ชีวิตต้องคิดในแง่บวก ถึงจะมีความสุข – ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช
ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
“ชีวิต ต้องคิดในแง่บวก ถึงจะมีความสุข”
สมัยเด็กๆ ครอบครัวเราอยู่ที่ อ.งาว มีอยู่วันหนึ่งคุณพ่อได้นำวารสารจากอเมริกากลับมาบ้าน ในเล่มนั้นมีรูปผู้ชายแต่งตัวภูมิฐาน มือซ้ายถือม้วนแบบ มือขวาถือโมเดลหุ่นจำลองบ้าน หัวข้อบทความคือคำว่า Architect ดูแล้วท่าทางน่าสนใจ แต่ผมยังเด็กเรียนแค่ชั้นประถมต้นๆ ยังไม่รู้จักศัพท์คำนี้ ความอยากรู้อยากเห็นเลยไปเปิดพจนานุกรม ได้คำแปลออกมาว่า สถาปนิก จึงได้รู้จักคำนี้มาตั้งแต่วันนั้น แล้วก็ทราบว่า สถาปนิก ทำอะไรบ้าง ออกแบบ สร้างบ้าน รู้สึกประทับใจ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ผมเรียนจบชั้นมัธยมต้นที่ อัชสัมชัญ ลำปาง ตอนนั้นโรงเรียนเพิ่งก่อตั้งได้ไม่กี่ปี แล้วมาเรียนต่อที่อำนวยศิลป์พระนคร เพื่อนๆ ทั้งห้องอยากเรียน วิศวะ กับ แพทย์ แต่สำหรับผมความฝันไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ อยากเป็นสถาปนิก มุ่งหน้าตั้งเข็มเข้าคณะสถาปัตย์
โชคดีที่โรงเรียนมีอาจารย์สอนเขียนรูปตอน ม.ศ.4 เป็นครูสูงวัยที่ใจดีมาก นอกจากจะสอนเขียนรูปเพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนสถาปัตย์แล้ว ท่านยังเล่าประสบการณ์ วิธีการดำรงชีวิตของท่านให้พวกเราฟัง แนวความคิดของท่านทันสมัยมากถึงแม้จะนานมาแล้ว เป็นการใช้ชีวิตแบบพอเพียง และรอบคอบ เช่น ท่านจะบอกว่า อย่าไปซื้อของขวัญปีใหม่ในช่วงใกล้เทศกาล ให้ไปซื้อช่วงที่ลดราคาแล้วเก็บไว้ก่อน พอถึงเวลาจะได้มีของขวัญดีๆ ไปมอบให้ในราคาไม่แพง…
หลังจากจบ ม.ศ.5 ผมสอบติดคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชีวิตมีความสุขมาก เพื่อนฝูงเยอะ สังคมเฮฮา ผมเองก็เป็นหนึ่งในตัวร้ายของรุ่นที่วังท่าพระ ซึ่งมีทั้งหมดสี่คณะ ได้แก่ จิตรกรรม มัณฑนศิลป์ โบราณคดี และ สถาปัตย์ ผู้คนไม่มากนัก ทำให้รู้จักกันไปทั่ว ว่าเป็นตัวป่วนในวังท่าพระ สมัยเรียนไว้ทรงผมยาวประบ่า เรียน กิน นอน อยู่ในมหาวิทยาลัยแบบเบ็ดเสร็จ นานๆ ทีถึงจะกลับบ้าน
ผมเป็นหนี้บุญคุณศิลปากรมาก เพราะสอนให้รู้จักพื้นฐานวิชาชีพ ที่นี่เรียนกันแบบที่ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตั้งหลักแนวความคิดไว้ นั่นคือ ต้องฝึกฝีมือ หลังจากนั้นจะตกผลึก แล้วต่อยอดออกไปได้เอง.. ความปราณีต ความมีฝีมือ ความอดทน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ศิลปากรสอนพวกเรา แล้วผมก็ใช้มาโดยตลอด
ถึงจะเล่นมากแค่ไหน แต่เวลาเรียนผมเอาจริงเอาจังมาก ไม่เคยสอบตกสักวิชาเดียว พวกเราแข่งขันกันเรียน แข่งกันทำงาน สิ่งที่ศิลปากรปลูกฝังก็คือ เล่นจริง เรียนจริง เวลาผมเล่นทุกคนก็เห็น จนคิดกันว่าไม่น่าจะสอบผ่าน หรือทำผลงานไม่ดี แต่ผลลัพธ์ทุกครั้งก็ตรงกันข้าม จนหลายคนประหลาดใจว่า ไม่ตกได้ไง พวกเราจะเรียนกันแบบแบ่งออกเป็นห้อง ก. เป็นเด็กเรียนอย่างเดียว ส่วนพวกเราเป็นเด็ก ห้อง ข. ทั้งเล่นทั้งเรียน ได้ประสบการณ์ชีวิตไปแบบเต็มๆ เพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกันยังไม่อยากเชื่อเลยว่าต่อมาผมจะได้เป็นคณบดีคณะสถาปัตย์
