“..ยิ่งฝืนธรรมชาติ ก็ยิ่งเดือดร้อน..” กนก เหวียนระวี
กนก เหวียนระวี
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท กรุงกวี จำกัด
“ยิ่งฝืนธรรมชาติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น”
เรื่องราวในชีวิตของผมในวัยเด็กค่อนข้างหลากหลาย มาเล่นกีฬาจริงจังเมื่อตอนเรียนที่เทพศิรินทร์ ผมเป็นนักฟุตบอลรุ่นเล็ก สมัยนั้นมีการแข่งขันยุวชนเจซี ที่สวนลุมพีนี ก็ได้เล่นทั้งสองปี ปีหลังนี่ได้เป็นหัวหน้าทีมด้วย แล้วก็เล่นสารพัดตำแหน่งเลย ตั้งแต่หลัง กองกลาง ปีก เล่นฟุตบอลจริงจังมาก แล้วพอเพื่อนๆ ตั้งวงดนตรีกันอีก ผมก็ไปเป็นนักร้องด้วย เล่นทั้งดนตรีและกีฬา
ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมสอบติดวิศวที่บางมด, ประมง ที่เกษตร แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นรุ่นที่ 3 เพราะมีสาขาไม้ดอกไม้ประดับเพิ่งเปิดใหม่ ในคณะเกษตร ทำให้เกิดความสนใจอยากจะไปเรียน ส่วนฟุตบอลก็ยังเล่นอยู่ อาจเป็นเพราะนักเรียนนักศึกษายังน้อยเลยได้เป็นนักกีฬาคณะด้วย ขณะที่เดียวกันก็เล่นดนตรีกึ่งอาชีพไปด้วย ได้เล่นกีตาร์โฟลค์คซอง ร้องเพลงสากลตามห้องอาหาร มีรายได้พิเศษเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งเรียนจบ ยังไม่ทันได้รับปริญญาก็ไปเรียนต่อที่ มิสซูรี่ สหรัฐอเมริกาทันที
ผมต้องไปปูพื้นฐานด้วยการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อม ที่มหาวิทยาลัยเซ็นหลุยส์ รัฐมิสซูรี่ ระหว่างนั้นเมื่อเดินไปเรียนก็ผ่านร้านขายดอกไม้ทุกวัน มองดูแล้วก็คิดว่า ในเมื่อเรียนมาทางนี้แล้ว ถ้าจัดดอกไม้เป็น อาจจะได้เป็นเจ้าของกิจการเปิดร้านขายบ้างคงดี เลยไปสมัครงานที่ร้านดอกไม้ ผมไปบอกกับเจ้าของว่าไม่เคยทำงานด้านนี้ แต่ผมสนใจ อยากจะต่อยอดจากแค่เรื่องการปลูก เป็นจัดบ้าง เผอิญว่าในร้านนั้นมีหุ้นส่วนเป็นทหารที่เคยมาอยู่ประเทศไทยสมัยสงครามเวียดนาม พอรู้ว่าผมเป็นคนไทยเขาก็เลยรับ เริ่มงานตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อย แล้วก็คลุกคลีอยู่กับการทำงานร้านดอกไม้อีกหลายปีตลอดระยะเวลาที่เรียนในอเมริกา ทั้งที่เมืองเซ็นหลุยส์ ตอนเริ่มเรียนภาษา จนได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ เมืองโคลัมเบีย แม้กระทั่งต่อมาภายหลังได้เป็นเรียนที่ฮาวาย ก็ยังวนเวียนทำงานในร้านดอกไม้มาตลอด
เมื่อเริ่มเรียนปริญญาโททางด้านไม้ประดับ ที่ University of Missouri เมืองโคลัมเบีย ทางมหาวิทยาลัยให้เรียนเพิ่มเติมเพื่อปรับพื้นฐาน เป็นวิชาของปริญญาตรี ผมก็ยินดีที่จะได้ความรู้เพิ่มเติม เพราะความแตกต่างอย่างหนึ่งในการเรียนการสอนก็คือ ในภาคปฏิบัติเขาเน้นให้มีความรู้จากการทำด้วยมือของเราเอง เพื่อที่จบออกไปจะได้เป็นเจ้าของกิจการเองได้ มากกว่าจะไปรับจ้าง หรือทำงานด้านวิจัยแค่เพียงอย่างเดียว ผมจึงได้พื้นฐานเพิ่มเติมจากที่นั่นอีกเยอะมาก ขณะเดียวกันผมก็พยายามเรียนเพิ่มเติมจนได้วุฒิปริญญาตรีอีกใบ แล้วยังสมัครและได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกงานที่คาลิฟอร์เนียร์ เป็นเนอร์สเซอรี่ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา จนครบกำหนดก็ได้รับโล่ว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานดีเด่น
