สริตา พุ่มวิจิตร
ครูกิ๊ฟ สริตา พุ่มวิจิตร
English React!
“เวลา เป็นเหมือนกับ ฟองน้ำ สามารถซึมซับสิ่งที่อยู่รอบข้างได้ ยิ่งถ้าเราได้อยู่ใกล้สิ่งที่ดีๆ เราก็จะได้เรียนรู้ หรือซึมซับจากสิ่งดีๆ เหล่านั้น”
ครูกิ๊ฟ (สริตา พุ่มวิจิตร) ครูสอนภาษาอังกฤษคนเก่ง ให้มุมมองของเธอในเรื่องเวลา ซึ่งฟังดูแล้วแปลกออกไป แต่เข้าใจได้ไม่ยากว่า สำหรับคนที่มีความตั้งใจ อยากมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น อยากเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับฟองน้ำ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอมีความรักและความผูกพันด้วยมากที่สุด
“ตอนเด็กๆ โรงเรียนอนุบาลที่กิ๊ฟเรียนไม่สอนวิชาการเลย แต่จะให้เด็กเล่นสนุกกันทั้งวัน เพราะครูใหญ่มีความเชื่อว่า ถ้าเด็กมีความสุขกับการไปโรงเรียน จะทำให้เด็กอยากเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ไม่มีเบื่อ”… ครูกิ๊ฟ เล่าถึงความฝังใจที่ทำให้กลายเป็นคนรักเรียน สนุกกับการใฝ่รู้
ครูกิ๊ฟ เรียนในโปรแกรมสายวิทยศาสตร์ มาตั้งแต่เด็ก แต่พอขึ้นชั้น ม.4 เริ่มรู้ตัวว่า การเรียนโปรแกรม วิทย์ – คณิต อาจจะไม่ใช่เส้นทางที่เธอชอบ รู้สึกว่าไม่ได้มีความสุขในการท่องตำราชีววิทยา หรือไม่รู้สึกสนุกในการคำนวณสูตรเคมี เธอจึงคิดขอคุณพ่อย้ายแผนการเรียน…
“สิ่งที่ยากที่สุดของกิ๊ฟคือ คิดว่าจะพูดกับคุณพ่ออย่างไรในเรื่องนี้ ตอนนั้นก็กลัวเหมือนกันว่าอาจจะโดดดุ เพราะเหมือนกับชีวิตเราจะไม่ได้ไปในแนวทางเด็กวิทย์ แล้วโตขึ้นมาจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตหรือเปล่า แต่ ณ ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากจะเลือกเส้นทางของตัวเอง เลยตัดสินใจขอคุณพ่อย้ายไปเรียนโปรแกรม ศิลป์ – ภาษา เพื่อเตรียมตัวเข้าคณะอักษรจุฬาฯ”…
“พอไปคุยกับคุณพ่อเพื่อขออนุญาต ตอนแรกคิดว่าจะต้องโดนดุแน่ๆ เพราะท่านอาจจะคาดหวังว่าชีวิตเราจะต้องไปเรียน ไปประกอบอาชีพทางสายวิทย์ แต่เป็นเรื่องประหลาดใจมาก เพราะคุณพ่อกลับไม่ว่าอะไรเลย ปล่อยให้เราลองทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะทำได้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เราอยากทำได้อย่างเต็มที่” นั่นคือจุดเริ่มต้นของทางสายใหม่ในชีวิตของครูกิ๊ฟ
เคล็ดลับการเรียนเก่งของครูกิ๊ฟก็คือ มีวินัยในการเรียน หรือจะเรียกเป็นพวกเด็กเนิร์ดก็ว่าได้ เพราะเธอชอบเตรียมพร้อมอยู่เสมอ “ไม่ชอบปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง” ดังนั้น ทุกครั้งไม่ว่าจะสอบย่อยหรือสอบใหญ่ เธอจะมีการวางแผนตารางการอ่านหนังสือก่อน และยึดมั่นกับตารางที่วางไว้เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ทำตามนั้นเป๊ะๆ จะรู้สึกผิดมากๆ
สมัยเรียนอักษรฯ เธอมักโดนแซวจากเพื่อนๆ ในเรื่องความขยันเขียนตอบเวลาสอบ ข้อสอบของคณะอักษรฯ จะเป็นเขียนตอบ สมุดหนึ่งเล่มมี 11 หน้า ปกติภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อนๆ จะใช้กันแค่นั้น แต่ครูกิ๊ฟมักจะขอเพิ่ม เพราะสมุดที่ให้มาเขียนไม่พอ สอบเสร็จทีไรเพื่อนๆ เลยชอบแซวว่า วันหลังขอเราก็ได้นะ สมุดเราเหลือเยอะเลย…
ยิ่งช่วงเรียนโปรแกรมเกียรตินิยม ต้องเรียนแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์ ครูกิ๊ฟเรียนวรรณคดีเปรียบเทียบภาษาอังกฤษ อาจารย์ที่สอนก็ล้วนแล้วแต่เก่งๆ ทั้งนั้น ทำให้ทุกครั้งเวลาไปพบจะไม่แค่ไปฟังอาจารย์สอน “เราต้องอ่านหนังสือไปก่อน เพื่ออธิบายสิ่งที่เราเข้าใจ แสดงความคิดเห็น เหมือนกับไปคุยกันมากกว่าที่จะไปรับข้อมูล ถึงแม้จะอ่านทัน อ่านครบ แต่หลายครั้งก็วิตกกังวลว่า ตัวเองยังคิดประเด็นไปไม่ดีพอ ก็บอกกับอาจารย์ตรงๆ ว่าสัปดาห์นี้ขออนุญาตกลับไปศึกษาเพิ่มเติม อาจารย์ก็เข้าใจ”…
“เคยสงสัยว่า เราอ่านบทกวี วรรณกรรม ละคร นิยาย ไปทำไมกัน จนเกิดความรู้สึกอยากตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรียนพวกนี้ไปทำไม แล้วจะได้ใช้อะไรจริงๆ จากสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งตอนนั้น เวลานั้น ก็ยังไม่ได้คำตอบ เพราะมัวแต่ตั้งใจเขียนปริญญานิพนธ์ให้เสร็จ ขอสอบให้ผ่านไปก่อน จนไม่มีเวลาคิดหาคำตอบ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน เข้าใจมากขึ้นแล้วว่า เราเรียนไปทำไม”
