รู้จัก ค่าต่างๆ บนเครื่อง Launch Monitor
กราบสวัสดี มิตรรักแฟนกอล์ฟทุกคนค้า กิน กอล์ฟ ช้อป ชิพ มาเจอกันเป็นประจำเลยนะคะ กับเราสองคน อมล และ คุลิ ค้า
คุลิ : บอกกันตรงๆเลยนะคะ ใครที่คิดว่าพวกเครื่อง Launch Monitor หรือ เครื่อง Radar ต่างๆ เป็นเรื่องไกลตัว ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้เนี่ย ต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่นะคะ เพราะว่าเราอยู่ในยุค 2018 ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวันนะคะ รวมถึงกีฬากอล์ฟด้วย
อมล : ใช่เลยคุลิ แล้วต้องบอกกันไว้เลยว่า เครื่องวัดค่าเหล่านี้เนี่ย มีประโยชน์มากๆ มีความแม่นยำมาก ทำให้นักกอล์ฟสามารถรู้ได้ถึงรายละเอียดในส่วนต่างๆของสวิงได้อย่างถูกต้องค่ะ
คุลิ : วันนี้เราสองคน จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับเครื่องเหล่านี้ พร้อมกับการอ่านค่าข้อมูลเบื้องต้นหรือว่าค่าเบสิคที่นักกอล์ฟควรทราบค้า
อมล : อุปกรณ์เครื่อง Launch Monitor ตอนนี้เนี่ยในตลาดมีอยู่มากมายหลายยี่ห้อนะคะ อย่างเช่น Trackman, Flight scope, Foresight, skytrak, etc. มีทั้งขนาดใหญ่ไปถึงขนาดพกพา เล็กเท่ามือถือก็มีนะคะ โดยเครื่องขนาดใหญ่ก็จะสามารถอ่านค่าได้ละเอียดและครอบคลุมทุกส่วนของวงสวิงเลยค่ะ และเครื่องที่มีขนาดเล็กก็มีประสิทธิภาพในการอ่านค่าได้น้อยลงมาค้า ส่วนราคาก็ไล่ตามลำดับเช่นกันค่ะ ยิ่งเล็กก็ยิ่งราคาย่อมเยา ที่บอกว่าอ่านค่าได้น้อยไม่ได้แปลว่าตัวเลขน้อยลงนะคะ แต่ที่น้อยลงในเครื่องตัวเล็กลงก็คือ ไม่สามารถครอบคลุมในบางส่วนของสวิงค่ะ
คุลิ : บางคนอาจจะเคยได้ยิน Golf Simulator แล้วอาจจะกำลังมีคำถามในใจว่า เอ มันใช่อันเดียวกันรึเปล่าน้า ขอบอกว่า คนละอันกันค่ะ แต่ Launch Monitor เป็นส่วนประกอบนึงใน Golf Simulator ค่ะ
อมล : ขยายความเพิ่มเติมก็คือ Golf Simulator คือการจำลองการออกรอบ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสนามกอล์ฟค่ะ โดยจะอยู่ในห้องที่สร้างขึ้นและมีจอภาพขนาดใหญ่ที่ทำมาจากวัสดุเช่น ผ้า หรือตาข่ายเพื่อแสดงภาพจำลองของสนามกอล์ฟ โดยมีเครื่อง Launch Monitor ในการวัดค่าของผลลัพ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไม้กระทบลูกไปจนถึงลูกตก เป็นส่วนประกอบของ Golf Simulator ค่ะ
คุลิ : ถ้าจะให้พูดถึงค่าผลลัพต่างๆ ที่เครื่องจับได้นี่คงต้องขอพื้นที่เพิ่มซัก 20 หน้ากระดาษนะคะเพราะเยอะมาก น่าปวดหัว และเราก็ไม่จำเป็นต้องไปดูในทุกๆอันด้วย ดังนั้นเรายกตัวอย่าง ค่าผลลัพที่ควรรู้เบื้องต้นมาทั้งหมด 5 อันนะคะ ยิ่งนักกอล์ฟ Amateur เวลาไปซ้อมกับพวกเครื่องนี้จะได้โฟกัสอยู่ที่ 5 อันนี้ก็จะทำให้ไม่งงค้า