ช่วงที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ผมเห็นว่ามีวิชาสอนการจัดดอกไม้ที่น่าสนใจก็ไปสมัครเรียน ทางร้านดอกไม้ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ก็แนะนำผมให้กับอาจารย์ผู้สอน ท่านก็ทราบว่าผมทำงานด้านนี้อยู่ เลยให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อให้ได้หน่วยกิต แล้วให้มาเป็นผู้ช่วยสอนเพราะมีพื้นฐานภาคปฏิบัติมาจากร้านมานาน แล้วผมก็เรียนจนจบปริญญาโท
ประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่งในเรื่องรสนิยมความชอบของคนอเมริกันกับการจัดดอกไม้ก็คือ เขาชอบความเป็นธรรมชาติ ดูแล้วสดชื่นสบายๆ มากกว่ามีระเบียบเรียบร้อยจนเกินไป มีบางครั้งผมตั้งใจจัดอย่างเนี้ยบเลย พอเขาเห็นก็จะบอกว่า แบบนี้ก็ดูสวย แต่ขอให้จัดแบบง่ายๆ สบายๆ จะดีกว่า การทำงานในร้าน ได้ฝึกฝน ได้สัมผัสกับรสนิยมต่างๆ ของลูกค้า จึงเป็นเสมือนการเรียนภาคปฏิบัติ ได้ลงมือทำจริงในแบบที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
พอกลับมาบ้าน งานแรกที่ทำคือเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาดูแลพื้นที่ ให้กับสนามกอล์ฟนวธานี ซึ่งเพิ่งจะเปิดใหม่ๆ ทำอยู่สักพักก็อยากเรียนต่อ เพราะมีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อ เลยสมัครไปเรียนต่อที่ฮาวาย เพื่อจะได้มาทำงานของตัวเองบ้าง เลยได้เรียนเกี่ยวกับเนื้อเยื่อสมกับที่ตั้งใจไว้ พร้อมทั้งเรื่องพืชสวนเมืองร้อน และทางด้านภูมิทัศน์ เพิ่มเติมอีกด้วย โดยยังได้ทำงานในร้านดอกไม้ เป็นคนดูแลเนอร์สเซอรี่ไม้ประดับ
ตั้งแต่เรียนผมตั้งใจมาตลอดว่าจะทำงานส่วนตัว ไม่อยากเป็นข้าราชการ อยากมีอิสระ แต่พอดีอาจารย์เดชา จากจุฬาฯ มาช่วยงานคุณสุขุม นวพันธ์ แล้วท่านทราบว่าผมจบจากฮาวาย เรียนมาทางด้านสวน จึงชักชวนให้ผมไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งผมก็ยินดี เพราะไม่ต้องรับราชการ พอสอนได้สักพัก มีการเปิดรับอัตราประจำ เกลี้ยกล่อมยังไงผมก็ไม่เอา จนเขาต้องเข้าทางคุณพ่อ ซึ่งเป็นข้าราชการอยากให้ผมทำอยู่แล้ว ท้ายที่สุดก็ขัดท่านไม่ได้เลยต้องรับราชการเต็มตัว แล้วก็ติดในเรื่องการสอนหนังสือมาตลอด
ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คือ มีอิสระทางความคิด อาจารย์ทุกคนอยู่กันแบบเพื่อนร่วมงาน ไม่ติดยึดในระบบเจ้านายกับลูกน้อง ทุกคนเท่าเทียมกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ฟังความคิดเห็นกัน ซึ่งเป็นข้อดีที่ผมไม่คาดคิด เพราะที่อื่นๆ ก็ยังพบว่ามีระบบเจ้านายกับลูกน้อง ซึ่งผมไม่ชอบเลย
ผมชอบการสอนหนังสือ มาร่วมสามสิบปี ได้สะสมประสบการณ์ทางด้านงานภูมิสถาปัตย์จากความใกล้ชิด ได้เห็นมาตลอด พื้นฐานก็มีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน ระหว่างที่ทำงานก็ยังร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นๆ เปิดสำนักงานรับปรึกษาให้คำแนะนำในเรื่องการออกแบบ รวมถึงงานในโครงการสนามกอล์ฟด้วย
เดิมทีนั้น ที่ดินผืนนี้เป็นของคุณปู่ มีเนื้อที่ราวหนึ่งพันไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ตั้งทำเลสวยมาก คุณปู่รักที่ผืนนี้มาก แล้วท่านก็ยังชื่นชอบม้าแข่ง เคยบอกว่าในอนาคตที่ดินในเมืองจะแออัด อาจจะมีการขยับขยายสนามแข่งม้ามาที่นี่ก็ได้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด แล้วจังหวะที่สวนส้มเขียวหวานรังสิต เป็นส้มเปลือกบางที่เคยได้ราคาดีก็ตกต่ำจนไม่คุ้มที่จะขาย ผมก็เก็บแล้วขนเอาไปแจก แล้วก็มาพิจารณาว่าที่ดินผืนนี้จะทำอะไรดี
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมาตลอด และเมื่อคิดดูว่า จะมีธุรกิจอะไรที่ทำให้พื้นที่คงความเป็นสีเขียวอยู่ได้ แล้วที่ดินก็เป็นของเราตลอดไป และสนามกอล์ฟก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ชั้นดีที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัย ดังนั้นเหมาะที่สุดก็ต้องเป็น สนามกอล์ฟ ถึงจะตรงกับความต้องการ
ปณิธานของเราคือ สนามกอล์ฟไม่ได้มีแค่เรื่องกอล์ฟเท่านั้น ยังมีสโมสรที่ผู้คนจะมารวมตัวกัน เป็นเรื่องของกีฬากับสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปในหลากหลายสาขา เรื่องของเด็กๆ เยาวชนที่จะถูกหล่อหลอมจากสภาพทางสังคม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนำมาเฉลี่ยความสำคัญให้เท่าๆ กัน แล้วลงมือทำ
ในการออกแบบสนามกอล์ฟหลายๆ คนอาจจะมุ่งไปหาโปรที่มีชื่อเสียง หรือบริษัทออกแบบ แต่อาจจะไม่ใช่คนที่ออกแบบตัวจริง โชคดีที่พี่สาวของภรรยาได้ช่วยติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักออกแบบสนามกอล์ฟโดยเฉพาะ มีประสบการณ์จากสนามกอล์ฟระดับโลกมามากมาย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ มีความรู้ทั้งในด้านภูมิสถาปัตย์และการออกแบบ ทำให้ที่นี่มีความลงตัวทั้งเรื่องกอล์ฟและที่ดินในโซนต่างๆ มีการดึงเอาลักษณะเด่นของพื้นที่ในย่านนี้แล้วมาใส่ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของ กรุงกวี
ผมเคยถามเขาว่า ทำไมสนามนี้ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขาบ้างเลย มร. ก็ตอบกลับมาว่า คุณไม่รู้สึกแปลกบางหรือที่พื้นที่ในแถบนี้ รอบข้างเป็นท้องนา เป็นพื้นราบ แล้วจู่ๆ มีเขาโผล่ขึ้นมา เราจึงใส่คูคลองเข้าไป อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของท้องที่คลองรังสิตซึ่งมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในอดีต แล้วยังเป็นผลดีมหาศาลให้กับเราด้วย ทำให้เรามีที่เก็บน้ำเยอะ ได้ทั้งวิวทิวทัศน์ เป็นสิ่งแวดล้อมที่กลมกลืน ช่วยระบายน้ำให้เมื่อฝนตก เพียงไม่กี่นาทีสนามก็เล่นต่อได้ ยังช่วยปรับภูมิอากาศให้ชุ่มชื่น เย็นสบาย เป็นแหล่งอาหารสร้างระบบนิเวศน์ให้กับสัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยในพื้นที่ ปลา นก สัตว์ชายน้ำ
