Interview

รศ. เสาวภา ไพทยวัฒน์

รองศาสตราจารย์ เสาวภา ไพทยวัฒน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชา การจัดการทางวัฒนธรรม
สาขาวิชาการจัดการสังคมและวัฒนธรรม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

“ขอมาทำงานที่สวนสุนันทา เพราะเป็นสถาบันที่ตัวเองใฝ่ฝันมาตลอดเลยค่ะ” อ.แอ๊ด (รศ.เสาวภา ไพทยวัฒน์) เอ่ยถึงจุดเริ่มชีวิตในรั้วลูกพระนาง ของผู้หญิงคนเก่งคนแกร่งที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต สร้างผลงานจนประสบผลสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากหลากหลายสถาบันให้เป็นอีกบุคคลที่ทรงคุณค่าต่อการยกย่อง และนี่คือเศษเสี้ยวบางส่วนของชีวิตที่น่ายึดถือมาเป็นแบบอย่าง…

อ.แอ๊ด เล่าให้ฟังว่า.. “ตอนเป็นเด็ก อยากเรียนที่วิทยาลัยสวนสุนันทามากที่สุด เป็นสถาบันในฝันเลยค่ะ ได้แต่มองนักศึกษาที่เรียนที่นี่ว่าเขาเก่งกว่าเรา มองอาจารย์ว่าเป็นเหมือนผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ยิ่งเมื่อได้เข้ามากราบองค์พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ยิ่งรู้สึกอบอุ่น เคยกราบท่านแล้วขอว่า ถ้ามีบุญขอให้ได้มาทำงานที่สวนสุนันทา แล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ก็ได้มาทำงานที่นี่จริงๆ”
เมื่อก้าวเข้ามาเป็น อาจารย์ 3 ระดับ 9 ขณะที่ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สูงสุดแค่ ซี 8 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แปลกไปกว่าคนอื่น ทำให้ อ.แอ๊ด ต้องทำงานหนักมาก เพื่อตำแหน่งทางวิชาการ

ด้วยความเป็นคนสู้งาน สะสมความรู้อยู่แล้ว อ.แอ๊ด จึงไม่เคยกลัวเรื่องงานหนักเลย แต่ก็มีจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อสามีของท่านซึ่งทำงานหนักด้วยเช่นกัน เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะเข้าประชุม จนต้องเข้ารักษาตัวโดยด่วน ขณะที่ ลูกๆ ก็กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียน “เราจึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่” ขณะที่สามีจะผ่าตัด อ.แอ๊ด ยังต้องเป็นห่วงเรื่องต้องส่งงานทางวิชาการให้ทันตามเวลาที่กำหนด แล้วไหนจะต้องดูแลลูกๆ อีก “ทำงานตลอดเวลาเลยค่ะ พาลูกไปกวดวิชาที่ไหน แม่ก็ต้องไปนั่งเขียนงานด้วยระหว่างรอ จนโรงเรียนกวดวิชาคงเห็นว่าเราขยัน บอกว่าถ้าลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว จะเชิญเราให้ไปเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่โรงเรียนด้วย”.. อ.แอ๊ด เล่าไปพร้อมรอยยิ้ม..

อาจจะเป็นเพราะความตั้งใจ แรงอธิษฐาน พลังบุญ แรงหนุนจากเพื่อนๆ และคนรอบข้าง ในที่สุดก็ทำงานเสร็จ ส่งทันตามกำหนด และได้รับคำตอบกลับภายใน 90 วันเท่านั้น…

