Just Say Know

อันตรายจาก แมงกะพรุนกล่อง

อันตรายจาก แมงกะพรุนกล่อง

แม้ว่าจะมีความสวยงาม ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมากมายหลงใหล แต่ภายใต้ความสวยงามของท้องทะเลก็แฝงไว้ด้วยอันตรายที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากมาย โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่บ้านเรามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจาก “แมงกะพรุนกล่อง” แล้ว 2 ราย ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือน

แมงกะพรุนกล่อง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตัวต่อทะเล” เป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในทะเลเขตร้อน ลำตัวคล้ายระฆังคว่ำโปร่งใส อาจมีสีฟ้าอ่อน น้ำตาล เหลือง หรือชมพู มีหนวดยื่นออกจากมุมทั้ง 4 มุม บางชนิดอาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ ในประเทศไทยพบอยู่ประมาณ 10 ชนิด โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มที่มี สายเดี่ยว (พิษไม่รุนแรง) กับ หลายสาย (พิษรุนแรงมาก) โดยพิษจะส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเกร็ง เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก ส่วนชนิดหลายสาย มีพิษต่อหลายระบบในร่างกายทั้งเลือด ผิวหนัง หัวใจ ประสาท ส่วนใหญ่ผู้ได้รับพิษมักมีอาการปวดบริเวณแผล หรืออาจปวดไปทั่วร่างกายจนจมน้ำ รวมทั้งในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้

ซึ่งหลังจากที่มีข่าวการเสียชีวิตจากแมงกระพรุนกล่องของนักท่องเที่ยวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ความรู้ผ่านทางเฟสบุก ถึงแนวทางป้องกันและรักษาเบื้องต้นเมื่อโดยแมงกระพรุนกล่องว่า แมงกะพรุนกลุ่มนี้มักพบในช่วงหน้าฝน (เหมือนแมงกะพรุนทุกชนิด) เป็นแมงกะพรุนที่เคลื่อนที่เร็วเมื่อเทียบกับกะพรุนชนิดอื่น มักอาศัยอยู่ใต้ผืนน้ำ และเนื่องจากน้ำทะเลชายฝั่งเมืองไทยค่อนข้างขุ่น แมงกะพรุนตัวใส ขนาดเล็ก โอกาสที่จะมองเห็นมีน้อย การป้องกันคือสังเกตทะเล หากเป็นช่วงหน้าฝน น้ำขุ่น อย่าลงน้ำหรือถ้าอยากลงจริง อยากให้อยู่บริเวณติดฝั่งตรงคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่น และควรใส่ชุดปกปิดให้มิดชิด

แต่ถ้าโดนแล้ว ความรู้สึกคล้ายโดนแส้ฟาดหรือไฟฟ้าช็อต อย่าเอามือปัดไปมาเพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดหนักขึ้น ควรตั้งสติและตะโกนบอกเพื่อนให้รู้ตัว ค่อยๆ เดินออกมาจากบริเวณนั้น อย่าวิ่งเพราะอาจจะทำให้โดนหนวดมากขึ้น ถ้าเดินไม่ได้คนที่จะเข้าไปช่วยควรเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงและหาทางปกปิดร่างกายมากที่สุด เมื่อขึ้นมาบนฝั่งได้แล้วให้รีบนำตัวไปพบแพทย์โดยเร็ว ระหว่างนั้นการทำให้เศษแมงกะพรุน รวมทั้งเซลล์เข็มพิษที่อาจติดอยู่แต่มองไม่เห็น ออกจากร่างกายผู้เคราะห์ร้ายให้เร็วที่สุด เป็นวิธีดีที่สุดในการช่วยชีวิต ถอดเสื้อผ้า เอาน้ำทะเลอุ่นๆ สาดใส่ไปเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับน้ำส้มสายชูหรือครีมโกนหนวด ยังเป็นที่สงสัย แต่ห้ามใช้น้ำจืดหรือน้ำยาอะไรก็ตามโดยเด็ดขาด  จากนั้นก็นำส่งแพทย์โดยด่วน และควรต้องมีผู้ที่ปฐมพยาบาลฉุกเฉินเป็นติดตามไปด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุด

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่โดนมากจะเกิดอาการรุนแรงใน 10 นาที ถ้าพ้นไปแล้วโอกาสเสียชีวิตมีน้อย และหากนำเซลล์เข็มพิษออกหมด ภายใน 5-10 นาที อาการเจ็บปวดน่าจะทุเลา อาจใช้น้ำแข็งประคบก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเซลล์เข็มพิษหมดแล้ว

แม้ว่าจะมีอันตรายอยู่บ้าง แต่หากเรียนรู้ ระมัดระวัง และมีสติ ท้องทะเลไทย ก็ยังคงความสวยงามและน่าไปเที่ยวชมอยู่เช่นเดิมครับ