Interview

พิสิทธิ์ พิริยเลิศศักดิ์

พิสิทธิ์ พิริยเลิศศักดิ์
ฮั่วเซ่งฮง
“ต้นทุนความสำเร็จ มาจากสุขภาพที่ดี”

เด็กเยาวราช : ทั้งครอบครัวเราอาศัยในตึกแถวในเยาวราช พ่อแม่และลูกๆ อีก 5 คน อยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ มีเตียงเดียว เด็กๆ ทั้ง 5 คน โตขึ้นมาก็นอนเตียงเดียวกันหมด พื้นที่มีอยู่กำจัด ไม่ค่อยมีที่ว่างให้วิ่งเล่น จำได้ว่ามีอยู่คืนนึง ผมรู้สึกหงุดหงิด อึดอัดมาก ที่ต้องอัดแน่นกันอยู่แบบนั้น เลยมองหาที่ว่างสำหรับตัวเอง ผมก็ปีนขึ้นไปบนตู้เสื้อผ้าข้างๆ เครื่องปรับอากาศ แบกหมอนขึ้นไปนอนหลับสบายบนนั้นเลย เช้าขึ้นมาแม่หาไม่เจอจนต้องตะโกนเรียก พอเห็นว่าผมอยู่ไหนก็รีบให้ลง กลัวจะตกมาคอหัก

นักเรียนประจำ : คุณแม่ต้องดูแลลูกๆ ทั้ง 5 คน บางครั้งก็แทบไม่ทัน ทำให้ผมถูกส่งไปอยู่บ้านประจำตั้งแต่ช่วงอนุบาล อยู่จนถึง ป.4 พอเรียนจบ ป.6 ก็ไปเรียนต่อที่ เมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย เป็นคนเดียวของบ้านที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศนานมาก สิบกว่าปี จนเรียนจบปริญญาโท

คุณพ่อมองการณ์ไกล : ท่านอยากให้ลูกได้เรียนจบจากต่างประเทศ พอผมไปรอด อยู่ได้แล้ว พี่ชายกับน้องชาย ก็ได้ไปด้วยเช่นกัน ที่เลือกไปออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ ที่ใกล้ที่สุด และคุณแม่ก็ยังมีเพื่อนอยู่ที่นั่น คอยเป็นผู้ปกครอง ให้ความช่วยเหลือดูแลกันได้ ผมเคยน้อยใจแม่ที่ส่งให้ไปเรียนประจำตั้งแต่เด็กๆ พอกลับมานอนที่บ้านได้ไม่นาน ก็ถึงส่งให้ไปเรียนต่างประเทศอีก จนเมื่อได้เป็นพ่อของลูกตัวเองบ้าง ทำให้เข้าใจถึงหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า การต้องหาโรงเรียน ยอมให้ลูกไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เป็นเรื่องใหญ่มากของครอบครัว เพราะทั้งพ่อแม่และลูก ต่างต้องเสียสละความสุขด้วยกัน แต่จำต้องทำเพราะมองเห็นความจำเป็นในอนาคต

กำไรชีวิต : ช่วงวัยเด็กเป็นเรื่องหอมหวานมาก การได้ออกไปผจญภัยขณะเป็นนักเรียน ยังไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วัยทำงานไม่อาจจะทำได้ง่ายๆ เพราะ จู่ๆ จะให้ทิ้งงาน ทิ้งครอบครัว ออกไปเผชิญโลกกว้างเป็นสิบปีคงทำไม่ได้ แต่เรากลับได้รับโอกาสนั้นมา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ชีวิตเราเข้มแข็งขึ้น อยู่คนเดียวได้ พึ่งพาตัวเองได้ เป็นการเรียนรู้จากการใช้ชีวิตจริงๆ ซึ่งในห้องเรียนสอนเราไม่ได้ทั้งหมด

ชีวิตต่างแดน : เด็กจบ ป.6 ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ รู้ศัพท์แค่ไม่กี่คำ จู่ๆ ก็ต้องไปโผล่ชั้น ม.2 อยู่กับเด็กต่างชาติ เรียนสารพัดวิชา ทั้งๆ ที่ยังพูดไม่ได้ ครึ่งปีแรกลำบากที่สุด แต่ต้องพยายามตามคนอื่นให้ทัน วิธีเอาตัวรอดก็คือ ยิ้มสู้ ใจกล้าเข้าไว้ อะไรที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็กลับมาเปิดอ่าน วิชาที่ถนัดคือ คณิตศาสตร์ เพราะไม่ต้องใช้ภาษาเยอะ เด็กที่นั่นใช้เครื่องคิดเลขกันทุกคน แต่เราทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่อง ทำเป็น คิดเองได้เลย วิชาเลขจึงเป็นตัวชูโรงทำให้ได้คะแนนสม่ำเสมอ ส่วนวิชาอื่นๆ โจทย์ภาษาอังกฤษก็ทำให้สับสนได้เหมือนกัน ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่สักพัก แต่ก็ไม่เคยร้องไห้ เพราะสิ่งเหล่านี้เคยเผชิญมาแล้วตั้งแต่อยู่ประจำครั้งแรกตอนเด็กๆ ทำให้เราต้องสู้เพื่ออยู่รอดให้ได้

