Interview

อมลกานต์ ผลชีวิน

อมลกานต์ ผลชีวิน
High Performance Manager
Thailand Ladies Golf Association
กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี

“กีฬากอล์ฟ สามารถพาเราไปทุกที่โดยไม่รู้ตัว ทำให้ได้มีประสบการณ์ใหม่ มีเพื่อนเยอะ ได้เรียนรู้ ได้ปรับตัว ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์” โปรโค้ช อมลกานต์ ผลชีวิน โปรสาว หัวแก้วหัวแหวนของ ดร.ชาญวิทย์ และ คุณสุชาภา ผลชีวิน กล่าวถึง กีฬาสุดโปรด ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และพาเธอมาไกลแสนไกลจากจุดเริ่มต้น

“กอล์ฟเป็นเหมือนวัฒนธรรมในครอบครัว เราเล่นกันแทบทุกคนค่ะ เล่นกอล์ฟจนรู้สึกว่าตัวเองชอบ อยากจะเอาดีทางนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ให้การสนับสนุน ช่วยผลักดันเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้กดดันว่าจะต้องเป็นที่หนึ่ง หรือต้องประสบความสำเร็จ ขอแค่ให้ลูกมีความสุขกับการเล่นกีฬาก็พอใจแล้วค่ะ”

“โค้ชโชคดีมากค่ะ ได้รับโอกาสจากญาติผู้ใหญ่ ให้ไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา และได้เล่นกอล์ฟให้กับทีมโรงเรียน”

“ตอนไปใหม่ๆ เหมือนเด็กบ้านนอกมาก ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เป็นคนไทยคนเดียวในโรงเรียน ต้องดิ้นรน ต้องขวนขวายด้วยตัวเอง”

อาจจะเป็นเพราะ ยังไม่เก่งเรื่องภาษา ทำให้เธอมุ่งมั่นเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องเรียนและกีฬา จนมีผลงานทางด้านกอล์ฟที่โดดเด่น ได้รับเลือกให้รับตำแหน่ง Las Vegas Female Athlete of The Year

“รู้สึกเป็นเกียรติมากที่สุดเลยค่ะ เพราะเราเป็นเด็กไทยหัวดำคนเดียวในทีม”

พอเรียนจบ เธอก็ได้รับโอกาสอีกครั้ง เมื่อไปยัง Missouri State University แล้วรู้สึกชอบที่นั่น และได้เข้าร่วมทีมกอล์ฟ

“ก็เหมือนเดิมอีกค่ะ เราเป็นเด็กหัวดำคนเดียวในทีม เวลาเราคุยโทรศัพท์หาครอบครัว เค้าก็จะแปลกใจกันมาก ที่ได้ยินภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ” แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอและเพื่อนๆ ต่างชาติต่างภาษา ได้มีโอกาสสนิทสนมกันยิ่งขึ้น ได้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาหารการกิน ได้ฟังเรื่องราวของอีกประเทศที่ห่างกันถึงครึ่งค่อนโลก โดยมีกีฬากอล์ฟเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้สื่อสารและสร้างความแนบแน่นกับเพื่อนๆ

“ความแตกต่างระหว่างสังคมของบ้านเรากับของอเมริกันนั้น บ้านเราจะให้ความสำคัญในเรื่องความเกรงใจมาก จะพูดอะไรออกไป ก็กลัวจะทำร้ายความรู้สึกกัน แต่ในสังคมอเมริกัน ถ้าเขาเห็นอะไรไม่ดี ก็จะบอกกันตรงๆ แล้วก็จบตรงนั้น ไม่มีการเก็บ ไม่มีการน้อยใจ เมื่อเราได้รับการติเตียน เรายอมรับ และปรับปรุงแก้ไข ก็จบแค่นั้น”

“ความรับผิดชอบส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อได้รับคำสั่งแล้ว ทุกคนจะทำหน้าที่ด้วยตัวเอง ถึงแม้จะทำไม่เป็น ก็ต้องไปขวนขวายหาวิธีเพื่อทำให้เป็น และดีที่สุดด้วย เวลา การนัดหมาย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ ถือว่าเป็นกฎพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบอก”

