อมยิ้มริมกรีน

วันแห่งความรัก..ของพ่อแม่

วันแห่งความรัก..ของพ่อแม่

ถ้าไม่ใช่โรงเรียนสาธิต ที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย โรงเรียนรัฐและเอกชน เปิดเทอมต้น ปีการศึกษาใหม่ วันที่ 17 พฤษภาคม เป็นจารีต มาตั้งแต่ผมยังเรียนหนังสืออยู่

ใครที่เป็นพ่อแม่ เหนื่อยไหมครับ กับการส่งลูกเข้าโรงเรียน
ถ้าเป็นครอบครัวมีอันจะกิน ร่ำรวย ( กอล์ฟเป็นกีฬาคนมีเงิน คนจนเล่นไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ก็ต้องประเมินว่า ท่านผู้อ่านตรงนี้ มีอันจะกินน่ะครับ) เลี้ยงลูกเป็นคุณหนู เกิดมามีช้อนเงินช้อนทองคาบติดปาก พ่อแม่ส่งเรียนโรงเรียนราคาแพง โดยไม่มีปัญหาอะไร ก็แล้วไป

แต่คนรวยทุกวันนี้ ที่เคยเป็นลูกคนจน ลูกชาวบ้านมาก่อน ก็อาจเข้าใจ “ฟิลลิ่ง” การหาเงินของพ่อแม่ เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียน วันเปิดเทอมต้น ได้ดี

พ่อแม่ชนชั้นกลางลงมา ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่ายุคใน สมัยใด ต่างมีประสบการณ์ การต้องเพียรหาเงินก้อนเงินสด สำหรับส่งลูกเข้าโรงเรียน ที่มีรายจ่ายสารพัดนั้น สาหัสเพียงใด

ยิ่งมีลูกหลายคน ยิ่งรู้ซึ้งถึงวลีของ คุณมีชัย วีระไวทยะ ฝากไว้กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วว่า..ลูกมาก จะยากจน

วันส่งลูกเข้าโรงเรียน คือประสบการณ์ อันเข้มแข็งของพ่อแม่ ที่พลีทั้งกำลังกายกำลังใจล้วนๆ..ด้วยรัก ด้วยเป็นหน้าที่

ผมนั้น มีประสบการณ์ในฐานะลูก ที่แม่ เพียรส่งเข้าโรงเรียนประจำที่ดีที่สุด สารพัดวิธีที่แม่หาเงินก้อน พาผมเข้าประตูโรงเรียนตอนเปิดเทอม จาก ป.3 ถึง ม.8 จนจบ

ซึมซาบเรื่องของเพื่อนรัก คือ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา ที่เล่าว่า ทุกเปิดเทอม พ่อกับแม่ จะหัวชนกันนั่งนับเงิน เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนถึง3คน นับแล้วนับอีก ราวกับจะให้เงินงอกเพิ่ม ปรึกษากัน เงินขาด จะหาเงินเร่งด่วนตรงไหน ไปโปะให้ครบ..(ทั้งพ่อแม่ของโย่งเป็นข้าราชการ พ่อเป็นนายทหาร แม่เป็นพยาบาล)

เป็นภาพที่เขาติดตา ทำให้เขา ที่จบ ม.8 จากโรงเรียน เอนทรานซ์ธรรมศาสตร์ไม่ติดมา1ปี ตัดสินใจที่จะทำงานเลย ถ้าได้งานทำ เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ในการส่งลูกเรียนระดับอุดมศึกษา ส่งน้อง2คนพอแล้ว

บางทีนั่นจะเป็น จุดเริ่มต้น ที่ทำให้เกิด ย.โย่ง นามอุโฆษในวงการข่าวกีฬา มากกว่าที่จะ ผู้จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ แล้วไปเป็นเฟืองตัวเล็กๆยิบๆในระบบข้าราชการไทย

ทราบไหมครับว่า ที่พึ่งอันประเสริฐของ พ่อแม่ชาวบ้าน ในการผันเงิน หาเงินสดก้อนในเดือนพฤษภาคมคือ ที่ไหน?