“วันหนึ่งมีการประชุมสภาฯ นายกสภาฯ แจ้งว่า มีเอกสารลับ ต้องให้เราออกไปนอกห้องประชุม ซึ่งเราก็ต้องเคารพต่อระเบียบ ต้องออกมารอตอนที่เขาประกาศผล แล้วเมื่อได้รับเชิญให้กลับเข้ามาอีกครั้ง ในสภาฯ ก็ทำเซอร์ไพรซ์ให้กับเรา ด้วยการปรบมือกันทั้งห้อง และนายกฯ ก็กล่าว แสดงความยินดีให้กับการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วันนั้นเป็นวันที่ภาคภูมิใจที่สุดในการใช้ชีวิตอยู่กับสวนสุนันทา ทำให้เรายืนได้อย่างมั่นคงไม่แตกต่างจากคนอื่น”

“ตั้งปณิธานไว้เลยว่า ถ้าข้าพเจ้าต้องทำงานกับสวนสุนันทา ต้องทำให้ตำแหน่งนี้มีค่า มีเกียรติ และสมศักดิ์ศรี สมกับที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้มาทำงาน”

หลังจากที่ อ.เสาวภา ได้รับตำแหน่ง รศ.แล้ว ท่านยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย คอยดูแลเรื่องจดรายงานการประชุม ดูแลความเรียบร้อยในสภามหาวิทยาลัยอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีการเลือกตั้งคณบดีที่สวนสุนันทา นั่นคือจุดก้าวเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิต เมื่อมีผู้มาทาบทามให้ไปทำงานด้านบริหาร จนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งเป็น คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ได้รับรางวัลจากวิทยาลัยครูธนบุรี ก็คัดเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น และต่อมา มศว.บางแสน ก็ได้เกียรตินี้ด้วยเช่นกัน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นคณะใหญ่ มีถึง 14 สาขาวิชา นักศึกษาคณาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ จึงมีจำนวนมากตามไปด้วย ตำแหน่งคณบดีของคณะฯ จึงเป็นงานที่หนักมาก เพราะต้องจัดระบบต่างๆ ให้เหมาะสมลงตัวให้ได้

“การครองตนต้องผ่าน คณบดีต้องเป็นผู้นำทางวิชาการได้ ต้องศึกษางานให้ชัดเจน โลกกำลังจะเปลี่ยน ต้องคิดให้ขนานไปกับมหาวิทยาลัย อย่าไปคิดต่อต้าน ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เรื่องประกันคุณภาพเราต้องผ่านให้ได้ ถึงแม้โอกาสจะน้อยเพราะข้อจำกัดต่างๆ มีมากมาย การทำงานหนักเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างความเชื่อมั่น ครองงานให้ได้ ทำให้ทุกสาขาเห็นด้วยกับความคิดของคณบดี ไปไหนต้องไม่มีความขัดแย้ง โชคดีที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ทำงานได้อย่างโปร่งใส อยู่ด้วยกันแล้วมีแต่ความสบายใจ”

“อย่าใช้อำนาจในการทำลายจิตใจคน อย่าใช้กฎหมายเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว แล้วทำให้คนไม่อยากจะทำงานร่วมด้วย มีปัญหาอะไรมาพูดมาคุยกัน อย่าทำผิดจรรยาบรรณ อย่าทำผิดในกฎระเบียบ ทำแล้วต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำด้วยความสุจริต อย่าทำให้ชีวิตราชการมีเรื่องด่างพร้อย อะไรที่ทำไปแล้วไม่เกิดความดีงามกับชีวิต อย่าทำ..”

หลักการทำงานและบริหารที่ประสบความสำเร็จของ อ.เสาวภา ที่ยึดถือไว้ได้แก่… MOST

“M หมายถึง Man และ Management เรื่องคนทรัพยากรบุคคลและการจัดการ ต้องไปด้วยกัน เราต้องยืนตรงกลาง ทำให้คนอื่นทำงานได้ จัดการให้ดี อย่ามี อคติ ใครที่คิดเรื่องดีๆ ให้เขาเดินเข้ามาคิดด้วยกัน ส่วนถ้าใครที่คิดไม่ดี ก็อย่าไปคิดถึง เวลาเรามีค่า อย่าไปใส่ใจ”

