จบไปอีกครั้ง สำหรับกอล์ฟ Honda LPGA Thailand
จบไปอีกครั้ง สำหรับกอล์ฟ Honda LPGA Thailand เวอร์ชั่นปี 2019 กับชัยชนะของ เอมี่ ยาง โปรสาวเกาหลีใต้ที่เป็นคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้ถึง 3 ครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ เธอเคยได้แชมป์มาแล้วเมื่อปี 2015 และ 2017 เรียกว่าได้แชมป์ปีเว้นปีกันเลยทีเดียว
เอมี่ ยาง เป็นนักกอล์ฟที่แฟนกอล์ฟไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่ถ้าเรียกชื่อเธอว่า เอมี่ ยาง อาจจะไม่คุ้นเท่าไร เพราะบรรดาคนพากย์กอล์ฟเอย คนเขียนข่าวกอล์ฟเอย พากันไปเรียกชื่อเธอว่า เอมี่ หยาง ซะงั้น
คนไทยดูจะคุ้นเคยกับหนังจีนเรื่องขุนศึกตระกูลหยาง แล้วก็เลยคิดว่า แซ่ Yang ในภาษาเกาหลี ออกเสียงว่าหยางเหมือนแซ่คนจีน
คงจะยังจำนักกอล์ฟชายเกาหลีใต้ที่ชื่อ Y.E. Yang ที่เคยชนะ ไทเกอร์ วูดส์ ได้แชมป์เมเจอร์ PGA Championship ได้นะครับ นี่ก็เป็นอีกคนที่เป็นขุนศึกตระกูลยางของเกาหลีใต้ ซึ่งชื่อเต็มของเขาคือยางยงอึน แต่เอามาย่อเป็น Y.E. Yang เพื่อให้ฝรั่งจำง่ายขึ้น แต่ก็ฝรั่งนี่แหละ แทนที่จะเรียก วาย อี ยาง ก็ไปออกเสียงเป็น วาย อี แยง ซะฉิบ เช่นเดียวกับที่เรียก เอมี่ ยาง เป็น เอมี่ แยง ไปซะงั้น
ไหน ๆ ก็เพลิน ๆ กับเรื่องออกเสียงชื่อนักกอล์ฟนี้แล้วก็ไปต่อเรื่อย ๆ ก็แล้วกัน
ว่าเรื่องฝรั่งออกเสียงกันต่อ ไม่เพียง ยาง กลายเป็นแยง เท่านั้น คังในภาษาเกาหลีก็กลายเป็นแคงไปอีก อย่างเช่น แดเนียล คัง ก็กลายเป็น แดเนียล แคง, เมแกน คัง ก็กลายเป็น เมแกน แคง
แล้วผู้บรรยายกอล์ฟบ้านเรา ก็มักจะคิดว่า ฝรั่งต้องเก่ง ต้องถูก ได้ยินฝรั่งออกเสียงยังไง ก็ต้องออกเสียงตามโดยไม่เคยสนใจจะศึกษากันว่า การเรียกชื่อนักกีฬาคนเอเชียด้วยกันกับเรานั้น ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไรกันแน่
เรื่องที่น่าปวดหัวเรื่องหนึ่ง คือชอบเอาแซ่ของนักกอล์ฟจีนกับเกาหลีใต้ ไปไว้ตอนท้าย ซึ่งที่ถูกแล้วเขาต้องเอาแซ่ขึ้นก่อน แต่ฝรั่งดันไปเอาชื่อขึ้นก่อน ตามด้วยแซ่ เหมือนอย่างที่ฝรั่งมันเอา Given Name ขึ้น แล้วตามด้วย Family Name มันก็เลยกลายเป็นอะไรที่อิหลักอิเหลื่อ ซึ่งนักกอล์ฟเอเชียทั้งหลายก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไป
ปาร์ค อินบี ก็กลายเป็น อินบี ปาร์ค, ชุน อินจี ก็กลายเป็น อินจี ชุน, เจิงหย่าหนี ก็มั่วหนัก กลายเป็น ยานี เซ็ง, ริว โซยอน ก็เป็น โซยอน ริว คือเรียกตามแบบที่ฝรั่งเรียกไปหมด
ผมสังเกตเห็นวันที่แจกรางวัลกอล์ฟ UL International Crown ที่เมืองอินชอน เกาหลีใต้ ที่พิธีกรฝรั่งเชิญ “เซรีปัก” ตำนานกอล์ฟหญิงเกาหลีใต้ขึ้นมาเป็นผู้มอบรางวัล แต่ล่ามเกาหลีใต้ แปลและเรียกชื่อเธอตามมาว่า “ปักเซรี” ทันควัน ว่านี่เป็นหนึ่งตัวอย่างที่อ้างอิงได้ว่า คนเกาหลีนั้น เขาเอาแซ่ขึ้นก่อนชื่อตัวทั้งนั้นแหละ
เรื่องเรียกชื่อนักกีฬาผิด ๆ ถูก ๆ จาก เอมี่ ยาง กับ เอมี่ หยาง เตลิดไปไกลซะจนวันหลังคงจะต้องเก็บมาเล่าเป็นเรื่องยาว ๆ กันอีกครั้ง
วันนี้คงต้องยินดีด้วยกับ เอมี่ ยาง สำหรับชัยชนะครั้งที่ 3 ของเธอใน Honda LPGA Thailand ซึ่งคงอีกนานกว่าที่จะมีใครทำได้ เพราะอีกคนที่ได้แชมป์ 2 สมัยคือ เจิงหย่าหนี จากไต้หวันก็คงจะไม่ค่อยได้มาร่วมแข่งแล้ว และถึงมาก็คงไม่อยู่ในฟอร์มที่จะคว้าแชมป์ได้อีกแล้ว
ส่วนนักกอล์ฟสาวไทยเรานั้น ก็เป็นการติดท็อป 10 รายการที่ 3 ของ “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล ซึ่งเริ่มต้นปีใหม่ 2019 ด้วยผลงานที่ดูดีกว่าน้องสาวคือ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล ที่ตอนนี้ยังเรียกฟอร์มเก่งมาได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่
แม้จะไม่สมหวังกับการที่จะได้เห็นนักกอล์ฟสาวไทยคว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ในบ้านของตัวเอง หลังจากที่มีนักกอล์ฟหญิงไทยไปได้แชมป์แอลพีจีเอทัวร์นอกบ้าน รวม ๆ กันแล้วถึง 12 รายการมา แต่จบจาก Honda LPGA Thailand 2019 ก็ยังมีข่าวน่ายินดีมาอีกข่าวคือ “โปรอาร์ม” กิรเดช อภิบาลรัตน์ ไปได้อันดับ 3 จาก WGC-Mexico Championship ที่เม็กซิโก
รายการนี้ Dustin Johnson อดีตมือ 1 โลกเป็นผู้ได้แชมป์ โดยมี รอรี แมคอิลรอย อดีตมือ 1 โลกอีกคนหนึ่งได้รองแชมป์ อันดับ 3 ร่วมกับกิรเดชมี 2 คนคือ พอล เคซีย์ กับเอียน โพลเตอร์ และรายการเดียวกันนี้ ไทเกอร์ วูดส์ ติดท็อปเทนเข้ามาในอันดับ 10 ร่วม
ผลจากการที่ได้อันดับ 3 ร่วมครั้งนี้ ทำให้กิรเดช อภิบาลรัตน์ ซึ่งลงแข่ง 5 รายการก่อนหน้านี้ ทำผลงานได้ไม่ดีนัก จนอันดับโลกร่วงไปอยู่ที่ 45 หลังจบ Genesis Open ของพีจีเอทัวร์สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขึ้นพรวดกลับมาอยู่ที่อันดับ 36
และถ้านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกฟอร์มเก่งคืนมา สัปดาห์ต่อ ๆ ไป วงการกอล์ฟไทยก็จะมีรายการให้ลุ้นกันทั้งโปรชายกับโปรหญิงไปแทบจะทุกสัปดาห์ กับรายการระดับท็อปสุดทั้งพีจีเอทัวร์ ทั้งแอลพีจีเอทัวร์ไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ ผลพวงจากที่ “ประเทศเราก็มี” นักกอล์ฟเก่ง ๆ ไม่แพ้ใครในโลกเหมือนกัน เราก็จะได้ลุ้นกันยาว ๆ ไปตลอดปีแล…
โปรแช้งค์