การเรียนสถาปัตย์ สอนให้รู้ถึงขั้นตอนในการวางแผน ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ผมวางแผนตัวเองตั้งแต่ตอนปี 3 เพราะรู้ว่า ปี 3 ขึ้นปี 4 ต้องไปฝึกงาน ปี 5 ต้องเจอกับวิทยานิพนธ์, การเรียนสถาปัตย์ จะหนักในปี 1 เพราะต้องปรับตัวให้กับชีวิตในมหาวิทยาลัย ทั้งสนุก ทั้งเรียน, ปี 2 สบายๆ พอปี 3 หนักอีก เพราะสมัยก่อนคิดคะแนนแบบนำผลการเรียนทั้งหมดมาเฉลี่ย วิชาหลักรวมแล้วถ้าไม่ถึง ซี จะได้แค่อนุปริญญา เป็นความกดดัน เครียด ที่จะต้องทำให้ได้ เพราะผมมีแผนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ.. รู้ตัวดีว่ามีคนรู้จัก มีพี่มีน้องเยอะ ถ้าเรียนจบแล้ว เช้าทำงาน เย็นเฮฮากับพรรคพวก สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเป็นขี้เมาอยู่แถวหน้าพระลาน และพี่สาวก็ทำงานอยู่ที่อเมริกาด้วย ทำให้คิดว่าแบบนี้ยังไงต้องไป
พอเรียนปี 3 ก็ตัดสินใจบวชในช่วงปิดเทอม ที่ จ.ตาก เพราะคุณพ่อเป็นปลัดจังหวัดที่นั่น ลงรถเมล์ก็ไปบอกคุณพ่อว่าจะบวช ท่านตกใจมาก ครั้งแรกก็ไม่เชื่อ เพราะไปในสภาพผมยาวรุงรัง แต่ผมบอกว่าตั้งใจมาแล้ว ท่านถามว่าจะเตรียมตัวทันรึ เนื่องจากวัดที่จะไปบวชเป็นวัดธรรมยุตเคร่งครัดมาก ต้องท่องบทขอบวชให้ได้เองโดยไม่ติดขัด ผมขอเวลาเตรียมตัวหัดท่องแค่สัปดาห์เดียวก็จำได้ และขอให้พ่อไม่ต้องจัดงานอะไรเลย ไม่ต้องไปรบกวนใคร แค่โกนหัวเข้าวัด ทำบุญเลี้ยงพระก็พอ แล้วก็บวชทั้งช่วงปิดเทอม
พอเรียนจบทำงาน เก็บเงินอยู่ปีก็ได้ค่าตั๋วเครื่องบินเตรียมตัวไปเรียนต่อ คุณพ่อไม่อยากให้ไป เพราะรู้กิตติศัพท์ของผมดี เป็นห่วงลูก กลัวจะลำบาก แล้วคุณพ่อยังมีงานอดิเรกเป็นหมอดูให้กับคนใกล้ชิดอีกด้วย เลยยิ่งไม่อยากให้ไป เพราะรู้ว่าชีวิตต้องลำบากแน่นอน ผมคุยกับท่านอยู่ค่อนคืน จนสุดท้ายก็บอกว่าถึงเวลาจะไปก็ต้องไป
ผมมุ่งหน้าไปหาพี่สาวที่ วอชิงตัน ดีซี เพื่อเรียนภาษาในเบื้องต้น เพราะความรู้ภาษาอังกฤษที่ติดตัวไปด้วยก็มีแค่ เยส กับ โน ขาไปต้องค้างคืนรอต่อเครื่องที่โคเปนเฮเกน ไปถึงอเมริกาได้ก็นับว่าดีแล้ว แต่แค่สามเดือนวีซ่าสำหรับเรียนภาษาก็หมด ขณะที่ยังไม่ได้เรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มัวแต่ทำงานสารพัดเพื่อเก็บเงินเตรียมไว้เรียน เป็นภารโรงให้อพาร์ทเมนต์ทำงานทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ตอนอยู่ประเทศไทยไม่เคยแตะงานพวกนี้เลย พอวีซ่าขาดไม่ไปต่อก็กลายเป็นโรบินฮู้ด ทีนี้ก็ไม่ไปเรียนแล้ว มุ่งหน้าทำงานอย่างเดียวเลย ตอนเย็นทำงานเพิ่มอีก ไปล้างจานในร้านอาหารฝรั่งเศสระดับหรูหราในเมือง