“เล่นกอล์ฟที่นั่น ฝนตกก็ต้องเล่น จะหยุดก็ต่อเมื่อ น้ำท่วมกรีน หรือ ฟ้าผ่า หนาวแค่ไหน ไม่ใช่อุปสรรค ถ้าหิมะยังไม่เกาะพื้น ก็เล่นต่อ เป็นการฝึกความอดทน เตรียมความพร้อม ให้ลงเล่นได้ทุกรูปแบบ โค้ช เป็นคนมีความอดทนสูง ไม่ว่าจะร้อน จะหนาว ก็ทนได้ คุณสมบัติตรงนี้ ทำให้มีทุกวันนี้ได้ค่ะ”

“ศักยภาพของคนๆ นึงนั้น ทำได้หลายหน้าที่ เราต้องดูว่า หน้าที่ที่เราทำอยู่นั้น สามารถจะพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง ถึงแม้เราจะไม่เก่งที่สุด ดีที่สุด แต่ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ คนเราไม่ใช่เกิดมาแล้ว ทำได้แค่สิ่งเดียว ถึงอาจจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีที่สุด แต่ก็ยังสามารถเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้อีกเรื่อยๆ ไม่มีขีดจำกัด”

การเล่นกอล์ฟอยู่ในทัวร์ต้องเสียสละตัวเองเป็นอย่างมาก เวลาที่จะให้ตัวเอง ที่จะให้ครอบครัว นั้นมีอยู่น้อยมาก

“การได้ถอยออกมาบ้าง แล้วทำให้มีเวลากับคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ บ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลอดเวลาของเราคือ กอล์ฟ ไม่แข่ง ก็ซ้อม ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้”

โปรโค้ช ได้รับหน้าที่ ให้เป็นผู้ดูแลทีมชาติชุด ควีน สิริกิติ์ ในฐานะ High Performance Manager โดยรับหน้าที่ต่อจาก โปรอุ๋ย วิรดา โกมุทบุตร ซึ่งก่อนหน้าที่จะตัดสินใจรับตำแหน่งนี้ เธอเคยเอ่ยถามโปรอุ๋ยว่า หน้าที่นี้ ทำอะไรบ้าง

ซึ่งโปรอุ๋ยบอกว่า… “ทำทุกอย่าง ยกเว้นลงไปเล่นเอง” เพราะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้จัดการ พี่เลี้ยง โค้ช คอยดูระบบการจัดการแข่งขันของสมาคมฯ และเรื่องอื่นอีกสารพัด

นับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะเธอจะได้ใช้สิ่งที่เรียนมา มีประสบการณ์มา เพื่อใช้กับหน้าที่นี้โดยตรง

“พี่อุ๋ย ทำหน้าที่ไว้ดีมากค่ะ เราเองก็เปรียบเสมือนเด็กน้อยคนนึง ครั้งแรกก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ เมื่อไปปรึกษาคุณพ่อ ท่านก็ให้กำลังใจว่า เมื่อได้โอกาสนี้มา นั่นแสดงว่า เขาคงมองเห็นแล้วว่า เราน่าจะทำได้ เพราะหน้าที่นี้ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ ประกอบกับ เมื่อช่วงต้นปี เกิดอาการเจ็บเข่าที่เคยผ่ามาแล้วอีกรอบ ช่วงจังหวะพัก พี่อุ๋ยก็ให้เข้าไปเป็นผู้ช่วยก่อน ทำความคุ้นเคยกับหน้าที่ จนทำให้ตัดสินใจได้ค่ะ”

โปรโค้ช ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับทีมกอล์ฟแม่เนื้ออ่อนชุดนี้ว่า

“เด็กๆ รุ่นใหม่นี้ เขามีพื้นฐานกอล์ฟที่ดีมาก เราจึงไม่เน้นเรื่องสวิงกับเด็กๆ เพราะแต่ละคนมีโปรของเขาเอง วงดีอยู่แล้ว แต่จะไปดูแลเรื่อง ลูกสั้น วิธีคิดในสนาม วิธีการซ้อมอย่างเป็นระบบ การแต่งตัว การแสดงออก บุคลิกภาพในสนาม”

“กอล์ฟ เหมือนชีวิตจริงที่ไม่รู้เลยว่า วันนี้จะเจออะไร เมื่อวานอากาศดี วันนี้อาจจะแย่ก็ได้ รู้สึกว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ เราน่าจะส่งต่อได้ กับรุ่นน้องๆ ที่เข้ามาได้ค่ะ”

