เรวดี ต. สุวรรณ
Advisor
Thailand Ladies Golf Association
Secretary – General
Queen Sirikit Cup Secretariat
“หลายคนบอกว่าเป็น Workaholic ค่ะ สมองจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา อยู่เฉยไม่ได้ เห็นอะไรก็ต้องเก็บมาคิด เห็นอะไรที่ควรจะแก้ไข ก็อดไม่ได้ แม้กระทั่งตามท้องถนน ถ้าเห็นฝาท่อไม่เรียบร้อย ยังถ่ายรูปส่งไปทวงให้ผู้เกี่ยวข้องมาจัดการ บางอย่างรอไม่ไหวก็ต้องทำเอง เป็นคนไม่นิ่งดูดาย อะไรทำได้ จะทำเลย ใครทำอะไรชักช้าก็ไม่รอ”
คุณเรวดี ต. สุวรรณ ผู้หญิงแกร่ง คนเก่ง มากด้วยความสามารถ ที่ต้องนับว่า เป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลของวงการกอล์ฟสตรีประเทศไทย ท่านมีบทบาทสำคัญ อุทิศตนให้กับกีฬาที่ตัวเองรัก ตั้งแต่ในยุคบุกเบิก ช่วยก่อตั้งและประคบประหงม จนประสบความสำเร็จ มีผลงานโดดเด่นและชัดเจนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้ คุณเร ได้บอกพร้อมรอยยิ้มว่า… “ดูแลยิ่งกว่าลูกอีกค่ะ”
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน วงการกอล์ฟยังไม่เฟื่องฟูนัก ยิ่งกอล์ฟสำหรับสุภาพสตรีแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเข้าไปอีก
“ตอนเด็กๆ คิดอยู่อย่างเดียวว่า กอล์ฟ คือกีฬาคนแก่ พี่เขยชวนเล่นก็ปฏิเสธ บอกว่า รอให้ถึงสามสิบ แก่ก่อนค่อยเล่น เพราะเห็นมีแต่คนสูงวัย เดินกันช้าๆ แบบสโลวโมชั่น กอล์ฟ คือการออกกำลังกายแบบคนแก่” คุณเร เอ่ยถึงความรู้สึกแรกเมื่อถูกชักชวนให้เล่นกอล์ฟ
คุณเรวดี เกิดในครอบครัวทหาร คุณพ่อเป็นทหารอากาศ ต้องย้ายไปประจำการหลายที่ ตอนเล็กๆ จึงต้องอยู่กับคุณย่าที่อยุธยา จนกระทั่ง ป.4 คุณพ่อย้ายกลับเข้ามาอยู่ดอนเมืองในช่วงที่สนามบินกำลังก่อสร้างรันเวย์เพิ่ม ทำให้มี วัสดุก่อสร้าง หิน ทราย มากองสูงๆ
“ตอนเย็นจะชวนเพื่อนให้ขี่จักรยานไป ภูเขา ด้วยกัน ปีนป่ายซุกซนตามประสาเด็ก แล้วก็ได้เห็นเครื่องบินขึ้นลง ตอนนั้นคิดไว้ว่า สักวันจะต้องได้ขึ้นเครื่องบินไปไหนสักแห่ง ฝันอยากจะเป็นแอร์ฯ ชอบบุคลิกท่าทางที่ดูสมาร์ทดี ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่า แอร์ฯ เขาทำงานอะไรกัน
“คุณพ่อเป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ จัดรถรับส่งลูกทหารที่เข้ามาเรียนในเมือง ตอนนั้นเรียนที่ ผดุงดรุณี ซึ่งปัจจุบันปิดแล้ว อยู่แถวกรุงเทพคริสเตียน ถึงจะไกลมาก แต่รถไม่ติด ถนนพหลโยธินยังโล่ง รถไม่เยอะ มีแค่สองเลน ต้นก้ามปูสองข้างทาง ไปเช้าเย็นกลับแบบสบายๆ”
เมื่อคุณพ่อย้ายไปเป็นทูตทหารอากาศที่ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ครอบครัวจึงต้องตามไปด้วย นับว่าเป็นโอกาสดีมาก และยังโชคดีที่ไปตั้งแต่อายุ 13 ได้เข้าเรียนจูเนียร์ไฮ จนจบซีเนียร์ แล้วไปเรียนต่อ บิซิเนส คอลเลจ ช่วงชีวิตอยู่ในวัยได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่นั่น ได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ได้เล่นกีฬาหลากหลาย เล่นบาสเกตบอล ฮ้อกกี้ ฯลฯ โรงเรียนให้เล่นอะไรก็เล่นหมด หมุนเวียนไปตามฤดูกาล การใช้ชีวิตก็ค่อนข้างสบาย ใช้เวลาเรียนได้อย่างเต็มที่