ใช้เลขและอาหารพ่อผูกมิตร : ทั้งโรงเรียนผมเป็นคนไทยคนเดียว ตัวก็อ้วนๆ สำเนียงภาษาก็ยังไม่ได้ ทำให้ถูกล้อเลียนสารพัด ยังดีมีเพื่อนๆ ที่เข้าใจกัน อาศัยความถนัดเรื่องเลข ช่วยติวให้เพื่อนๆ บางครั้งคุณพ่อบินมาเยี่ยม พร้อมกับทำอาหารจีนมาด้วยเยอะมาก เราก็จะเรียกเพื่อนๆ มาล้อมวงกินด้วยกัน จนกลายเป็นความสนิทสนม ต้องขอบคุณคุณพ่อและผู้ปกครองที่ช่วยหาวิธีให้พวกเราสนิทสนมกันง่ายขึ้น อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กๆ ไม่คิดเยอะ กินด้วยกัน เล่นด้วยกัน เรียนด้วยกัน

สู้จนได้ดี : ผลการเรียนจากที่เคยน่าเป็นห่วง พอเรียนๆ ไปก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อจบ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของ เวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้ ส่วนผมเองทั้งคุณพ่อและผู้ปกครองก็ให้อิสระเต็มที่ พอไปปรึกษากับติวเตอร์ของโรงเรียน ก็ได้รับคำแนะนำว่า ระดับคะแนนสามารถเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ ผมจึงเลือกสาขาคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น และเรียนจบโดยได้รับเกียรตินิยม และเรียนต่อปริญญาโททางบริหารสาขาการเงิน พร้อมกับเตรียมหางานทำ แต่คุณพ่อก็เรียกตัวให้กลับ ตอนนั้นก็คิดหนักเหมือนกัน

กลับมาทำงาน : ต้องปรับตัวเยอะมากครับ เราชินกับวิถีชีวิตอีกแบบมายาวนาน ต้องใช้เวลาอีกพัก ผมมาทำงานกึ่งๆ สายเทคนิคคัล เป็นบริษัทอเมริกัน เราก็ยังใช้ภาษาไทยผิดๆ ถูกๆ แต่เรื่องการทำงานเรามั่นใจมาก งานที่ทำเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ มีด้านโปรแกรมบ้าง อะไรที่ไม่รู้ก็ต้องไปเรียน หรือค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเอง นโยบายของบริษัทก็คือต้องการให้คนทำงานเรียนรู้ได้ไว สั่งงานทีเดียวสามารถจะดำเนินการ จนออกผลงานได้สำเร็จ งานที่ทำจึงสนุกมาก แต่ก็เหนื่อยและเครียดมากไปด้วย ทำอยู่ได้ราวห้าปีก็ย้ายไปทำงานที่สิงคโปร์ ครั้งแรกว่าจะอยู่ยาว แต่ก็มีจุดเปลี่ยน เมื่อคุณพ่อได้โทรไปคุยด้วย บอกว่าทำงานกับบริษัทยังไงก็เป็นของคนอื่น บอกให้มาเป็นเถ้าแก่ดีกว่า ชวนครั้งแรกก็ยังไม่สนใจ แต่ท่านก็ชวนบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องตัดสินใจ

เถ้าแก่ : คุณพ่อเล่าให้ฟังเรื่องการเป็นเถ้าแก่ บอกว่า งานบริษัท ถึงจะได้เงินเดือนดี แต่ก็ทำให้คนอื่น กลับมาเถอะ เงินเดือนแค่นี้เปิดธุรกิจเองก็หาได้ เวลาก็มี ไม่เหนื่อย สุขภาพไม่เสีย กลับมาสร้างอะไรที่ถาวรเป็นของตัวเองดีกว่า

