วีระ อัครพุทธิพร
วีระ อัครพุทธิพร
อุปนายกสมาคม และ ประธานคณะกรรมการบริหาร
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย
“คิดบวก ไม่คิดมาก”
เป็นคนเงียบๆ : เมื่อเด็กๆ ผมไม่ค่อยชอบเข้าสังคมมากนัก แต่เมื่อใกล้เรียนจบมัธยมกลับพบปัญหาว่า เมื่อครอบครัวของพรรคพวก เพื่อนฝูง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จากไป เราก็ต้องไปช่วยงานประจำ แล้วสังเกตว่าจะต้องเกณฑ์พวกเราไปช่วยทุกครั้ง จนเกิดความคิดว่า จะช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนฝูงอย่างไรดี
จัดตั้งชมรมหนุ่มสาวฯ : เราเก็บเงินกันคนละนิดคนละหน่อยเป็นทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ พ่อ แม่ ลูก ของ พี่น้องสมาชิก นั่นคือเพื่อนๆ ของเราที่อยู่ในพื้นที่บางบัวทอง ครั้งแรกเลยใช้ชื่อว่า ชมรมหนุ่มสาวบางบัวทอง พอทำไปแล้วสังคมในท้องถิ่นก็เห็นว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ ก็สมัครกันเข้ามามากขึ้นๆ ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมบางบัวทอง เป็นชมรมที่เข้มแข็งมาก ก่อตั้งมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 52 แล้ว เป็นองค์กรที่รู้จักกันดีในพื้นที่ ส่วนราชการก็รู้จักเราดี เมื่อมีงานหรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็น เราก็คอยช่วยเหลือและให้การสนับสนุน
ถนัดงานค่ายอาสาฯ : พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์เกษตร ผมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมอื่นๆ มากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่กับการทำงานให้กับค่ายอาสาฯ เป็นหลัก
เรียนต่อต่างประเทศ : พอเรียนจบ เพื่อนฝูงก็ส่งข่าวเกี่ยวกับการสมัครงาน ตอนนั้นตั้งใจไว้ว่า ถ้านานแล้วยังไม่มีบริษัทไหนเรียกตัวไปทำงาน ก็อยากจะไปเรียนต่อ ระหว่างรองานอยู่นั้นก็เตรียมตัวเรื่องเรียนให้พร้อมไปด้วย ในที่สุดก็ยังไม่มีใครเรียก แต่ผมยังไม่มีทุนสำหรับเรื่องเรียน เลยปรึกษากับพี่ชายขอค่าเครื่องบินกับเงินค่าเรียนเทอมแรก ส่วนค่าใช้จ่ายหลังจากนี้กะไปหางานทำเอาข้างหน้า ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักใครที่โน่นเลย พอไปถึงก็เริ่มเรียนภาษาที่หลุยส์เซียน่า แล้วพอดีได้เจอกับรุ่นพี่คนไทยที่ได้ทุนของธนาคารไปเรียน แนะนำว่า ที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี มีสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร ตรงกับความต้องการพอดี
หมดตัวก่อนเรียน : ผมเผลอไปเล่นการพนันเสียหมด ไม่เหลือสำหรับจ่ายค่าเรียน จนเพื่อนที่ผมแนะนำให้ไปเรียนด้วยกันให้ยืมเงินไปจ่ายค่าเรียนในเทอมต่อไป ผมจึงได้เรียนต่อ พร้อมกับตั้งใจเริ่มต้นตัวเองใหม่ ช่วงปิดเทอมผมกับเพื่อนก็พากันไปชิคาโก้ หางานในร้านอาหารทำ เพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนเรียน พอเปิดเทอมผมก็ทั้งเรียน ทั้งทำงานไปด้วย ตั้งใจเก็บเงินมาก ถึงขนาดต้องบอกกับเจ้าของร้านไว้เลยว่า ถ้าเมื่อไหร่คนขาด หรือต้องการแรงงานเพิ่ม ให้โทรตามได้ตลอดเวลา ต่อให้ง่วงหรือเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องไป ยอมทำงานหนัก เพื่อที่จะเลี้ยงตัวเองและมีพอจ่ายค่าเล่าเรียนได้
ไม่คิดอยู่ต่อ : เรียนจบรีบกลับบ้านทันที พี่สาวที่ไปทีหลังชวนให้อยู่ต่อผมก็ไม่อยู่ เพราะไม่อยากทำงานที่โน่น ที่ยังไงเรามีฐานะแค่คนใช้แรงงาน ถึงเรียนจบแล้วโอกาสจะก้าวหน้าก็มีน้อยมาก จึงตัดสินใจกลับ