“ไปโรงเรียนวันแรกก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้จำฝังใจ เพราะไป ปล่อยไก่ตัวเบ้อเร่อเลยค่ะ คือนั่งรถบัสไปโรงเรียนคนเดียว ภาษาก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง พอถึงโรงเรียน เราจะลงจากรถ จริงๆ แล้วต้องก้าวลงไปรอที่บันไดขั้นสุดท้าย ประตูรถถึงจะเปิด แต่พอยืนรอข้างบน ประตูก็ไม่เปิด จนรถผ่านโรงเรียนไป คนบนรถก็บอกว่า Step down เราก็ฟังไม่รู้เรื่อง กว่าจะเปิดประตูให้ ก็เลยไปหลายป้าย ต้องเดินกลับโรงเรียนไกล” คุณเรวดี หัวเราะในความไม่รู้ ที่กลายมาเป็นเรื่องเล่าอีกยาวนาน
พอกลับมาประเทศไทย คุณเรวดี ได้ทำงานสำคัญๆ ต่อเนื่องหลายแห่ง โดยเริ่มที่องค์กร USOM แล้วมาทำสายการบิน KLM “เป็นงานสนุก ไม่น่าเบื่อ” หลังจากนั้นก็ได้มาทำงานให้กับ สมาคมผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทขายยาต่างๆ ที่สั่งยาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย เพื่อจะได้รับรู้ข่าวสาร ระเบียบ ข้อบังคับจากทางการ มีการจัดประชุม โดยเริ่มต้นจากห้องว่างๆ ไม่มีอะไรเลย เขาก็บอกว่า จะทำอะไรก็ทำไป เพื่อก่อตั้งสมาคมฯ ให้สำเร็จ ซึ่งนั้นก็ทำให้มีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคม
ซึ่งงานที่ทำมาทั้งหมด ส่วนใหญ่ร่วมงานกับชาวต่างชาติ เนื่องจาก “ทำงานกับคนไทยด้วยกันยาก เพราะเป็นคนพูดตรง ไม่ยอมใคร ไม่เกรงใจใครในเรื่องงาน”
และแล้วในที่สุด คุณเรวดี ก็ได้เริ่มหัดเล่นกอล์ฟ
“พอลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลก็ว่าง เลยไปหัดเล่นกอล์ฟ พี่เขยก็ช่วยสอนอยู่ที่สปอร์ตคลับอยู่แล้ว และ อีกท่านคือคุณสมจินต์ รัตนพจน์ ซึ่งมีร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟ เรียนกันตั้งแต่ทุ่มจนถึงสามทุ่ม ฝึกจริงจังมาก หัดอยู่สามเดือนโดยไม่ยอมให้ออกรอบ ตีจนแม่นลูกถึงให้ออกรอบ ทำให้วงสวิงมีความแน่นอน อยู่ตัว ขนาดไม่เล่นนานๆ พอกลับไปเล่นก็ตีได้”
เมื่อได้เริ่มเล่นกอล์ฟ เริ่มมีการออกไปแข่งขัน นักกอล์ฟของสปอร์ตคลับได้รับเชิญไปแข่งที่ต่างประเทศกันอยู่เรื่อยๆ จนเกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่จัดแข่งในประเทศ แล้วให้เขามาแข่งในบ้านเราบ้าง ช่วงนั้นคุณเรวดีเป็นกัปตันของสปอร์ตคลับ ต้องพาทีมออกไปแข่ง แล้วก็เป็นนักกีฬาเองด้วย และยังเคยเป็น แชมป์จูเนียร์ของสปอร์ตคลับ ถือแต้มต่อต่ำสุด 11
“เวลาทำงาน หรือเล่นกีฬาที่ไหน ก็ไม่เคยคิดว่าแค่ไปเล่น แต่คิดไปไกลกว่านั้น ชอบคิดอะไรขึ้นมาใหม่ๆ อยู่เรื่อย” คุณเรวดี กล่าวถึงความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัว ณ ช่วงเวลานั้น
“เราแข่งกอล์ฟกับสโมสรต่างๆ ภายในประเทศอยู่บ่อยๆ ทำให้รู้จักกัน มีความผูกพันกันอยู่แล้ว คิดว่า เราน่าจะจัดงานระหว่างประเทศบ้าง แต่เพื่อกันพลาด จึงต้องทำการสำรวจก่อนว่า เขาสนใจจะมาร่วมกับเราหรือเปล่า เผอิญว่าเพื่อนมาเลเซีย ชวนไปแข่งกอล์ฟที่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เราก็ร่วมเดินทางไปกับเขา แล้วเราก็ขอประชุม ขอพบกลุ่มกอล์ฟสตรี ซึ่งสมัยนั้นยังแยกกับของผู้ชาย ตอนหลังเขาก็ค่อยๆ ไปรวมกับสมาคมของผู้ชาย จนเหลือสมาคมกอล์ฟสตรีอยู่แค่ไม่กี่ประเทศ”