อมล : มาดูอันแรกกันเลยนะคะ ระยะรวม หรือ Total Distance คือระยะที่ลูกไปหยุดอยู่โดยรวมระยะทางที่ลูกวิ่งด้วย ฟังให้ดีนะคะ ยกตัวอย่างเช่น เหล็ก 7 Total Distance ได้ 158 หลา พอไปในสนามเจอระยะ 158 หลาก็หยิบเหล็ก 7 ขึ้นมาตีแล้วตกทรายหนากรีน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ ไปดูกันที่ค่าที่2 เลยค่ะ นั่นคือ Carry Distance หรือระยะของลูกที่ลอยมาตก คือ 146 หลา นั่นแน่ ! พอจะเห็นภาพมากขึ้นมั้ยคะ แสดงว่าที่ลูกกอล์ฟเราตกทรายก็เพราะเราไม่ได้ดูระยะ Carry นั่นเอง โดยแท้จริงแล้วนะคะ เราเล่นกอล์ฟกับระยะ Carry Distance ค่ะ ไม่ใช่ Total Distance
คุลิ : อันนี้ขวัญใจวัยรุ่นมากค่ะ Club Speed หรือความเร็วของหัวไม้ที่ผ่านลูกกอล์ฟนะคะ ทุกคนชอบดูมากค่าตัวเลขนี้ โดยเฉพาะไดรฟเวอร์นะคะ ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งเร็วลูกยิ่งไปไกล โดยเฉลี่ย Club Speed ของ Driver นักกอล์ฟ PGA Tour อยู่ที่ประมาณ110-115 mph ค้า
อมล : ต่อมาค่ะ Attack Angle หรือมุมปะทะของไม้ตอนเข้ากระทบลูกนะคะ ถ้าเป็นลูกที่อยู่บนพื้นมุมเข้าปะทะควรจะเป็นมุมลบ และลูกที่อยู่บนทีควรจะเป็นบวกค่ะ หลายคนมีปัญหาตีไดรฟเวอร์ไม่ได้ระยะแถมตีไปแล้วลูกตกหยุดซะด้วย พอมาดูตรง Attack Angle จะเห็นว่าเป็นตัวเลขติดลบ แสดงว่ามุมเข้าปะทะเป็นมุมกดทำให้เกิด สปิน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในไดรฟเวอร์ค่ะ แต่ถ้าเป็นเหล็ก ยิ่งเหล็กสั้นก็ยิ่งเป็นตัวเลขติดลบค่ะเพราะจะทำให้ลูกมีสปินและหยุดบนกรีนได้
คุลิ : และอันสุดท้าย คือ Spin Rate หรือการหมุนของลูกกอล์ฟค่ะ อย่างที่อมลบอกไปนะคะ ลูกที่มีสปินเยอะก็จะยิ่งทำให้ลูกตกหยุดมาก ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับ Driver เด็ดขาดค่ะ ตัวเลขที่สวยของสปินเรทสำหรับ Driver ก็คือไม่ควรเกิน 2,500 ค่ะ แต่ถ้าเป็นพวกเวจควรจะเกิน 10,000 ขึ้นไปค่ะ ขอยกตัวอย่าง Spin Rateของเหล็ก 7 PGA Tour จะอยู่ที่ประมาณ 7090 และ LPGA Tour จะอยุ่ที่ประมาณ 6,600 ค่ะ
อมล : วันนี้หวังว่าทุกคนจะได้ไอเดียและตัวเลขพื้นฐานที่ควรรู้จากเครื่อง Launch Monitor กันไปนะคะ
คุลิ : ยังไงฝากติดตาม วีดีโอ สนุกๆของเรา สองคนได้ทาง facebook fanpage ของ กิน กอล์ฟ ช้อป ชิพ ด้วยนะคะ วันนี้เราสองคนลาไปก่อน แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้าค้า
บ๊ายบายยยยยยย ~
โปรอมลกานต์ ผลชีวิน / โปรคุลิกา ศรีสมฤทธิ์