เป็นหวัด เจ็บคอ ไม่ง้อยา
เป็นหวัด เจ็บคอ ไม่ง้อยา
ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาการเป็นหวัด เจ็บคอ น้ำมูกไหล มักจะมาเยือนกันเป็นประจำ จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้สามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อหาซื้อยากินเองได้ แต่หลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซื้อยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งนิยมเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ถูกต้อง
ยาปฏิชีวนะจะให้ผลในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี เช่น โรคปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่การเจ็บป่วยด้วยอาการเล็กน้อย เช่น อาการโรคหวัด เจ็บคอ ไอ จามสามารถหายได้เองถ้าไม่มีอาการติดเชื้อเพิ่ม และที่สำคัญในทางวิชาการมีผลการวิจัยชัดเจนว่า ไข้หวัดมากกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นการกินยาต้านแบคทีเรีย ไม่มีผลต่อการดำเนินการของโรคแต่อย่างใด นอกจากจะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองขึ้นจนกลายเป็น ซูเปอร์บัค (Super Bug) ที่ดื้อต่อยา และสามารถหายารักษาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และหากติดเชื้อในอวัยวะที่สำคัญ จะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นเชื้อที่ดื้อยาบางชนิดสามารถแพร่กระจายการดื้อยาออกไปได้ด้วย
ความน่ากังวลมากขึ้น เมื่อพบว่ามีการใช้การใช้ยาต้านแบคทีเรียผิดวิธี โดยนำไปใช้ในการเกษตร ทำให้มีการปนเปื้อนของยาต้านแบคทีเรียและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาออกสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้มีโอกาสได้รับยาต้านแบคทีเรียที่ตกค้างรวมถึงยีนที่ดื้อต่อยาของแบคทีเรียอยู่ในอาหารนั้นๆ แม้ว่าจะมีการล้างให้สะอาดหรือปรุงให้สุก ก็ยังอาจมีการตกค้างของยีนดื้อยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายเกิดการดื้อยาได้
การใช้ยาต้านแบคทีเรียทุกครั้งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา และการใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นจึงยิ่งซ้ำเติมวิกฤติเชื้อดื้อยาให้รุนแรงมากขึ้น ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยานั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาได้กลายเป็นวิกฤติระดับโลก จนองค์การอนามัยโลกจึงต้องจัดให้มีสัปดาห์รณรงค์ทั่วโลกแล้ว
สำหรับในบ้านเรา แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อระดมกำลังจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันเพื่อลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% โดยมีศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และ สสส. ร่วมขับเคลื่อนภารกิจนี้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็ได้ร่วมกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียใน 3 อาการ คือ ไข้หวัด ท้องเสีย และแผลสด
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า “ในปีนี้ กพย.และ สสส. เน้นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านวลีที่ว่า ‘เป็นหวัดเจ็บคอไม่ง้อยา’ โดยมีการรณรงค์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดให้มีการประกวดเต้นประกอบเพลง ‘อย่าพึ่ง’ ซึ่งได้นักแต่งเพลงมืออาชีพที่เคยแต่งเพลงให้ศิลปินอย่าง เดอะสตาร์ มาแต่งเพลงให้ โดยผู้ที่สนใจสื่อความรู้และรายละเอียดการประกวด สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ atb-aware.thaidrugwatch.org หรือที่ facebook/thai.antibiotic.awareness