เจ้าของร้านชอบใจผมมาก เพราะเราวางแผนการทำงานให้ใหม่ ปกติแล้วช่วงเวลาคนเข้าร้านเยอะๆ คนอื่นจะล้างจานไม่ทันใช้ ทั้งๆ ที่ใช้เครื่อง แต่ผมได้สังเกตจนเข้าใจว่าจะทำอย่างไร ล้างจานชนิดไหนก่อนหลัง ถึงจะมีจานสะอาดพอใช้ในร้านตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากเลยสำหรับผมเพราะเรียนมาทางสถาปัตย์ ทำให้เข้าใจถึงการวางแผนและลำดับขั้นตอนได้โดยไม่ยาก ตอนหลังก็ขยับไปเป็นภารโรงของสำนักงาน คอยเทขยะตามโต๊ะ ทำงานสบายขึ้น แล้วในตึกนั้นก็มีสำนักงานสถาปัตย์ เต็มไปด้วยโต๊ะเขียนแบบ เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากมาย เห็นแล้วสะท้อนใจ เพราะเราไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ไม่มีเงินทองที่จะเข้าไปเรียน ก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า ต้องใช้เวลา
ผมย้ายไปที่ชิคาโก้ ทำงานเสิร์ฟในร้านอาหารเยอรมันในเมือง แล้วมองหางานเหมาะๆ เช่น ไปเป็นคนเขียนแบบในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งอยู่ห่างคนละฝากของเมือง ต้องขึ้นรถหลายต่อ ก่อนจะถึงที่ทำงานก็ผ่านสถาบัน IIT (Illinois Institute of Technology) แล้วคณะสถาปัตย์ก็อยู่ข้างทางรถไฟที่นั่งทุกวัน เห็นเขาถือไม้แบบถือไม้ทีไปเรียนก็อยากเรียนมาก ได้แต่บอกตัวเองว่าให้อดทนเก็บเงินรอไปก่อน ระหว่างนั้นเริ่มมีเงินสะสมพอสมควรก็ไปสอบโทเฟ่ล คะแนนที่ได้ค่อนข้างสูง เตรียมพร้อมจะเข้าเรียนคณะสถาปัตย์ สมัครไปหลายแห่งทั้งที่ วิสคอนซิน เท็กซัส มินนิโซต้า นิวยอร์ค และ IIT ที่ผ่านทุกวัน ปรากฏว่าทุกแห่งรับหมด
ผมตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่ IIT เพราะหนึ่งในบุคคลต้นแบบของผมคือ ศ.เรืองศักดิ์ กันตะบุตร ที่ผมชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง ท่านจบจาก IIT เป็นลูกศิษย์ของ Mies van der Rohe ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกยุคนั้น และ ชิคาโก้ เป็นเมืองที่ผมมีความคุ้นเคย รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เพื่อนรุ่นพี่ก็อยู่ที่นี่ มีอะไรก็ช่วยเหลือกันได้
IIT เป็นสถาบันที่ เน้นให้เป็น ฝึกให้คิด ฝึกให้ทำได้ เน้นฝึกในเรื่องการคิด เช่น ออกแบบเก้าอี้หนึ่งตัว ต้องมีทางเลือกหลายๆ แบบ แล้วเลือกมา 1 แบบ เพื่อพัฒนาแบบนี้อีกต่อไปเรื่อยๆ ดูแล้วเข้าทางกับเราที่ได้พื้นฐานมาจากศิลปากรที่สอนให้ฝึกความปราณีต อดทน สู้งาน สู้จนถึงที่สุด อาจารย์ที่ปรึกษาก็เลือกคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเอเซียด้วยกัน มีประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมากกว่า แล้วยังเป็นลูกศิษย์ Mies van der Rohe อีกด้วย
เรียนไปได้แค่เทอมแรก เงินที่สะสมมาก็หมดแล้ว โชคดีที่พี่สะใภ้ให้ความช่วยเหลือ แต่ผมก็ยังเครียดมาก เพราะไม่รู้ว่าปีต่อไปจะทำอย่างไร ปรากฎว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าเรามีความตั้งใจ ซึ่งผิดกับสมัยที่เรียนปริญญาตรีแบบคนละเรื่องกันเลย เพราะกว่าจะได้เรียนต้องใช้เวลาเก็บเงินถึงสามปี ท่านเห็นแววก็ให้ทุนทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ทำให้พอมีรายได้ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบประหยัดสุดๆ เพื่อจะมีเงินพอเหลือไว้เรียน
