รู้จักอุปกรณ์ดำน้ำ เครื่องมือหลักของภารกิจช่วย ‘หมูป่า’
รู้จักอุปกรณ์ดำน้ำ เครื่องมือหลักของภารกิจช่วย ‘หมูป่า’
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับน้องๆ นักฟุตบอลเยาวชนท้องถิ่น ทีมหมูป่าอคาเดมี และผู้ปกครอง ที่น้องๆ สามารถออกมาจากเหตุสุดวิสัยในถ้ำได้อย่างปลอดภัย และต้องแสดงความชื่นชมอย่างมาก ให้กับทีมงานกู้ภัยทุกภาคส่วน ทั้งชาวไทยและช่าวต่างประเทศ ที่รวมมือกับจนภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ จ.อ. สมาน กุนัน เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการ ผู้อาสาเข้าร่วมการกู้ภัยครั้งนี้ ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นับเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งประวัติศาสตร์ของโลกก็ว่าได้
แม้ว่าจะเป็นเหตุที่เกิดในถ้ำ แต่การกู้ภัยครั้งนี้ ทั้งตอนที่พบตัวน้องๆ และการนำตัวน้องๆ ออกมาใช้วิธีการดำน้ำแบบ Scuba Diving (Self Contained Underwater Breathing Apparatus Diving) เป็นหลัก ซึ่งเป็นการดำน้ำโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ทำให้สามารถดำน้ำและเคลื่อนที่ไปมาใต้น้ำได้โดยอิสระ โดยอุปกรณ์ที่ใช้หลักๆ ก็ประกอบไปด้วย หน้ากากดำน้ำ (Mask) ช่วยป้องกันน้ำเข้าตา, ตีนกบ (Fin) เพื่อช่วยเพิ่มแรงในการว่ายน้ำ และ ชุดดำน้ำ (Wetsuit / Drysuit) ชุดที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายขณะอยู่ในน้ำ นอกจากนี้ระหว่างการช่วยเหลือ เรายังได้เห็นอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เราจะมาทำความรู้จักกันว่า นักดำน้ำเขาใช้อะไรกันอีกบ้าง
Tank (ถังอากาศ) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด ไว้บรรจุอากาศที่จะใช้หายใจขณะดำน้ำ ซึ่งขนาดมาตรฐาน คือ 11.5 ลิตร แต่จะสามารถอัดอากาศเข้าไปได้เท่ากับอากาศในห้องขนาด 3 x 3.5 เมตร โดยประมาณ ในกรณีที่ไม่ดำลึกมาก อากาศที่อัดลงในถังก็คืออากาศรอบๆ ตัวเรา จะดำได้นานประมาณ 40-50 นาที แต่ถ้าดำลึกมาก อากาศที่ใช้ จะมีส่วนผสมของออกซิเจนแตกต่างกับอากาศธรรมดา
เมื่ออากาศในถังอัดมาด้วยแรงดันสูง ก่อนที่จะมาใช้หายใจ ก็ต้องมีอุปกรณ์ในการปรับความดัน นั่นก็คือ Regulator (อุปกรณ์สำหรับหายใจใต้น้ำ) ทำหน้าที่เปลี่ยนอากาศจากถังที่มีแรงดันสูง ให้เป็นความดันแบบพอเหมาะที่ไว้ให้นักดำน้ำหายใจ, BCD (Boyancy Compensator Device) คือ เสื้อชูชีพสำหรับนักดำน้ำ ที่มีสายต่ออากาศจากถัง และมีปุ่มปรับลม เข้า-ออก ได้ เพื่อที่จะทำให้นักดำน้ำสามารถลอยอยู่ใต้น้ำได้อย่างสมดุลย์ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์มากมายอยู่บนตัวเรา แต่คนเราจะจมลงน้ำไม่ได้เลยหากไม่มี เข็มขัดตะกั่ว (Weight Belt) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่จะช่วยถ่วงให้นักดำน้ำจมลงไปในน้ำได้มิด ซึ่งนักดำน้ำแต่ละคนก็จะใช้จำนวนของตะกั่วที่แตกต่างกัน
นอกจากจะเป็นกีฬา เป็นกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์แล้ว การดำน้ำยังเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการกู้ภัย ที่มีความสำคัญ และน่าจะเพิ่มทั้งทักษะและปริมาณให้กับหน่วยกู้ภัยต่างๆ ในบ้านเรา ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำมากมาย ไว้รับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต