Interview

ช่อราตรี พันธุ์กุ่ม

ช่อราตรี พันธุ์กุ่ม
ฝ่ายจัดการสมาคม
สมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ในพระบรมราชินูปถัมภ์

“ทำงานรับราชการตั้งแต่อายุ 19 จนเกษียณเมื่อปี 2547 รวมอายุราชการ 40 ปีพอดีค่ะ” ครูช่อ หรือ อาจารย์ช่อ (ช่อราตรี พันธุ์กลุ่ม) เอ่ยถึงชีวิตการทำงานอันยาวนาน แต่กลายเป็นว่า ชีวิตหลังเกษียณ ที่คิดว่าจะได้หยุดพักกลับต้องยังทำงานอยู่อีก แต่เป็นงานเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม

อาจารย์ช่อ เป็นเด็กต่างจังหวัดจากปราจีนบุรี ตอนเข้ามาเรียนสวนสุนันทา มาอาศัยอยู่กับญาติ ต้องช่วยงานบ้านทุกอย่าง เครื่องทุ่นแรงสมัยนั้นก็ยังไม่มี ซักผ้าทีเป็นกาละมังใหญ่ๆ ด้วยมือทั้งหมด กว่าจะทำเสร็จ แล้วยังต้องการบ้านของตัวเองอีก ซึ่งสวนสุนันทาก็ให้เป็นแบบฝึกหัดทั้งนั้น พอวันหยุดก็ต้องรีดผ้าอีก “ทำงานบ้านไป น้ำตาหยดไป เลยค่ะ” แต่คิดไว้ในใจเสมอว่า… “ลำบากไว้ก่อน ชีวิตจะสบายเมื่อปลายมือ” แล้วก็เป็นจริง เพราะในเวลาต่อมา ท่านก็ได้ครบ ครอบครัวดี สามีดี ลูกดี

“เด็กสวนสุนันทา ถือว่าอยู่ในวัง เป็นเด็กเรียบร้อยมาก พูดจากไพเราะ เวลาจะเข้าหาอาจารย์ พอพ้นประตูต้องคลานเข่าเข้าไป จนมายุคหลังเริ่มมีนักเรียนชายเข้ามาเรียนด้วย เขารู้สึกไม่สะดวกที่จะปฏิบัติอย่างเดียวกัน เข็มขัดที่ใส่ก็ใหญ่ เราฝ่ายหญิงไม่รู้สึกอะไร แต่ฝ่ายชายคงรู้สึกเขิน”

“เด็กสมัยก่อนน่ารักกว่าสมัยนี้ ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด คำพูดคำจาอ่อนหวาน ไม่มีคำหยาบให้ได้ยินเลย เห็นเด็กสมัยนี้แล้วเป็นห่วงมากเลย ยิ่งพอเราไม่ได้เป็นครูบาอาจารย์แล้ว ยิ่งรู้สึกกังวล” อาจารย์ช่อ แสดงความรู้สึกถึงเด็กในยุค 4 จี ที่แตกต่างกับรุ่นเก่ากันอย่างเทียบไม่ติด

หลังจากเรียนวิทยาลัยครูสวนสุนันทา 2 ปี ได้วุฒิ ปกศ. ก็สอบเข้าบรรจุโรงเรียนของ กทม. รุ่นแรกๆ สอบได้ที่ 7 จากผู้สมัครพันกว่าคน ทำให้มีโอกาสเลือกโรงเรียนวัดจักรวรรดิ สามปลื้ม ที่ใกล้บ้านแล้วบรรจุเป็นข้าราชการ ทำงานไปสักระยะแล้วเรียนต่อ ปริญญาตรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ เรียนภาคค่ำไปด้วย ทำงานไปด้วย

อาจารย์ช่อ เริ่มเป็นครูตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แค่เพียง 19 ปี เงินเดือนเริ่มต้นที่ 600 บาท และมีอายุราชการนานถึง 40 ปี โดยตั้งใจทำหน้าที่อย่างดี มีความรับผิดชอบสูงมากในชีวิต อยู่ทำงานจนเสร็จ จนได้รับคำชมเชยมาตลอด ผู้ใหญ่ถึงกับเอ่ยชมว่า “ถ้ามีข้าราชการอย่างนี้ในหน่วยงาน รับรองว่าเจริญแน่”

แต่เธอก็ไม่อยากเป็นใหญ่เป็นโต จึงปฏิเสธการรับตำแหน่งต่างๆ เพราะต้องการอยู่กับครอบครัว โดยเธอเป็นครูประถมต้องสอนทุกวิชา จะได้รู้จักเด็กทั้งหมด แต่ถนัดที่สุดคือวิชาวิทยาศาสตร์ หรือ สปช. “อยู่ที่ไหนก็ทำดีได้ค่ะ เราเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้มีคนนับถือ ไปมาหาสู่ สอนหนังสือกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาถึงรุ่นลูก จนถึงรุ่นหลานเลยก็มี เวลาไปเดินตลาดสำเพ็ง คนก็จะเรียกชื่อ จดจำเราได้ นี่แหล่ะคือความสุข ไม่ได้อยากได้ยศ ไม่อยากได้ตำแหน่ง”

