ดร.พิเชษฐ์ เกิดวิชัย
ดร.พิเชษฐ์ เกิดวิชัย
ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการฟุตบอลอาชีพ
วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
“ยอมรับความจริง”
รักกีฬาผ่านวิทยุ : สมัยเด็กๆ อยู่ต่างจังหวัด บ้านเราอยู่ในทุ่ง ในนา ไม่มีทีวี หนังสือพิมพ์ก็หาอ่านยาก มีแต่วิทยุฟังเท่านั้น จำได้ว่าตั้งแต่สมัยเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ฟังถ่ายทอดกีฬา ทั้งบาสฯ ทั้งฟุตบอล และกีฬาอื่นๆ นั่งฟังผู้บรรยาย แล้วก็จินตนาการตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ก็ไม่เคยเห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร แต่นั่นก็ทำให้ผมรู้จักนักกีฬาทุกคน จำชื่อได้หมด รู้ว่าใครเล่นตำแหน่งไหน เข้าใจเกมส์การเล่นตั้งแต่อายุตอนนั้นยังไม่ถึงเจ็ดขวบเลย
รักการอ่าน : ครอบครัวเราทำนาที่สุพรรณ พ่อมีรถไถ แล้วก็ชอบกีฬาด้วย เวลาเข้ามาซื้ออะไหล่ที่กรุงเทพฯ ก็จะซื้อของฝากกลับมาให้ลูกๆ ทั้ง 8 คน โดยเฉพาะหนังสือซื้อกลับมาเยอะมาก ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน หนังสือรายสัปดาห์ ทุกฉบับที่มี หอบมาเป็นตั้งๆ ขนมก็ซื้อกลับมาเยอะด้วย พอมาถึงก็จะวางกองรวมกันทั้งขนมทั้งหนังสือ แล้วก็ไม่มีใครแย่งขนมกันเลย ทุกคนแย่งกันอ่านแต่หนังสือ
ชอบมวย : สิ่งที่ชอบที่สุดของผมก็คือ มวย ใครเป็นใครรู้จักชื่อหมด โดยอ่านจากหนังสือ เวลาไปโรงเรียนมัธยมก็จะให้เพื่อนซื้อหนังสือมวยมาให้ทุกวัน เลยรู้จักนักมวยทุกคน จำสถิติได้ ขนาดตอนทำงานแล้ว เคยไปสัมภาษณ์ ชาติชาย เชี่ยวน้อย เขายังหัวเราะผมเลยว่า ทำไมรู้เรื่องมากกว่าตัวเขาเองอีก เรื่องกีฬามวยจึงอยู่ในสายเลือดที่ซึมซับเข้ามาผ่านความชอบต่างๆ โดยไม่รู้ตัว
มั่นใจในตัวเอง : ความคิดในจิตใจของผมคือ เกิดมาเพื่อทำข่าวกีฬาโดยเฉพาะเลย ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นผมกับน้องชาย อาศัยอยู่กับคุณป้า ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 2 มีอยู่วันหนึ่ง น้องชายที่เรียนอยู่ชั้น มศ.4 อ่านหนังสือพิมพ์หน้าข่าวกีฬา แล้วก็พูดกับผมว่า เชื่อมั้ยว่า ข่าวหน้ากีฬาที่อ่านอยู่เนี่ยะ เราสองคนพี่น้อง ยังทำได้ดีกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะอ่านแล้วไม่มีอะไรเลย ข้อมูลพวกนี้เรารู้กันหมดแล้ว ชื่อนักกีฬาบางคนยังเขายังเขียนผิดเลย
เล่นกีฬาจนเรียนเกือบไม่จบ : ช่วงอยู่มหาวิทยาลัย แทบจะไม่ได้เรียน วันๆ อยู่แต่กับสนามฟุตบอล ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ผมไปยืนรอเฝ้าประตูฟุตบอลแล้ว ใครอยากยิง อยากเตะ ผมก็คอยรับอยู่นั่นแหล่ะ จากที่เล่นไม่เป็นเลย ค่อยๆ เล่น ค่อยๆ ฝึกมาเรื่อยๆ จนติดเป็นผู้รักษาประตูทีมชุดเล็กของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เลือกเป็นประตู : เพราะผมไม่มีพื้นฐานทางกีฬาเลย มาจากต่างจังหวัด ร่างกายก็ยังไม่พร้อมเต็มที่ ตัวเองก็วิ่งช้า ดังนั้นจึงคิดว่า เป็นประตูน่าจะง่ายที่สุด เวลาเล่นก็นึกถึงภาพนายประตูทีมชาติไทยสมัยนั้น ว่าเขาเล่นกันยังไง มีลีลา กระโดด เหิน แบบไหน แล้วก็ทำตามอย่างเอา
เกือบไม่ได้เป็นนักข่าว : พอขึ้นปี 4 ได้มาฝึกงานที่ นสพ.บ้านเมือง โดยมี อ.ถาวร สุวรรณ สอนการเขียนบทบรรณาธิการให้ แล้วก็ชักชวนให้ไปทำละครด้วย บอกว่าผมมีแวว ถ้าติดขัดตรงไหนท่านจะช่วยเหลือ แต่ผมก็บอกว่า อยากเป็นผู้สื่อข่าวกีฬามากกว่า
ฝึกงานแล้วต้องได้งาน : ความตั้งใจของผมคือ เราไม่รู้จักใครเลย เมื่อไปฝึกงานแล้ว ก็ต้องให้ได้งานด้วยเลย สมัยนั้น พี่โย่ง เอกชัย นพจินดา, พี่ยอด ยอดชาย ขันธชวนะ ยังทำงานอยู่ที่นั่น ก็เท่ากับผมได้เป็นลูกศิษย์ของพี่ๆ ด้วย
