Just Say Know

WHO ประกาศเนื้อแปรรูป เป็นสารก่อมะเร็ง

WHO ประกาศ เนื้อแปรรูป
จัดอยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็ง

หลังจากที่มีข้อถกเถียงอยู่นาน ในที่สุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศให้ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป อาทิ เบคอน แฮม ไส้กรอก ซาลามี่ ฯลฯ เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเผยแพร่รายงานผ่านวารสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อไม่กี่วันก่อน

โดยคณะกรรมการ IARC (International Agency for Research on Cancer) หรือ ผู้ประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งของ WHO ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ 22 คน ได้มีมติแบบไม่เป็นเอกฉันท์ ประกาศว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป (หมายถึง เนื้อที่เปลี่ยนรูปไป ผ่านการคลุกเกลือ หมัก บ่ม รมควัน และวิธีอื่นๆ ที่เพิ่มรสชาติหรือถนอมอาหารให้ดีขึ้น โดยเนื้อที่เอามาทำนี้จะเป็นพวกเนื้อแดง เนื้อไก่ เนื้ออื่นๆ หรือแม้แต่ผสมเลือดสัตว์ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ฮอตดอก แฟรงเฟิร์ตเตอร์ แฮม ไส้กรอก คอร์นบีฟ เนื้อเค็มตากแห้ง เนื้อกระป๋อง และซอสต่างๆที่ผสมเนื้อ) จัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 (Carcinogenic to Humans) โดยจัดอยู่ในสารก่อมะเร็งกลุ่มเดียวกับ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ สารหนู แร่ใยหิน และแอลกอฮอล์

สำหรับ สารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 (Carcinogenic to Humans) เป็นกลุ่มที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือเพียงพอ ที่จะบอกว่ามันทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ โดยประเมินจากการศึกษาทางระบาดวิทยา (Epidemiological Studies) ที่แสดงให้เห็นว่า เกิดมะเร็งขึ้นในร่างกายของมนุษย์ที่ได้รับสารนั้น ซึ่งในกรณีของเนื้อแปรรูป ก็มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ การจัดกลุ่มนั้นขึ้นกับระดับความหนักแน่นของหลักฐาน ไม่ใช่ระดับความเสี่ยง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ยาสูบ และแร่ใยหิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอันตรายเท่ากัน โดย IARC ประเมินผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 10 งานวิจัยพบว่า การกินเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้น 50 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด มะเร็งลำไส้ขึ้นประมาณ 18%

ขณะที่แถลงการณ์ของ WHO ครั้งนี้ ยังจัดเนื้อแดง (หมายถึง กล้ามเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่  วัว หมู แกะ หมูป่า ม้า และแพะ) ให้อยู่กลุ่ม 2A (Probably Carcinogenic to Humans) คือ น่าจะก่อให้เกิดมะเร็ง จากข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการกินเนื้อแดงและการเกิดมะเร็งลำไส้ แต่ที่ไม่อยู่ในกลุ่ม 1 (เป็นสารก่อมะเร็ง) เพราะยังไม่สามารถตัดประเด็นบางอย่างออกไปได้ เช่น ความบังเอิญ ความลำเอียง ฯลฯ จากการศึกษาเหล่านั้น ส่วนความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเมื่อบริโภคเนื้อแดงนั้น ประเมินได้ยากกว่ามาก เพราะหลักฐานที่ว่าเนื้อแดงทำให้เกิดมะเร็งนั้นยังไม่หนักแน่นนัก แต่ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ผลจากข้อมูลการศึกษากลุ่มเดียวกัน ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้จะเพิ่มขึ้น 17% ทุกๆ 100 กรัมของการกินต่อวัน

จากการประมาณการล่าสุดโดย the Global Burden of Disease Project พบว่ามีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 34,000 รายทั่วโลกในแต่ละปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่ชอบกินเนื้อแปรรูปเป็นปริมาณมาก ส่วนแม้ว่าการกินเนื้อแดงนั้นจะยังไม่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของมะเร็ง แต่ได้ประมาณไว้ว่า การกินเนื้อแดงมากๆ น่าจะเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตโดยโรคมะเร็งกว่า 5 หมื่นรายทั่วโลกต่อปี ถึงกระนั้นตัวเลขความสูญเสียยังแตกต่างกับสารก่อมะเร็งอื่นๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น กรณีการสูบบุหรี่ที่ทำให้เสียชีวิตจากมะเร็งถึง 1 ล้านรายต่อปีทั่วโลก มะเร็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ 6 แสนรายต่อปีทั่วโลก และมะเร็งจากการสูดดมอากาศที่เป็นมลพิษ 2 แสนรายต่อปีทั่วโลก

รายงานของ IARC ไม่ได้มีข้อแนะนำด้านโภชนาการไว้ เพียงแต่ย้ำคำแนะนำของ WHO ในปี 2002 ที่ให้ควบคุมปริมาณการกินเนื้อแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้เท่านั้น เพราะยังไงแล้ว เนื้อยังคงเป็นแหล่งของโปรตีน และวิตามิน ที่สำคัญอยู่ดี

(www.who.int , www.iarc.fr)