กลับมาแล้วเคว้ง : งงอยู่พักใหญ่ ยังมองว่าธุรกิจร้านอาหารไม่ค่อยมีแบบแผน เรายังต้องลงไปพบกับลูกค้าเองโดยตรง รับฟังปัญหาสารพัด คอยให้การบริการ แก้ปัญหาที่หน้างาน ไม่เหมือนกับงานที่เคยทำมา เรามีหน้าที่คอยสั่งงานให้ลูกน้องไปทำ แล้วกำกับดูแล ให้งานออกมาได้สำเร็จ แต่เมื่อผมตัดสินใจว่าจะกลับมาทำแล้ว ก็ต้องสู้ ทำให้ถึงที่สุดให้ได้

เข้าสู่ไอที : เริ่มจากระบบเช็คบิล ผมก็ไปคุยกับคุณพ่อว่า วิธีเขียนด้วยมือมันล้าสมัยไปแล้ว ลองเปลี่ยนมาเป็นคอมพิวเตอร์บ้างมั้ย แต่ท่านก็ยังไม่ยอมรับง่ายๆ พอจะยอมก็ไม่ได้ยอมเต็มร้อย กำลังใช้งานอยู่ท่านลงมาก็ปิดคอม ทำให้บิลหลุด เช็คกันไม่ได้ ต้องใช้เวลาอธิบายอยู่พักใหญ่ อาศัยที่ผมทำงานเป็นที่ปรึกษามาก่อน เวลาทำอะไรก็ต้องมองสองด้าน ไม่ว่าฝั่งไหนก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องยอมรับให้ได้ทั้งสองฝ่าย รับฟังทุกข้อแนะนำ แล้วหาวิธีประณีประนอม แก้ปัญหาให้เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด สำหรับผมก็ใช้วิธีค่อยๆ ปรับทีละนิดๆ อธิบายไปเรื่อยๆ จนท่านยอมรับได้ และในที่สุดเราก็ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบไอที เว้นแค่ที่เยาวราช ที่ยังอนุรักษ์ความคลาสสิค ให้คงเดิมไว้ทั้งหมด

ธุรกิจต้องพัฒนา : เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีการแข่งขันกันสูงขึ้น การเปิดสาขา การใช้ไอที บัตรเครดิต การสะสมแต้ม ทำโปรโมชั่นต่างๆ ฯลฯ เมื่อคนอื่นทำกันหมดแล้ว ทำไมเราถึงจะไม่ทำบ้าง เพราะถ้าไม่ทำ เราก็จะถูกทิ้งไว้ให้ล้าหลัง และยิ่งต่อไป ความสำคัญของการทำธุรกิจจะไม่ได้อยู่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่จะเป็นเรื่องการหาแรงงาน การใช้คนให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะเมื่อธุรกิจขยาย ถ้ามีทุน วัตถุดิบอะไรก็หาซื้อเพิ่มได้ แต่แรงงานไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เลย อนาคตเราคงจะได้เห็นร้านค้าที่ใช้พนักงานน้อยลงไปเรื่อยๆ

หน้าที่ปัจจุบัน : นอกจากภัตตาคารแล้ว ผมยังดู ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ ซึ่งเป็นเฟรนไชส์ ธุรกิจตอนนี้มันต่างไปแล้ว เราต้องดูผลประโยชน์ของหลายฝ่าย ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการของการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด มีผลกำไร ทำให้อยากมาร่วมทุนกับเรา และเราก็ภูมิใจในชื่อเสียงของ ฮั่วเซ่งฮง อยากให้สินค้ากระจายไปได้ทั่วประเทศ อนาคตก็อยากจะส่งออกให้ได้

งานยาก : เคยคิดว่าทำไมเราถึงไม่มีสาขาต่างจังหวัด คำตอบคือ การคุมคุณภาพทำได้ยากมาก อาหารเราทำสด ใช้ทักษะของคนเป็นหลัก หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ถึงแม้จะแค่เล็กน้อย ก็อาจจะทำให้ชื่อเสียงเสียได้ แล้วอาหารจีน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ความอร่อย สิ่งที่ตามมาคือ ชื่อเสียง คุณภาพ และ บริการ สถานที่ ก็ต้องตามมาด้วย แต่ถ้าเราเปิดร้านแล้วทำรสชาติให้อร่อยไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ นี่คือที่มาของ ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ เรานำสินค้าที่มั่นใจว่าดี อร่อย ส่งตรงจากครัวกลาง ไปยังลูกค้าได้อย่างทั่วถึง คุมคุณภาพได้ ไปให้อุ่นร้อนหน้างาน บริหารจัดการร้านให้ใช้คนน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จุดหมายคือชื่อเสียง : ไม่ใช่แค่เรื่องกำไร ทำอย่างไรที่จะให้ถึงมือลูกค้าโดยยังอร่อย คงความสด แป้งไม่ใช้ทรานส์แฟ็ต ใช้เนยแท้ เราไม่เคยใช้วิธีเดินทางลัด เช่น ทำไมยังต้องย่างหมูด้วยวิธีดั้งเดิม ทำไมไม่ใช้ผงปรุงสำเร็จรูป ทั้งนี้เพราะเรามุ่งมั่นรักษาสิ่งที่เราทำมาได้ดีแล้วให้คงอยู่ตลอด และพยายามคิดค้นหาวิธีจัดการ ปรับปรุงการผลิตให้รวดเร็วขึ้น และพาสินค้าไปสู่อนาคต โดยไม่ใช้วิธีรวบรัด

ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองให้ได้ก่อน : สินค้าที่เราทำ เราต้องกินเอง ต้องอร่อยไปกับมันด้วย อยากกินทุกวัน ดีต่อสุขภาพ ทุกคนยอมสรรหาเพื่อให้ได้ของดีมีคุณภาพ อยากกินอาหารเพื่อความแข็งแรง ไม่มีใครกินแล้วต้องการความเจ็บป่วย ลูกหลานเราก็กินได้ โดยไม่ต้องมานั่งคิดกังวลว่า จะกินได้รึเปล่า มีสารโน่นสารนี่มั้ย ปลอดภัยแค่ไหน สินค้าของเราทุกชนิด เราก็ให้ลูกกินได้อย่างสบายใจ เพราะมั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน เราไม่ได้ทำสินค้าเพื่อให้ได้กำไรมากๆ แล้วมาลดต้นทุน ซึ่งเราไม่ทำเด็ดขาด เราไม่ใช้สารกันบูดเลย ทำให้เป็นเรื่องท้าทายในการจัดส่งให้ทันเวลา โจทย์เรายากตั้งแต่เริ่ม ก็ทำให้เราบินได้สูงตั้งแต่เริ่มทันที

อยากอยู่อย่างสบายใจ : ไม่เคยคิดจะเอาเปรียบใคร และพร้อมจะคืนกำไรให้กับสังคมอยู่ตลอดเวลา เรารักชื่อเสียง ต้องการเดินหน้าต่อไปสู่อนาคต ธุรกิจอาหาร มีความเกี่ยวพันต่อเนื่องกับเรื่องอื่นๆ อย่างไม่รู้จบ เช่น การขนส่งให้ทันเวลาโดยรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ การทำโรงงานให้ได้มาตรฐานต่างๆ มีเรื่องเทคนิคซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้ในเรื่องการตลาด ก็ต้องพัฒนาให้ทันยุคทันสมัย เรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่สูง ยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดเวลา ยังต้องไต่ให้สูงขึ้นไปอีกมาก อุปสรรคนั้นมีแน่นอน แต่เราก็ต้องแก้ไข และหาหนทางที่จะก้าวขึ้นไปสู่ความสำเร็จนั้นให้ได้

เป็นอาหารที่มากกว่าอาหาร : ก้าวต่อไป เราอยากจะสร้างเวลาให้กับครอบครัวของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ต่อไปอาหารระดับภัตตาคารของเราจะเข้าถึงในบ้าน โดยใช้เวลาในการเตรียมน้อย แต่ยังคงความอร่อย สดใหม่ โดยใช้แนวทางของติ่มซำที่เราทำสำเร็จแล้วเป็นต้นแบบ รวมถึงการคิดค้นอาหารที่มีความสำคัญต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เมนูที่กินก่อนนอนแล้วช่วยสร้างเมลาโทนิน ทำให้หลับสบาย อิ่มท้องกำลังดี ไม่เกิดกรดไหลย้อน ไม่เรอ ก็ต้อง อุ่นๆ ไม่มัน ไม่เค็ม ให้พลังงานไม่มากนัก แม้กระทั่ง เมนูที่กินแล้วหลับฝันดี เมนูสำหรับคนชอบออกกำลังกาย ฯลฯ ไม่แค่อร่อย แต่ยังดีสำหรับตอบโจทย์ที่หลากหลายอีกด้วย