“ไปไหนก็ไปพูดชักชวนว่าเราจะจัด ไทยแลนด์ เลดี้ส์ อเมเจอร์ โอเพ่น สนใจจะมาร่วมกับเราหรือเปล่า ทุกคนก็อยากมาเมืองไทย พอได้เสียงตอบรับว่างานนี้ทำได้แน่ กลับมาก็ลุยเลย ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นสมาคม เราเชิญนักกอล์ฟสตรีจากชมรมต่างๆ 9 แห่ง ให้เข้ามาประชุม ฟอร์มทีมเป็นคณะทำงาน เชิญ คุณเชิด บุณยะรัตเวช อดีตผู้ว่าการรถไฟ เป็นที่ปรึกษา ดร.ประสม สถาปิตานนท์ และบุคคลต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมายมาช่วยกัน จัดแข่งขันที่ สนามกอล์ฟสามพราน เมื่อปี 1978 มีสิบกว่าประเทศมาร่วม นักกีฬาร้อยกว่าคน ทำพิธีเปิดใหญ่โตมาก โดยมี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้เกียรติเป็นประธาน โดยขอพระราชทานถ้วยรางวัลจาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ใช้ชื่อการแข่งขันว่า Thailand Amateur Ladies Open Golf Championship เป็นการแข่งขัน กอล์ฟสตรีโอเพ่นสมัครเล่นแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นก็เริ่มคิดเรื่องทีมชาติ จนได้ก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อปี 1979 และเริ่มแข่งขันครั้งแรกในรายการ Queen Sirikit Cup ที่นวธานี”
มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันฯ เยอะแยะมากมาย คงยากที่จะเล่าหมด เพราะทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็น ความทรงจำที่ประทับใจ ทั้งสนุก ทั้งลำบาก แม้กระทั่งขบขัน เมื่อนึกถึงแล้วต้องมีรอยยิ้ม
ในการเชิญชาติต่างๆ ให้เข้ามาร่วมแข่งขันในรายการนี้ครั้งแรกนั้น ยากมาก เช่น ทีมญี่ปุ่น ซึ่งเขาไม่ยอมส่งทีมมาง่ายๆ เพราะยังคิดว่าบ้านเรายังไม่ค่อยทันสมัย ไม่เชื่อว่าคนไทยเล่นกอล์ฟเป็น ส่งจดหมายเชิญไปก็ไม่ได้รับการตอบรับ จึงต้องให้คุณปรีดา บูรณศิริ ซึ่งคุ้นเคย กับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ช่วยไปเจรจาให้ จนมาร่วมแข่งกับเรา โดยหัวหน้าทีม เป็นประธานของบริษัทมิตซูโน่ ร่วมเดินทางมาเองเลย เป็นผู้ชายคนเดียวในทีม และทีมก็ชนะอีก ทำให้ปีต่อไปต้องไปป้องกันแชมป์
“เรื่องยากก็คือ เมื่อจัดครั้งแรกแล้ว จะให้ใครจัดครั้งต่อไป ก็ต้องทำการบ้าน และล้อบบี้กับเหล่าสมาชิก เผอิญโชคดีได้ อินโดนีเชีย มารับเป็นเจ้าภาพต่อ”
ปีที่สอง ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ใกล้ อินโดนีเซีย ก็อยากจะเข้าร่วมด้วย พอมาก็คว้าแชมป์ได้เลย จากนั้นประเทศต่างๆ ก็ค่อยๆ เริ่มให้ความสนใจเข้ามาร่วมด้วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอออสเตรเลียจัด ก็ดึง นิวซีแลนด์ เข้ามา ซึ่ง นิวซีแลนด์ ก็ชนะอีก เป็นเรื่องแปลกมากที่ประเทศที่เข้ามาใหม่จะชนะ ทำให้พอเข้ามาร่วมแล้วก็ อยากจะอยู่ต่อ
“อย่าง เกาหลี ครั้งแรกที่เข้ามา มีแต่แม่บ้านมาแข่ง เล่นกันอย่างสนุกสนาน จบอยู่ในอันดับสุดท้าย แล้วเขาก็หายไปเลยอีกนาน พอกลับเข้ามาใหม่ กัปตันก็บอกกับเราว่า จะเป็นแชมป์รายการนี้ให้ได้ภายใน 3 ปี แต่อีกแค่สองปีเขาก็คว้าแชมป์ได้ แล้วก็ครองแชมป์มาอีกหลายครั้ง และมีอยู่ปีหนึ่งที่นักกีฬาชุดแชมป์ เป็นหลานของทีมที่เคยมาเล่นครั้งแรก เธอบอกว่า คุณยายสั่งให้มาเอาแชมป์ให้ได้”
