รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี
คณะบดี
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“รู้ศักยภาพตัวเอง แล้วนำไปต่อยอดให้ได้มากที่สุด”
การศึกษาสำคัญที่สุด : ผมเป็นลูกชาวสวน จังหวัดนครปฐม ถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิตว่า การศึกษา หรือการเรียน มีความสำคัญ ต้องไปให้สุด โชคดีที่ผมเองก็พอไปไหว สมัยผมเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไร เด็กส่วนใหญ่ก็จะพยายามฝืนเรียนไปจนจบ แต่เด็กในปัจจุบันจะไม่ทนแบบนั้นอีกแล้ว ทำให้อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีกครั้ง สูงมากถึง 30 % นั่นคือความสูญเสียที่เยอะมาก เพราะเด็กมีความสามารถจะสอบเข้าได้แต่อาจจะไม่ชอบเรียน
เรียนเศรษฐศาสตร์ : ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากเรียนอะไร เข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เพราะคะแนนเอ็นทรานซ์ถึง นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญในเวลาต่อมาว่า เราต้องทำให้เด็กรู้ให้ได้ว่า เมื่อจบ ม.6 แล้วจะไปในทิศทางใด
ชอบทำกิจกรรม : ช่วงที่ผมเข้าธรรมศาสตร์ ปี 2521 ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา มาแล้ว แต่ยังเห็นร่องรอยต่างๆ รับรู้เรื่องราวจากครั้งนั้นได้อย่างชัดเจน ผมอยู่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่จะทำงานทางสายวิชาการ บำเพ็ญประโยชน์ ออกค่าย โชคดีที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็ชอบอีก และชีวิตในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ได้ทำกิจกรรมเยอะมาก หนักมาก แล้วก็พบว่า นอกจากเนื้อหาทางวิชาการแล้ว กิจกรรมเพื่อส่วนรวม ก็มีความสำคัญ ช่วยพัฒนาชีวิตเรา ทำให้มุมมองโลกทัศน์กว้างไกลขึ้น ช่วยเสริมศักยภาพเราด้วย
ได้ทุนเรียนต่อ : ผมทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ทำให้มีพื้นฐานความรู้ทางงานวิจัยพอสมควร และสอบได้ทุนของรัฐบาลออสเตรเลียไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) จริงๆ ได้ทุนสองปีครึ่ง แต่เมื่อไปเรียนผมใช้เวลาแค่สองปี เลยใช้เวลาที่เหลืออีกครึ่งปีไปต่อรอง ขอขยายทุนไปเรียนปริญญาเอก โชคดีที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) มีโปรเฟสเซอร์ อยากจะรับเราเป็นลูกศิษย์ อยากให้ไปเรียนที่นั่น ผมก็ใช้เหตุผลในเรื่องนี้อธิบายว่า มหาวิทยาลัยก็รับเข้าเรียนแล้ว ที่ปรึกษาก็มีแล้ว เหลือแค่ทุนอย่างเดียว ในที่สุด ผมเป็นคนแรกที่รัฐบาลออสเตรเลียยอมขยายทุนให้อีก 3 ปี ปกติแล้วครบกำหนดก็ต้องกลับ สรุปแล้วผมใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียไปทั้งหมด 6 ปี
เรียนเต็มที่ : มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง ผมเป็นเด็กทุน ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนทำงาน ทุ่มเทให้การเรียนได้อย่างเต็มที่ ระบบของมหาวิทยาลัยก็เอื้ออำนวยให้เราดีมาก โดยเฉพาะตอนเรียนปริญญาเอก มีออฟฟิศเหมือนกับเป็นอาจารย์คนหนึ่งเลย ให้การปฏิบัติต่อเราเหมือนกับเป็นนักวิจัย ได้อยู่ในแวดวงทำงานวิชาการอย่างเข้มข้น แต่ก็เป็นการเรียนที่รู้สึกสนุก และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในต่างแดน
