Just Say Know

เมื่อไทยต้องเจอภัยฝุ่นบ้าง

เป็นที่น่ากังวลว่า หลายจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ กำลังเผชิญวิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตราฐานที่อาจจะส่งผลกระทบกับสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่ประเทศไทยที่เดียว ยังมีอีกหลายแห่งทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน และไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หลายที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

เมื่้อเดือนธันวาคม ค.ศ.1952 หรือประมาณ 66 ปีที่แล้ว ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เกิดมลภาวะทางอากาศที่ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตไปมากจำนวนมาก เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ “แอนติไซโคลน” (Anticyclone) หรือสภาพอากาศที่ไร้ลมขึ้น บวกเข้ากับในขณะนั้น ผู้คนยังคงใช้การเผาถ่านหินเพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว รวมถึงยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมมากมายอีกด้วย ผ่านไปแค่ไม่กี่วัน ทั้งเมืองลอนดอนก็ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ทัศนวิสัยกลายเป็นศูนย์ ชาวเมืองใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก อย่าว่าแต่ไฟหน้ารถยนต์เลยแค่ก้มมองพื้นก็ไม่เห็นแม้แต่ปลายเท้าตัวเอง ถึงจะหลบอยู่ในอาคารก็ไม่ปลอดภัยจากมลภาวะเหล่านี้

หมอกควันเริ่มเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเริ่มมีอาการหายใจสั้น และทางเดินหายใจมีปัญหา และราวหนึ่งสัปดาห์หมอกควันเริ่มลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและจางลง ทุกอย่างก็ค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบในระยะยาว หลายเดือนหลังจากนั้น อัตราการเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่มีความเชื่อมโยงกับฝุ่นละอองในอากาศ รวมๆ แล้ว มีจำนวนมากถึง 12,000 คน

หลังจากเหตุการณ์ที่ร้านแรงในครั้งนั้น ก่อให้เกิดแรงผลักดันสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกฝ่าย รัฐบาลออก ฉบับแรกในปี 1956 หรือที่เรียกว่า Clean Air Act 1956 พร้อมกำหนดระเบียบการใช้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม และกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามมาอีกหลายฉบับ

หรือเมื่้อไม่นานมานี้ที่ ประเทศจีน ก็ประสบปัญหาฝุ่นควันรุนแรงเช่นกัน นอกจากปัญหาที่กระทบกับวิถีชีวิตปกติแล้ว ยังมีชาวจีนนับล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะปัญหาฝุ่นควันในแต่ละปี

รัฐบาลจีนเริ่มด้วยการยอมรับเรื่องมลพิษทางอากาศว่าเป็นปัญหาระดับวิกฤต และเริ่มเดินหน้าแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังทันที ด้วยการกำจัดกระบวนการเผาผลาญพลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหันไปใช้พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แทน มีการปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ มีการออกมาตรการจัดระเบียบยานพาหนะและการจราจรบนท้องถนนอย่างจริงจัง ทั้ง ตรึงราคาน้ำมันให้สูง จำกัดการใช้รถยนต์ให้สลับใช้งานระหว่างป้ายทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ รวมไปถึงสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และที่สำคัญมีการคาดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้หนักที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆ พื้นที่ แม้ว่าปัญหาฝุ่นควันจะไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าไม่เริ่มอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาก็จะยิ่งล่าช้าไปอีก ฟังดูแล้วอาจจะดูน่าหดหู่ แต่ในความน่าหดหู่ก็ยังพอมีความหวัง เมื่อได้เห็นประเทศรุ่นพี่ที่ประสบปัญหามาก่อน เดินหน้าแก้ปัญหานี้กันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราเองก็ควรจะเริ่มลงมือได้เสียที