เล่นการเมือง : ก่อนกลับมาบ้าน เพื่อนก็ส่งชื่อสมัครลงเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลให้ตั้งแต่ยังไม่กลับจากอเมริกา พอกลับมาไม่นานถึงก็ช่วงเลือกตั้งพอดี แล้วผมก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนั้น ได้ทำหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลบางบัวทอง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ถึง 3 สมัยติดต่อกัน รวม 15 ปี แล้วก็ไม่ลงสมัครเลือกตั้งอีก เพราะเล่นการเมืองยังไงก็มีศัตรู มีคู่แข่งเสมอ พอเราลงสมัคร อีกฝั่งก็จะกลายเป็นศัตรูทันที แต่พอเลิกเล่นการเมือง ก็ยังทำหน้าที่เพื่อสังคมอยู่เสมอไม่ได้ขาด ไปไหนก็มีแต่เพื่อน เวลาจะเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทุกฝ่ายต้องมาหา มาเป็นมิตรกับเรา
มอบทุนการศึกษา : เงินเดือนของตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ผมมอบให้เป็นทุนการศึกษาทั้งหมด คิดว่าเรามาทำหน้าที่เพื่อสังคม ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน ผมจึงตำหนิผู้ที่คิดว่า ถ้าจะเล่นการเมืองต้องมีเงิน มีความพร้อม ถึงจะช่วยสังคมได้ ผมว่าคนที่คิดแบบนี้วัตถุประสงค์คงไม่ใช่เข้าไปเพื่อช่วยเหลือสังคมแน่ๆ เพราะผมเองก็ไม่ได้มีความพร้อมทางการเงินมากมาย แต่มีความพร้อมในเรื่องความตั้งใจอย่างเต็มที่ ก็สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมได้
ทำงานสหกรณ์ฯ : ผมสมัครไปทำงานเพื่อจัดตั้ง สหกรณ์นิคมพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ไปบุกเบิกตั้งแต่เริ่ม ในตำแหน่งผู้จัดการ เป็นโครงการที่ประเทศเยอรมันให้ทุนกับกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อส่งเสริมเกษตรกร จากเดิมที่เคยปลูกมันสำปะหลังให้มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พอทำงานไป 6 เดือน ผมได้งานที่กรุงเทพฯ ก็ขอลาย้ายกลับ แต่อยู่ไปอีกไม่กี่เดือน เจ้านายเก่าชาวเยอรมันก็มาหา บอกว่าผู้จัดการคนใหม่ทำงานไม่ได้ อยากให้ผมกลับไปทำงานต่อ พร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่ ทำให้ผมต้องกลับไปสานงานต่ออีกรอบจนครบสองปี
เข้ากรุงเทพฯ : กลับมาอีกครั้งคราวนี้ ผมได้เป็นผู้จัดการคลังสินค้า ของบริษัทที่ขายพวกเส้นใย ทำอยู่ไม่นานก็เห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า บริษัทไทยน้ำทิพย์รับตำแหน่งเดียวกันนี้ ผมสมัครไป แล้วก็เงียบหายอีกหลายเดือนถึงเรียกตัวไปสัมภาษณ์ เพราะชีวิตนี้ผมสมัครงานเองมาตลอด ไม่เคยมีใครช่วยฝาก
เริ่มงานกับไทยน้ำทิพย์ : ผมเป็นคนโชคดีที่ได้ทำงานเกือบทุกแผนก ได้เปลี่ยนจากคลังสินค้ามาเป็นผู้จัดการขาย อาจจะเป็นเพราะเมื่อมีการพาผู้จัดการกับผู้อำนวยการ ออกตลาด เยี่ยมเยียนร้านค้า ทุกร้านที่เราไปผมก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งหลักของเครื่องดื่มมีอยู่ 4 ข้อ คือ จัดสต็อก ตั้งโชว์ แช่เย็น ติดป้ายโปสเตอร์ ผู้ใหญ่อาจจะเห็นแวว ทำให้ได้ขยับไปทำงานฝ่ายขาย ตอนนั้นเป็นเรื่องแปลกใจสำหรับทุกคนมาก
ใช้เวลาปรับตัว : เมื่อต้องย้ายมาทำงานเป็นฝ่ายขายใหม่ๆ ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้ผมต้องพาพนักงานออกตลาดเอง แล้วทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เราถึงจะสร้างยอดขายที่ดี และมีความสัมพันธ์อันดีกับร้านค้า จนพวกเรามีความเข้าใจกัน ผูกพัน รักใคร่สามัคคี แล้วก็อยู่ในหน้าที่นี้อีกพักใหญ่