ที่นี่เป็นเหมือนกับห้องทดลองขนาดใหญ่ที่สุด ผมได้นำต้นไม้ชนิดต่างๆ มาลองปลูก บางชนิดยังไม่มีใครเคยใช้มาก่อน อย่าง ยางนา หรือพันธุ์ไม้แปลกๆ ของไทย เช่น คงคาเดือด ก็ได้มาปลูกเพื่อศึกษา คงไม่ค่อยได้พบว่า เจ้าของ คนที่มีความคิดในเรื่องแบบ คนลงมือทำ มีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ จะเป็นรวมครบอยู่ในคนเดียว ทำให้การตัดสินใจ การทดลองทำ สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ใครมาตัดสินใจ ถ้าลองทำแล้วผิด หรือไม่ดี เราก็แก้ไขเองได้ อะไรที่แปลกๆ ใหม่ จึงเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ทั้งหมดนี้ ต้องทำขึ้นบนพื้นฐานขององค์ความรู้ หลักวิชาการ ที่มีอยู่ ทั้งด้านการออกแบบ ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตร
เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ทุกแห่งในย่านนี้ได้รับผลกระทบหมด แต่ด้วยความที่ผมอยากจะปลูกต้นไม้เยอะๆ มาตั้งแต่เริ่ม คันดินกั้นน้ำของที่นี่จึงใหญ่มากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการปลูกต้นไม้ ทำให้น้ำไม่เข้าพื้นที่ของเราเลย ซึ่งกลายมาเป็นผลดีที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน หรือในช่วงแล้วที่ผ่านมา น้ำที่เรามีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นระบบปิด ก็สามารถดูแลสนามได้อย่างเพียงพอ
ผมสอน ภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architecture) ตั้งแต่เริ่มมีภาควิชา ที่ จุฬาฯ ในต่างประเทศ สาขานี้ มีการพัฒนาต่อยอดมาจากเรื่องโรงเรียนป่าไม้ เกษตร เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยยังมองแค่การออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วหยุดแค่นั้น อยากจะไปต่อก็ไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีพื้นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไปหมด มองปัญหาไม่ออก หรือมองออกแต่แก้ไม่ได้
ผมขึ้นไปสอนเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วผมก็เป็นศิษย์เก่าที่นั่นด้วย เห็นความเหมาะสมว่าควรจะเปิดการเรียนการสอนภูมิสถาปัตย์ ซึ่งนิยามของวิชานี้สำหรับผมก็คือ “ศาสตร์ที่ว่าด้วยการวางแผน วางผัง ในการใช้แผ่นดินให้ถูกต้อง” เป็นการทำแผ่นดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน อยู่ได้คงคู่กับเราตลอดไป ถ้าเจอแผ่นดินที่เสื่อมโทรมจะพัฒนาแล้วใช้อย่างไร ให้เอื้อประโยชน์กับธรรมชาติด้วย ทั้งหมดนี้ต้องใช้วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มาร่วมกัน ทั้งความรู้ในด้านพื้นฐานสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ต้นไม้ สัตว์ ใช้วิชาเกษตรไปลงมือจัดการ, ใช้วิชาการออกแบบปนเข้าไป และได้ร่วมมือกับอาจารย์หลายๆ ท่าน ร่างหลักสูตร เป็นสาขาวิชาใหม่อยู่ในคณะเกษตร และสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้เปิดเป็นหลักสูตรคู่ขนานไปกับอีกหลักสูตร