สถานธนานุบาล ครับ

ใครตั้งชื่อ ไม่ทราบ แต่ตรงความหมายสุดยอดจริงๆ คือ ช่วยเหลือทางการเงิน

ภาษาชาวบ้านคือ โรงตึ๊ง ด้วย คนเอาของไปจำนำ จะมีตลับหมึกดำไว้ให้ตึ๊งหรือกด ประทับลายมือหัวแม่มือไว้ในกระดาษหลักฐานเอกสาร ตรงประตูขาออก จะมีผ้าขนหนูชื้นๆสกปรกให้เข็ดหัวแม่มือ (ยังไงก็เป็นคราบติด) ก่อนเดินออกด้วยรอยยิ้มระโหย ( หากอุ่นใจที่มีเงินสดในกระเป๋า)

เดือนพฤษภาคม จะเป็นเดือนแห่ง “วีรบุรุษหัวแม่มือดำ” พ่อแม่ จะเอาเข้าทรัพย์สินไปจำนำ แลกเงินสด สมทบทุน พาลูกเข้าโรงเรียน

สมบัติมีค่าของคนเป็นแม่ คือ สร้อย กำไลทอง ของพ่อก็พวก แหวนทอง,ตะกรุดทอง,นาฬิกายี่ห้อดีๆ (สมัยก่อนต้องไซโก้ขึ้นไป)

ได้เงินสดเป็นเงินก้อนส่งลูกเข้าโรงเรียนได้แล้ว พ่อแม่ก็โล่งอก ก้มหน้าก้มตาทำงาน เก็บเงินสะสมไปผ่อนดอกผ่อนต้น เอาสมบัติกลับคืนมา เพื่อพฤษภาคมปีหน้า จะได้มีของไปฝากโรงรับจำนำ เอาเงินพาลูกเข้าโรงเรียน

วัฎจักรนี้ไม่เคยเปลี่ยน ราวกับจารีตที่ควบคู่กันไปกับการศึกษาของเยาวชนในชาติ ดังต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข่าว ภาครัฐ อัดเงินนับเป็นพันล้านบาท เข้าระบบสถานธนาบุบาลของรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง ในช่วงเปิดเทอมปีการศีกษาของลูก

ใครเคยอ่านการ์ตูน”เบบี๋”บ้างครับ จำมุกการ์ตูนขำของ “อาวัฒน์”ได้ไหม

คุณโฉลง สามีคุณโฉมฉุน เอาครกไปจำนำเสมอ..ถือเป็นมุขอมตะ ครกหิน หนักจะตาย ยังทนแบกไปจำนำ เหม็นน้ำพริกกะปิด้วย

ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยคิดว่า ครกหิน จะสามารถเอาไปจำนำได้

ตอนโตขึ้นมา เคยอ่านสารคดี นักข่าวทำสกู๊ป พ่อแม่เข้าโรงรับจำนำ ส่งลูกเข้าโรงเรียน ไปสัมภาษณ์โรงรับจำนำว่า..ครกหิน จำนำได้จริงหรือ?

คำตอบก็คือ..จำนำได้จริง

แต่ จะจำนำได้นั้น ต้องมาจากพื้นฐานบุคคล คือ คนจำนำ อาจจะเป็นแม่หรือแม่ค้าที่อยู่ในชุมชนเดียวกับโรงรับจำนำ เป็นชาวบ้านคนทำมาหากิน เห็นหน้าเห็นตากันบ่อยๆ

ครกอาจจะไม่มีค่าในสายตาผู้อื่น แต่สำหรับเจ้าของที่ใช้ประจำในครัว ทำอาหารให้ครอบครัว หรือแม่ค้าทำอาหารขาย ครกที่ใช้งาน ยิ่งเก่ายิ่งสึกกร่อน ยิ่งมีค่า มีความผูกพัน

การที่ยกครกที่ใช้ประจำมาจำนำนั้น แสดงว่า ร้อนเงินจริงๆ เป็นทางเลือกที่สุดๆแล้ว จะไม่ช่วยเหลือกันได้อย่างไร..นั่นก็คือ จำนำได้

คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ มูลค่าของครก แต่อยู่ที่ น้ำใจ ความเอื้ออาทร และเมตตาธรรม ระหว่างอาโกรับจำนำกับผู้เอาครกไปจำนำ

สิ่งที่ค้ำประกัน ไม่ใช่ครก แต่เป็นศักดิ์ศรีตัวตนของผู้เป็นเจ้าของต่างหาก และสถิติบอกว่า ครกหิน คือ ของที่เจ้าของมาไถ่ถอนคืนทุกราย100เปอร์เซ็นต์ สร้อยทอง ยังมีปล่อยหลุดบ้าง