“O หมายถึง Organize เป็น Coordinate ที่ดี อย่าเป็น Director ที่ทำให้คนอื่นต้องกลัวด้วยกฎระเบียบ เราเป็นคณบดีที่ไม่เคยปิดประตูห้องทำงาน พร้อมต้อนรับทุกคน มาถึงห้องตั้งแต่ก่อนเริ่มเวลาทำงาน วันหยุดก็จะสลับเข้ามา ต้องคิดเสมอว่า ถ้าคนไม่เดือดร้อน ไม่คับข้องใจ เขาคงไม่เดินเข้ามาหา ดังนั้น เมื่อพบกันแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่า สิ่งที่หารือกันไปจะไม่ได้รับการแก้ไข มีอะไรก็ปรึกษากัน อย่าเอามาเป็นปัญหาตกค้าง”

“S คือ Service Mind ทำทุกอย่างด้วยใจ อย่าคิดว่าทำอะไรแล้วจะต้องได้ประโยชน์ เราต้องทำด้วยใจ ต้องคิดว่าใครสำคัญที่สุด แล้วไล่เรียงกันไป”

“และ T คือ Team ทีม ไม่แบ่งแยก เราต้องหาผู้ที่ทำงานเป็นทีมให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หากมีปัญหา มีข้อบกพร่อง ก็ต้องยอมรับผิด น้อมรับ ไม่โทษลูกน้อง ทำให้เราได้ใจกันในเวลาทำงาน ทุกคนจึงเต็มที่ ทำงานกันอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข งานหนักไม่เป็นไร เมื่อมีผลงานก็อย่าครองไว้คนเดียว หรือยกย่องตนเอง เพราะนั่นคือความสามารถของทีม”

เมื่อทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเทให้กับองค์กร จนเมื่อครบกำหนดเกษียณ ทำให้ทาง รศ.เสาวภาค ได้รับโอกาสจากการใช้กฎหมายพิเศษของข้าราชการพลเรือน ที่ให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกบุคลากรที่มีความจำเป็นต่อองค์กร มีตำแหน่งทางวิชาการ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการทำงาน รับราชการต่อไปอีก 5 ปี จนถึงครบอายุ 65 ปี นับเป็นการใช้ความรู้ ความสามารถ ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ให้กับสถาบันอันทรงเกียรติ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ…

จากชีวิตเด็กต่างจังหวัด ที่มีผลการเรียนปานกลาง ต่อยอดความก้าวหน้าในชีวิต มุ่งมั่นเดินตามเส้นทางที่ตัวเองตั้งใจจะไปให้ถึง บางครั้งบางช่วง แม้หนทางจะไม่ราบรื่น หลายครั้งเต็มไปด้วยปัญหา แต่ อ.แอ๊ด ก็เอาชนะอุปสรรคด้วยความขยัน อดทนและทำงานหนักมาตลอด จนมีทุกวันนี้ วันที่ทุกคนให้การยอมรับ รักและเคารพ ในฐานะของบุคคลต้นแบบอีกท่านหนึ่ง

รศ.เสาวภาค ยังได้แถมท้ายถึงเคล็ดลับในการทำงานและใช้ชีวิต ที่ทำให้เกิดความสุข ประสบความสำเร็จ และสง่างาม อีกด้วยว่า…
“เราต้องครองตน โดยไม่ด่างพร้อย อยู่กับความถูกต้องและดีงาม ถึงแม้จะถูกต้องอย่างเดียว แต่ไม่ดีงามก็ไม่ได้ งาน ไม่ใช่เป็นของเราคนเดียว ต้องคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าจะไปกระทบกับใครบ้าง แล้วต้องครองใจคนให้ได้ โดยไม่เอารัดเอาเปรียบ ที่ใดมีสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นจุดอ่อนของคนอื่น ก็อย่าไปทับถมกัน ต้องเปิดใจ คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แล้วถ้าอยากประสบความสำเร็จ จงอย่ากลัวที่จะทำงานหนักค่ะ”