ออสเตรเลีย : เป็นประเทศที่เงียบสงบ เต็มไปด้วยธรรมชาติ ช่วงเบรกยาวๆ ก็จะเช่ารถขับไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบ ก็จะบอกว่า เป็นเมืองเล็ก ดูเงียบเหงา ไม่ค่อยมีกิจกรรมบันเทิง แต่ผมเข้าร่วมกิจกรรมเยอะเหมือนกัน เชิงสาธารณะ รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งของมหาวิทยาลัยและเมืองที่อยู่ ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ซึ่งมีอยู่น้อย ส่วนมากจะเป็นระดับนักศึกษาปริญญา โท และ เอก ตั้งชมรมไทยศึกษา และมีชาวต่างชาติ รวมถึงอาจารย์ ที่สนใจอยากจะเรียนภาษาไทย วัฒนธรรมไทย จัดกิจกรรมเสวนากันบ้าง ทำบาร์บีคิว ทำอาหารไทยให้ลองชิมกัน
ปริญญาโท ปริญญาเอก : ปริญญาตรีผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโทเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Sciences) เป็นการเรียนในแนวกว้าง เรียนหมดเลย ปฐพี ดิน หิน แร่ ป่าไม้ ทะเล ขยะ สังคม ชุมชน เรียนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เชิงการบริหารจัดการ สาขาวิชาเปลี่ยนไปบ้างแต่มีความเป็นสหสาขามากขึ้น และปริญญาเอก (Human Ecology)ก็ลงลึกไปอีก เป็นการศึกษาเรื่องระบบนิเวศน์ของมนุษย์ ศึกษาเรื่องกรุงเทพมหานคร ได้ข้อสรุปว่า การพัฒนากรุงเทพฯ ต้องให้ความสำคัญเรื่อง การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ กรุงเทพฯ ต้องโตขึ้นโดยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ต้องให้ความสำคัญกับการมีต้นไม้ สวนสาธารณะ เป็นระบบนิเวศน์ที่มนุษย์จะเติบโตขึ้นมาได้เป็นอย่างดี มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเมืองคอนกรีต อย่าให้ความสำคัญแค่การพัฒนาสิ่งก่อสร้างโดยไม่สนใจธรรมชาติ
กลับมาใช้ทุน : ทุนที่ผมรับมีเงื่อนไขว่า ต้องกลับมาทำงานให้ มหาวิทยาลัยมหิดล สอนเรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยสนใจในเรื่องการศึกษาควบคู่ไปด้วย ทำให้เห็นโจทย์และปัญหาของเรื่องนี้มาโดยตลอด
รู้จักตัวเอง : คนเราถ้าจะมีความสุขกับการทำอะไร ต้องรู้ว่าตัวเองรักในสิ่งที่ทำ ต้องรู้ศักยภาพของตัวเองว่ามีหรือไม่ มีความสามารถแค่ไหน แล้วไปพัฒนาสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมรู้ตัวว่า ชอบอยู่ในแวดวงวิชาการ ชอบสอนหนังสือ อยู่กับลูกศิษย์ จึงได้ค้นพบว่า นี่คืออาชีพของเรา เราไม่ถนัดในเรื่องธุรกิจ ถ้าให้ไปทำงานแบบนั้นคงยากที่จะประสบความสำเร็จ
ชอบทำงานวิจัย : ผมชอบเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ วิเคราะห์ รู้สึกว่านี่เป็นงานที่ผมถนัด เมื่อพบว่าเป็นงานที่ใช่ ทำแล้วมีความสุข แม้ทุกชิ้นงานที่ทำคงไม่ถึงขนาดว่า ทำไปแล้ว จะได้ยิ้ม หัวเราะ หรือสนุกอย่างเดียว ย่อมมีช่วงเคร่งเครียด ต้องมีปัญหาให้แก้ไขเป็นธรรมดา แต่ถ้าลึกๆ แล้วเรารู้ว่า เราชอบ รักในงานที่ทำ นั่นแหล่ะคืองานที่ใช่ของเรา