สาขาวิชา “ออกแบบภูมิทัศน์และการจัดการสิ่งแวดล้อม” เหมาะสมที่จะอยู่ในคณะเกษตร เนื่องจากข้อแรก องค์ความรู้ต่างๆ ที่จะต่อยอดการออกแบบมีสอนอยู่ในคณะอยู่แล้ว เช่น ชาติพันธุ์ ความรู้เรื่องดิน การใช้ดินในขนาดมหภาค จีพีเอส ฯลฯ และข้อสอง วิชานี้ว่ากันได้เรื่อง การใช้แผ่นดิน แล้วคนที่ใช้แผ่นดินมากที่สุดก็คือ เกษตรกร เป็นประชาคมที่ใหญ่ที่สุด แต่กลับพบว่า สิ่งแวดล้อมบ้านเรามีความเสื่อมโทรมสูงมาก ป่าต้นน้ำก็อยู่ทางเหนือ จึงมีความเหมาะสมทั้งปวงที่จะเปิดสาขานี้ที่นี่ เรามิได้ตั้งใจที่จะผลิตบุคลากรออกมาเพื่อทำงานออกแบบตามบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่เราตั้งใจจะผลิตบุคลากรเพื่อนำความรู้กลับไปใช้ กลับไปเผยแผ่ ในชนบท ซึ่งเป็นเรื่อง ลึกกว่า กว้างกว่า และ จำเป็นมากกว่า
เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า โทษของการใช้แผ่นดินผิดๆ เป็นอย่างไร ทั้งน้ำท่วม แล้ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ช่วงอุณหภูมิร้อนในแต่ละวันยาวนานขึ้น ฤดูร้อนก็ยาวผิดปกติ แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร แต่เมื่อถามว่า มีหน่วยงานไหน หรือสถาบันไหน ที่จะจัดการเริ่มต้นศึกษา เตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และความรู้ที่จะเจริญเติบโตขึ้นไปนั้นต้องมีจุดเริ่ม เพื่อจะให้มีการรวมตัวของนักวิชาการหรือคนที่สนใจ มาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข หาทางป้องกัน แล้วสามารถกระจายความรู้เหล่านี้เข้าสู่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งอยู่ในชนบท อยู่กับป่าต้นน้ำ เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม ทั้งน้ำแล้ง คนที่จะเดือดร้อนอย่างหนักเสมอก็คือคนในชนบท ที่มีฐานะความเป็นอยู่ยากลำบาก ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ผมต้องการจะให้มีการเปิดสาขาวิชา ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง และจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเปิดหลักสูตร “ออกแบบภูมิทัศน์และการจัดการสิ่งแวดล้อม” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เราไม่ได้คิดถึงเรื่องการสร้างรายได้ทั้งหมด อาจจะเนื่องด้วยอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าหากเราคิดเผื่อแผ่ให้กับธรรมชาติด้วย ผลตอบสนองจะได้รับกลับมาดีเสมออย่างไม่คาดคิด ซึ่งก็ตรงกับคำสอนของพระอาจารย์อลงกต วัดพระบาทน้ำพุ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ยิ่งเราฝืนธรรมชาติมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น” แล้วคนเราต้องมีเมตตาให้มากที่สุด กับทุกๆ เรื่อง คนรอบข้าง สถานที่ ชุมชน สัตว์ต่างๆ แม้กระทั่งกับ ดิน น้ำ วัตถุสิ่งของ ครั้งแรกๆ ก็ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่เมื่อมาพิจารณาละเอียดแล้วก็พบว่าจริงอย่างที่ท่านสอน เช่น ข้าวของถ้าเราดูแลรักษาดีๆ ก็จะอยู่ให้เราใช้งานได้ยาวนาน กับคนก็ต้องมีความเมตตาเป็นที่ตั้ง เวลาคนทำความผิด ถ้าไม่เมตตาเขา ก็จะตอบสนองความผิดนั้นทันที แต่ถ้ามีเมตตา เราก็จะนิ่ง เพื่อหาเหตุผลในสิ่งที่เขาทำ อาจจะสงสารเขา หาวิธีช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาดีได้ “เมตตา” จึงเป็นเครื่องสะกดให้เรา “นิ่ง” เมื่อนิ่งแล้ว ใจเราก็ “สบาย” ความเมตตา ทำให้ปัญญาสูงขึ้นครับ