เริ่มด้วยกอล์ฟ จบด้วยการเมือง(นิดๆ)
เริ่มด้วยกอล์ฟ จบด้วยการเมือง(นิดๆ)
กอล์ฟรายการ แอลพีจีเอ วอลวิค แชมเปียนชิพ 2018 ที่มิชิแกน มีอะไรที่น่าสนใจนะครับ แม้โปรเม เอรียา จุฑานุกาล จะไม่ถึงแชมป์ (รายการนี้ เธอเคยเป็นแชมป์เก่า) แต่ผลงานของ โปรโม โมรียา พี่สาว นับว่ายอดเยี่ยมมาก
โปรโม ทำได้อย่างยอดเยี่ยมในวันสุดท้าย เก็บ6เบอร์ดี ใน14หลุม มาหลุม16 ยิงเบอร์ดี ไม่ถึงคันธงพลาด กระนั้นก็ยังเก็บเบอร์ดีในหลุมสุดท้ายได้ ไม่มีเสียโบกี้เลย วันสุดท้ายทำ 7 เบอร์ดี เป็นสถิติดีที่สุดของวัน ส่งให้เธอทำสกอร์รวม 14อันเดอร์ ขึ้นมาเป็นอันดับ3 ของรายการนี้ แพ้ มินจี ลี (นักกอล์ฟออสเตรเลียนเชื้อสายเกาหลี)ที่เป็นแชมป์รายการนี้ 2 สโตรค
ส่วนโปรเม เอรียา จุฑานุกาล วันสุดท้ายทำ3อันเดอร์ สกอร์รวม 11 อันเดอร์ ได้ที่7 ร่วม ก็ถือว่า ไม่เสียหายอะไร
มีบทวิเคราะห์ว่า ซีซั่นนี้ ภาษากายของโปรเม บ่งถึงการพัฒนาทางด้านmental ภาวะจิตใจที่ดีขึ้น (มีทีมโค้ชสถาบันจิตวิทยากีฬาชื่อดัง vision 54 ดูแลเป็นปีที่สอง) บวกกับพึงพอใจ ที่มีพี่สาวก้าวขึ้นมาในระดับเดียวกัน ทำให้โปรเมเล่นได้อย่างผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด มีภาวะกดดัน ครั้งแบกรับตำแหน่งมือหนึ่งของโลกเมื่อสองซีซั่นก่อน
โปรโม แตะแชมป์แอลพีจีเอ รายการแรกแล้ว มี consistency ความมั่นคงทางจิตใจที่ดี รักษามาตรฐานการพัตต์ที่ยอดเยี่ยม ทำให้เธอมีสถิติการทำเบอร์ดีในระดับแนวหน้า การทำ7เบอร์ดี (เกือบจะ8)ในวันสุดท้ายรายการวอลวิค ทำให้ โปรโม ได้รับการวิเคราะห์ว่า เธอต้องได้แชมป์แอลพีจีเอซีซั่นนี้อีก
บางทีจะมีรายการที่ เธอได้เดินก๊วนสุดท้าย วันสุดท้ายร่วมกับน้องสาว อันเป็นความฝันของ โปรเม
มีเรื่องนอกสนามที่อยากเขียนเรื่องหนึ่งครับ คือเรื่อง กระแส อยากเลือกตั้ง ของกลุ่มคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ที่เหมือนออกมาท้าทายอำนาจรัฐบาลคสช.
มีหลายคนถามผมว่า รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมก็ตอบเพียงว่า แสวงหาประชาธิปไตย อยากเลือกตั้ง มันก็ได้นะ แต่ผมมีโจทย์ถามต่อว่า..จะให้เลือกใคร นักการเมืองตัวบุคคล? หรือ พรรค?
