สิริวัฑน์ เธียรปัญญา
สิริวัฑน์ เธียรปัญญา
กองหลวง
วิชาที่รอคอย : ผมได้เรียนวิชา ศิลปะ วาดรูป สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง เป็นวิชาที่ตั้งใจเรียนมากที่สุด ทุกครั้งที่วาดภาพไปส่งอาจารย์ ถ้าได้คะแนนไม่ดีพอ ท่านจะฉีกทิ้ง สั่งให้ไปวาดใหม่ เพื่อทำผลงานให้ดีขึ้น อย่างน้อยต้องได้คะแนน 8.5 หรือ 9 เต็ม 10 ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการวาดภาพก็ฝังในใจอยู่แล้วว่า เป็นสิ่งที่เราชอบที่สุด
ตั้งใจเรียนศิลปะแต่ได้เรียนกฎหมาย : พอเรียนจบมัธยม เตรียมเอ็นทร้านซ์เข้ามหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด ปรากฎว่าสอบไม่ติด คงเป็นเพราะอยู่บ้านนอก เราไม่รู้ทฤษฎี ไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อไม่ได้ก็คิดซะว่า ไม่เป็นไร ตามเพื่อนไปเรียน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนกฎหมาย จนจบนิติศาสตร์
เรียนกฎหมาย แต่ได้ศิลปะ : สนุกมาก เพราะเวลาเข้าเรียน หูฟังเล็คเชอร์ แต่หนังสือทุกหน้า ผมจะวาดลายเต็มไปหมด ฟังไปด้วย วาดไปด้วย ฝึกฝีมืออยู่ตลอด ตอนทำงานประจำแล้ว ถ้าเครียดมาจากการทำงาน ก็จะพักแล้วนั่งวาดรูป ไม่เคยทิ้งการฝึกทักษะนี้ ตามกระดาษโน้ตไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามของผม ก็มักจะมีการวาดลายติดอยู่ในกระดาษนั้นด้วย แต่ก็ไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราว เพราะนั่นเป็นการวาดเพื่อความสนุก ไม่เป็นจริงเป็นจัง
ทำงานธนาคาร : เรียนจบก็ไปทำงานเป็นนิติกร ประจำสาขาธนาคาร ทำอยู่นานถึง 20 ปี ก่อนจะออกมาทำงานที่ตัวเองใฝ่ฝันอยากทำ นั่นคือ ผ้าพื้นเมืองของภาคเหนือ
เจอผ้าด้วยความบังเอิญ : เราสนใจเกี่ยวกับเรื่องผ้า เพราะตอนออกไปตรวจดูที่ของลูกค้าแถวเชียงราย ไปเจอชาวบ้านทอผ้า ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อ ทอผ้ากันหลายหมู่บ้านมาก เรามองผ้าในแง่ศิลปะ เพราะมีลวดลายสวยมาก กลายเป็นว่า ได้สะสมผ้าโดยไม่รู้ตัว เจอลายไหนสวยๆ ก็ซื้อเก็บอยู่เรื่อยๆ จนมีเป็นตู้ๆ ยังเสียดายอยู่ สมัยก่อนไม่กล้าเก็บผ้าถุง เพราะคิดว่าเราเป็นผู้ชาย ทำให้เก็บเป็นผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ผ้าตุง ผ้าพาดไหล่