ลูกแม่โดม : สิ่งสำคัญที่ผมได้ติดตัวมาด้วย เมื่อเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ นั่นคือ ได้รับการปลูกฝังในความเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ทำให้ตระหนักว่า เราทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมตลอดเวลา อาจจะเรียกว่าเป็นอุดมการณ์ก็ได้ สิ่งที่เราทำอยู่นี้ต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของการทำมาหากิน การเป็นครู หรือทำงานวิจัย ก็ต้องไม่อยู่พื้นฐานเพียงแค่ได้เงินตอบแทนมา หรือกินเงินเดือนไปวันๆ แต่สิ่งที่ทำต้องตระหนักว่า สิ่งนั้นมีคุณค่า กับสังคมหรือไม่ ยิ่งมีโอกาสทำคณะวิทยาการจัดการและการเรียนรู้ ได้ทำโรงเรียนสาธิตฯ ยิ่งชัดเจนว่า ถ้าเราได้เฝ้าดูเด็กคนหนึ่งเติบโต พัฒนาขึ้นมา เราได้สร้างคนดีให้กับสังคมไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นความภาคภูมิใจของเรา
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ : เราเป็นคณะน้องใหม่ในวงการ ต้องศึกษาสถานการณ์ว่าที่ผ่านมา มีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การจะทำคณะใหม่ขึ้นมา จึงต้องมองไปข้างหน้าให้ชัดเจนว่า จะวางตำแหน่งของเราไว้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราพบว่าเรื่องการศึกษาเป็นโจทย์ของสังคม ทุกๆ คนตระหนักว่า บ้านเรามีปัญหาเรื่องการศึกษามาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน ที่ทั้งผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ต่างก็มีความทุกข์ จากวังวนของปัญหานี้ เราอาจจะไม่เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตครูโดยตรง แต่เราพบว่า ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการศึกษา มีชุดขององค์ความรู้ ความเข้าใจ การทำงาน การพัฒนา นิสิตนักศึกษา ที่จะออกไปสู่ภายนอก ไปทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาได้อีกกว้างขวางมาก ตามความต้องการที่มีอยู่จริง
การศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องการสอนหนังสือ : แต่เป็นเรื่องบทบาทของครูที่เปลี่ยนไป ความเข้าใจในการจัดการศึกษา ที่เข้าใจผู้เรียน เข้าใจตัวเด็กว่าจะมีพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยอย่างไร สิ่งที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง คือการจัดการในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เทคโนโลยีเข้ามา ประชากรลดลง รูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนก็อาจต้องเปลี่ยนไป การเรียนแบบป้อนข้อมูลให้เด็กคงทำแค่นั้นไม่ได้ เพราะเด็กมีความสามารถในการค้นหาเนื้อหาด้วยตัวเอง เขาเก่งกว่าเราซะอีก เพราะเติบโตขึ้นมากับเทคโนโลยี สิ่งที่เราจำเป็นต้องติดอาวุธให้กับคนรุ่นใหม่ก็คือ วิธีการที่เขาจะไปเรียนรู้ หรือมุมมอง ทักษะอื่นๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่
ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน : ทำอย่างไรให้ห้องเรียนสนุก ทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด ทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้รับการปลูกฝังว่า เขาจะมีวิธีการเรียนอย่างไร เนื้อหาไม่ใช่ตัวตั้งต้น แต่วิธีการเรียนจะเป็นตัวสำคัญ เนื้อหาของการเรียนจะอยู่ข้างนอก อยู่ในอินเตอร์เน็ต หรืออยู่ในที่ใดๆ ก็ได้ แต่เด็กจะต้องรู้วิธีการไปค้นคว้า วิธีการวิเคราะห์เอามาประมวลผล และพัฒนาต่อยอดไป บวกกับวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เป็นศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ของมนุษย์ มองการพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมมากขึ้น มองเรื่องทักษะชีวิต ความเป็นผู้นำ ดูทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาไปพร้อมๆ กัน โดยนำศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้