การจำนำครก จึงไม่ใช้มุขตลกในการ์ตูน หากแต่เป็นเรื่อง ของแรงขับแห่งความรักของพ่อแม่ ที่ให้ต่อลูก คุณค่าแห่งเอื้ออาทรที่มนุษย์มีต่อกัน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าจากอดีต ต่อไปคงไม่มีอีกแล้ว เมื่อเราทะยานไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ด้วยชีวิตประจำวันของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับ AI ชีวิตจะได้รับการบริการด้วยสารพัดแอพพลิเคลั่นที่ สั่ง ให้ คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ทำให้ทุกอย่าง

ถ้าหากโรงรับจำนำยังมีอยู่เป็นบริการชุมชน แล้วให้หุ่นยนต์แทนพนักงาน

มันจะประเมินทุกอย่างทางวัตถุ ตามfax มันไม่มีวันจะมีเอื้ออาทร หรือเมตตาธรรม เพราะ มันไม่มีฟิลลิ่งแบบมนุษย์

มันจะเห็นเพียง ก้อนหินก้อนหนึ่ง เมื่อมันสแกนครกมาวาง..มันไม่เห็น หรือตีค่ามนุษย์ที่อุ้มครกนั้นมาหรอก

บางที เรื่อง ครกหินกับโรงรับจำนำ จะเป็นเรื่องตลกร้าย ที่มีสตอรี่เข้ม เอาไปเขียนเรื่องสั้นดีๆได้ มากกว่า มุขตลกกว่าครึ่งศตวรรษ คุณโฉลง สามี คุณโฉมฉันแบกครกไปจำนำ

การหาเงินก้อนในเดือนพฤษภาคมประสาชาวบ้านอีกวิธีหนึ่งคือ การเล่นแชร์

ตั้งวงแชร์กันก่อนหน้านี้เดือนสองเดือน หรือ เป็นลูกแชร์ กัดฟันส่งมานานข้ามปี ก็เพื่อที่จะเปีย ในเดือนพฤษภาคมนี้แหละ

พ่อแม่หลายคน ถูกขนานนามเป็น “บิดาแห่งการเปียแชร์” ในเดือนพฤษภาคม คือ “สู้ดอก”ทุกคนที่มาเปียแข่ง ให้ดอกสูงสุดไม่มีอั้น

จะจ่ายดอกสูงเหลือเชื่อแค่ไหน ค่อยว่ากันเอาดาบหน้า แต่เดือนพฤษภาคม ต้องเปียให้ได้ ด้วยลูกจะเข้าโรงเรียน

เครียดสาหัสประการใดไม่ว่า..แต่ทุกอย่างจบด้วยแฮปปี้ เอนดิ้ง เมื่อจูงลูกเข้าโรงเรียนได้ ในวันที่17 พฤษภาคม

ไม่ว่าจะเป็นลูกเจี๊ยบป.1 แรกเข้าโรงเรียน หรือ เด็กหนุ่มสาวม.ต้น ม.ปลาย ที่เริงร่า มีทุกอย่างครบตามยุควัตถุนิยม ที่พอ่แม่เพียรสรรหามาให้ จะได้ไม่อายเพื่อน

นี่คือ ชีวิตและหน้าที่ของพ่อแม่ ที่ทุ่มเท ด้วยหยาดเหงื่อ พลังกาย พลังใจ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมของแต่ละปี

แม้วันที่ 17 พฤษภาคม จะเป็นเพียงวันเปิดเทอมต้นทั่วประเทศ เด็กๆเข้าโรงเรียนกันด้วยบรรยากาศแจ่มใส

โรงเรียนเปิดแล้ว เป็นหนึ่งปัจจัยที่ คนกรุง กลับมาเจอสภาพรถติด ตอนเช้าตอนเย็น สาหัสสากรรจ์ในชีวิตประจำวัน

หากเป็นวันแห่งความรัก ความเสียสละของพ่อแม่

ผมเขียนให้อ่าน สำหรับผู้ที่เคยมีพ่อแม่ที่ไม่ได้ร่ำรวย ชนชั้นกลางชาวบ้านธรรมดาๆ เพียงส่งลูกเข้าโรงเรียนจนตลอดรอดฝั่ง คุณคงคิดถึงพ่อแม่

สำหรับพ่อแม่ที่เพียรส่งลูกเข้าโรงเรียน ด้วยความอุตสาหะเหนื่อยยากแห่งเดือนพฤษภาคม

ยอดทอง