อย่าตั้งโจทย์ลอยๆ แล้วไม่รับผิดชอบผลพวงที่ตามมาเป็นรูปธรรม
เพราะ ประวัติศาสตร์ระบอบ “เล่นการเมือง”แบบไทยๆ มันสร้างความบอบช้ำให้กับประเทศชาติ เป็นกงกรรมกงเกวียนกับประชาชน ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บทเรียนในอดีตก็มีทุกๆทศวรรษ
ไม่ว่า ชนชั้นกลางขึ้นไป แสดงความเป็นอารยะ ใช้สิทธิ์ตัวเอง หรือประชาชนระดับรากหญ้ายากจน ที่เชื่อน้ำลายนักการเมือง “ซื้อเสียง”ในรูปแบบต่างๆ ถูกต้อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง กากบาดชื่อ แล้วเดินออกมา
มีประชาธิปไตยเป็นนามธรรมอยู่ในกบาล โดยไม่หราบจำบทเรียนที่มีทุกๆทศวรรษงั้นหรือ
นั่นอาจเป็นมุมมองของคนอายุหกสิบสี่ ที่เห็นมาเยอะ จึงเบื่อหน่าย สิ้นศรัทธากับระบอบการเมืองแบบไทยๆ
แต่ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้อ่านบทสัมภาษณ์ คุณชาติ กอบจิตติ (คนอ่านหนังสือคงรู้จักดีกับงานเขียนระดับวรรณกรรมของเขา ทั้งเรื่อง พันธุ์หมาบ้า,คำพิพากษา และข้อเขียนคุณภาพในยุคหนึ่ง)
คุณชาติอายุ 64 ปีแล้ว ยังเขียนหนังสืออยู่บ้าง เป็นผู้ผ่านชีวิต เข้าใจชีวิต ตอบคำถามนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนี้ครับ
คุณชาติ ตอบคำถาม ในวลีว่า
ถนนแห่งชีวิตนั้น มีรูปแบบบางอย่าง วัยหนุ่ม เราจะก้าวร้าว พอเริ่มกลางคนเราจะสุขุม พอปลายชีวิต เราจะเมตตา มันเป็นสัจธรรม
มันเป็นเรื่องที่ซิมเปิลมาก ไม่ต้องเทียบใคร นึกถึงตัวเอง ในวัยต่างๆ แต่คุณต้องแก่พอที่จะ หยุดยืนหันหลังมองอดีตนะ
ใช่เลยครับ
ยังจำตัวเองได้ ในยุคสิบสี่ตุลา16 เพียงแค่ หนีแม่ไปร่วมเตะเบ็งเสียงอยู่ที่ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร่วมกับพลังนักศึกษา รู้สึก กูช่างมีค่าเป็นเลิศประเสริฐศรี เป็นหนึ่งในเฟืองตัวเล็กๆ ที่กอบกู้ประชาธิปไตยให้กับประเทศ ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ชาติ เป็นอะไรที่ฮึกเหิมเหลือเกิน
ตอนนั้น รู้สึกเกลียดทหารเข้ากระดูก พวกใส่ท้อปบู้ทกับปืน มีสมองไว้แค่รับคำสั่งเท่านั้น ไม่มีสามัญสำนึกแห่งปัญญาชน
โคตรศรัทธา เทิดทูน วีรบุรุษอย่าง ธีรยุทธ บุญมี, เสกสรร ประเสริฐกุล,จีรนันท์ พิตรปรีชา ผู้นำนักศึกษาอื่น นำพลังนักศึกษาประชาชน ล้มสลาย อำนาจท้อปบู้ท ทรราช ถนอม-ประพาส
พออายุมากขึ้น ก็รู้ว่า มันไม่ใช่อุดมการณ์อะไร มันแค่เป็น “ปม”แห่งวัย ที่คุณชาติใช้คำว่า วัยหนุ่ม เราจะก้าวร้าว
วัยรุ่น จะมีอารมณ์ต่อต้าน ปฏิเสธพื้นฐานเบื้องต้น เป็นช่วงแห่งกระหายการกบถโดยไร้เหตุผล (แต่อ้างเหตุผลให้ตัวเองสารพัดนะ)
แสดงตัวตน กูแน่ ..กูเจ๋ง กูไม่กลัวมึง ยิ่งปรามก็ยิ่งต้าน
นักศึกษา หนุ่มสาวที่แตกหน่อว่าตัวกูนี้คือปัญญาชน เรียกร้อง ประชาธิปไตย democracy กันทั้งโลกแหละครับ ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย
หน้าที่กูคือปลดปล่อยอิสรภาพของประชาชนในสังคม จะมี “ปมเกลียดทหาร” ก่อนเกลียดนักการเมืองโกงกินประเทศ(ที่เฮี่ยกว่า)เสียอีก
ปม หนุ่มสาวปัญญาชนต้องเกลียดทหาร แสวงหาประชาธิปไตย..ไม่เคยเปลี่ยน คนที่เป็นตัวละครต่างหาก ที่เปลี่ยนไปตามยุค
เมื่อการเดินทางของชีวิต มาสู่วลีต่อเนื่อง..พอเริ่มกลางคน เราจะสุขุม
แต่งงาน มีครอบครัว จะเยิ้วๆ ออกมาเดินขบวน ประสาวัยรุ่นนักศึกษาได้อย่างไร
อายุมากขึ้น ต้องทำงาน ทำมาหากินเอง ต้องรับผิดชอบชีวิตและครอบครัวตัวเอง บทบาทก็เปลี่ยน
ใครหางานทำก็ไม่ได้ ให้พ่อแม่เลี้ยง กลายเป็นคนล้มเหลว สังคมดูแคลน อุดมการณ์ย่อมละลาย