คนอื่นเรียนปริญญาโทกันแค่ราวปีครึ่ง แต่ผมต้องเรียนถึงสามปีครึ่ง ทำงานมาแล้วแต่ไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น กรรมการก็แย้ง ต้องกลับมาตั้งต้นกันใหม่ ทำจนงานที่ออกมาโต้แย้งไม่ได้ เป็นการเรียนที่คุ้มค่ามากและยังได้ทุนมาตลอดด้วย ทำวิทยานิพนธ์ก็ยังได้ทุนการศึกษาของ Graham Foundation เป็นเรื่องการประหยัดพลังงานในสำนักงานเล็กๆ ขนาดตึก 6 ชั้น ซึ่งน้อยคนมากที่จะได้รับทุนนี้
งานที่ต้องทำแล้วทำอีก สำหรับผมไม่ถือว่าเป็นการเสียเวลา แต่ละครั้งเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ ยิ่งทำยิ่งได้ ผมจึงยึดถือมาจนถึงทุกวันนี้ว่า.. “การทำสิ่งใดก็ตามแต่ จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้ารู้จักนำไปใช้ในอนาคต ไม่มีทำว่าล้มเหลว หรือเสียหาย แต่เป็นการเรียนรู้ทั้งนั้น”
วันที่เพื่อนๆ รับปริญญา ผมยังเรียนไม่จบ อาจารย์ก็มาปลอบใจ แล้วให้ข้อคิดว่า อย่าคิดมาก ถ้าได้ปริญญาแล้วไม่มีความรู้นั้นไม่มีประโยชน์ มันฟุ่มเฟือยเกินไป ตั้งใจเรียนแล้ว ก็ต้องให้ได้ความรู้ถ่องแท้ ถึงจะเรียกว่าเรียนจบจริง.. เมื่อเรียนจบ อาจารย์ก็เรียกเข้าไปพบ เพื่อแจ้งว่าหาทุนเรียนปริญญาเอกให้ได้แล้ว แต่ผมกลับปฏิเสธท่านไป ยังจำสีหน้าได้ชัดเลยว่าท่านรู้สึกผิดหวังมาก ท่านถามว่าทำไม ผมก็ตอบว่า คิดถึงบ้านมาก ถ้าเรียนต่อคงอีกนานกว่าจะได้กลับ คิดแล้วไม่เอาดีกว่า ท่านก็เข้าใจ ไม่ตีโพยตีพายอะไร
จากนั้นผมได้สมัครเข้าไปทำงานที่ SOM (Skidmore, Owings & Merrill LLP) ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก งานก็ราบรื่นดีเพราะอาศัยที่ขยัน และออกแบบงานเป็นเหตุเป็นผลเพราะเรียนมาสายตรง ทำให้หัวหน้ามักจะเลือกแบบของเราไปใช้งาน จนเมื่องานออกแบบเสร็จ ต้องมีการโยกย้ายพนักงานไปยังส่วนต่างๆ หัวหน้าก็แนะนำให้ไปอยู่กับทีมใหม่ซึ่งจะมีโอกาสดีกว่า
ทำไปสักพักก็เจองานใหญ่ที่ต้องเร่งทำทั้งวันทั้งคืนให้เสร็จทันกำหนด เพื่อนายใหญ่จะนำไปเสนอที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ผมกับเพื่อนเกาหลีสองคนก็ลุยงานกันเต็มที่ แต่ตกเย็นเขามีครอบครัวก็ต้องกลับบ้าน ส่วนผมอยู่ทำงานต่อค้างที่ออฟฟิศได้สบายมาก สมัยเรียนศิลปากรก็เคยค้างเป็นประจำ จนเป็นที่ร่ำลือว่าหนุ่มไทยทำงานจนถึงขนาดค้างออฟฟิศเพื่อให้งานเสร็จทัน หัวหน้าทีมก็ชอบใจ เจ้านายใหญ่ก็ได้งานไปนำเสนอ พอถึงช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งจะมีการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน จากทั้งหมดห้าร้อยกว่าคน จะมีคนได้ขึ้นเงินเดือนแค่ห้าคน ผมเป็น 1 ใน 5 คน ที่ได้รับการคัดเลือก เพราะมีทั้งนายเก่าและนายใหม่ให้การรับรอง ทำให้มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
จนเมื่ออาจารย์ที่สถาปัตย์ศิลปากรได้เขียนจดหมายมาสอบถามว่ามีตำแหน่งอาจารย์ว่างอยู่ สนใจหรือไม่ ทำให้ผมคิดว่า อยู่ที่นี่ก็นานแล้ว กลับไปเป็นอาจารย์ก็เหมือนกับได้ทดแทนบุญคุณให้ศิลปากร เลยตัดสินใจกลับ หลังจากใช้ชีวิตในอเมริกา 8 ปี
ผมกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตย์ ที่ศิลปากร มาถึงก็เจองานใหญ่เลย มีงานประกวดแบบอาคารอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ด้วยความเป็นรุ่นพี่ เป็นอาจารย์ไฟแรง ก็ลุยงานอยู่กับเด็ก ค้างที่ศิลปากรกันเป็นเดือน ผ่านรอบแรก จนเข้าถึง 5 ทีมสุดท้าย, โดย 4 ทีม เป็นมืออาชีพ ในที่สุดเราเป็นทีมที่ชนะเลิศ
เมื่อเป็นคณบดีสถาปัตย์ที่ศิลปากร ผมก็ยังเป็นประธานสภาคณะบดีสถาปัตย์อีกด้วย ช่วยกันทำเรื่องดึงเงินก้อนใหญ่ภายในหกเดือน มาให้กับอีก 9 มหาวิทยาลัย บางแห่งได้มากกว่าเราก็ยังมี และในส่วนของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พลิกฟื้นสถาปัตย์ไทย จัดหาทุนก่อตั้งโครงการพัฒนาอาจารย์สาขาสถาปัตยกรรมไทย จนตั้งตัวได้ในปัจจุบัน ซึ่งสมัยก่อนนั้นไม่ได้รับความนิยม เพราะกลัวไม่มีงานทำ ทั้งที่จริงๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง และมีความจำเป็นมากในปัจจุบัน
พอหมดวาระคณบดีสถาปัตย์ ก็มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สมัย อ.พุฒ วีระประเสริฐ และมีโครงการที่สานต่อจาก อธิการบดี อ.ตรึงใจ บูรณสมภพ คือวิทยาเขตสารสนเทศ เพชรบุรี ผมได้รับการมอบหมายให้ไปดูแล จังหวะนั้นเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พอตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน การดำเนินงานก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปรอดหรือไม่ มีอาคารแล้วแต่ยังไม่มีคนเรียน จึงได้ตั้งคณะวิทยาการจัดการขึ้นมาเมื่อปี 2545 เป็นโครงการพิเศษ สามารถนำรายได้มาจ่ายให้อาจารย์ผู้สอน
พอปี 2546 เราก็จัดตั้ง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นหลักสูตรที่นำความรู้มาบูรณาการข้ามศาสตร์กัน นำความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาบวกกับการจัดการทางธุรกิจ เป็นโปรแกรมเมอร์ ที่มีความรู้ทางธุรกิจ, มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ผสมผสานกับศิลป เรียนเหมือนกับวังท่าพระ ทั้ง จิตรกรรม มัณฑนศิลป สถาปัตย์ เอามารวมกันเป็น แอนิเมชั่น เด็กของเราจึงมีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย คนเดียวทำงานได้หลายอย่าง
จากนั้นผมมาเป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ปรับเปลี่ยนให้มีการเรียนการสอนในเสาร์อาทิตย์ และหยุดในวันธรรมดา เนื่องจากอาจารย์พิเศษนั้นวันธรรมดาต้องทำงาน ไปสอนไม่ได้ พอเปลี่ยนแบบนี้ เด็กก็ได้เรียนกับมืออาชีพ แล้วอาจารย์ก็สอนในสิ่งที่เขาอยากได้ เด็กจบไปก็มีงานทำ เป็นคณะที่มีแนวความคิดใหม่ เลี้ยงตัวเองโดยไม่ใช้งบของหลวง เริ่มต้นจากศูนย์แล้วค่อยๆ เติบโตจนมีเงินเก็บหลายสิบล้านเมื่อผมหมดวาระ เป็นทุนสำหรับการขยายคณะ, จัดการสอนพิเศษให้กับเด็กที่สนใจเรียนเรื่องต่างๆ ในช่วงซัมเมอร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้เด็กที่จบไปเป็นที่ต้องการของตลาดในสาขานี้
