สอนอย่างไรถึงจะ ‘ครองใจเด็ก’
เรื่องของกีฬา “เทนนิส” เราเคยขึ้นสูงสุดมาแล้วถึงสองครั้งสองครา นั่นคือเมื่อสมัย “พนมกร พลัดเชื้อนิล” จับมือกับ “สมบัติ เอื้อมมงคล” ตะลุยกันชนิดที่เรียกว่า “หน้าไหนก็ไม่กลัว” พวกเขาสองคนได้ชื่อว่า “สองกุมารจากสยาม” แล้วฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือไปติดเชื้อมากจากที่ใด หากสมัยนั้นไม่มีจอมขมังเวทย์จากเมือง “ภารตะ” รับรองเราคือเบอร์ 1 ของเอเชีย สรุปว่าการบูมครั้งแรกคือช่วงที่ว่ามาแล้ว จากนั้นเทนนิสก็เงียบหายไปพักใหญ่ ครูไก่ว่าไม่ต่ำกว่า 10 ปี และขณะที่รุ่นพี่กำลังดังสุดๆกลับมีเจ้าตัวเล็กในตระกูล “ศรีชาพันธุ์” คนสุดท้องน่าจะอายุไม่น่าเกิน 10 ปีแล้วก็เดินตามรอยพี่ๆเขาอยู่
ในขณะที่รุ่นใหญ่กำลังจะไปรุ่นใหม่ก็เข้ามาแทนที่อีกรอบ นั่นคือหมดสองกุมารก็มาสองตระกูลที่ครองเวทีนี้ต่อมาอยู่ระยะหนึ่งนั่นคือ “บ้านทองคำชู” จากอ่างทองกับ “ศรีชาพันธุ์” จากขอนแก่น สองครอบครัวพยายามที่จะไต่อันดับใน ATP TOUR แต่ก็ยากเย็นนัก สุดท้ายก็เงียบหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง เวลานั้นวงการเทนนิสนิ่ง จนมาดังสุดๆอีกรอบก็เจ้าตัวเล็กของขอนแก่นอายุอานามเข้าสู่วัยรุ่นแล้วเข้าแข่งใน “วิมเบอร์ดัน”ซึ่งรายการนี้ถือว่าเจ๋งสุดในทุกรายการที่มีในโลก “เจ้าบอล”ทุบอเมริกันอันตราย “อังเดร อากัสซี่” ลิ่วเข้ารอบไปแบบพลิกปากกาเซียนทั่วโลก…ซึ่งกระแสที่ว่าทำเอาวงการ “เทนนิส”กลับมาพีคถึงสูงสุดอีกรอบ บรรดาสนามเทนนิสที่กำลังซบเซากลับฟื้นคืนชีพอีกรอบ แล้วลากยาวมาถึงปัจจุบัน…
ทีนี้ลองกลับมาเรื่องของเยาวชนที่ต้องร่ำเรียนวิชาการเป็นหลักแล้วเอากีฬาเป็นรอง หรือบางครอบครัวอาจเอากีฬาเป็นหลักคงต้องเลือกหาครูมาสอนสั่งแล้วต้องพูดคุยกันให้รู้เรื่องรู้ราวกันไปว่า “ครอบครัวนี้ต้องการอะไร” ในส่วนของครูเองนั้นหากมีชื่อเสียงมาจากการแข่งขันอยู่บ้างก็คงไม่ยากที่จะยืนหยัดในยุทธจักรการสอนนี้ หากแต่อีกกลุ่มของครูที่มีความรักในการสอนเป็นชีวิตจิตใจคงต้องวัดกันด้วยผลงานของนักเรียนของตัวเองนี่แหละเป็นหลัก
ครูไก่เคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้งที่ตัวครูนั้นเคยเป็น “จอมยุทธ” ในวงการแข่งขันมาโกโชนแต่พอเอาเข้าจริงลูกศิษย์กลับไปได้ไม่ไกลจากรอบแรกหรือรอบสอง แบบนี้ก็เหนื่อยกันทั้งนักเรียนและครูรวมถึงผู้ปกครองด้วยนะ แต่ก็มีอยู่มากที่จากผลงานในช่วงตัวเองเล่นก็อยู่ระดับกลางๆไม่โดดเด่นอะไรมากมายนัก แต่เขากลุ่มนี้มักจะมีเพื่อนฝูงเพียบแลกเปลี่ยนความรู้กันแบบกันเองมีอะไรก็แบ่งปันกัน…พอถึงเวลาต้องปั้นลูกศิษย์ลูกหาความรู้จากการพูดคุยเมื่อครั้งกระนั้นจะช่วยให้ครูกลุ่มนี้กลายเป็น“ครูที่ครองใจเด็ก”ได้แล้วผลงานเด็กกลุ่มนี้มักจะโดดเด่นกว่ากลุ่มแรก…ส่วนจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรและมีที่มาที่ไปแบบไหนติดตามกันฉบับหน้า
ครูไก่