วัยที่ผ่านพ้น เรียนรู้วิถีชีวิตมากขึ้นว่า โลกนี้ไม่มีวลีวรรคทอง.. ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน..( ก็เห็นๆ ใหญ่ไม่เท่ากัน ก็ตีกันฉิบหาย) ยูโธเปียที่ฝันหรอก
สังคมที่อยู่ได้ ไม่ใช่จะดำปี๋ ต้องซักให้ขาวผ่องถึงอยู่ได้ แต่เป็นสีเทาๆ พอจะอยู่กันให้ได้ต่างหาก
ไม่เห็นมีใครสักคน ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ ไปจนแก่ นักการเมืองคนเดือนตุลาบางคน ที่ใช้ฉากแห่งอดีต แค่หาเสียง อจ.ธีรยุทธ ก็เป็นนักวิชาการ, คุณเสกสรร ก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือ คุณจิรนันท์ เป็นกวี มีครอบครัวสมถะ ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุล นี่เป็นถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเลยทีเดียว
วลีสุดท้าย..พอปลายชีวิต เราจะเมตตา มากับสัจธรรมแห่งสังขาร
คนเราแก่ตัวลง สะสมประสบการณ์ในแต่ละทศวรรษ เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ มีหลานก็รักหลาน เข้าวัดเข้าวา ให้เข้าใจว่า ชีวิตคนเราช่างสั้นนัก ขอใช้ช่วงสิบปีสุดท้ายของตัวเองอย่างมีคุณภาพชีวิต
กระแส อยากเลือกตั้ง ก็เพียง พลังขับ ความรู้สึกของผู้ก่อการหนุ่มสาวกลุ่มนี้ยุคนี้ ไม่ต่าง กับ คุณธีรยุธ บุญมี,เสกสรร ประเสิรฐกุล, จิตรนันท์ พิตรปรีชา รู้สึก เมื่อสี่สิบห้าปีก่อนหรอกครับ
หากต่างกัน ราวเศษไฟพะเนียงวิบๆในพ.ศ.นี้ กับพลุสกาวเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน ด้วยบารมีผู้นำนักศึกษานั้น ซัมบอดี้ กับ โนบอดี้ เทียบกันไม่ได้เลย
รัฐบาลทหาร ที่ถูกตราหน้าเป็นสูตรสำเร็จตลอดกาล..เป็นเผด็จการ อำนาจใต้ท้อปบู้ท ก็คนละภาวะ
รัฐบาลทหาร คสช.พ.ศ.นี้ ไม่ใช่แบบรัฐบาลทหาร ทรราชในอดีต ที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จใต้ท้อปบู้ท ทารุณสังคมเกินไป
ลืมไปแล้วหรือว่า พิษระบอบเล่นการเมืองแบบไทยๆ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง กูแดง มึงเหลือง ต้องฆ่ากันไปข้าง การใช้ความรุนแรง ตายกันเป็นเบือ ระบอบปกครองการเมืองเละเทะ
เพราะนักการเมือง ทำฐานสังคมคงเละตุ้มเป๊ะ หน้าที่ทหารจึงไม่ใช่แค่ รั้วของชาติ แต่ต้องมาเป็นบูลโดเซอร์ ไถขยะ ปรับหน้าดิน แผ่นดินชาติ เพื่อปลูกพืชผลกันใหม่
เราก็เห็น รัฐบาลคสช.ก็ ทำงานสารพัด ให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่า ผลประโยชน์แห่งแผ่นดินต้องมาก่อน สะสางความถูกต้องในสังคม ต้องได้รับการจัดระเบียบ ดีกว่ายุคนักการเมือง แย่งกันเป็นรัฐบาล แล้วทิ้งขี้ไว้มากมาย
มนุษย์เราก็หมุนเวียนอยู่ในกงล้อแห่งตัณหา ความใคร่อยาก ความไม่พอใจในสิ่งที่มี นี่แหละครับ
เหมือนฝูงกบเลือกนาย ในนิทานอิสป
ลองกลับไปอ่านดู จะรู้ว่า นั่นไม่ใช่นิทานสำหรับเด็ก แต่เป็นการ ประชดประชันสันดานความเป็นมนุษย์ ที่อิสปเหน็บแนมไว้อย่างแหลมคมเป็นอมตะ
ฝูงกบของอิสป ก็คือ ประชาชนกรีกโบราณเมื่อกว่าสองพันปีก่อน แตกต่างกับ กบ ประชากรโลกในพ.ศ.นี้ ไหมล่ะ
อาจจะเพราะอายุเยอะ เข้าโหมด ปลายชีวิต เราจะเมตตา ทำให้ผม มองปรากฏการณ์ การเมืองไทย เป็น ช่วงละคร ที่มีตัวละครมากมายมาเล่นให้ดูเยอะ..สนุกดี
วิถีจะเป็นอย่างไร..ก็ช่างแม่มเถอะ กูขออาศัยอยู่ให้พอได้ ก็พอแล้ว
อำนาจทุกอย่างในโลก มีดีมีเลว เป็นพลังหยิน-หยาง หมุนไป
แต่ขอให้ คนถืออำนาจนั้น มีสามัญสำนึก เลวน้อยกว่าดี ประชาชนสามารถ ใช้ชีวิตในสังคมสีเทาๆ เดินสายกลาง ให้ดีต่อตัว ดีต่อใจ
ก็แสนสุขใจในแผ่นดินไทยนี้ แล้วละครับ
ยอดทอง