“พอดีบ้านอยู่ใกล้ๆ สน.ท่าพระ เขาเห็นว่าเราเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็เชิญให้ไปเป็นประธาน แอโรบิค ดูแลกิจกรรม ตอนเย็นก็ต้องไปออกกำลังกายด้วย ทำให้สุขภาพแข็งแรง รับหน้าที่มาตั้งแต่ก่อนเกษียณ ยิ่งเมื่อมีงบประมาณมาให้ ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะยึดถือว่า ต้องไม่ให้ใครว่าได้ เป็นประธานก็เครียด ต้องไปก่อน เตรียมความพร้อม กวาดลาน เค้าเต้นกันก็ต้องเต้นด้วย ทำบัญชีรายรับรายจ่าย มีงานกิจกรรม ก็พากันไป อะไรที่ช่วยเหลือได้ก็ทำเต็มที่ แล้วก็ทำเรื่อยมาจนกระทั่งเกษียณก็ยังทำอยู่ จนหมดงบประมาณถึงได้หยุดไป แต่สิ่งที่ยังได้ประโยชน์ติดตัวมาคือ การมีสุขภาพร่างกายดี”

พอพักได้ยังไม่ทันถึงปี เจ้าอาวาสวัดยานนาวาในขณะนั้น ก็ให้เลขาฯ มาติดต่อ เพื่อเปิดโรงเรียนปริยัติ คือรับเด็กยากจนจากต่างจังหวัดที่จบ ป.6 แล้วไม่มีเงินเรียนต่อ บวชเณร แล้วมาเรียนหนังสือต่อ ภาคเช้าเรียนบาลี ภาคบ่ายเรียนหลักสูตรทางโลก เริ่มตั้งแต่ ม.1 อาจารย์ช่อก็ต้องหาเพื่อนๆ ครูในแต่ละสาขาวิชา ที่เกษียณแล้วมาช่วยกันสอน

ปัญหาที่พบคือ เด็กที่จบ ป.6 มาแล้ว บางคนยังอ่านหนังสือไม่ได้ก็มี ทำให้ต้องปรับความรู้กันใหม่หมด ต้องมาสอนพิเศษกันในวันหยุดอีก “ทั้งหมดนี้ เราคนเดียวเลย”

เด็กที่เรียนจนโตแล้วอ่านหนังสือยังไม่ได้ หมายถึงความตั้งใจในเรื่องเรียนไม่มีเลย เด็กยี่สิบกว่าคน ถึงเวลาเรียนมากันไม่ถึงครึ่ง “อายุเราก็มากแล้ว แต่ต้องวิ่งไปขึ้นตามเด็กที่นอน หรือแอบไปซ่อนอยู่บนตึกชั้นสูงๆ ให้มาเรียน จะว่าเหนื่อยก็เหนื่อย แต่ก็สนุกไปด้วยนิดหน่อย เพราะร่างกายยังพอไหว”

“ความมีระเบียบวินัย ถือว่าแทบไม่มีกันเลย แต่เราเองอยู่ในระเบียบวินัยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร พอเจอแบบนี้เหนื่อยสุดๆ เข้าห้องเรียนแต่ละครั้ง ถอดรองเท้ากันแบบคนละทิศละทาง เราก็ไม่พูด ลองจับเรียงด้วยมือให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ที่ถูกต้องควรทำกันยังไง อยากให้พวกเขาสำนึกกันบ้าง แต่ก็ไร้ผล เพราะผู้ใหญ่เองก็ไม่เห็นความสำคัญ จนรู้สึกท้อใจมาก อยากจะขอลาออก แต่ท่านเจ้าอาวาสก็ให้กำลังใจและขอให้อยู่ช่วย”

เด็กที่เรียน ล้วนแล้วแต่ยากจนทั้งนั้น อุปกรณ์เครื่องเขียน ไม่มีอะไรกันเลย “เราก็ต้องควักทุนตัวเองจัดหามาให้ ไหนจะต้องจ่ายค่าเดินทางไปกลับอีก แต่เราก็ยินดี เพราะรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ท่านได้เชิญเรามา”

อาจารย์ช่อ ยังนึกเสียใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ ที่ต้องทำโทษเณร แต่ ณ เวลานั้น ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะหนีเรียน ดื้อ เกเร กันเหลือเกิน เวลาที่ตัวเองไม่สอน ก็ยังต้องคอยไปดู เพราะครูท่านอื่นอาจจะไม่กล้าดุ “แต่เราไม่ยอม เพราะถ้าปล่อยปละละเลยไป พวกเขาจะได้อะไรจากสิ่งที่พวกเราพยายามอดทนสั่งสอนกันไป”
พอทุ่มเทให้แบบนี้ พฤติกรรมเด็กที่ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ก็เปลี่ยน เขาปรับปรุงตัวเองจนได้ดี ขณะที่บางคนไม่คิดจะเอาอะไรเลย เรียนไปก็สูญเปล่า