“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านทั้งหลายนั้น ไม่ใช่อ่านไปแค่ใช้เขียนตอบข้อสอบเพื่อให้ได้เกรดดีๆ จบออกมาได้เกียรตินิยม แต่นั่น คือการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ทุกคนมีปัญหา มีการต่อสู้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังนั้นเวลาเจอคนใหม่ๆ ที่เราได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา หรือเขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา มันคือการเพิ่มความใส่ใจให้กันและกัน ถ้าเรามีความพยายามที่จะเข้าใจก่อน จะช่วยให้เราไม่ตัดสิทธิ์คนโดยที่ยังไม่รู้จักดีพอ”
ครูกิ๊ฟ ทำงานด้านสอนมาตลอด เธอจะรู้สึกสนุก มีความสุขเสมอ เมื่อได้อยู่กับเด็กๆ จนเกิดความสงสัยว่า ตัวเองรู้สึกเบื่อในการสอนบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือ เธอไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา TESOL (Teaching English to Speakers of Other Languager) ที่ California State Unversity, San Bernardino ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นความโชคดีของครูกิ๊ฟที่คุณแม่ปฏิบัติธรรมมาตลอด และได้พบกับคุณน้าที่เป็นคนไทยแล้วไปมีครอบครัวที่อเมริกาแต่ไม่มีทายาท จนวันหนึ่งท่านได้มอบโอกาสสนับสนุนให้เธอไปเรียนต่อ ซึ่งปกติแล้วชีวิตในมหาวิทยาลัยของครูกิ๊ฟสมัยเรียนจุฬาฯ ก็จะลุยๆ ขึ้นรถลงเรืออะไรก็ได้หมด แต่พอไปอยู่ที่อเมริกากลับกลายเป็นชีวิตคุณหนูเพราะสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากนั่งรถเมล์มาขับรถเอง โดยมีคุณน้าคอยดูแลจนเรียนจบ
สิ่งสำคัญที่ครูกิ๊ฟได้รับนอกเหนือจากความรู้ในสถาบัน นั่นคือ การใช้ชีวิตในต่างแดน ผู้คนแต่ละเชื้อชาติที่ได้พบปะ มีความหลากหลายมากขึ้น มีที่มาแตกต่างกันไป และทำให้เรียนรู้ในเรื่อง อย่าตัดสินคน หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกันดีพอ…
“การที่เราเคยคิดว่า คนที่มาจากชาตินั้นชาตินี้ แล้วจะเป็นแบบนี้แบบนั้น หรือเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว แบบไหนจะเป็นอย่างไรนั้น สุดท้ายแล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่อง ชาติ ศาสนา หรือ ภาษา เลย มันขึ้นอยู่กับว่า ตัวเราเองเป็นใคร เราใจดีมากพอมั้ยเวลามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่ง แล้วเรามีนิสัยเป็นยังไง เขาถึงปฏิบัติต่อเราแบบนั้น ทำให้ลบภาพที่เราเคยคิดไว้ว่า คนแบบไหน จะเป็นยังไงจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือจากความคิดที่คาดเดาไว้ล่วงหน้า เช่น คิดว่าคนขาว คนดำ คนไหนจะเป็นผู้ดีผู้ร้าย หรือจะมีลักษณะนิสัยแบบไหนนั้น ไม่จริงเสมอไป ทำให้กิ๊ฟได้เรียนรู้ในส่วนที่เป็นผู้คนมากขึ้น นอกเหนือจากความรู้ในเรื่องเรียนจากการสอน”
ครูกิ๊ฟความสุขมีทุกวัน โดยเฉพาะเวลาได้อยู่กับเด็กๆ ได้สอนหนังสือ…
“กิ๊ฟไม่ได้สอนเขาอย่างเดียว เด็กๆ ก็สอนกิ๊ฟด้วยค่ะ ทุกๆ คนที่เราได้เจอเขามีความพิเศษมากๆ สิ่งที่เรารู้บางเรื่องเขาอาจจะไม่รู้ และที่เขารู้เราก็อาจจะไม่รู้เช่นเดียวกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”
“กิ๊ฟเชื่อว่า เวลาก็เหมือนกับฟองน้ำ ถ้าเราได้อยู่ใกล้อะไรที่มันดี เราก็จะได้เรียนรู้หรือซึมซับจากสิ่งนั้น บางทีก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นสิ่งดีๆ ในสิ่งที่เราจะถ่ายทอดไปนั้น ถ้าเขาได้นำไปทำไปปฏิบัติ แล้วสักวันเมื่อเขาโตขึ้น จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ที่เขาได้ส่งต่อไปอีก รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนในการส่งต่อ ที่สำคัญที่สุด มันได้ให้กับตัวของเขาเอง ยิ่งเมื่อเขาได้รับเต็มแล้ว ถ้าเขามีความสุขแล้ว เขาก็จะสามารถส่งต่อความสุขนี้ออกไปให้คนอื่นได้อีกไม่รู้จบค่ะ”