ไม่เคยลาออก : เคยแต่โดนให้ออก ด้วยความที่โตเร็ว ได้เป็นหัวหน้าเร็ว เลยมีปัญหาเรื่องปกป้องลูกน้อง แล้วเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ ทำให้เมื่อมีปัญหาแล้วก็ต้องไป
ข่าวเศรษฐกิจ : เคยไปทำข่าวเศรษฐกิจอยู่พักนึง สนุก ชอบ ก็ทำได้ เพราะเราอ่านหนังสือเยอะ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด บางเรื่องเราไม่รู้ ก็โดนแหล่งข่าวว่าเราสัมภาษณ์ไม่รู้เรื่อง ศัพท์ การเงินลึกๆ บางคำก็ไม่คุ้นเคย
กลับมาทำข่าวกีฬา : มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อปี 2525 ได้นั่งคุยกับ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทราบข้อมูลว่า สถาบันการเงินในประเทศไทย ที่มีอยู่ร้อยกว่าแห่ง มีมั่นคงอยู่แค่ราวสิบกว่าแห่งเท่านั้นเอง ผมก็ไปคุยต่อที่โรงพิมพ์ พร้อมกำชับว่า อย่าเผลอไปลงข่าวนี้นะ เล่าให้ฟังเป็นความรู้ แต่วันรุ่งขึ้นกลับเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง และส่งผลให้สถาบันการเงินปั่นป่วนไปหมด ส่วนผมก็ถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากผู้บริหารที่เคยคุยด้วย จนผมเกิดความรู้สึกว่า ในเมื่อเราไม่สามารถเสนอข่าวที่เป็นความจริงได้ ก็อย่าไปทำข่าวแนวนี้เลย กลับมาทำข่าวที่เราถนัดดีกว่า เพราะข่าวกีฬาคือการนำเสนอเรื่องจริง มันเป็นผลการแข่งขัน ผมก็เลยกลับมาทำงานสายข่าวกีฬาอีกครั้ง เมื่อฟุตบอลโลก ปี 1994 และเริ่มไปสร้างมิติใหม่ให้กับ นสพ.เดลินิวส์ โดยผมทำเองหมดทั้งจัดหน้า เขียนเนื้อเรื่อง จนเริ่มเป็นที่รู้จัก และยังเป็นที่มาของนามปากกา อาลาดิน อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยใช้มาหลายชื่อ แต่กลายเป็นว่า ชื่อ อาลาดิน เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
เส้นทางการศึกษา : ผมใช้เวลาเรียนปริญญาตรีถึง 7 ปีกว่าจะจบ เพราะทั้งเล่นกีฬา ทั้งยังต้องทำงานพิเศษที่หนังสือเพลงอีก ความตั้งใจเรียนเลยน้อยมาก จนไม่คิดว่าจะจบด้วยซ้ำ จนครั้งที่ผมไปกีฬาโอลิมปิค ความตั้งใจคือ ไปแล้วจะโดดไปเป็นโรบินฮู้ด หนีไปอยู่ที่เมืองนอกเลย แต่เกิดเปลี่ยนใจกลับบ้าน พอกลับมาก็โดนพี่ต่อว่าเรื่องเรียนไม่จบซะที จนผมไปค้นดูใบเกรดก็พบว่า ผมเรียนจบแล้ว แต่ไม่เคยไปขอจบ พอเรียนจบก็ไปสอบต่อปริญญาโท แต่สมัยนั้นยังไม่พร้อม ก็ต้องทำงานไปก่อน จนได้มาเรียนหลักสูตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจนเมื่อมีโอกาส เพื่อนมาชวนเรียนปริญญาเอก หลักสูตรการจัดการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผมเป็นรุ่นแรก เรียนภาคปกติ ก็ตัดสินใจลงเรียน ใช้เวลาอีก 7 ปี กว่าจะจบ โดยไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย
สาขาการจัดการฟุตบอลอาชีพ : ผมเรียนปริญญาเอก ช่วยสมาคมฟุตบอลฯ จัดการแข่งขันลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตรของ วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ครั้งแรกก็ยังไม่ได้มาช่วยเต็มตัว ยังทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ จนเมื่อถึงวาระที่ต้องมาเป็นอาจารย์ โดยที่รู้สึกว่า ตัวเองถนัดแต่ในเรื่องเขียน ส่วนการพูด การสอน รู้สึกว่าไม่ถนัดเลย เพราะเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา ไม่ได้เป็นนักวิชาการ แต่เมื่อต้องเปลี่ยนจากชีวิตที่คุ้นเคยมานาน มาสู่การทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเราต้องการผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางด้านฟุตบอล ออกไปทำงานด้านฟุตบอล อยากเห็นวงการนี้ของบ้านเรามีความเจริญก้าวหน้า เราได้เห็นฟุตบอลต่างประเทศเติบโตขึ้นมายังไง บ้านก็อยากจะนำมาปรับใช้กับเราบ้าง ซึ่งมันเป็นไปได้หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน
Esports : เป็นกีฬาใหม่ ในยุคก่อนนั้นอาจจะมองว่า การเล่นเกมส์ ทำให้เสียเวลา แต่โลกปัจจุบันนั้น มุมมองเกี่ยวกับ Esports เปลี่ยนไปมาก กลายเป็นกีฬา กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหาศาล ผมเคยประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ในเรื่องหลักสูตรการจัดการกีฬา และได้รับการเสนอให้จัดทำหลักสูตร Esports เพราะมีองค์กรที่พร้อมจะให้การสนับสนุน พอผมปรึกษากับอธิการบดี ท่านก็บอกทำมาให้เสร็จภายในสองเดือน วันถัดมาคณบดีก็มากำชับอีกว่าต้องทำให้เสร็จ เราจึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาระดมความคิดกัน จะได้พันธมิตรต่างๆ มาช่วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตร เพื่อเข้าสู่สภาวิชาการ เราสอนการบริหารจัดการในเรื่อง Esports ไม่ใช่สอนเรื่องการเล่นเกมส์ เมื่อจบหลักสูตรแล้ว จะสามารถเปลี่ยนคนเล่นเกมส์ให้กลายเป็นผู้บริหาร ไปทำงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้จัดการแข่งขัน เป็นเจ้าของกิจการ เป็นสื่อ เป็นนักพากษ์ เป็นเคสติ้ง ทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง หรือจะต่อยอดไปเรียนต่อก็ยังได้
ยังเชื่อมั่นว่าเราต้องทำได้ : ผมยังมีความเชื่อว่า ถ้าเราสร้างคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความต้องการจะพัฒนาฟุตบอล จะช่วยให้วงการฟุตบอลเราโตได้
แต่เราต้องใส่จิตวิญญาณ มองภาพเพื่อองค์รวม ไม่ใช่มองภาพของตัวเอง เพราะที่ผ่านมานั้น คนที่เข้ามาในวงการนี้เมื่อมองแต่ภาพตัวเอง แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน คนแบบนี้ทำให้วงการกีฬาไม่พัฒนา
เห็นวงการนี้มานาน : ผมรู้ว่าอะไรที่ทำให้วงการนี้ไม่โต เมื่อตัวเองมีโอกาส จะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ มีจิตวิญญาณของการพัฒนา อาจจะช่วยได้แค่ในระดับหนึ่ง ก็พอใจแล้ว คงยังไม่ฝันไกลถึงขนาดต้องไปให้ถึงดวงดาวในระยะเวลาอันสั้น เราต้องมองทุกอย่างบนพื้นฐานความเป็นจริงว่า บ้านเรายังขาดปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่าง แต่ยังไงก็ต้องพยายามมุ่งมั่นสร้างกันต่อไป และต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย
สุขภาพกายใจ : ผมเล่นฟุตบอล ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อาจจะนอนดึกบ้าง ก็อาศัยพักผ่อนชดเชยให้พอ ร่างกายก็ไม่ได้เสียหายอะไรมาก มีจังหวะก็หาโอกาสออกกำลังกายบ้าง แล้วก็ไม่แบกโลกไว้คนเดียว ไม่เคยมีความคิดจนปวดหัวแล้วเอากลับบ้านไปด้วย เรื่องเครียดๆ จบแล้วจบเลย โยนทิ้งไว้ที่นั่น ไม่เอาเรื่องคนอื่นไปคิด ไม่ให้ร้ายใคร แล้วเราก็จะสบายใจ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้อย่างมีความสุข
คติชีวิต : ครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่า การเป็นผู้สื่อข่าว จะเขียน จะแนะนำอะไรก็ได้ ด้วยความคิดอิสระ แต่ในความเป็นจริงนั้น เราทำไม่ได้ เวลาเขียนอะไรไปก็โดนฟ้อง เขียนอะไรไปก็โดนด่า บางครั้งถูกบุกมาเอาเรื่องถึงโรงพิมพ์ ทำให้ต้องตระหนักว่าความคิดอิสระที่จะแสดงออกได้นั้นยังไม่มีอยู่จริงหรอก เราก็ต้องยอมรับความจริงของโลกนี้ แล้วค่อยๆ ทำมันไป ทำเท่าที่จะทำได้ อย่าท้อที่จะพูดความจริง แล้วสื่อสารออกมาอย่างสร้างสรรค์ และก็ยังหวังว่าจะสำเร็จได้สักวันในอนาคตครับ