งานประจำที่ต้องทำ : ผมทำงานธนาคาร เป็นงานบริการ ต้องเอาใจลูกค้า ถึงแม้เราจะขุ่นข้องหมองใจ ต่อหน้าลูกค้าเราก็ต้องสะกดใจ ต้องทำใจ ขัดในอารมณ์ของเราเยอะมาก ไม่ชอบ โกรธ ก็ต้องเก็บเอาไว้ แล้วยิ่งมีปัญหา ยิ่งเครียดหนัก ยิ่งเป็นงานที่เราไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ จึงกลายเป็นการทำงานเพื่อหน้าที่ เวลาทำงานไม่เสร็จ งานไม่จบ ก็ต้องอยู่แก้ไข บางครั้งทำกันจนดึกดื่นก็ยังเลิก รู้สึกเครียด ไม่สบายใจ
งานที่รักอยากจะทำ : ตรงกันข้ามกับงานประจำเลย งานปัก เป็นการทำในสิ่งที่เรารัก ทำแล้วมีความสุข เมื่อทำไปเรื่อยๆ เวลาผ่านไปจนดึกตีหนึ่งตีสอง ก็ยังไม่รู้สึกตัว สิ่งที่จะมาเตือนตัวเองว่าหมดเวลาทำงานแล้ว ก็คือความเหนื่อยล้า แต่นั่นเป็นการอ่อนเพลียทางกาย เป็นการหยุดงาน แล้วพักผ่อนอย่างมีความสุข ไม่ใช่หยุดเพราะเครียด มันต่างกันเยอะมาก
ศิลปะคือยาวิเศษ : เป็นการรักษาทางใจที่ได้ผลเป็นอันดับแรกเลย ที่พูดอย่างนี้ได้เต็มที่ก็เพราะว่า พอมาทำงานศิลปะ ทำให้ใจเย็นขึ้น เพราะงานศิลปะใจร้อนไม่ได้ เร่งรีบก็ไม่ได้ ผลที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ทำให้ใจเรามีความสุข ทำงานธนาคารมายี่สิบปี ทำงานศิลปะมาสิบปี มันต่างกันลิบลับ เมื่อมีความสุขเกิดขึ้น ความสบายใจก็เกิดขึ้น ความใจเย็นก็ตามมา การปักผ้า การวาดผ้า ต้องใช้สมาธิ ทำให้ผมกลายเป็นคนใจเย็น
โอกาสมาก็คว้าไว้ : พอดีมีเพื่อนของอา ทำโรงแรมที่เชียงราย มีห้องว่าง เลยชักชวนให้ไปเปิดร้านผ้า นั่นคือจุดเริ่มต้น และทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานธนาคาร มาทำงานด้านผ้าอย่างเต็มตัว ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คิดว่าถ้าอยู่เชียงรายคงจะแย่ เลยลองขยับเข้ามาขายที่กรุงเทพฯ เริ่มจากห้างต่างๆ หลายแห่ง หลายสาขา ไปเรื่อยๆ แล้วมีอยู่ช่วงที่ผ้าปักของทางเชียงใหม่ขายดีมาก มาเมื่อไหร่ก็ขายหมด
เพลินกับงานจนลืมตัว : การรักษาสุขภาพของผมลำบากมาก ผู้คนให้คำแนะนำดีๆ เยอะแยะมากมาย แต่ถามว่าทำได้มั้ย? ตอบเลยว่า ยากมาก เพราะเวลาทำงาน มันสนุก มันหยุดไม่ได้ โอกาสการออกกำลังกายก็มีน้อย อาศัยการดูแลทางด้านอาหารการกิน รู้จักเลือกกินผัก กินผลไม้ให้มากขึ้น แล้วก็ต้องคอยเตือนตัวเองว่า อย่าหักโหมจนเป็นผลเสียกับร่างกาย
กำเนิดผ้ากองหลวง : เมื่อมีเวลาว่างระหว่างรอลูกค้า ก็ลองเอาผ้ามาปักดู เริ่มจากลายด้นง่ายๆ อาศัยที่วาดรูปเป็นอยู่แล้ว ผมไม่ได้ใช้วิธีวาดร่างลงในผ้า แต่ปักสดกันในเนื้อผ้าเลย ลูกค้ามาเห็นก็รู้สึกทึ่ง ประทับใจ เพราะไม่ต้องวาดแบบไว้ก่อน ผมก็ด้นสดไปเรื่อยๆ ลวดลายอยู่ในหัวอยู่แล้ว จนกลายเป็นรูปสวยๆ ขึ้นมา ลูกค้าชอบมาก