Change Agent : ลูกศิษย์ที่จบออกไป เราจะเรียกว่าเป็น Change Agent ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการเรียนรู้และการศึกษา จากทักษะความสามารถของเด็ก จะโดดเด่นอยู่ในเรื่อง สร้างและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การผลิตสื่อการเรียนการสอน ตั้งแต่ในเรื่องฮาร์ดแวร์ไปจนถึงแอพพิเคชั่น
กระบวนกร : เป็นผู้ทำหน้าที่ ทำกระบวนการที่ทำให้คนสามารถสนใจเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นเวลานานๆ และยังมีองค์กรเอกชน ที่ให้ความสนใจในเรื่องการฝึกอบรม ไม่ใช่นักพูด แต่เป็นนักทำกระบวนการ สามารถนำศาสตร์เรื่อง ละคร การแสดง จิตวิทยา งานศิลปะ เพื่อสร้างเนื้อหาในบริบทของการศึกษา ไปใช้ในกระบวนการกลุ่มขององค์กร ก็มีหลากหลายหน่วยงานให้ความสนใจ อยากจะมาหาตัวเด็กของเราเพื่อเข้าไปทำงานด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นงานสายทรัพยากรบุคคล และ นวัตรกรรมองค์กร ส่วนถ้าอยากจะไปเป็นครูก็เรียนต่ออีกปีครึ่ง
โรงเรียนสาธิต : หลังจากที่ตั้งคณะฯ มาได้สักพัก เราก็ได้รับโจทย์ว่าให้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา เปิดรับเด็กในระดับมัธยม ใช้ปรัชญาคล้ายกันกับคณะฯ มุ่งสร้างนวัตกรให้กับสังคม ในทางวิชาการแน่นอนว่าย่อมเข้มข้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการปลูกฝังว่า ทำอย่างไร
ความแตกต่าง : หลักสูตรโรงเรียนสาธิตฯ ของเราจะไม่เหมือนที่อื่นอยู่มากพอสมควร การเรียนแต่ละวิชาจะให้เด็กทำเป็นโครงการ เราหวังว่าภายใน ม.ต้น เด็กจะค้นพบศักยภาพของตัวเอง ค้นพบแรงบันดาลใจลึกๆ ความมุ่งมั่น ความใฝ่ฝันต่ออาชีพในอนาคต โจทย์ในระดับโรงเรียนจะแตกต่างออกไปอีก เด็กเล็กกว่า โจทย์ก็ต้องยิ่งลึกกว่า เพราะโลกแห่งอาชีพในอนาคตจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เด็กเข้ามา ม.1 ในวันนี้ อีก 6 ปีข้างหน้า นึกไม่ออกหรอกว่าจะเกิดอาชีพใหม่ๆ อะไรบ้าง เราพอจะมองเห็นภาพเลาๆ ว่า ผู้ประกอบการอิสระ ได้เกิดขึ้นมาก โรงเรียนจึงต้องเพิ่มทักษะ ความสามารถใดๆ ที่จะทำให้สามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ อย่างเต็มตามศักยภาพ และต้องไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ไม่กี่อาชีพเท่านั้น เขาอาจจะไปเป็นผู้สร้างอาชีพของตัวเองเลยก็ได้ ผมเป็นคนบ้างาน ไม่ใช่เป็นพวกนักกีฬา แต่ชอบดูกีฬาเกือบทุกชนิด ฟุตบอล วอลเล่ย์ ฯลฯ การออกกำลังก็ใช้กิจกรรมงานบ้าน เช่นกวาดใบไม้เป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นน็อนแอโรบิค
ข้อคิดชีวิต : เมื่อผมเครียด จะกลับมาอยู่กับตัวเอง หรือไม่ก็นอนไปเลย เพราะถ้าเครียดแล้วสื่อสารออกไป เราจะเอาความเครียดไปให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ถ้าผมอยู่ในภาวะนั้น จะเงียบไม่คุยกับใคร หลบออกจากผู้คน เพื่อไม่ให้พลังงานในทางลบของเราส่งไปให้คนอื่น แล้วก็คิดแต่เรื่องดีๆ ถึงจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ต้องพยายามทำเข้าไว้ อย่างน้อยก็ปลีกวิเวกจนกว่าจิตใจจะสงบ พอปล่อยให้เรื่องร้ายๆ ผ่านไป เราก็พร้อมที่จะลุย พร้อมที่จะสู้ ทำให้ชีวิตได้เดินหน้าต่ออีกครั้งครับ.