ถึงแม้จะพบกับปัญหาสารพัด แต่ครูกลุ่มนี้ก็พยายามสู้จนถึงที่สุด จนเมื่อถึงจุดที่สู้ต่อไป ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องยอม… “สิ่งที่เสียดายที่สุดก็คือ ระบบการศึกษานี้น่าจะได้รับการต่อยอดให้มากกว่านี้ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสจริงๆ เราสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนที่ใฝ่ดี อยากมีอนาคต ให้เขาประสบความสำเร็จได้”…

อาจารย์ช่อ ได้เข้ามาร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อคณะกรรมการได้เชิญให้มาช่วยงานในสมาคมฯ และนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ก็ยังเป็นเพื่อนที่จบมารุ่นเดียวกัน

“มาเป็นเลขาฯ รุ่น ของสมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทาฯ พวกเราเรียกว่า รุ่น 06,08 เพราะจบ ปกศ.ต้น ปี 2506 และ ปกศ.สูง 2508 มาอยู่รวมรุ่นกัน เพื่อนๆ สมัยเรียนอยู่ต่างจังหวัดกันทั้งนั้น เพราะได้ทุนมาจังหวัดละคน พอส่งจดหมายไปตามที่อยู่ในทำเนียบรุ่น ส่วนใหญ่ก็ย้ายกันไปตามวาระ แต่เราก็พยายามติดต่อเพื่อน โดยอาศัยเพื่อนและความทันสมัยของระบบในปัจจุบัน รวบรวมจนได้ถึงสองร้อยกว่าคน ทำให้เพื่อนๆ ที่ตามจนเจอดีใจกันมากๆ ที่ได้กลับมารวมกันอีกครั้ง หลังจากแยกย้ายกันไปนานแสนนาน”

ถึงแม้ไม่เคยทำบัญชีการเงิน แต่อาจารย์ช่อก็ทำได้เพราะความจริงจัง ความละเอียดใส่ใจ “เล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องลงบัญชีให้หมด” ทำให้รู้ที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน จนได้รับไปเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่น

“ทำงานด้านการเงิน ต้องไม่มีเรื่องด่างพร้อย ต้องไม่มีข้อผิดพลาด หรือมีข้อสงสัย ปัญหาทุกอย่างต้องหาคำตอบ มีหลักฐานชี้แจงได้ เป็นเหรัญญิกได้สองสมัยสี่ปี ครบวาระก็ต้องเว้นวรรค ทำให้รู้สึกว่าจะสบายหน่อย แต่ท่านนายกสมาคมฯ ก็ยังให้ช่วยงาน คอยดูแลอยู่”

“กลายเป็นว่า หลังเกษียณ เป็นข้าราชการบำนาญ ภาระในชีวิตก็ไม่มีอะไรมากแล้ว อยู่อย่างพอเพียง มีเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ต้องรู้จักประมาณตน รู้จักกิน รู้จักใช้ ลูกก็คนเดียว คิดว่าชีวิตนี้คงจะว่างๆ สบายๆ ก็ได้มาทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม และยังได้เจอกับเพื่อนๆ ได้กลับมายังสถาบันที่รัก ทำให้ชีวิตรู้สึกสดชื่น และมีพลังอยู่เสมอ”

และเมื่อถามถึงเคล็ดในการใช้ชีวิตแถมท้าย อาจารย์ช่อก็บอกว่า…

“เกลียดสิ่งไหน จะไม่ทำสิ่งนั้น การทำงานจะไม่ไปสนใจว่า ทำแล้วจะต้องได้อะไร ขอแค่ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด แล้วทำไปเถอะ เดี๋ยวเราก็จะได้ดีเอง ทำให้เมื่อคิดย้อนกลับไปว่า สิ่งที่เราเหนื่อยยากมานั้น ไม่สูญเปล่าเลย คนทำดี ต้องได้ดี ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย แต่เรามีความสุขได้ แล้วพออายุมากขึ้น สุขภาพก็ต้องดูแล เมื่อก่อนเต้นแอโรบิค ตอนนี้ก็ใช้วิธีเดิน ปั่นจักรยานในบ้าน ถึงจะอายุเยอะแล้วแต่ยังชอบทำงานเร็ว อาศัยเดินทั้งวัน เป็นการออกกำลังกายไปในตัว”…

“พลังแห่งความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญของลูกพระนาง เมื่อครั้งสร้างสมาคมฯ ยังไม่เสร็จ พวกเราตั้งอธิษฐานจิตกับเสด็จแม่ฯ ขอให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วก็เป็นไปตามแรงอธิษฐานนั้นจริงๆ ทางมหาวิทยาลัยได้ให้งบมาช่วยเหลือ จนก่อสร้างอาคารเสร็จ ส่วนการตกแต่งภายใน ก็ได้แรงสนับสนุนจากพลังศิษย์เก่าที่ช่วยกันตามกำลังของแต่ละคน จนในที่สุด สมาคมฯ ก็เสร็จอย่างสมบูรณ์ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพลังแห่งลูกพระนาง”

“เวลามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เราก็ตั้งจิตอธิษฐานขอพลังบารมีจากพระนางฯ ให้เป็นกำลังใจ ขอให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะเรารักสถาบันนี้มากที่สุดค่ะ”