เป็นผู้จัดการโรงงาน : ผมเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ที่ไม่ใช่วิศวกร แต่ต้องไปรับหน้าที่นี้ ครั้งแรกคิดว่านี่คือการกลั่นแกล้ง จนต้องไปปรึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ต้องการให้ไปบริหาร เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้วหลายด้าน ส่วนคนที่ทำงานสายวิศวะโดยตรง มุมมองก็จะเป็นอีกแบบ อาจจะเดิมๆ ผู้บริหารจึงต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งผมก็ทำงานในมุมมองที่ต่างออกไป เช่น ดึกๆ ดื่นๆ ก็เข้าไปโรงงาน ดูกระบวนการผลิต ดูเครื่องจักร เลี้ยงข้าวต้มกันบ้าง แล้วก็มาคิดหาวิธีเพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น จะนำน้ำที่เหลือกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างไร ก็ให้โจทย์เขาไปคิดหาวิธีการกันมา หรือการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงาน อย่างในช่วงหน้าร้อน พนักงานต้องทำงานกันแบบร้อนจัด เราไปเห็นระบบพัดลมระบายอากาศ ก็นำมาช่วยลดอุณหภูมิ ช่วยให้การทำงานดีขึ้น ขณะที่ฝ่ายขายมีการให้ผลตอบแทนกันเยอะ แต่ที่ฝ่ายโรงงานกลับไม่เคยมี เราก็มาจัดตั้งรางวัลให้กับทีมงานที่มีประสิทธิภาพบ้าง สร้างความคึกคัก ให้กับการทำงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทุกคนมีความสุข จากนั้นผมก็ยังไปดูแลในเรื่องการตลาดซึ่งงานจะคล้ายกับฝ่ายขาย ก็สนุกสนานเช่นกันเพราะมีการจัดโครงการต่างๆ เยอะแยะมากมาย
ความท้าทายครั้งใหญ่ : คือการได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้อำนวยการแผนกคอมพิวเตอร์ ซึ่งผมเองไม่ถนัดเรื่องนี้เลย จนต้องไปถามประธาน ท่านก็บอกว่า อยากได้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดต่อข้อมูลกันได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์มาแล้วเป็นสิบปี ถึงมีผู้เชี่ยวชาญอยู่เยอะ แต่ระบบก็ยังไม่เกิดสักที แผนกนี้ทำงานตามที่เรียนรู้มา แต่ไม่ได้ทำตามความต้องการของผู้ใช้ ที่มอบหมายหน้าที่นี้ให้เพราะคุณรู้ทุกเรื่องแล้ว ก็ไปทำให้สำเร็จซะที หน้าที่ของผมคือต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ ใหม่ๆ ยังไม่เข้าใจ ไปอบรมคอมพิวเตอร์ต่างประเทศก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยช่วยเหลือ เรียนรู้ไป แก้ไขปัญหาไป ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะสำเร็จ…
ทำงานเพื่อสังคมต่อเนื่อง : เมื่อเข้าไทยน้ำทิพย์ไปได้สองปี ผมก็ตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาอำเภอบางบัวทอง โดยให้บริษัทไทยน้ำทิพย์เป็นผู้สนับสนุน มีการแสดงคอนเสิร์ตโดยศิลปินที่มีชื่อเสียง เพื่อหารายได้สำหรับทุนการศึกษา ปีละ 100 ทุน จัดมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 36 และยังมีโรงเรียนบางบัวทองราษฎร์บำรุง (โรงเรียนจีน) ตั้งโดยพ่อค้าในตลาด ก่อตั้งมาแล้วกว่าหกสิบปี ปัจจุบันมีนักเรียนราวห้าร้อยคน ทุกๆ 4 ปีจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร ผมก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานฯ ดูแลทั้งโรงเรียน ส่วนในบริษัทฯ ผมก็ตั้งชมรมกีฬาหลายอย่าง ทั้ง โบว์ลิ่ง แบดมินตัน ว่ายน้ำ กอล์ฟ ฯลฯ และของบจากบริษัทให้แต่ละชมรม เวลามีการแข่งขันการกุศลต่างๆ ที่บริษัทสนับสนุน เราก็ให้แต่ละชมรมเป็นตัวแทนไปแข่งขัน ผมยังได้ทำโครงการ ไทย-อิลลินอยด์ ร่วมกับคนไทยในชิคาโก้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมอและพยาบาล จัดคอนเสิร์ตที่นั่น โดยการสนับสนุนของไทยน้ำทิพย์ นำผู้ชนะเลิศโค้ก มิวสิค อะวอร์ด และ ศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นไปแสดงที่วัดไทย เพื่อหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยในภาคอีสาน ผ่านสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ส่งเรียนตั้งแต่ ป.1 จนจบ มหาวิทยาลัย โดยผมได้ช่วยงานอยู่ในช่วง 5 ปีแรก… ผมเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2521 จนกระทั่งเกษียณในตำแหน่ง Vice President Corporate Affair โดยในช่วง 5 ปีสุดท้าย ทำกิจกรรมทางด้านส่วนรวมของสังคมเยอะมาก เช่น ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำงานให้กับ สถาบันจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) บริหารจัดการในเรื่องขยะทั่วไป โดยมีแนวคิดว่าจะจัดการที่ต้นทาง นั่นคือ บ้าน ที่ทำงาน หรือ พื้นที่สาธารณะทั่วไป และยังได้ร่วมจัดตั้งอีกหลายสถาบัน เช่น 3R (มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน), สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นส่วนใหญ่
ร่วมก่อตั้ง TBA : เมื่อราวสิบปีที่แล้วเราเจอกับปัญหาที่บางครั้งราชการออกกฎระเบียบมาโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถทำตามได้ แล้วต้องมาหาทางแก้ไข หลังจากที่เราได้ให้ข้อมูลอันถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างยิ่ง การที่แต่ละบริษัทต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ นั้นหากแยกกันไปย่อมมีกำลังน้อย ไม่เหมือนกับการรวมตัวกันพูดคุย อีกทั้งผู้บริหารแต่ละท่านต่างก็มีความสนิทสนม เป็นเพื่อนร่วมก๊วนกอล์ฟกันอยู่แล้ว จึงไปเรียนปรึกษาท่านเหล่านั้นว่าอยากจะจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับให้การสนับสนุนทันที และดำเนินการทำเรื่องจดทะเบียน วางกฎระเบียบต่างๆ ให้เรียบร้อย โดยเริ่มก่อตั้งจากเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น แล้วสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีมากกว่าสี่สิบบริษัทด้วยกัน มีทั้งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าขายโดยตรง กับบริษัทที่ผลิตวัตถุดิบสนับสนุน เช่น โรงแก้ว กระป๋อง เครื่องจักร ฯลฯ โดยมีคุณพงศ์ สารสิน เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ต่อด้วย คุณพรวุฒิ สารสิน และ คุณประธาน ไชยประสิทธิ์ เป็นนายกฯ คนปัจจุบัน ซึ่งแต่ละท่านเป็นเจ้าของโดยตรง และเป็นบริษัทของคนไทย…
วิธีดูแลตัวเอง : ผมใช้วิธีการออกกำลังกาย อาศัยคำแนะนำจากสื่อโซเชี่ยลต่างๆ แล้วลองทำตาม ส่วนเรื่องอาหารผมไม่มีข้อจำกัด อยากกินอะไรกิน แต่ต้องให้หลากหลาย และไม่ให้เยอะจนเกินไป เวลาไปทำงานตามที่ต่างๆ ก็ถือว่าได้เที่ยว ไปเปลี่ยนบรรยากาศ
คิดบวก ไม่คิดมาก : ทุกครั้งที่มีปัญหา ณ ตอนนั้น ผมจะคิด หาหนทางแก้ไขให้เต็มที่ แล้วก็ทำให้สุดความสามารถ แต่หลังจากนั้น เมื่อเรื่องจบ หรือผ่านไปแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ผมจะปล่อย ลืมไปเลย ไม่เก็บมาคิดอีกครับ