ความสำเร็จเกิดจากการทำงานร่วมกันของทีมงานที่ดี พวกเรามีความผูกพันและเข้าอกเข้าใจกัน แค่มองก็รู้แล้วว่าคิดอะไร เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม ทุกคนมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ทำเพื่อมหาวิทยาลัยฯ โครงการใหญ่ต่อไปของเราก็คือ หาที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนที่ใกล้เมืองมากขึ้น อยู่พื้นที่ด้านหลังอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งในอนาคตจะเป็นครีเอทีฟซิตี้ เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ มีทุกอย่างครบครันอยู่ในนั้น
ผมไม่เครียด ถึงแม้งานจะหนัก สิ่งใดแก้ไขไม่ได้จะเก็บไว้ก่อนสักพัก แต่แค่ไม่นานนัก พอสบายใจก็กลับมาแก้ไข หรือบางครั้งมีเรื่องโต้เถียงขัดแย้ง แต่พอมาถึงห้อง ก็ทำงานต่อได้เลย ไม่มัวมานั่งกังวล ปิดจบเป็นเรื่องๆ ไป แล้วสุขภาพตัวเองในเรื่องกินเรื่องอยู่ก็หมั่นดูแลเพราะงานเราเยอะ ต้องออกกำลังกายทุกวัน ตื่นตั้งแต่ตีห้า วิ่งรอบบ้าน ได้ดูแลบ้านไปในตัวด้วย
ผมชอบกีฬามาก ถึงแม้ตัวเล็กอาจจะเล่นเองไม่ได้ แต่ก็เข้าใจและสนุกไปกับการมีส่วนร่วม อย่างอเมริกันฟุตบอล ชอบตั้งแต่ยังไม่ได้ไปอเมริกา อยู่นั่นก็เชียร์ทีมกีฬาของชิคาโกแทบทุกประเภท ทั้ง อเมริกันฟุตบอล ชิคาโกแบร์, บาสเกตบอล ชิคาโกบูล, ฮ้อคกี้น้ำแข็ง แบล็คฮ็อค, เบสบอล ไวท์ซ็อค ฯลฯ
ประเด็นสำคัญเวลาทำงานก็คือ.. อย่าไปคิดว่าทำงาน จะได้รู้สึกผ่อนคลายเหมือนกับเล่น ถึงแม้งานบริหารจะหนักแค่ไหน แต่เมื่อได้อยู่กับลูกศิษย์ในห้องเรียน นั่นคือเวลาที่ได้พักผ่อน นั่นคือโลกของผม โชคดีที่ได้สอนเด็กปี 1 มาตลอด พวกเขายังใสซื่อ เราทำหน้าที่คอยเติมสิ่งดีๆ ในชีวิตให้กับเขา มิใช่สอนแค่เรื่องวิชาการ แล้วผมก็คุยกับเขารู้เรื่อง รู้ทันพวกเขา เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราผ่านมาหมดแล้ว
เมื่อเราทำดี คิดดี ทำให้เต็มที่ ชีวิตจะมีความสุข ไม่ต้องมานั่งคร่ำครวญเสียใจว่า รู้งี้ตั้งใจทำให้มากกว่านี้ ทำดีกว่านี้ ผมก็เคยเป็นแบบนั้น แล้วต้องมานั่งต่อว่าตัวเอง บางครั้งคนบอกว่าผมดุมาก เพราะเมื่อให้ทำแล้วมัวแต่ผลัดอยู่นั่น ในที่สุดเมื่อถึงเวลาก็เกิดปัญหาตามมา รู้แบบนี้แล้วทำไมไม่ทำตั้งแต่แรกแล้วคอยปรับแก้ ไม่มีอะไรที่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าเราให้เวลากับมัน แล้วพัฒนาต่อให้ดี พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์ ยิ่งฝึก ยิ่งทำมาก ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ก็ตามมาได้ ไม่เก่งก็อาศัยความพยายาม อยากเก่งแบบเขาเราต้องทำงานหนัก แต่ไม่ใช่ไปเลื่อยแข้งเลื่อยขา
ชีวิตต้องคิดในแง่บวกถึงจะมีความสุขครับ