“เรามุ่งเน้นเปิดโอกาสให้นักกอล์ฟที่ มีฝีมือ แต่ไม่มีโอกาส ได้เป็นตัวแทนของประเทศชาติ ทำให้พอจัดแข่งมาได้ระยะหนึ่ง R&A ได้เห็นความสำคัญ เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ เราก็ขอให้สนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายที่พักสำหรับทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าภาพ ซึ่งเขาก็ยินดี”
“Queen Sirikit Cup เป็นการแข่งขันระดับทีมชาติ ถือว่าเป็น Stepping – Stone เป็นบันไดขั้นสำคัญที่จะก้าวเข้าไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ เมื่อพร้อมก็จะได้รับเชิญไปแข่งระดับอาชีพรายการใหญ่ๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลที่จะได้ และจะได้มีโอกาสสัมผัสกับกอล์ฟระดับอาชีพ ได้เข้าไปเล่นจริงเมื่อเทิร์นโปร จะเห็นได้ว่า นักกอล์ฟระดับโลกใน LPGA ในปัจจุบัน มาจากการแข่งขัน Queen Sirikit Cup เยอะมาก”
คุณเรวดี ยังได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับวงการกอล์ฟและกีฬาอื่นๆ อีกด้วยว่า
“ความสำคัญที่สุดในการฝึกเด็กให้เล่นกีฬาคือ ต้องมีโค้ชให้เขาดีๆ ต้องฝึกเบสิกให้ถูกต้อง ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่ถนัด”
“เหมือนฝึกเด็กให้เขียนหนังสือ ถ้าเร่งหัดเกินไป ทั้งๆ ที่กล้ามเนื้อยังไม่พร้อม เขาจะจับผิดวิธี เวลาเขียนไปนานๆ ก็เมื่อย เพราะไม่จับแบบธรรมชาติ ดิฉันมีโรงเรียนอนุบาลด้วย ที่โรงเรียนจะไม่สอนให้เขียนอ่าน จนกระทั่ง อนุบาล 3 เด็กมีความพร้อม ถึงจะให้หัดเขียนได้”
เมื่อถามถึงเคล็ดลับที่ยังทำให้คุณเรวดี ยังสนุกกับการทำงานได้อยู่เสมอ
“เราต้องมีเป้าหมายว่า อะไรที่เรายังอยากทำ ก็ควรจะทำ อะไรที่จำเป็นต้องทำ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบที่รับไว้แล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จ อะไรที่ไม่ต้องทำก็ปล่อยไป”
“เคยศึกษาทางโหราศาสตร์ ตามตำราบอกว่าเป็นคนที่มีดาวอังคารเล็งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นดวงคนขยัน ทำให้ใจร้อน อยู่ไม่สุข ช่างคิด ดวงมันบอกว่า ต้องไปอยู่ในเรือนรับใช้ ต้องไปทำงานรับใช้ส่วนรวม ทั้งในเรื่องการศึกษา โรงพยาบาล สมาคมฯ และต่างประเทศ ครั้งแรกก็ไม่เข้าใจ ถึงได้ไปเรียน แล้วก็ใช้ศึกษาดวงของตัวเอง แล้วนำมาปรับใช้กับชีวิต”
“การทำงานสมาคมฯ เป็นความรู้สึกเหมือน พันธะสัญญา เป็นความรับผิดชอบที่ก่อตั้งขึ้นมา เหมือนเรามีลูก ต้องการให้ไปรอด ต้องการให้เติบโต เลี้ยงตัวเองได้ ตอนนี้อยากตั้ง มูลนิธิกอล์ฟ เพื่อสมาคมฯ จะได้เลี้ยงตัวเองได้”
ส่วนความสุขในชีวิตนั้น…
“ทำงานคือความสุข ถ้าไม่มีอะไรคิด ชีวิตจะเบื่อมาก”
“พยายามออกกำลังกาย ว่ายน้ำ เดินให้มากขึ้น เลือกทานอาหาร และยังต้องเป็นคนมี Sense of humor รู้จักขำ มีอารมณ์ขัน อะไรที่ซีเรียสมาก ก็ต้องมองให้เป็นเรื่องตลกบ้าง”
“คนอื่นที่มีทุกข์ คนอื่นที่ยากลำบากกว่าเรายังมีเยอะ จะรู้สึกกังวลเสมอถ้าเห็นใครลำบากกว่าเรา ถ้าช่วยได้ต้องพยายามช่วย ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วอย่าเอาใจไปจมกับความทุกข์นั้นมากเกินไป พยายามปรับอารมณ์บ้าง ไม่งั้นเราจะทุกข์เอง สุขภาพจิตก็จะเสีย บางทีก็ต้องพยายามตัด ปล่อยให้คนอื่นได้คิดแก้ไขกันเองบ้างค่ะ”