และเมื่อได้รับผิดชอบกับอีกบทบาท ก็ทำให้เธอ… “เคยคิดถึงการแข่งอยู่เหมือนกัน แต่พอมาทำหน้าที่ตรงนี้ เราก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะสุดท้ายแล้ว ความฝันสูงสุดของการเป็นโปร คือการได้ไปอยู่ใน LPGA ก็จริง แต่มันก็ยังมีที่ที่ทำให้เรามีความสุขได้อีกเหมือนกัน”

“ในแวดวงกอล์ฟ นอกจากเป็นโปรแข่งแล้ว ยังมีอีกหลากหลายหน้าที่ ที่มาช่วยกันทำให้ประสบความสำเร็จ อย่างโปรคนนึง กว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่ตัวนักกีฬาเพียงอย่างเดียว เพราะต้องมีทั้งโค้ชที่ คอยดูสวิง ลูกสั้น นักโภชนาการ ฟิตเนส และจิตวิทยา รวมไปถึงสปอนเซอร์ ต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังคอยให้การสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก”

ด้วยความที่เป็นคู่ซี้กับ โปรแป้ง (คุลิกา ศรีสมฤทธิ์) ชอบหากิจกรรมทำด้วยกันอยู่เสมอ จนปิ๊งไอเดียทำรายการ กิน กอล์ฟ ช้อป ชิพ ลงในโซเชี่ยล Face Book, YOU TUBE และ เขียนลงใน กอล์ฟไทม์ เพราะ “เราอยากทำให้กอล์ฟเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย จึงนำเสนอเป็นแนวไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพราะอยากให้คนรู้สึกว่ากอล์ฟเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ มีทั้งเรื่องกอล์ฟ เรื่องกิน ช้อปปิ้ง ก็ดีใจค่ะ ที่ได้การตอบรับดีมาก เราพยายามหาความแปลกใหม่ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา ก็หวังว่าจะได้แรงใจ ช่วยสนับสนุนให้เราได้ผลิตรายการอีกเรื่อยๆ ค่ะ”

โปรโค้ช ยังให้ข้อคิดกับนักกอล์ฟรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังมุ่งมั่นอย่างจริงจังกับอาชีพนี้ว่า

“ไม่ต้องรีบเทิร์นโปร เพราะโอกาสมีน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ ถ้ายังรู้สึกก้ำกึ่ง อย่าทิ้งการเรียนเด็ดขาด เป็นเมื่อเล่นกอล์ฟไม่ได้ ก็ยังมีวิชาความรู้ที่เรียนมาใช้ต่อได้ ไม่อยากให้คิดแค่เพียงว่า ชีวิตนี้มีแต่กอล์ฟ ต้องมีอย่างอื่นด้วย มีเพื่อน มีสังคม มีงานอดิเรก ยังต้องมีโลกของเด็ก เพราะถ้าผ่านเวลาช่วงนี้ไปแล้ว จะเสียดายที่สุด เพราะย้อนกลับกลับมาไม่ได้อีก”

“การหาความสมดุลระหว่างเรื่องเรียนกับกอล์ฟ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนมักจะกลัว แต่จะบอกว่า มันไม่เกินความพยายาม ไม่เกินความสามารถ ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ถ้าเรายังไม่เก่งเรื่องเรียน ก็ต้องให้เวลากับเรื่องเรียนมากหน่อย เอาเวลาที่ปล่อยไปเฉยๆ มาใส่ใจกับเรื่องเรียนให้มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครช่วยเราได้มากเท่ากับเราต้องช่วยเหลือตัวเอง จะรักจะชอบมากแค่ไหน ก็อยู่ที่ตัวของเราเอง”

“นอกจากเรื่องความเก่งแล้ว การอยู่ร่วมในสังคมกับคนอื่นก็สำคัญเช่นกัน ต้องรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องรู้จักคิดว่า สิ่งที่เราจะทำนั้น ส่งผลกับเราและเขาอย่างไร ถ้าเราทำแบบนี้จะดีกับเขามั้ย ถ้ารู้สึกว่าไม่น่าจะดี ไม่อยากให้คนอื่นทำแบบนี้กับเรา ก็ไม่ทำดีกว่า”

“เด็กๆ มักจะได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง คอยตัดสินใจให้ คอยดูแลใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อโตขึ้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา ดังนั้น อยากให้เด็กรุ่นใหม่ กล้าตัดสินใจ และกล้ายอมรับผลที่ตามมาด้วย”

“เพราะในที่สุดแล้ว ความขยัน ความพยายาม ความอดทน พาคนเราไปได้ทุกที่ค่ะ