ทำให้มียอดสั่งเพิ่มขึ้นๆ เริ่มทำไม่ทัน นอนดึกทุกคืน ตื่นขึ้นมาก็ปักต่อ จนทำไม่ไหว ต้องส่งให้เพื่อนๆ และคนรอบข้างช่วยกันทำ โดยเริ่มต้นเราวาดแบบร่างแล้วให้เขาช่วยปัก และลวดลายของเราก็วิจิตรพิศดารมากขึ้น พูดได้เต็มปากเลยว่า ผมเป็นคนแรกที่นำเอาลายล้านนา มาประยุกต์เป็นลายปักของเรา นี่คือจุดเริ่มต้นของ ผ้ากองหลวง เป็นลายล้านนา ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวาอารามในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ลายคำ ลายปูนปั้น ลายแกะสลักไม้ นำมาเป็นลวดลายในการออกแบบลายปักของกองหลวง
พิจารณาเพื่อพัฒนางานศิลปะ : การปักผ้าของทางเชียงใหม่ เรียกว่าปักจีน คือปักข้ามเป็นเส้นๆ เวลาถูกเกี่ยวจะชำรุดง่าย แล้วทำให้ไม่สวย จึงมาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี จนได้วิธีการปักแบบลูกโซ่ ซึ่งจะดูละเอียดขึ้น และทนทานกว่าเมื่อถูกโดนเกี่ยว ก็ไม่ชำรุดง่าย
เริ่มจากคนใกล้ตัว : แรกๆ ให้พี่ให้น้องช่วยกันปัก พองานมากขึ้นๆ ก็ไปให้ชาวบ้านปัก โดยการเริ่มไปสอน เป็นกลุ่มๆ จนมีสิบกว่ากลุ่ม กลุ่มละไม่ต่ำกว่าสิบคน อย่างเช่นกลุ่มที่อำเภอพาน มีประมาณถึงห้าสิบกว่าคน ฉะนั้นคนปักให้ผมก็มีเป็นร้อยคน
งานละเอียดต้องใช้เวลา : แต่ละผืนใช้กว่าจะเสร็จไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน ความต้องการกับกำลังการผลิตยังไม่ทันกัน คนอยากได้เยอะกว่าที่เราทำออกมา แรกๆ ไปสอน ก็มีปัญหา ไม่เข้าใจในการปัก ไม่เข้าใจลาย ผมก็ให้ปักชิ้นเล็กๆ ก่อน เสียก็ไม่เป็นไร ผมตั้งใจว่า คนที่จะมาทำงาน ต้องทำด้วยใจรัก ไม่ใช่คิดแต่เรื่องจะได้เงินอย่างเดียว อย่างบางครั้งแรกๆ เริ่มสอนคนสามสิบสี่สิบคน ผ่านไปหกเดือนเหลือแค่สิบ พอปีเหลือแค่หก น้อยลงเรื่อยๆ ทุกที่เป็นอย่างนี้ แต่ว่าที่เหลือจำนวนไม่กี่คนนี้ คือคนที่เขาอยากทำกับเราจริงๆ รักที่จะทำ นี่คือความพอใจของผมแล้ว
ตามรอยแม่ของแผ่นดิน : ผมเป็นครูช่างศิลปาชีพ ใช้คติตามสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ พระองค์ต้องการให้ชาวบ้านใช้เวลาว่าง หลังจากเสร็จงานไร่งานนา ให้เป็นประโยชน์ มานั่งทำการฝีมือกัน ผมเองก็ไม่มีกำหนดเวลา ว่างเมื่อไหร่ ทำเมื่อนั้น บางผืนใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้นงานของผม หากตรงกับฤดูการทำงานเกษตร ทำนา เกี่ยวข้าว จะเป็นช่วงที่ผมได้งานน้อย
ช่วยเหลือสังคม : ผมจะไปหาชาวบ้านถึงหมู่บ้าน ต้องการให้เขาได้ทำงานในบ้านตัวเอง ไปสอนเทคนิคให้เขารู้แค่ครั้งเดียว ใช้เวลาแค่สองชั่วโมง ระหว่างนั้นถ้ามีคำถามหรือปัญหา เขาก็จะมาถาม
