่เป็นความตื่นเต้นที่จะออกไปเล่นให้คนดูฟัง เรามีสมาธิกับเพลงที่เล่น มันสนุกมาก คนดูเขามาเพื่อฟังเพลง ไม่ได้มาจับผิด เราก็เล่นให้เขาฟัง จากการตีความเพลงในสไตล์ของเรา”

“อยากกลับบ้านเลยทันทีเมื่อเรียนจบ ตอนไปเรียนได้รับความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อยากกลับมาถ่ายทอดให้เด็กๆ อยากกลับมาสอน และอยากนำนักดนตรีจากเมืองนอกเข้ามาแสดง เพราะการได้เห็น ได้ฟัง ของจริง แตกต่างจากการดูผ่านสื่อต่างๆ อยู่มาก ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปีนี้ ตาลได้นำวงเครื่องลมทองเหลือง ประจำวงรอยัลคอนเสิร์ตเคบาวออร์เคสตรา ซึ่งเป็นหนึ่งในวงออร์เคสตราที่ดีที่สุดในโลก มาแสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนผู้อ่านมาฟังคอนเสิร์ตกันนะคะ ตาลอยากให้เพลงคลาสสิกเข้าถึงบุคคลทั่วไปมากขึ้น ลองมาฟังแล้วจะทราบว่า ดนตรีคลาสสิกไม่ได้ฟังยากอย่างที่คิดค่ะ”

ปัจจุบันคุณตาล เป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ สอนวิชาทฤษฎีดนตรี และวิชาเครื่องลมไม้ และกำลังทำผลงาน นำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียง เป็น คลาริเน็ต เปียโน หรือกับ ไวโอลิน เชลโล รวมถึง การเป็นผู้รับใบอนุญาต วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการนวัตกรรม

“คุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา เน้นในเรื่องการเรียน ปวช.ปวส. หลักสูตรพาณิชย์นาวี และมีหลักสูตรอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น สาขาดนตรี สาขาธุรกิจสนามกอล์ฟ สาขางานบริการบนเรือสำราญ เป็นการคิดนอกกรอบ เพราะมีเด็กที่สนใจในเรื่องแปลกๆ อยู่เสมอ อย่าง ตาล เมื่อสนใจดนตรี ก็ไม่อยากเรียนเลข แต่อยากเรียนในสิ่งที่ชอบ เป็นการต่อยอดให้ด้วยว่า การเล่นดนตรี กีฬา หรือทำในสิ่งที่ชอบ สามารถนำไปเป็นอาชีพได้จริงๆ”

“เราเป็นวิทยาลัยเปิดใหม่ มีความพร้อม คนรุ่นใหม่บริหาร มีทัศนคติเปิดกว้าง อย่างสาขาดนตรี มีเด็กที่ทำงานเป็นนักดนตรีตอนกลางคืน อยากเรียนมาก เราชอบความลุ่มหลง ความกระตือรือร้นในสิ่งที่เขาชอบของเด็ก แต่เขาอาจจะไม่มีโอกาส เราจึงตอบโจทย์นี้ได้ อัตราค่าเทอมเราก็เก็บไม่แพง และยังมีให้เลือกผ่อนชำระจ่ายได้อีก”

เมื่อย้อนกลับมาคุยถึงเรื่องกีฬากอล์ฟ

“ตอนเด็กคุณพ่อชอบไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อน เราก็ตามไปเพราะอยากไปขับรถกอล์ฟ จนเริ่มรู้สึกว่า น่าสนุกดี ขอเรียนกอล์ฟเอง ช่วงเดียวกันกับเริ่มเรียนเปียโน ได้ไปออกรอบกับคุณพ่อ สนุกมาก เป็นการฝึกความอดทน เพราะคุณพ่อชอบเลือกสนามที่ไม่มีรถ เพื่อจะได้เดิน เล่นมาเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัย ได้เล่นช่วงวันหยุด แต่ก็ไม่ได้ฝึกซ้อมจริงจัง”

“คุณพ่อชอบร้องเพลง เล่นกอล์ฟ เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งเรื่องดนตรีและกีฬาให้กับลูกๆ แต่ก็ไม่เคยบังคับเลย ให้ลูกๆ ได้เลือกทำกิจกรรมตามใจชอบอย่างอิสระ ต้องขอบคุณคุณพ่อมาก ที่ให้โอกาสและสนับสนุนเต็มที่ ท่านบอกว่าถ้าทำในสิ่งเราชอบ ไม่ว่าอะไรก็ดีทั้งนั้น แล้วท่านก็ช่วยเปิดทางสำรองไว้ให้ด้วยว่า ถ้าสอบอันนี้ไม่ได้ก็เลือกอันโน้น”

เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ

“อดทน คิดบวก เมื่อมีปัญหาก็ต้องยอมรับให้ได้ และคิดว่าจะผ่านไปได้ยังไง อย่างแรกก็คือ ความแข็งแกร่งในจิตใจของตัวเอง ใจต้องสู้ก่อน สอบครั้งแรกอาจจะยังไม่ผ่าน แต่ถ้าเราลองใหม่ล่ะ อ่านหนังสือมากขึ้น หรือถ้าเป็นกีฬา ก็ซ้อมให้มากขึ้น ต้องห้ามถอดใจ ต้องสู้ต่อ และเมื่อมาถึงจุดๆ นึง เวลาเรามองย้อนกลับไป ก็จะพบว่า เราก็ทำได้”

“รู้สึกตกใจเหมือนกันว่า จากสิ่งที่ทำเหมือนเป็นงานอดิเรกหลังเลิกเรียน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว รู้สึกขอบคุณอาจารย์ทุกท่านในชีวิต นอกจากจะสอนให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังเป็นเสมือนแรงบันดาลใจ เมื่อมองเห็นท่านแล้วก็คิดว่า สักวันอยากดำเนินรอยตาม รู้สึกดีใจที่เราฝ่าฝันอุปสรรคเรื่องการเรียนมาได้ และเพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้านนี้โดยตรง มีไฟในการคิดสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม อย่างที่เริ่มไปแล้วก็เช่น การเขียนหนังสือแบบฝึกหัดพื้นฐานการเล่นคลาริเน็ต”

ครูตาล ยังมีข้อแนะนำที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง สำหรับคนที่มีความฝัน และอยากไปให้สุดทาง

“ตาลโชคดีที่ได้เป็นเรียนเมืองนอก ขณะที่เด็กอีกหลายคนเขาไม่มีโอกาสนี้ อุปสรรคสำคัญคือติดขัดเรื่องภาษา หลายคนอาจคิดว่า จะไปเรียนเมืองนอกต้องมีเงิน แต่ตาลสอบทุนของมหาวิทยาลัยได้ตลอด และทำงานเป็นผู้ช่วยสอนของอาจารย์ ทำให้มีรายรับที่พออยู่ได้ ปัญหาหลักคือ ภาษา ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้แล้ว ทุกคนย่อมมีโอกาส”

แล้วชีวิตนักดนตรี ที่ดูเหมือนจะสร้างความสุขให้กับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าถึงคราที่ตัวเองเกิดความทุกข์ใจบ้างล่ะ

“บางครั้งเหนื่อย ท้อใจ และยิ่งอยู่คนเดียวก็จะยิ่งแย่ แต่คุณพ่อก็จะบอกเสมอว่า “ลูกสาวปะป๊าต้องเข้มแข็ง” คำนี้คำเดียว ที่ทำให้เราไปต่อได้”

คุณตาลเคยเครียดมาก รู้สึกว่าชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา จนไม่รู้จะทำยังไง

“วันนั้นเดินเข้าห้องซ้อมเลยค่ะ หยิบคลาริเน็ตขึ้นมาเป่า หลับตา แล้วปล่อยให้น้ำตาไหลไปเรื่อยๆ เหมือนกับฉากในหนัง (หัวเราะ) และไม่คิดอะไรเลย ปล่อยให้ใจอยู่กับดนตรีสักพัก พอเล่นเสร็จก็รู้สึกดี ตัดความเครียดที่เข้ามาในชีวิตออกไปได้ ถึงแม้ปัญหาจะยังอยู่ แต่เมื่อรู้สึกสบายใจ อะไรๆ ก็ดีขึ้น ค่อยๆ คิดหาหนทางแก้ไข”

คุณตาล ยังได้ฝากแง่คิดดีๆ ในเรื่องของ ปัญหา ในมุมมองที่ทำให้เรื่องนี้เปลี่ยนไป จะได้ไม่รู้สึกกลัว หรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ

“ปัญหาเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ ถ้ามีแต่ความสวยหรู ชีวิตนี้เราคงไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยค่ะ”