คำสอนพ่อ : ท่านสอนว่า คนเราต้องมีทั้ง พระเดช และ พระคุณ คนเราจะมุ่งเน้นไปที่ผลงานอย่างเดียว การทำงานอย่างเดียว นั้นไม่ได้ ทำงานด้วยกัน ต้องมีทั้ง ผลักและดึง ช่วงไหนที่เขาไม่ไหว ก็ต้องช่วยดึง ช่วงไหนงานรีบก็ต้องผลัก ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น นี่คือหัวใจของ ฮั่วเซ่งฮง เราทำงานกันแบบครอบครัวมาตลอด ดูแลกันเหมือนญาติ ไม่มีลำดับขั้นการบริหารที่ซับซ้อน เราเข้าถึงง่าย เวลามีปัญหาทุกคนสามารถเข้ามาคุยกันได้หมด สิ่งสำคัญที่เราต้องทำ คือการหาผู้ร่วมงานที่มองอนาคตไปในทิศทางเดียวกัน มีวิสัยทัศน์คล้ายๆ กัน ทำงานเป็นหรือไม่เป็น ยังไม่สำคัญเท่ากับความซื่อสัตย์ของตัวเองที่รู้สึกว่า อยากทำงาน งานเราไม่ยาก แต่ต้องใส่ใจจริงๆ คนที่บอกว่าเก่ง ก็ต้องเก่งจริงๆ ไม่ใช่แค่คำพูด

เคล็ดไม่ลับกับสุขภาพ : เมื่อยังเด็กผมอ้วนมาก สมัยเรียนผูกปิ่นโตวันละสามแถว พอไปออสเตรเลีย เขาสอนเรื่องการออกกำลังกายจริงจังมาก พอถามว่าผมเคยเล่นกีฬาอะไรมา ก็บอกไปว่า ว่ายน้ำ เขาก็จับผมไปลงทีมว่ายน้ำเลยทันที ทั้งๆ ที่เราเคยว่ายแบบสนุกๆ เล่นเสร็จแล้วก็กิน วันแรกถูกสั่งให้ว่าย 2 กิโล ก็ทำไม่ได้ ว่ายท่ามาตรฐานก็ไม่เป็นสักอย่าง จนต้องเรียนรู้กันใหม่ ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้ ในที่สุดก็อยู่ในทีมโรงเรียนจนได้ เตะฟุตบอล แบดมินตัน และ วิ่ง ทำให้ทราบว่า คนเขารักษาสุขภาพกันมาก และไม่มีใครใช้วิธีทางลัด ไม่กินอาหารเสริม ทุกคนมีวินัยในการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และต้องถูกวิธีด้วย ถ้าไม่พยายามหาทางลัด แล้วทำไปเรื่อยๆ อย่างเข้าใจ จะทำอะไรก็ต้องไปปรึกษาหาผู้รู้จริง แล้วเราจะถึงเส้นชัยได้เร็วกว่า

กีฬากอล์ฟ : ผมเริ่มเล่นที่ออสเตรเลีย คุณน้าให้ยืมชุดเหล็กเก่าๆ ไปหัดเล่นเองที่โรงเรียน พอผู้ปกครองเพื่อนผ่านมาเห็น ก็แวะมาแนะนำให้ จนกลับมาทำงานที่เมืองไทย ซีอีโอ ของบริษัทชอบกอล์ฟมาก พนักงานเข้าใหม่จะให้ไปเรียนกอล์ฟกันทุกคน ผมเองก็ตีไกล แต่ไปเสียที่ลูกสั้น แล้วก็ค่อยๆ ฝึกฝนเล่นมาเรื่อยๆ มีบางช่วงก็หายไปบ้าง จนระยะหลังได้มีโอกาสกลับมาเล่นอีก ก็ไปสมัครเรียนอีกรอบ หวังว่าจะได้เล่นบ่อยขึ้นบ้าง เพราะรู้แล้วว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องเดินหน้าต่อ เป็นกิจกรรมสังคมที่ถูกใจ ได้รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายกลางแจ้ง

คติชีวิต : ต้องเข้าใจในตัวเองก่อน เข้าใจในความสามารถ เข้าใจในข้อบกพร่อง รู้ว่าตัวเองควรจะอยู่ตรงไหน ณ เวลาไหน สามารถขึ้นสูงก็ได้ ลงต่ำก็ได้ อย่าไปยึดติดกับความสบาย ช่วงไหนที่ดี การงานอาจจะยุ่ง ก็ต้องมองโลกในแง่ดี ต้องรู้ว่าควรจะใช้เวลาอยู่กับอะไร อย่าอยู่กับงานทั้งหมด ให้เวลากับครอบครัวบ้าง ใช้ชีวิตให้ถูกช่วงถูกจังหวะให้เต็มที่ อย่างไปมุ่งมั่นจนผิดช่วงผิดเวลา แล้วก็ต้องดูแลตัวเอง เพราะต้นทุนความสำเร็จทุกอย่าง มากจาก สุขภาพที่ดีครับ.