ปากต่อปาก : ใช้หลักการหัดให้เป็น แล้วนำไปสอนกันเอง เช่นพี่เป็นแล้วก็ไปสอนน้อง แม่ทำได้ก็ไปสอนลูก สอนญาติๆ เพื่อนบ้าน ฯลฯ หลายๆ หลักจากผ่านไปเป็นปี แต่ละหมู่บ้านก็เริ่มมีคนเก่งๆ เยอะมากขึ้น
ลงทุนให้ก่อน : ชาวบ้านไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ผมลงทุนให้ทั้งหมด ตั้งแต่ ผ้า ผมก็คัดเลือกว่าจะต้องใช้แค่ผ้าเนื้อดีๆ เท่านั้น และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น กรรไกร ด้าย แม้กระทั่งโคมไฟ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน ฯลฯ ขาดเหลืออะไรผมหาไปให้ก่อน ชาวบ้านลงแค่แรงอย่างเดียว ไม่มีคำว่าขาดทุน
ไม่เอาเงินนำชีวิต : เราขายดีมาก แต่ผมต้องขอยกเลิกออร์เดอร์ลูกค้าหมดเลย เพราะงานของเราเป็นงานศิลปะ ถ้าเร่งตัวเองเพื่อไปตามตลาด หรือต้องทำตามความต้องการของลูกค้า เราเองก็ไม่ไหว จะเครียดมาก ผมต้องการคุณภาพของงานมากกว่า เราทำเพื่อความสุขเป็นหลัก ไม่ได้เอาเงินเป็นหลัก เรามีความสุขที่จะทำ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น
ไม่ฉวยโอกาส : ผ้าแต่ละผืนกว่าจะปักเสร็จใช้เวลานานมาก เพราะผมไม่เคยเร่ง ใครพอใจทำแค่ไหน ช้าเร็วยังไง จะเสร็จเมื่อไหร่ก็ไม่ว่ากัน เพราะนี่คือเรื่องของศิลปะ ต้องปล่อยให้เขามีเวลาตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ถึงแม้งานจะเสร็จช้าแต่ก็คุ้มค่า เพราะเป็นงานฝีมือที่ได้จากความตั้งใจ แล้วผมไม่ถือว่า งานดีๆ สวยๆ แบบนี้ จะต้องมาตั้งราคาแพงๆ ราคาจะตั้งอยู่ระดับกลางๆ ที่ทุกคนพอมีกำลังซื้อได้
ทำงานให้เกิดความสุข : วันนี้เรามีความสุขที่จะทำอย่างนี้ เราก็ทำไป ซึ่งก็ได้ผล เพราะผมได้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดลายแปลกใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ลูกค้าก็ชอบที่ผ้าแต่ละผืนมักจะมีเอกลักษณ์ นี่คือจุดแข็งในผลิตภัณฑ์ของเรา สามารถสร้างผลงานที่ไม่ซ้ำกัน มีอะไรแปลกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ
งานที่เกิดจากความรัก : ผ้าทุกผืนที่ออกมา เกิดจากความรัก ความสุข ความสบายใจ เราทำเท่าที่ทำได้ ทำเท่าที่เรามีความสุข ดีกว่าจะทำให้ได้ยอดเยอะๆ ตัวเองทำต้องมีความสุข คนปักผ้าก็ต้องมีความสุข คนที่ซื้อผ้าก็ต้องมีความสุข ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราเองก็จะมีความสุขที่สุดครับ